อาหารบุฟเฟต์มีผลดีหรือเสียอย่างไร


[ 26 ก.ค. 2555 ] - [ 18266 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
ข้อคิดจากการบริโภค
 
        เรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาหารคือ 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต มนุษย์ในอดีตอาศัยอาหารจากธรรมชาติและปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย มีการปรุงรสแต่งสีเติมกลิ่นและเมื่อมนุษย์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาหารก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ จากการที่เคยเน้นคุณค่าก็กลับมาเน้นเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก และสิ่งที่ตามมาก็คือโรคภัยไข้เจ็บและอายุขัยที่สั้นลง
 

ปัจจุบันมีร้านอาหารบุฟเฟต์มากมายร้านแบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง?

 
        คนเราจะชอบกินอิ่ม เลือกได้ตามใจชอบ โดยมีงบประมาณที่คุมได้ จึงเกิดขึ้นมาจากความต้องการของผู้บริโภคเอง และทางฝ่ายร้านอาหารเขาก็ถือว่าคุ้มเพราะเขาคำนวณแล้วว่าบางคนกินมาก บางคนก็กินปกติ โดยเฉพาะทางร้านก็ไม่ต้องมีพนักงานมาคอยบริการ ทำเสร็จวางไว้ให้เขามาเลือกตักไปเอง ไม่ต้องเสียเงินจ้างพนักงานเสิร์ฟ จะ save ส่วนนี้ได้มาก ตัววัตถุดิบค่าอาหารนั้นจริงๆ ก็ไม่เท่าไหร่ เพราะต้องรู้ไว้อย่างหนึ่งว่าอาหารตามร้านทั่วไปต้นทุนอาหารก็ประมาณ 20-30 % เท่านั้นเอง
 
ร้านอาหารบุฟเฟต์
ร้านอาหารบุฟเฟต์
 
        และที่ถามว่ามันมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง จากการเลือกไปทานอาหารบุฟเฟต์นั้น มันก็อยู่ที่แต่ละคน ถ้าคนไหนทานแบบล้างท้องมาก่อน ทานมากกว่าปกติ 3-4 เท่าแล้วไปนอนจุกอยู่ที่บ้าน อย่างนี้ก็ไม่ดีต่อสุขภาพถือว่าไม่คุ้ม ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟ่ต์หรือไม่เราก็ควรทานแต่พอดีๆ แล้วจะดีต่อสุขภาพ เกินพอดีไปมันไม่ดีหรอก อย่าไปคิดว่าของฟรีแล้วเอาให้เต็มที่ มันจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี
 

ในแง่ของการเข้าสังคม การประชุมบนโต๊ะอาหารนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

 
        ตอนทานข้าวนั้นคือช่วงเวลาที่เราสบายใจ ในลักษณะการกินเลี้ยงสังสรรค์คุยกันไปก็เป็นที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคนจีนจะชอบเรื่องนี้มาก เพียงแต่อยากจะฝากหลักอย่างหนึ่งไว้ว่า อย่างไรเสียก็อย่าให้มีอบายมุข เหล้า เบียร์ บุหรี่ นั้นอย่าให้มี เพราะถ้าหากมีอาการมึนๆ ขึ้นมาแล้วจะหามิตรที่จริงใจได้ยากในวงเหล้า เพราะมิตรที่ผูกกันด้วยอบายมุขนั้นไม่ยั่งยืน
 
ผู้ที่นิยมอาหารแช่แข็งเวลาจะรับประทานก็เอามาอุ่นในไมโครเวฟ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรได้บ้าง?
 
        ที่เห็นได้ชัดเจนแน่นอนคือ ความเร่งรีบของคนในสังคม เวลามันเหลือน้อยลงอะไรก็ต้องเอาแบบสะดวกไว้ก่อน ในแต่ละวันมีกิจกรรมให้ทำมากมาย จนทำให้เวลากินเวลานอนก็แทบจะไม่พอ จึงต้องการอะไรที่มันง่ายๆ สำเร็จรูป เพราะทั้งพ่อบ้านและแม่บ้านต่างก็ทำงานด้วยกันทั้งคู่ จึงไม่มีเวลามาจับจ่ายหุงหาอาหารทานกัน
 
        ในสมัยก่อนที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายลูกหลานอยู่กัน 10-20 คน ทำกับข้าวทีหนึ่งกินกัน 10-20 คนนั้นก็ถือว่าคุ้ม แต่สมัยนี้สามีภรรยาอยู่กันแค่ 2 คน ยังไม่มีลูกอีกต่างหาก ถ้าจะทำอาหารทานกันแค่ 2 คน ก็รู้สึกว่ามันยุ่งยากเสียเวลาเตรียมเสียเวลาเก็บล้าง และรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม ถ้าเทียบกับไปซื้อสำเร็จรูปแล้วเสียเงินน้อยกว่า กะปริมาณได้ หาซื้อได้หลายอย่าง ไม่ต้องเสียเวลาทำเอง อย่างนี้คุ้มกว่า จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมการบริโภคใหม่ที่ว่าอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อย่างนี้เป็นต้น
 
ความเร่งรีบของคนในสังคมยุคนี้อาหารแช่แข็งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม
ความเร่งรีบของคนในสังคมยุคนี้อาหารแช่แข็งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม
 
        แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารแช่แข็งที่พอเวลาจะกินก็เอามาอุ่นในไมโครเวฟก่อนนั้น โอชารสมันขาดหายไป เราลองนึกง่ายๆ ว่า ระหว่างของสดๆ แล้วนำมาปรุงรส กับของแช่แข็งที่เก็บได้นานเป็นปีแล้วเอามาเวฟนั้นยังไงก็ไม่เหมือนกัน คุณค่าทางโภชนาการก็ต่างกันมาก และเราก็ควรจะใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นหลักด้วย
 
        อาตมาเคยมีประสบการณ์การใช้ไมโครเวฟ ตอนไปอยู่ที่ญี่ปุ่นอากาศมันหนาว เวลาจะฉันน้ำก็ต้องเป็นน้ำอุ่น ก็เอาน้ำไปอุ่นในไมโครเวฟตลอด ปรากฏว่าผ่านไปแค่ 1-2 เดือน ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องระบบขับถ่ายปัสสาวะ ต้องงดเลย ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ก็ไม่แน่ใจว่ารังสีคลื่นที่อุ่นมานั้นถ้ามันมีมากเกินไปจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรหรือไม่ แต่ที่เกิดขึ้นมาชัดเจนก็คือรู้สึกว่าไตทำท่าจะไม่ดี ก็เลยต้องเว้นจากน้ำที่อุ่นโดยไมโครเวฟ หันมาใช้กาน้ำร้อนธรรมดาแทน อะไรที่มันสุดโต่งเกินไปมักจะไม่ดี ยังไงก็กลับมาสู่ธรรมชาติ คือ ของที่ปรุงสดๆ จากธรรมชาติน่าจะดีกว่า ฉะนั้นหลักสุดท้ายก็คือว่า เอาพอดี
 
ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งที่ใส่สารเคมีบางอย่าง เพื่อให้อาหารเก็บได้นานนั้น จะมีวิบากกรรมอย่างไร?
 
        ถ้าทำโดยเจตนาไม่บริสุทธิ์ อย่างจีนที่เคยมีข่าวเอาอะเมลามีนมาผสมลงไปในนมเพื่อประหยัดต้นทุน แต่เมื่อผู้บริโภคกินเข้าไปแล้วเจ็บป่วยล้มตายกันมากอย่างนี้วิบากกรรมมีแน่นอน และมีผลมากด้วยเพราะมีผู้รับผลเป็นคนหมู่ใหญ่ แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ยังพอได้ เช่นว่ามีผงชูรสบ้างในจำนวนที่ควบคุมไว้และผู้บริโภครับรู้ แต่ถ้าเข้าข่ายหลอกลวงจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพเขา ตัวเองก็จะต้องพบเจอกับปัญหาสุขภาพอีกนาน ซึ่งไม่คุ้มกันเลย อย่าเสี่ยงไปทำกันเลยดีกว่า
 
สาเหตุของการเกิดโรคจากการกินอาหารจริงๆ นั้นเกิดจากอะไรบ้าง?
 
        หลักๆ แยกเป็น 2 อย่าง คือ วิบากกรรมในอดีต บางคนอาจสงสัยว่าชาตินี้ทำดีมามากทำไมยังเจ็บป่วยอยู่อย่างนี้ ซึ่งมันไม่สมควรแก่เหตุในปัจจุบันเลย แต่สมควรแก่กรรมในอดีตที่ตามมา แต่ก็ใช่ว่าจะโยนให้อดีตหมดเลย ปัจจุบันก็มีผล 2 อย่างประกอบกัน เหตุในอดีตมันเกิดขึ้นแล้วเราแก้ไขอะไรไม่ได้ก็ช่างมัน แต่ทำปัจจุบันนี้ให้ดี
 
        การบริโภคอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และขอย้ำว่าอย่าสุดโต่ง คืออะไรอย่างเดียวตลอดจะมีปัญหา อย่างบางคนชอบดื่มน้ำอัดลมตลอดทั้งวัน ถ้ามากเกินไปอย่างนี้มีผลเสียแน่นอน บางคนชอบของทอดมากแล้วทานของทอดตลอดก็มีผลเสียอีกเหมือนกัน อะไรก็แล้วแต่ถ้าสุดโต่งอย่างเดียวตลอดแบบนี้มักจะมีปัญหา ขอให้มีการผสมผสานที่พอดีๆ ไม่ตามใจปากท้องจนเกินไป
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้มีหลักการสอนเรื่องการบริโภคไว้อย่างไรบ้าง?
 
        หลักของพระองค์ก็คือกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน และให้รู้จักประมาณในการบริโภค ถ้าพูดในเชิงปฏิบัติก็คือ ถ้าเหลืออีก 4-5 คำแล้วจะอิ่มก็ให้หยุด เพราะตอนรู้สึกใกล้ๆ จะอิ่มนั้นในหลอดอาหารก็ยังมีอาหารอยู่ พอดื่มน้ำตามลงไปแล้วก็จะรู้สึกอิ่มพอดี แต่ถ้าเราทานจนอิ่มแล้วดื่มน้ำตามก็จะทำให้จุกพอดี และถ้าทานจนจุกแล้วดื่มน้ำตามก็จะยิ่งจุกแอ๊กเลย ฉะนั้นเอาแค่พอดีๆ
 
        ลองสังเกตดูคนที่น้ำหนักไม่ค่อยมากมักจะอายุยืน แต่ถ้าเป็นคนอ้วนๆ นั้นดูมีโรคเยอะ เดี๋ยวความดันขึ้น เดี๋ยวไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจถามหา สารพัดโรคตามมา บางคนก็คิดจะควบคุมอาหาร แต่อย่าไปคุมเลยอาหาร คุมปากคุมท้องเราดีกว่า เพราะอาหารไม่ได้มีปัญหาแต่ปัญหามันอยู่ที่ปากของเราเองต่างหาก ถ้าเราคุมปากเราได้มันก็จบเท่านั้นเอง
 
เราควรจะมีหลักปฏิบัติอย่างไรให้มีนิสัยการกินที่ดี จะได้มีสุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาวจริงๆ?
 
        ให้ยึดหลักพอดี และดูว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีคุณค่าครบ 5 หมู่หรือไม่ อย่ายึดหลักแค่ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบเท่านั้น ปริมาณที่รับประทานก็ให้พอดีอย่ามากหรือน้อยจนเกินไป และจัดเวลารับประทานให้เป็นปกติสม่ำเสมอ ทานให้เป็นเวลา เพราะถ้าไม่เป็นเวลาแล้วกระเพาะอาหาร ระบบลำไส้อะไรต่างๆ จะปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะบ้าง โรคอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย สรุปง่ายๆ คือ
 
        1. ชนิดของอาหารที่ครบ 5 หมู่
 
        2. ปริมาณที่ทานในส่วนที่เหมาะสม คือไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
 
        3. จังหวะเวลารับประทานที่สม่ำเสมอ เป็นระเบียบ ไม่กินจุกจิก
 
ให้ยึดหลักพอดี และเป็นอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่
ให้ยึดหลักพอดี และเป็นอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่
 
        ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะดีต่อสุขภาพเราเอง ซึ่งในส่วนของพระภิกษุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระวินัยเลยว่า ภิกษุเมื่อห้ามอาหารแล้ว คือพูดง่ายๆ ว่าอิ่มแล้วนั่นเอง จะไม่ฉันอีก คือไม่ฉันจุกจิก และในช่วงเย็นอย่างมากก็จะเป็นปานะ อาจเป็นน้ำผลไม้หรือนมอะไรต่างๆ แล้วก็จบอยู่แค่นั้น ฉะนั้นจึงควรดูแลปากเราให้ดีแล้วสุขภาพเราก็จะดีตามไปด้วย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาสอนอะไรเราได้บ้างวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาสอนอะไรเราได้บ้าง

มีวิธีการอย่างไรให้คนในสังคมช่วยกันเก็บขยะรักษาความสะอาดมีวิธีการอย่างไรให้คนในสังคมช่วยกันเก็บขยะรักษาความสะอาด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราตกเป็นทาสเทคโนโลยีไปแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตกเป็นทาสเทคโนโลยีไปแล้ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว