โทษของการวางเพลิง


[ 14 ธ.ค. 2554 ] - [ 18280 ] LINE it!

โทษของการวางเพลิง
 
 
 
     เราเหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งวัน จากการประกอบธุรกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราได้ทำผ่านมาแล้ว ดังนั้น ต่อจากนี้ไป เราจะได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเองในการแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพื่อเพิ่มเติมสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดให้กับชีวิตของเรา ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ชีวิตจะประสบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง เมื่อใจอยู่ในกระแสธรรม เราจะมีความสุข รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย มีความสดชื่นเบิกบาน คลายจากความเหน็ดเหนื่อยที่ได้ตรากตรำมาตลอดทั้งวัน  
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน โสมนัสสจริยา ว่า
 
     “กรรมที่บุคคลไม่ใคร่ครวญแล้วทำลงไป ไม่ตั้งสติไว้ให้ดี เหมือนความวิบัติของยา ย่อมเป็นผลชั่วร้าย กรรมที่ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ กำหนดความคิดไว้อย่างถูกต้อง เหมือนสมบัติของยา ย่อมเป็นผลเจริญ”
 
     บัณฑิตไม่สรรเสริญการทำบาปอกุศล เพราะเป็นการทำตามอำนาจของกิเลส กิเลสบังคับให้ทำกรรม แล้วส่งผลเป็นวิบากอันเผ็ดร้อน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัส พลัดไปสู่อบายภูมิ การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด ไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ดี เหมือนการรับประทานยารักษาโรคโดยไม่ศึกษาสรรพคุณของยาเสียก่อน ถ้าใช้ยาผิดก็จะนำความวิบัติถึงชีวิตมาให้ พระพุทธองค์จึงสอนให้รู้จักใคร่ครวญให้ดีก่อนทำ โดยเฉพาะความชั่วนั้น ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
 
     * ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อ สุมังคละ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ถึงขนาดเอาแผ่นอิฐทองคำมาปูเป็นพื้นทั่วทั้งบริเวณวัด ทำการก่อสร้างมหาวิหารถวายพระบรมศาสดา ใช้เงินทองไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสร้างเสร็จก็ทำการฉลองมหาวิหาร ด้วยการถวายมหาทานบารมีทำบุญเลี้ยงภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ด้วยใจที่มีปีติเบิกบานอยู่ในบุญ
 
     เช้าตรู่ของวันหนึ่ง ขณะที่ท่านเศรษฐีกำลังเดินทางไปกราบนมัสการพระบรมศาสดาอยู่นั้น ได้มองเข้าไปในศาลาข้างถนน เห็นโจรคนหนึ่งนอนคลุมโปง มีเท้าเปื้อนโคลน จึงให้ข้อสังเกตกับบริวารว่า “ชายคนนี้มีเท้าเปื้อนโคลน คงเป็นพวกชอบเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน แล้วมานอนกลางวัน” ว่าแล้วก็เดินผ่านไป โจรได้ยินเสียงคนพูดถึงตนเองในทำนองตำหนิตน จึงเปิดผ้าออกดูท่านเศรษฐีด้วยความไม่พอใจ คิดในใจว่า จะต้องแก้แค้นท่านเศรษฐีให้สาสมใจให้จงได้
 
     โจรเจ้าโทสะผูกอาฆาตพยาบาท ได้เผานาของเศรษฐีถึง ๗ ครั้ง จากนั้นก็แอบเข้าไปในคอกโค ตัดเท้าโคของเศรษฐีถึง ๗ ครั้ง แล้วยังลอบวางเพลิงเผาบ้านของท่านเศรษฐีอีก ๗ หน ถึงกระนั้นก็ยังไม่หายแค้น จึงไปตีสนิทกับคนใช้ของเศรษฐี ถามถึงสิ่งอันเป็นที่รักของเศรษฐีว่า เศรษฐีรักสิ่งใดมากเป็นพิเศษ เมื่อสืบทราบมาว่าสิ่งอันเป็นที่รักยิ่งของเศรษฐีคือพระคันธกุฎี จึงคิดจะเผาพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าให้หายแค้น  
 
     เช้าวันหนึ่ง ขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตนั้น โจรได้แอบเข้าไปทำลายเครื่องอัฐบริขาร พร้อมทั้งจุดไฟเผาพระคันธกุฎีโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น เมื่อเศรษฐีทราบข่าวว่าพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ จึงเดินมาสำรวจดูที่เกิดเหตุ ท่านไม่ได้มีความรู้สึกเสียใจเลยแม้แต่น้อย กลับมีความปลื้มปีติยินดี หัวเราะร่าเริง จนทำให้มหาชนที่อยู่ในเหตุการณ์อดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดท่านเศรษฐีจึงดีใจ แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจที่เห็นพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้  
 
     เศรษฐีจึงกล่าวด้วยอาการยิ้มแย้มว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าสละทรัพย์มากมายเพื่อสร้างบุญบารมี ได้ฝากฝังทรัพย์ไว้ดีแล้วในพระศาสนา เป็นผู้ไม่อิ่มในบุญ แม้แต่ไฟก็ไม่สามารถทำลายทรัพย์คือบุญบารมีนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงมีใจร่าเริงยินดีที่จะได้สละทรัพย์ เพื่อสร้างพระคันธกุฎีใหม่ถวายแด่พระบรมศาสดาอีกครั้ง”
 
     ต่อมา ท่านเศรษฐีสละทรัพย์เป็นจำนวนมากกว่าเดิมอีก เพื่อสร้างพระคันธกุฎีใหม่ ได้ถวายมหาทานบารมีแด่พระบรมศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่นรูป โจรเห็นเศรษฐีไม่เดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใดเลย จึงรู้สึกว่ายังไม่หายแค้น คิดว่า “ถ้าเราไม่ได้ฆ่าเศรษฐี ความแค้นของเราไม่มีวันหายไป วันนี้เราต้องฆ่าเศรษฐีให้ได้” จึงซ่อนกริชไว้ในชายพก เดินปะปนอยู่กับสาธุชนที่มาวัด ดูลู่ทางอยู่ถึง ๗ วัน แต่ก็ยังหาโอกาสฆ่าไม่ได้
 
     มหาเศรษฐีถวายทานแด่เหล่าพระภิกษุสงฆ์โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน วันสุดท้ายท่านกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบุรุษคนหนึ่งเผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ หน เผาเรือนอีก ๗ ครั้ง แม้แต่การเผาพระคันธกุฎีก็คงเป็นฝีมือของเขา แต่ข้าพระองค์ไม่เคยนึกโกรธเคืองหรือประสงค์ร้ายตอบเลย ข้าพระองค์ขอแบ่งบุญที่ได้ทำทั้งหมดนี้ ให้ผู้ที่ประทุษร้ายต่อข้าพระองค์ด้วย พระเจ้าข้า”  
 
     โจรนั่งอยู่ใกล้ๆ ได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น จึงเกิดความเร่าร้อนขึ้นมาในจิตใจ เหมือนไฟลุกโพลงไปทั้งเนื้อทั้งตัว เกิดความสำนึกว่า “เราประทุษร้ายต่อท่านเศรษฐีทุกวิถีทาง แต่เศรษฐีมิได้มีความโกรธแค้นเราแม้แต่น้อย กลับให้ส่วนบุญแก่เราเสียอีก ถ้าเราไม่ให้ท่านเศรษฐียกโทษให้  ศีรษะของเราคงแตกเป็น ๗ เสี่ยงแน่นอน” โจรจึงเข้าไปกราบแทบเท้าท่านเศรษฐี พร้อมกับกล่าวสารภาพความผิดทั้งหมดที่ตนเองได้ทำไป
 
     เศรษฐีสงสัยว่า ท่านไม่เคยเห็นชายคนนี้เลย เหตุไรชายคนนี้จึงโกรธแค้นเอาเป็นเอาตายกับท่าน โจรจึงเล่าให้เศรษฐีฟังถึงเรื่องที่เศรษฐีพูดสบประมาทตน ขณะที่นอนอยู่ในศาลาหลังหนึ่ง เศรษฐีระลึกได้ถึงถ้อยคำที่ตนพูด จึงกล่าวคำขอโทษโจร และให้อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน โจรได้กล่าวขอโทษพร้อมกับปวารณาตัวว่า “ถ้าท่านเมตตา อดโทษแก่กระผม กระผมพร้อมทั้งบุตรภรรยา จะขอเป็นทาสรับใช้ในบ้านของท่าน”  
 
     ท่านเศรษฐีไม่ได้ติดใจในเรื่องนั้นจึงตอบปฏิเสธ ต่อมา เมื่อโจรเสียชีวิตลง กรรมชั่วที่ทำไว้ได้ส่งผลให้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ต้องทนเสวยทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน ครั้นมาถึงปัจจุบันชาตินี้ ผลกรรมตามส่งให้มาเกิดเป็นเปรตรูปร่างคล้ายงูเหลือมใหญ่ ลอยอยู่กลางอากาศ มีไฟลุกโพลงเผาไหม้อย่างน่าเวทนา  
 
     เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้มาพบเปรตนั้น จึงนำมากราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาตรัสเล่าถึงกรรมในอดีตของเปรตนั้นให้ฟัง แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาลทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึกว่ากำลังทำกรรมชั่ว แต่ภายหลังต้องเกิดความเร่าร้อน เพราะกรรมชั่วที่ทำเอาไว้ ”
 
     ดังนั้น ทุกท่านต้องตั้งสติกันให้ดี อย่าหลงไปทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งมันไม่คุ้มกับความทุกข์ทรมานที่เราจะต้องมารับกันในภายหลัง เพราะชีวิตมนุษย์แสนสั้น แต่ชีวิตหลังความตายนั้นยาวนาน ถ้าเราทำบาปอกุศล จะต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ถ้าสร้างแต่บุญกุศล จะได้เสวยผลบุญยาวนานเช่นกัน
 
     ฉะนั้นให้ทำแต่ความดี ทำใจให้ผ่องใส หมั่นรักษาใจอย่าให้ขุ่นมัว หากมีเรื่องราวอะไรมากระทบ อย่าให้กระเทือนเข้ามาถึงในใจ รู้จักให้อภัย มีความเมตตาปรานี มีความปรารถนาดีกับทุกๆ คน แล้วตั้งใจสร้างบุญบารมีกันต่อไป เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ คือจะมีบุญบารมีแก่กล้าขึ้น จะทำอย่างนี้ได้ ต้องหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมทุกๆ วัน ฝึกใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งแห่งบุญบารมี แหล่งแห่งความบริสุทธิ์ โดยการทำใจให้ใส สะอาด บริสุทธิ์ เข้าถึงพระธรรมกายให้จงได้  

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๘
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
โทษของการกักขังสัตว์โทษของการกักขังสัตว์

โทษของการเห็นผิดโทษของการเห็นผิด

ทำบาปเพราะนึกสนุกทำบาปเพราะนึกสนุก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน