กู้ถนนช่วยชาวบ้าน เปิดทางกฐิน


[ 3 พ.ย. 2554 ] - [ 18718 ] LINE it!

 
 
ทบทวนฝันในฝัน วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
กู้ถนนเปิดทางกฐิน


“กู้ถนนเปิดทางกฐิน”
ชาวคลองหลวงกับภารกิจป้องกันน้ำท่วม ตอนที่ 8
เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา  

กู้ถนนช่วยชาวบ้าน เปิดทางกฐิน

 
     หลังจากพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา  ผู้นำบุญ  อาสาสมัคร  พนักงานวัดพระธรรมกาย  ร่วมกับชาวอำเภอคลองหลวงและหน่วยงานราชการ  ได้ผนึกกำลังอย่างเข้มแข็ง  รักษาทำนบกั้นคลองระพีพัฒน์  ช่วงคลอง 1-3 ยาวประมาณ 8 กิโลเมตรไว้ได้อย่างมั่นคงมาตลอด  3  สัปดาห์  และช่วยยันมวลน้ำจากเหนือก้อนใหญ่ไว้ ช่วยผ่อนเบาผลกระทบต่อ กทม. ได้อย่างมาก  ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ชาวคลองหลวงแสดงพลังสามัคคีให้ประจักษ์แก่พี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ   

     เพราะทำนบกั้นคลองระพีพัฒน์ช่วงคลอง 1-3 ถือเป็นทำนบป้องกันน้ำเหนือที่ยาวถึง 8 กิโลเมตร เพียงแห่งเดียวที่แข็งแรงอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน  ทั้งที่เป็นเพียงทำนบดินชั่วคราวทำบนพื้นถนน เมื่อ 3 สัปดาห์เศษนี่เอง  เพราะทำนบนี้ยาด้วยกาวใจของลูกๆ คุณครูไม่ใหญ่ที่เป็นแกนนำ   ปลุกพลังสามัคคีของชาวคลองหลวง  ให้ลุกขึ้นมาพิทักษ์ปกป้องถิ่นเกิดและกทม.  ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศ


    ท่านนายกฯ ยุทธ  นายกเทศมนตรีเทศบาลท่าโขลง  ก็ได้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ตลอดเมืองปทุมธานีมีแต่น้ำ  พื้นที่แห้งที่รักษาไว้ได้มีเพียงเทศบาลท่าโขลง คือ ศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก  ตลอด 2,500 ไร่  และตลาดไทครึ่งหนึ่งเท่านั้น  เมื่อคราวที่ทำนบกั้นน้ำของตลาดไทแตกกลางดึก  ชาววัดพระธรรมกายก็ได้ไปช่วยกันกับพี่น้องในตลาดไทอุดจนสำเร็จ  รักษาแหล่งข้าวปลาอาหารของพี่น้องชาวกทม. และเขตจังหวัดภาคกลาง

     ความสามัคคี  เสียสละ  ร่วมแรงร่วมใจของชาววัดพระธรรมกายได้ปรากฏชัดแก่พี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ   และต่อสายตาชาวโลก   ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต   คลิปวีดีโอยูทูป  หนังสือพิมพ์  ทีวี ต่างๆ   เสียงชื่นชมน้ำใจเสียสละของชาววัดพระธรรมกายดังกระหึ่มโลกออนไลน์ 

     โดยทั่วไปการรักษาพื้นที่ของตนเองซึ่งมีอาณาบริเวณถึง 2,500 ไร่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว   แต่นี่ชาววัดพระธรรมกายไม่เพียงแต่รักษาพื้นที่วัดอย่างมั่นคงแข็งแรง แต่ยังได้ไปช่วยกัน
 
1. สร้างและรักษาทำนบกั้นคลองระพีพัฒน์ยาวถึง 8 กิโลเมตร  
2. ช่วยอุดแนวแตกของทำนบคลองระพีพัฒน์ช่วงคลอง 4 สำเร็จอีก 2 ช่วง   
3. ช่วยรักษาตลาดไท  ช่วยรักษาเทศบาลท่าโขลง   
4. ช่วยผลิตถุงทรายยักษ์หนักใบละ 1 ตัน  จำนวนกว่า 7,000 ลูก  ตามคำร้องขอของกระทรวงคมนาคมและทางรัฐบาล  เพื่อช่วยป้องกันคลองประปาที่พนังกั้นน้ำแตกน้ำเสียทะลักเข้า   
5. ช่วยให้ชาวกทม.กว่า 10 ล้านคนมีน้ำสะอาดใช้กินดื่มและใช้ป้องกันน้ำบ่าท่วมในจุดสำคัญของกทม.   
6. นอกจากนี้ยังได้ช่วยแจกน้ำ  อาหาร  ยา  เครื่องยังชีพ  วันละหลายหมื่นชุดแก่ผู้ประสบภัย  7. ช่วยจัดรถขนาดใหญ่รับส่งประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม 
8. ได้ร่วมกับกรมทางหลวงทำสะพานเหล็กเชื่อมทางสัญจร  ระหว่าง กทม. วงแหวนตะวันออกกับตลาดไท

รถบัสบริการจากมูลนิธิธรรมกาย

    รถบัสจากมูลนิธิธรรมกายช่วยเหลือประชาชน
“บริการฟรี พร้อมอาหารและน้ำบนรถ”



     แม้คนที่เคยไม่เข้าใจวัดพระธรรมกายมาก่อน  เมื่อได้เห็นพลังสามัคคี ความมีน้ำใจของชาววัดแล้วยังอดอนุโมทนาสาธุไม่ได้  บอกว่า  การบริหารจัดการของทางวัดสุดยอดจริงๆ  แต่ความจริงพวกเราชาววัด  ลูกๆ คุณครูไม่ใหญ่จะรู้ดีว่า  สิ่งสำคัญที่สุด  คือ  หัวใจ  อุดมการณ์  ที่คุณครูไม่ใหญ่ได้เฝ้าอบรม  หล่อหลอมลูกๆ มากว่า 40 ปี เมื่อทุกคนมีอุดมการณ์  ทำงานด้วยหัวใจเกินร้อยแล้ว  เพียงเอาความรู้ความสามารถของทุกคนมารวมกัน  ระบบการบริหารจัดการที่ดีก็ย่อมบังเกิดขึ้น  ประสิทธิภาพทุกอย่างก็ตามมา


คิดอย่างไรต่อพระและวัดพระธรรมกาย??

ต่อไปนี้คือ  ตัวอย่างความเห็นในโลกออนไลน์
 “เป็นต้นแบบขององค์กรอื่นๆที่มีศักยภาพ ควรใช้เป็นต้นแบบ”

“สาธุด้วย ไม่ใช่แต่ตำรวจหรือทหารไม่ทิ้งประชาชน   แต่นี่วัดก็ไม่ทิ้งประชาชนด้วย”

“ระบบการจัดการของธรรมกายดีมากอยู่แล้ว   มั่นใจในการนำความช่วยเหลือเข้าถึงผู้เดือดร้อนจริงๆ ค่ะ ”

“ระบบการจัดการของวัดนี้  รวมถึงกำลังที่เขามี  ผมว่าอยู่ในระดับสุดยอดครับ งานที่ทำจะลุล่วงไปได้ด้วยดี  กรณีนี้ผมขอยกย่อง และอนุโมทนาแก่กุศลกรรมของทุกท่านครับ ”

“ผมก็เคยไม่ชอบธรรมกาย แต่จากการกระทำของธรรมกายอันนี้ทำให้ผมรู้สึกรังเกียจความคิดเก่าๆ ของผม ”

“ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ย่านคลองสาม  และไม่ค่อยเข้าใจแนวทางของทางวัดนัก  แต่ต้องบอกว่า การจัดการรวมถึงการวางผังวัดนี้  ระดับสุดยอดของจริงครับ  ได้อาศัยใบบุญเป็นทางลัดช่วงน้ำท่วม  ได้เห็นพระเณรวิ่งกันวุ่นเพื่อกั้นกระสอบทรายในคืนที่ผมและพ่ออพยพหนีน้ำ  ผมบอกได้แต่ว่าเป็นภาพที่ตื้นตันใจจริงๆ ทุกรูปช่วยกันร่วมกับประชาชนที่น้ำท่วมน้อยลง และยังมีทางสัญจรในพื้นที่ ส่วนหนึ่งหรืออาจเป็นส่วนใหญ่มาจากการจัดการของทางวัดทั้งนั้น!! ”

    ขณะนี้สิ่งที่ชาววัดพระธรรมกายร่วมกับชาวอำเภอคลองหลวงกำลังเร่งงานกันอย่างหนักคือ การกู้ถนนเส้นทางสัญจรหลักในเขตอำเภอคลองหลวงที่ถูกน้ำท่วม เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนในย่านนี้ และสาธุชนที่จะเดินทางจากทั่วประเทศมาร่วมบุญกฐินที่วัดพระธรรมกาย

เส้นทางการเดินรถมาวัดพระธรรมกาย Update!!

เส้นทางหลักที่ดำเนินการอยู่มีดังนี้

     1. ถนนบางขันธ์-คลองหลวง  ช่วงตั้งแต่บางขันธ์ถึงหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 2 ฝั่ง ยาวประมาณ 500 เมตร ที่น้ำท่วมสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ได้วางบ่อวงซีเมนต์บรรจุถุงทรายและถุงทรายยักษ์วางเรียงกันไป 2 ฝั่งถนน แล้วสูบน้ำตรงกลางถนนออก
 
     ซึ่งน่าชื่นใจว่าชาวบ้าน 2 ฝั่งถนน  ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เส้นทางหลักใช้ได้  ถนนสายบางขันธ์-คลองหลวงนี้ คาดว่าระดับน้ำจะลดลงจนรถทุกชนิดวิ่งได้ภายในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน คือ วันนี้

มูลนิธิธรรมกายร่วมกับกรมทางหลวง  ช่วยกันกู้ถนน

มูลนิธิธรรมกายร่วมกับกรมทางหลวง
ช่วยกันกู้ถนนบางขันธ์-คลองหลวง ร่วมกับชาวบ้าน

 

     2.  ถนนสีขาว   จากทางออกป้อม 8  ของวัดพระธรรมกายผ่านเทศบาลท่าโขลงไปออกถนนพหลโยธิน ซึ่งมีน้ำท่วมสูงประมาณ  40  เซนติเมตร  ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร  วัดพระธรรมกายร่วมกับเทศบาลท่าโขลงและประชาชนก็ได้ทำแนวคันดิน  2  ฝั่งถนน บางช่วงก็ใช้กระสอบทรายวางเรียงเป็นทำนบ  และเริ่มสูบน้ำออกเป็นระยะ  ขณะนี้กู้ถนนได้ประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน คือ วันนี้
 
ช่วงของถนนสีขาวที่กู้เสร็จแล้ว
 
บางช่วงของถนนสีขาวที่กู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว


     3. ถนนดอนเมืองโทลเวย์ขาออกช่วงลงถนนพหลโยธิน ที่รังสิตและบริเวณรอยต่อระหว่างถนนพหลโยธินขึ้นทางต่างระดับบางขันธ์  โดยวัดพระธรรมกายร่วมมือกับกรมทางหลวง  คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน  ซึ่งจะทำให้รถจากกทม. สามารถขึ้นโทล์เวย์มาลงพหลโยธินที่รังสิต แล้วขึ้นทางต่างระดับบางขันธ์ มาวัดพระธรรมกายโดยไม่ติดไฟแดง  หรือทางตัดกับรถจากถนนเส้นอื่น


เส้นทางการเดินรถมาวัดพระธรรมกาย

     รถบัส รถทัวร์ จากทุกเส้นทางทั้งภาคเหนือ  ภาคอีสาน  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคตะวันตก  และภาคใต้  สามารถเดินทางมาวัดพระธรรมกายได้  ซึ่งเส้นทางสายเอเชียและสายพหลโยธินสามารถใช้งานได้แล้ว  รายละเอียดของทุกเส้นทางจะแจ้งให้ทราบในวันพรุ่งนี้  ติดต่อสอบถามได้ที่ : 083-198-4446  
 


“ ความสะดวกในการเดินทาง
มาร่วมงานกฐินวัดพระธรรมกายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ขอให้ทุกท่านอยู่ในบุญรักษาใจใสๆ
มาเอาบุญใหญ่กฐินเพื่อค้ำจุนประเทศกันนะครับ ”

ศูนย์ประสานงานป้องกันอุทกภัย  วัดพระธรรมกาย
วันพฤหัสบดีที่  3  พฤศจิกายน  พุทธศักราช 2554 
 
 
บทความ "ชาวคลองหลวงร่วมใจป้องกันภัยน้ำท่วม"
 ชาวคลองหลวงร่วมใจป้องกันภัยน้ำท่วม ตอนที่ 8  - กู้ถนนช่วยชาวบ้าน เปิดทางกฐิน


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กแบ็กจากมูลนิธิธรรมกาย กู้วิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพมหานครบิ๊กแบ็กจากมูลนิธิธรรมกาย กู้วิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร

จากลูกกรรมกร สู่ผู้กองยอดรวยจากลูกกรรมกร สู่ผู้กองยอดรวย

อานิสงส์ของการทำบุญกฐิน ตอนที่ 8อานิสงส์ของการทำบุญกฐิน ตอนที่ 8



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน