ศรัทธาพาพ้นทุกข์


[ 8 ม.ค. 2556 ] - [ 18272 ] LINE it!

ศรัทธาพาพ้นทุกข์
 
 
 
     สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ความตายนั้นติดตัวเรามาพร้อมๆ กับการลืมตาขึ้นมาดูโลก เหมือนดอกเห็ดที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับดินฉะนั้น บัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา มองเห็นว่า ความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เป็นเพียงแต่การย้ายที่อยู่อาศัย ไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมกับบุญบารมี หรือบาปอกุศลที่ทำไว้เท่านั้น  ผู้มีบุญมากก็ย้ายไปอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ ผู้มีบาปมากก็ต้องไปอยู่ในอบายภูมิ หากเราไม่ประสงค์ความตายหรือกลับมาเกิดอีก ต้องหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งไม่ถอนถอย จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัต สามารถขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ เมื่อทำได้เช่นนี้ เราย่อมไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
 
มีวาระแห่งภาษิตใน รัฐปาลเถราปทาน ความว่า
 
     “บุคคลจะอายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความแก่ไปเพราะทรัพย์ก็หาไม่ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตว่าเป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์เพราะความเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์ถูกผัสสะถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว ปัญญาจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำความชั่วต่างๆ วนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เพราะความหลง ผู้ใดทำความชั่วเพราะความหลง ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารร่ำไป”
 
     ความประมาททำให้มนุษย์ต้องพบกับความทุกข์ระทม ยิ่งพลั้งพลาดไปทำความชั่วเพราะความหลง ไปสร้างกรรมที่เป็นบาปอกุศล ย่อมมีวิบาก คือ ผลของกรรมที่นำไปสู่ในภพภูมิที่รองรับอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบารมี เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตอยู่ ในการทำมาหากิน รวมทั้งอุปสรรคที่แวดล้อมตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ทำให้เราเกิดความโศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพันต่างๆ มีทุกข์โศกโรคภัยมาเบียดเบียน สิ่งเหล่านี้ล้วนเอาชนะได้ด้วยบุญ คือ ต้องสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว
 
    ดังนั้น นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย จึงมุ่งสร้างบารมี เพื่อเลิกการเวียนว่ายตายเกิดมุ่งไปสู่อายตนนิพพาน แต่การที่จะไปสู่พระนิพพานได้ เบื้องต้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศรัทธา ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากศรัทธาข้อแรกมีอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าอะไรก็ไม่สามารถโยกคลอนความตั้งใจนี้ได้ ทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ย่อมสำเร็จได้อย่างแน่นอน
 
     * ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ครั้งที่ยังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีกุลบุตรคนหนึ่ง เกิดในตระกูลคฤหบดีที่สืบทอดความร่ำรวยมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ทวด เมื่อเติบโตขึ้นก็มองเห็นความทุกข์ที่เกิดจากการครองเรือน จึงเกิดความเบื่อหน่าย คิดว่าทรัพย์มรดกที่มีมากมายเช่นนี้ ก่อนจะมาถึงมือเรา บรรพชนของเราไม่มีผู้ใดเลย ที่สามารถนำติดตัวไปยังปรโลกได้ สมควรที่เราจะเปลี่ยนทรัพย์เหล่านี้ให้เป็นบุญติดตัวเราไปดีกว่า
 
     คิดได้เช่นนี้ ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ตั้งใจสร้างมหาทานบารมี แม้ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีเนื้อนาบุญ ท่านก็ได้บริจาคทานแก่คนกำพร้า และคนเดินทาง  วันหนึ่งท่านได้พบดาบสรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ทรงอภิญญา ดาบสได้ชักชวนให้ท่านปรารถนาสมบัติทิพย์ในเทวโลก กุลบุตรนั้นก็ยิ่งสร้างบุญอย่างเต็มที่ และตั้งความปรารถนาทิพยสมบัติ ครั้นละจากโลกนี้ไปก็เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา เสวย ทิพยสมบัติบนเทวโลกอยู่ยาวนาน จนกระทั่งหมดอายุขัยก็มาจุติในโลกมนุษย์
 
     ครั้งนี้ ท่านได้มาเกิดในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมมุตตระ ในตระกูลที่มั่งคั่ง เมื่อเติบโตขึ้นได้มีโอกาสไปวิหารกับพวกอุบาสก เห็นพระบรมศาสดากำลังประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เพียงได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ท่านเกิดความเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยม จึงนั่งฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท  สมัยนั้น พระบรมศาสดาได้แต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ท่านเกิดมหาปีติ ปรารถนาจะได้ตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้นบ้าง
 
     วันต่อมา ท่านได้อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกอีก ๑๐๐,๐๐๐ รูป ได้ถวายมหาทานแด่สงฆ์หมู่ใหญ่ ปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะต่อหน้าพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บุญที่ข้าพระองค์ตั้งใจบำเพ็ญนี้ มิได้ปรารถนาตำแหน่งพระราชามหากษัตริย์ หรือความเป็นใหญ่ในโลกสามเลย สิ่งที่ข้าพระองค์ต้องการ คือ ตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ขอความปรารถนานั้น จงสำเร็จแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
 
     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นกุลบุตรนั้น มีความตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้า ทรงมองไปในอนาคตกาล เห็นความปรารถนานั้นจะสำเร็จแน่นอน จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในอนาคตกาล ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม” ท่านได้ฟังคำพยากรณ์นั้น ยิ่งเกิดมหาปีติ มีความศรัทธาเชื่อมั่นยิ่งในพระรัตนตรัย ได้ตั้งใจสร้างบุญอย่างเต็มที่จนตลอดชีวิต ละโลกนี้ก็ได้ไปเสวยสุขอยู่ในเทวโลกนับภพนับชาติไม่ถ้วน ท่องเที่ยวอยู่เพียงสองภูมิ คือ เทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น
 
     ครั้นจุติจากเทวโลก ท่านมาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ ในสมัยนั้นมีพระราชกุมาร ๓ พระองค์ ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก พากันผลัดเปลี่ยนวาระอุปัฏฐากพระบรมศาสดา กุลบุตรนี้ได้เกิดเป็นสหายของพระกุมารทั้งสาม ทำให้มีโอกาสสร้างมหาทานบารมี ได้สั่งสมบุญในภพนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อละจากภพชาตินั้นก็อุบัติในเทวโลก
 
     กระทั่งมาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เทพบุตรนั้นได้จุติมาจากเทวโลก บังเกิดในเรือนของเศรษฐีในแคว้นกุรุรัฐ มีชื่อว่ารัฐบาล รัฐบาลกุมารนี้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ แต่ในใจลึกๆ อยากจะแสวงหาหนทางที่จะหลุดออกจากเครื่องพันธนาการของชีวิต จนกระทั่งพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในชนบท ในกุรุรัฐ ถึงหมู่บ้านที่รัฐบาลกุมารอาศัยอยู่ เมื่อรู้ข่าวการเสด็จมาเท่านั้น รัฐบาลกุมารดีใจรีบเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ด้วยความเบิกบานใจยิ่งนัก
 
     หลังจากฟังธรรมแล้ว ท่านเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะออกบวช จึงขออนุญาตมารดาบิดา แต่ทั้งสองไม่อนุญาต ท่านจึงอดอาหารชนิดที่ว่า หากไม่ได้ออกบวชจะขอตายดีกว่า อดอาหารอยู่ถึง ๗ วัน มารดาบิดาเห็นความตั้งใจจริงในศรัทธาที่แรงกล้าของบุตรชาย จึงอนุญาตให้บวชทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเต็มใจเท่าใด หลังจากบวชได้ไม่นาน ท่านทำความเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สมความปรารถนาที่ตั้งใจไว้อย่างยาวนาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมองเห็นบุพกรรม ที่ท่านตั้งความปรารถนาเอาไว้ในอดีต จึงได้ตั้งพระรัฐบาลเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา
 
     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความศรัทธา ความเชื่อมั่น มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์ทั้งหลายในโลก เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ ที่สามารถยังบุคคลให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ไม่ว่าบุคคลใดจะทำสิ่งใดก็ตาม หากใจเปี่ยมด้วยศรัทธาแล้ว สิ่งที่ยากก็จะง่าย สิ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ย่อมเป็นไปได้ และสำเร็จได้อย่างเป็นอัศจรรย์ ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางพลังแห่งความศรัทธาได้  ดังนั้น พวกเราต้องประคับประคองศรัทธาของเราให้ดี ให้มีความมั่นคงในพระรัตนตรัยตลอดเวลา หากทำได้เช่นนี้ ศรัทธาของเราก็จะเป็นศรัทธาที่พาให้พ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๗๑ หน้๔๓



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธีการดำเนินชีวิตแบบอริยะวิธีการดำเนินชีวิตแบบอริยะ

วิธีเริ่มต้นปีใหม่ตามหลักพุทธวิธีวิธีเริ่มต้นปีใหม่ตามหลักพุทธวิธี

วิธีตอบแทนคุณของญาติโยมอย่างอริยะวิธีตอบแทนคุณของญาติโยมอย่างอริยะ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน