ทึ่ง! หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน


[ 28 ก.ค. 2554 ] - [ 18267 ] LINE it!

 
ทึ่ง ! หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน
 
ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
        หนึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้าพรรษา คือ  การถวายเทียนพรรษา หรือบางแห่งมีการประยุกต์เป็นหลอดไฟฟ้า แต่โดยมากชาวพุทธจะนำเทียนไปถวายพระพร้อมกับปัจจัยอื่นๆ ขณะที่ "ประเพณีใส่บาตรเทียน" เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เกี่ยวเนื่องจากเทศกาลเข้าพรรษา เป็นขนบธรรมเนียมทางพุทธศาสนา ที่แตกต่างและน่าจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่วัดบุญยืน (พระอารามหลวง) อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
        สถานที่นี้เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ในป่าไม้สัก จึงเรียกนามวัดนี้ว่า “วัดป่าสักงาม” เป็นพระอารามสำนักสงฆ์มาเป็นเวลานาน ต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญญา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารได้สร้างพระวิหารขึ้นเมื่อพ.ศ.2340 จนกระทั่ง พ.ศ.2343 ก็ได้ก่อตั้งสร้างพระพุทธรูปบางประทับยืนขึ้นไว้ในวิหาร 1 องค์ แล้วก็ได้เปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดบุญยืน” ตามลักษณะของพระประธาน และสร้างพระเจดีย์ไว้ด้านหลังวิหารเมื่อพ.ศ.2345"  พระมหาเกรียงไกร อหึสโก เจ้าอาวาสวัดบุญยืน เจ้าคณะอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน บอกเล่า

น้องๆนักเรียนร่วมใส่บาตรเทียน
น้องๆนักเรียนร่วมใส่บาตรเทียน

         ความสำคัญของวัดบุญยืนนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ปีพ.ศ.2485 ต่อมาในปีพ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จมายังวัดบุญยืนและทรงกราบพระประธานในพระวิหาร และในปีพ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานยกฐานเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ  ส่วนประเพณีใส่บาตรเทียนนั้นก็เชื่อกันว่าน่าเกิดขึ้นหลังจากสร้างวัดบุญยืนได้หนึ่งปี จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่าประเพณีนี้ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานถึง 210 ปีแล้ว

วัดบุญยืน สถานที่ประกอบพิธี
วัดบุญยืน สถานที่ประกอบพิธี
 
แสงสว่างกลางพรรษา

         ในอดีตตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะออกเดินทางจาริกโปรดสัตว์และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปยังที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธองค์จึงได้มีบัญญัติให้พระสงฆ์ เข้าพรรษาตลอดช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)
 
พระพุทธรูปปางประทับยืน พระประธานในวิหาร
พระพุทธรูปปางประทับยืน พระประธานในวิหาร
 
        ประเพณีสำคัญในฤดูเข้าพรรษา คือการหล่อและถวายเทียนพรรษา บางที่มีการตกแต่ง ประกวด แห่แหนเทียนพรรษาเป็นงานใหญ่ประจำปี "ตามที่กำหนดให้วันแรม 1 ค่ำเป็นวันเข้าพรรษา เรามาวิเคราะห์ว่าแต่วันแรกก็เป็นเดือนมืดเลย และมีพุทธบัญญัติว่าพระสงฆ์ต้องอยู่ในพรรษา 3 เดือน ก็เลยเกิดมีพระเพณีถวายเทียนเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ได้นำเทียนไปใช้ประโยชน์  คณะศรัทธาของวัดนี้ตั้งแต่ 100-200 ปีที่ผ่านมาคงจะมองเห็นตรงนี้ว่าพอแรม 1 ค่ำนี้ก็เดือนมืดแล้ว พระสงฆ์จะศึกษาพระวินัยก็ไม่ได้ ชาวบ้านก็เลยนำเทียนมาถวาย" อาจารย์ฉัตรชัย นันทวาสน์ ผู้ศรัทธาวัดบุญยืน เล่า
 
เทียนที่เตรียมมาใส่บาตร
 เทียนที่เตรียมมาใส่บาตร
 
        ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาประชาชนชาวอำเภอเวียงสาได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนาน ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อใดแต่เชื่อว่าน่าจะเริ่มขึ้นหลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2344 เชื่อกันว่าในยุคเริ่มต้นเป็นประเพณีนี้ทำเฉพาะวัดบุญยืน จนกระทั่งในระยะเวลาต่อมาได้ขยายไปยังวัดอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ประเพณีนี้เป็นที่ยึดถือปฏิบัติกันทั้ง 63 วัดในอำเภอเวียงสา โดยจะจัดการตักบาตรเทียนกันในวันหลังวันเข้าพรรษา หรือวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 เป็นประเพณีร่วมกันของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน 
 
        "จุดประสงค์ว่าทำไมต้องทำช่วงเข้าพรรษา ทำไมต้องถวายเทียนก็สอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระสงฆ์ สามเณร โบราณกาลไม่มีไฟฟ้า พระสงฆ์ศึกษาพระธรรมวินัยก็ต้องใช้เทียน ทุกวันนี้มีไฟฟ้าแต่เทียนก็ยังสำคัญ อย่างพระบางท่านที่ไปอยู่ป่าหรือที่ที่ไม่มีไฟฟ้า เราก็ได้สืบทอดมา เป็นการส่งเสริมพุทธบัญญัติโดยตรง ส่วนการใส่บาตรเทียนที่ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านนำเทียนไปใส่บาตรด้วยกัน พูดได้ว่าคงมีที่วัดบุญยืนแห่งนี้เท่านั้น ไม่มีที่ไหนในโลก" พระมหาเกรียงไกร เล่า
 

บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
  
ส่องทาง ส่องธรรม ส่องตน

         ไม่เพียงแต่เป็นการส่งมอบเทียนเพื่อเป็นแสงสว่างให้พระสงฆ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมวินัย แต่ประเพณีใส่บาตรเทียนยังแฝงความหมายของการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และการแสดงความอ่อนน้อมที่พระสงฆ์จะคารวะกันโดยยึดถือจำนวนพรรษาหรือปีที่บวชเป็นสำคัญ มากกว่าสมณศักดิ์หรือตำแหน่งในคณะสงฆ์    
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 
        พิธีการของประเพณีนี้จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยพระสงฆ์และสามเณรในอำเภอเวียงสา รวมไปถึงคณะศรัทธาสาธุชนจะเตรียมเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบ น้ำหอม ญาติโยมเตรียมกับข้าวใส่ปิ่นโตเพื่อเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์สามเณรที่ไปร่วมพิธี ฝ่ายพระสงฆ์และสามเณรจะนำผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าสบงไปปูไว้บนโต๊ะที่จัดไว้ต่อกันเป็นแถวยาว และตั้งบาตรบนผ้าอาบน้ำฝนเพื่อรองรับเทียนและดอกไม้ที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนใส่บาตรเทียน กระทั่งในช่วงบ่ายก็จะเริ่มพิธีใส่บาตรเทียน โดยพระสงฆ์จะเดินเรียงแถวกันนำเทียนและดอกไม้วางลงในบาตร โดยใส่เทียน 2 เล่มเพื่อบูชาพระธรรมและพระวินัย พร้อมด้วยดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ หลังจากพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมพิธีใส่บาตรเสร็จก็จะเป็นทีของคณะศรัทธาสาธุชนเดินใส่บาตรเทียนไปรอบโต๊ะที่ตั้งบาตรไว้
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 
        "ในส่วนของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันทั้งหมดนั้น จะมีการทำพิธีเคารพ "สุมาแก้ว 5 โกฐาก" ก็คือที่เราจะทำความเคารพ 5 ส่วน ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน พระสงฆ์ ทั้งพระอริยสงฆ์และสมมติสงฆ์ในปัจจุบัน หรือรวมเรียกว่าพระรัตนตรัย และที่เพิ่มมาคือพระกัมมัฏฐาน และส่วนที่ห้าคือพระอาจารย์ผู้สอนพระกัมมัฏฐาน เพราะบางที่ช่วงเข้าพรรษาจะมีการนิมนต์พระที่เชี่ยวชาญด้านพระกัมมัฏฐานภาวนามาประจำที่วัดเพื่อสอนกัมมัฏฐานให้พระสงฆ์ในวัด จากนั้นก็จะทำพิธีคารวะพระเถระผู้ใหญ่เป็นอันดับต่อไป"  พระมหาเกรียงไกร อธิบาย เมื่อเสร็จสิ้นการใส่บาตรเทียน พระสงฆ์ทั้งหมดก็จะกลับเข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อทำพิธี "สุมาคารวะ" หรือพิธีขอขมา และทำ "สามีจิกรรม" (กรรมที่สมควร คือการเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นต้น) ต่อพระเถระผู้มีอายุพรรษากาลมากเป็นลำดับไป
 
ทำพิธี สุมาคารวะ
ทำพิธี สุมาคารวะ
 
        ในการขอขมาต่อพระจะมีการตั้งชุดขอขมาซึ่งประกอบด้วย บาตรสำหรับใส่น้ำส้มป่อย น้ำอบ เทียน และดอกไม้ พิธีนี้จะกระทำภายในอุโบสถ โดยหลักแล้วถือว่าเป็นพิธีสำหรับสงฆ์เท่านั้น แต่หากคณะศรัทธาญาติโยมต้องการขอขมาก็สามารถร่วมได้หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหมด พระสงฆ์ที่เดินทางมาจากวัดต่างๆ ในอำเภอเวียงสา จะห่อเทียนและดอกไม้ด้วยผ้าสบงที่เตรียมมานำกลับวัดของตนเอง โดยเทียนที่ได้อาจนำไปจุดอ่านหนังสือเรียนท่องบทสวดมนต์ จุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นของมงคล
 
ประชาชนร่วมใส่บาตรเทียน
ประชาชนร่วมใส่บาตรเทียน
 
        วัตถุประสงค์ที่เห็นได้ชัดของประเพณีใส่บาตรเทียน คือเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้มีเทียนไว้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการจุดบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย และประกอบพิธีกรรมอื่นๆ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือส่งเสริมการปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของการแสดง "สามีจิกรรม" หรือการแสดงความเคารพระหว่างพระภิกษุผู้มีพรรษากาลอ่อนกว่าต่อพระเถระผู้มีพรรษากาลมากกว่า รวมทั้งเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมแสดงสามีจิกรรมต่อพระภิกษุที่จะอยู่จำพรรษาจนครบตามกำหนดเวลาสามเดือน
 
หนูน้อยมาร่วมใส่บาตรเทียน
หนูน้อยมาร่วมใส่บาตรเทียน

        นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำสุขมาให้” และเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวอำเภอเวียงสาให้คงอยู่ต่อไป

การฟ้อนรำของชาวเวียงสา หลังเสร็จพิธีใส่บาตรเทียน
การฟ้อนรำของชาวเวียงสา หลังเสร็จพิธีใส่บาตรเทียน

         "ประเพณีใส่บาตรเทียนมีหนึ่งเดียวในไทยและน่าจะหนึ่งเดียวในโลก เราถามผู้เฒ่าผู้แก่บอกเกิดมาก็เห็นแล้ว เดิมน่าจะเป็นเฉพาะกิจของสงฆ์ กุศโลบายน่าจะมีว่าเป็นการที่เอาพระทั้งอำเภอมารวมกันสักครั้งหนึ่งในรอบปีเพื่อคารวะพระเถระผู้ใหญ่ เป็นเรื่องความเคารพผู้ใหญ่ในอดีต ต่อมาฆราวาสมาร่วมด้วย ก็เลยกลายเป็นกิจของสงฆ์กับฆราวาสร่วมกัน เป็นประเพณีที่ทำร่วมกันมาตลอด" ลิขิต จันทรกำธร ตัวแทนกลุ่มฮักเมืองเวียงสา ระบุ

        เวลาผ่านไป ความเจริญผ่านมา แต่แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้ายังไม่สามารถลบเลือนประเพณีที่สืบทอดมาเหนียวแน่นยาวนานนับร้อยปี และเป็นหนึ่งเดียวในโลก อย่างประเพณี "ตักบาตรเทียน" ที่วัดบุญยืน จังหวัดน่าน
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์

ภูเขาไฟเอ็ตนา ระเบิดครั้งใหญ่ ประเทศอิตาลีภูเขาไฟเอ็ตนา ระเบิดครั้งใหญ่ ประเทศอิตาลี

เฮอริเคนไอรีน รวมคลิปรูปข่าว ประมวลภาพพายุเฮอริเคนไอรีนเฮอริเคนไอรีน รวมคลิปรูปข่าว ประมวลภาพพายุเฮอริเคนไอรีน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์