ขออย่างพระอริยเจ้า


[ 14 ส.ค. 2556 ] - [ 18277 ] LINE it!

ขออย่างพระอริยเจ้า
 
 
     การที่จะนำตนให้พ้นจากอาสวกิเลส ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เข้าถึงอายตนนิพพานได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับนักสร้างบารมีผู้มีหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยการสร้างบารมีนั้น ย่อมตระหนักว่า การสร้างบุญกุศลคือกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะบุญที่เราสร้างนี้ จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เส้นทางในสังสารวัฏของเรา ย่อมก้าวไปได้อย่างสะดวกสบาย และมีโอกาสสร้างบารมีให้ยิ่งขึ้นไป เป็นบุญต่อบุญไม่มีที่สิ้นสุด การสร้างบารมีอย่างที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความสำคัญสำหรับพวกเราทุกๆ คน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อัฏฐิเสนชาดก ความว่า
 
                              “น เว ยาจนฺติ สปฺปญฺญา   ธีโร จ วิทิตุมรหติ
                               อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ    เอสา อริยาน ยาจนา
 
     ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะไม่ออกปากขอเลย ธีรชนควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ยืนเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย”
 
     ผู้มีปัญญาในที่นี้ หมายเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ถือว่า เป็นเนื้อนาบุญแก่ปฏิคาหก การขอของท่านจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน จะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนอย่างแน่นอน เพราะชีวิตของท่านเหล่านั้น เป็นไปเพื่อส่วนรวม สร้างคุณประโยชน์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล นี่คือผู้มีปัญญาที่กล่าวถึงในพระคาถา เราหากรับรู้ดังนี้แล้ว เมื่อปรารถนาจะได้บุญกับท่าน ก็ควรใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาให้ดีว่า เราควรจะบำเพ็ญบุญกับท่านอย่างไร
 
     วิสัยของบัณฑิต หากท่านดำรงอยู่ในเพศแห่งเนื้อนาบุญ ท่านย่อมรู้ว่า ควรจะวางตัวอย่างไร เพราะท่านตระหนักดีว่า การขอบ่อยๆ โดยไม่มีความพอดีนั้น ไม่เป็นที่รักของผู้ใด ท่านจะขออย่างพระอริยเจ้า
 
     * ดังชีวิตในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่ยังสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ขณะที่พระองค์ตรัสเรื่องนี้ขึ้นมา ทรงประทับอยู่ที่เมืองอาฬวี และได้ปรารภเหตุที่มีพระภิกษุพุทธสาวกไปขอวัสดุอุปกรณ์มาสร้างกุฎิที่พัก จนเกิดเรื่องราวที่กล่าวขานกันอย่างกว้างขวาง พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมา แล้วให้ข้อคิดว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น บัณฑิตสมัยก่อนได้บรรพชาในพาหิรลัทธิ แม้พระราชาจะทรงปวารณาแล้ว ก็ไม่ทูลขออะไร เพราะคิดว่า ขึ้นชื่อว่าการขอของรัก ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของชนเหล่าอื่น” จากนั้นพระพุทธองค์ได้นำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า
 
     ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกหมู่ญาติพากันตั้งชื่อท่านว่าอัฏฐิเสนกุมาร  เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนเจนจบ เป็นที่รักของครูบาอาจารย์ยิ่งนัก แต่ด้วยอานุภาพแห่งเนกขัมมบารมีที่ได้สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้ท่านเห็นโทษเห็นภัยในกามทั้งหลายว่า กามทั้งหลายมีทุกข์มาก เป็นต้นทางแห่งทุกข์ จึงออกบวชเป็นฤๅษี ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าหิมพานต์เป็นเวลานาน จนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ และอภิญญาสมาบัติ
 
     หลังจากที่อยู่ป่ามายาวนาน พระโพธิสัตว์ปรารถนาจะเปลี่ยนบรรยากาศ และรสชาติของการขบฉัน จึงเดินทางเข้ามาในเมืองพาราณสี จนมาถึงพระราชอุทยาน รุ่งขึ้นได้เดินภิกขาจารมาถึงพระลานหลวง ด้วยอากัปกิริยาที่งดงามน่าเลื่อมใส  พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงให้ราชบุรุษนิมนต์ท่านเข้ามาในพระราชวัง อาราธนาให้นั่งที่พื้นปราสาทที่ตกแต่งอย่างดี แล้วได้ถวายโภชนะที่ประณีต หลังจาก
ฤๅษีโพธิสัตว์ฉันภัตตาหารแล้ว ได้กล่าวอนุโมทนากถา พระราชาทรงฟังอนุโมทนากถาอันประกอบด้วยธรรมเช่นนั้นแล้ว ยิ่งเกิดความเลื่อมใสขึ้น จึงอาราธนาให้พักที่พระราชอุทยาน พร้อมปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก
 
     พระราชาเสด็จไปสนทนาธรรมกับพระโพธิสัตว์วันละสองถึงสามครั้ง วันหนึ่ง ด้วยความที่พระองค์ปีติในธรรมิกถาจึงทรงปวารณาว่า “พระคุณเจ้าต้องการสิ่งใดนับตั้งแต่ราชสมบัติลงมา ขอพระคุณเจ้าจงบอกแก่โยมเถิด โยมปรารถนาจะสร้างบุญกุศล”  พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้นก็นิ่งๆ ไม่แสดงอาการอยากได้สิ่งใด
 
     วันหนึ่ง พระราชาทรงดำริว่า ยาจกเหล่าอื่นต่างขอในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะนี้ ตั้งแต่วันที่เราปวารณาไว้ ยังไม่เคยขอสิ่งใดกับเราเลย พระคุณเจ้าเป็นบัณฑิตที่แท้จริงๆ เราจักเรียนถามท่าน ได้เสด็จไปอุปัฏฐากพระฤๅษีที่พระราชอุทยานพลางตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกวณิพกทั้งหลายที่โยมไม่รู้จัก ต่างพากันมาหาโยมและขอสิ่งต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่พระคุณเจ้าผู้ที่โยมรักและเคารพ ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ขอสิ่งใดเลย”
 
     พระโพธิสัตว์ตอบว่า “มหาบพิตร ที่อาตมาไม่ขอ ก็เพราะว่า ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ส่วนผู้ให้ เมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น อาตมาภาพจึงไม่ขอสิ่งใดกับมหาบพิตร ขอความบาดหมางใจอย่าได้มีแก่อาตมาภาพเลย เพราะหากอาตมาขอแล้ว ตัวมหาบพิตรเองก็คงจะรับสั่งให้ไม่ขัด แต่ตัวอาตมภาพเองก็จะเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ หากสมมติว่า ถ้าขอแล้วพระองค์ให้ไม่ได้หรือไม่สามารถจะให้ได้ อาตมาจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจเช่นกัน ระหว่างพระองค์กับอาตมาอย่าได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เลย”
 
     ด้วยความที่พระราชาเป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยการให้ และรักที่จะสั่งสมบุญกุศล จึงกล่าวขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้ใดที่เลี้ยงชีพด้วยการขอ แต่ไม่ขอในสิ่งที่ควรขอ และในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้น ย่อมขจัดบุญจากผู้อื่น แม้แต่ตนเองก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนผู้ใดที่เลี้ยงชีพด้วยการขอ และขอสิ่งที่ควรขอ ทั้งขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วย ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เห็นผู้ขอมาแล้วจะไม่รู้สึกขึ้งเคียด ข้าแต่พระคุณเจ้านี้เป็นที่รักของโยมเหลือเกิน พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดขอให้บอกเถิด เพราะการบอกของพระคุณเจ้า คือสิ่งที่ยังความปีติให้กับโยม”
 
     แม้พระราชาจะตรัสให้รู้ถึงอัธยาศัยของตนเช่นนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังคงไม่ทูลขอสิ่งใด เมื่อจะแสดงปฏิปทาของนักบวช ท่านจึงกล่าวว่า “มหาบพิตรราชสมภารเจ้า การขอสิ่งที่ไม่ควรขอนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร อาตมาเลี้ยงชีพอยู่นี้ ยังไม่เห็นปัจจัยที่ใช้สอยขาดตกบกพร่องเลย บรรพชิตทั้งหลาย ตั้งแต่บวชมาก็ควรที่จะเป็นผู้ที่มีอาชีวะบริสุทธิ์ผุดผ่อง และขอให้พระองค์สังเกตการขออย่างพระอริยทั้งหลายไว้ด้วยว่า ท่านจะไม่ออกปากขอเลย แต่บัณฑิตและนักปราชญ์ทั้งหลายควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าท่านยืนเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือการขอของท่านนั่นเอง”
 
     สำหรับการขอแบบพระอริยะนี้ ท่านจะไม่กระทำในสิ่งที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายติเตียน หากเราปรารถนาจะเอาบุญกับท่านผู้เป็นเนื้อนาบุญ ก็ต้องรู้จักสังเกตและพินิจพิจารณาให้ดี เราจะได้ไม่พลาดจากกองบุญกุศล เช่นเดียวกับพระราชาองค์นี้ เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้วทรงได้คิดทันที จึงกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ถ้าอุปัฏฐากทั้งหลายสังเกตเห็นว่า สิ่งนี้ควรที่จะถวาย รู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีเลิศ ถ้าอย่างนั้น โยมขอถวายโคนมสีแดงพันตัว และโคตัวผู้แก่พระคุณเจ้า”
 
     พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้นแล้วก็ทูลปฏิเสธเช่นเดิมว่า “มหาบพิตร ธรรมดาบรรพชิตไม่ควรมีความกังวลอะไรเลย อาตมาไม่มีความต้องการสิ่งเหล่านี้ หากพระองค์ปรารถนาจะถวายสิ่งที่มีคุณค่ากับอาตมาละก็ โปรดทรงบำเพ็ญบุญ มีทาน เป็นต้นให้ต่อเนื่องไม่ขาดสายเถิด จะเป็นการกระทำที่ทรงค่ามากที่สุด”
 
     พระราชาทรงสดับดังนั้น ยิ่งเกิดความปีติโสมนัสในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชาทรงดำรงตนอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ตั้งใจสั่งสมบุญบารมีอย่างเต็มที่ ทรงทำทาน ตั้งมั่นอยู่ในศีลจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อละโลก พระองค์ได้เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาในสุคติโลกสวรรค์ ส่วนพระฤๅษีโพธิสัตว์ ตลอดชีวิตของท่านก็ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ได้เข้าถึงฌานและอภิญญาที่ไม่เสื่อม ละจากโลก ได้เข้าถึงพรหมโลก เมื่อทรงตรัสพระธรรมเทศนานี้จบแล้ว ทรงประมวลชาดกว่า “พระราชาในครั้งนั้น คือพระอานนท์ ส่วนพระฤๅษี คือตถาคตนั่นเอง”
 
     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการขอของพระอริยะนั้นลึกซึ้งทีเดียว ท่านจะขอในขณะและเวลาที่เหมาะสม ไม่ขอพร่ำเพรื่อ จะดูทุกสิ่งทุกอย่างให้พอเหมาะพอดี และสิ่งที่ขอนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นสิ่งอันควรแก่สมณะบริโภคที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในภพนี้และภพหน้า เช่นเดียวกับการที่พระโพธิสัตว์ประทานโอวาทให้พระราชาเป็นนักสร้างบารมีที่ดี พระราชาก็ทรงปฏิบัติตามโอวาทของพระโพธิสัตว์ ดังนั้นให้พวกเราทุกคนดูแบบอย่างตรงนี้ แล้วทำชีวิตของเราให้สมบูรณ์ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันทุกๆ คน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๒๘๖
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ยอดผู้นำ และผู้บริหารยอดผู้นำ และผู้บริหาร

คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์

ผู้เสียหายทั้งสองทางผู้เสียหายทั้งสองทาง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน