โกรธกันไปทำไม


[ 17 ก.ย. 2556 ] - [ 18285 ] LINE it!

โกรธกันไปทำไม
 
 
     ความสามัคคี คือพลังของหมู่คณะที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ คนเราแม้ว่าต่างคนจะต่างที่มา ต่างวิถีชีวิต ต่างความคิดจิตใจ แต่เมื่อมีความสามัคคีรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และสรรค์สร้างสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ยิ่งถ้าได้นำพลังแห่งความสามัคคีนี้ไปสร้างความดีแล้ว ก็ยิ่งก่อให้เกิดสันติสุขแก่โลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเมื่อประสบความสุขความสำเร็จ ก็จะเป็นชัยชนะที่มีแต่ความสุขกันถ้วนหน้า แต่เมื่อใดที่แตกแยกความสามัคคี เมื่อนั้นทั้งหมู่คณะย่อมพบความหายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะความสุขความสำเร็จของหมู่คณะจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนมีความสามัคคี มีเป้าหมายและมีหัวใจดวงเดียวกัน เป็นดวงใจที่ใสบริสุทธิ์หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายในแหล่งแห่งความสำเร็จ ที่จะทำให้ทุกคนมีความคิด คำพูด และการกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานคาถาไว้ว่า
 
     “บุคคลใดไม่มีความโกรธภายในจิตใจ และก้าวล่วงภพน้อยใหญ่มีประการเป็นอันมากเสียได้ เทวดาทั้งหลายไม่อาจเล็งเห็นวาระจิตของบุคคลนั้น ผู้ปลอดภัย มีสุขไม่มีโศก”
 
     ความโกรธย่อมมีในบุคคลผู้มักโกรธ เมื่อบุคคลใดถูกความโกรธเข้าครอบงำแล้ว ย่อมไม่รับรู้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น และหากปล่อยให้ความโกรธครอบงำ ความมืดบอดก็ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น ยิ่งหากความโกรธครอบงำบ่อยๆ เข้า จิตใจก็ยิ่งขุ่นมัวไม่สามารถขจัดโทสะให้ออกไปได้ ชีวิตย่อมมีแต่ความรุ่มร้อนมืดมนอนธกาล ไม่มีความสุขกายสบายใจ เมื่อเราโกรธคนอื่นก่อน ผู้ที่ร้อนใจคนแรกคือ ตัวเราเพราะเราจะทุกข์ทั้งกายและใจ ไม่มีความสุขสบายเลย เมื่อโกรธจนเป็นนิสัย เป็นอาจิณกรรม แม้ก่อนละโลกก็ยังมีความโกรธฝังแน่นอยู่ในจิตใจเช่นนี้แล้ว ย่อมจะมีทุคติภูมิเป็นที่ไปอย่างแน่นอน
 
     ผู้มีปัญญา เมื่อรู้เห็นเหตุทั้งหลายดีแล้ว จึงละความโกรธ และสละมานะความถือตัว อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความโกรธทิ้งไป เพราะเห็นโทษว่า ความโกรธก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ทำจิตให้กำเริบ เป็นภัยอันใหญ่หลวง บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธ แม้ใครๆ จักมีความโกรธ แต่ท่านก็ไม่โกรธตอบ
 
     บุคคลใดมีความโกรธความอาฆาตพยาบาทต่อกัน นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก อันเกิดจากความแตกต่างของจิตใจที่ไม่เสมอกัน เมื่อโกรธแล้วก็จะมีการผูกเวรต่อกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไม่ให้จองเวรต่อกัน อันที่จริงก็ไม่รู้จะไปโกรธกันทำไม เพราะเราคือเพื่อนพ้องพี่น้องกันที่เกิดมาร่วมทุกข์ ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายกันทั้งนั้น เรื่องไม่ให้มีความโกรธอาฆาตพยาบาทต่อกันนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสสอน ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตกาลดังนี้
 
     * มหาอำมาตย์สองคน เป็นหัวหน้าทหารของพระเจ้าโกศล ครั้งใดที่ได้เห็นหน้ากันก็จะทะเลาะกันเสมอ เรื่องการจองเวรของเขาทั้งสอง เป็นที่รู้กันทั่วเมือง พระราชาตลอดจนญาติมิตร ก็ไม่สามารถจะไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองสามัคคีกันได้
 
     วันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกที่ควรจะโปรด ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของเขาทั้งสอง รุ่งขึ้นพระพุทธองค์จึงเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียว โดยทรงไปประทับยืนอยู่ที่ประตูเรือนของอำมาตย์คนหนึ่ง เขาออกมารับบาตรแล้วนิมนต์พระบรมศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ได้ปูอาสนะให้ประทับนั่ง เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว ก็ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาแก่อำมาตย์ ครั้นเขามีจิตอ่อนโยนแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ เมื่อจบอริยสัจเขาก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในเช้านั้นเอง
 
     เมื่อเขาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว พระศาสดาทรงให้เขาถือบาตร และพาไปบ้านของอำมาตย์อีกคนหนึ่ง อำมาตย์นั้นออกมาเชื้อเชิญว่า “ขอเชิญเสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า” แล้วทูลเสด็จเข้าไปในบ้าน อัญเชิญให้ประทับนั่ง อำมาตย์ที่ตามเสด็จก็ถือบาตรตามเข้าไปพร้อมพระศาสดา พระองค์ตรัสพรรณนาอานิสงส์แห่งเมตตา ครั้นเขามีจิตนุ่มนวลแล้ว จึงทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจธรรม อำมาตย์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ได้เป็นพระอริยบุคคลเช่นกัน
 
     จากนั้นอำมาตย์ทั้งสองต่างขอขมาซึ่งกันและกัน และมีความสมัครสมานบันเทิงใจ มีอัธยาศัยร่วมกัน ในวันนั้นทั้งสองได้บริโภคอาหารร่วมกันต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากพระบรมศาสดาเสวยภัตตาหารแล้ว ทรงเสด็จกลับพระวิหาร อำมาตย์ทั้งสองพากันถือดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ และเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ออกไปส่งพระศาสดาด้วย
 
     ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากัน กล่าวแสดงคุณของพระบรมศาสดาในธรรมสภาว่า “ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงฝึกคนที่ควรฝึก ทรงฝึกมหาอำมาตย์ทั้งสอง ซึ่งวิวาทกันมาช้านาน แม้พระราชาและญาติมิตร ก็ไม่สามารถจะทำให้สามัคคีกันได้ แต่พระองค์ทรงทำให้ปรองดองกันได้ในวันเดียวเท่านั้น” พระบรมศาสดาได้เสด็จมาตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร” เมื่อพระองค์ทรงรู้เรื่องราว จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้ทำให้ชนทั้งสองสามัคคีกันมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ได้ทำแล้วเช่นกัน” แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า
 
     ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี และเมื่อมหาชนกำลังจัดงานใหญ่เฉลิมฉลองกันอยู่นั้น ทั้งมหาชน เทวดา นาค ครุฑ เป็นจำนวนมาก ต่างพากันมาชมมหรสพอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งในครั้งนั้น พญานาคได้มาชมมหรสพด้วย พญานาคนั้นจำพญาครุฑไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างแปลงกายมา และต่างมองไม่เห็นหน้า พญานาคจึงวางมือพาดลงบนบ่าของพญาครุฑ พญาครุฑนึกในใจว่า ใครนะเอามือวางบนบ่าของเรา เมื่อเหลียวไปดูก็รู้ว่า เป็นพญานาค  ส่วนพญานาคก็จำได้ทันทีว่าเป็นพญาครุฑ พญานาคหวาดหวั่นต่อมรณภัย จึงหนีไปที่ท่าน้ำ พญาครุฑก็ติดตามไปเพื่อจับพญานาคนั้นกินให้ได้
 
     ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบสอาศัยอยู่ ณ บรรณศาลาใกล้ฝั่งแม่น้ำ กำลังสรงน้ำในแม่น้ำอยู่ เมื่อพญานาคเห็นดาบสก็คิดว่า ต้องอาศัยบรรพชิตนี้จึงจะมีชีวิตรอด จากนั้นได้แปลงเป็นก้อนมณีเข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้ของดาบสที่ถอดวางไว้บนฝั่ง พญาครุฑติดตามไปเห็นพญานาคเข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้ของดาบสก็ไม่กล้าจับ เพราะความเคารพในผ้าของผู้ทรงศีล จึงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า
 
     “ท่านขอรับ ขอท่านจงเอาผ้าเปลือกไม้ของท่านมา ข้าพเจ้าจักกินพญานาคนี้ เพราะพญานาคได้แปลงเป็นแก้วมณี เข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้ของท่าน แต่ด้วยความเคารพในท่านซึ่งเป็นผู้มีศีล ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าจับ”
 
     พระโพธิสัตว์ได้สรรเสริญพญาครุฑว่า “ท่านเคารพยำเกรงผู้มีเพศอันประเสริฐ แม้หิวก็ไม่จับพญานาคที่เข้าไปอาศัยผ้าเปลือกไม้นั้น ขอท่านจงเป็นผู้อันพรหมคุ้มครองดีแล้ว ดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนานเถิด อนึ่ง ขอภักษาหารอันเป็นของทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด” พญาครุฑได้ฟังแล้ว ก็มีจิตอ่อนโยนลง จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้พาสัตว์ทั้งสองไปอาศรม แสดงถึงโทษในการทะเลาะ และอานิสงส์ในการเจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งสอง แล้วสอนว่า “ท่านไม่ควรทะเลาะกัน ควรอยู่กันด้วยความสามัคคี แล้วสันติสุขจะบังเกิดขึ้นแก่ท่านทั้งสอง” ตั้งแต่นั้นมาสัตว์ทั้งสองก็มีความสมัครสมานสามัคคีกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 
     ครั้นพระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มากล่าวแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า “พญานาคและพญาครุฑในครั้งนั้น ได้มาเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งสองในบัดนี้ ส่วนดาบสได้เป็นเราตถาคต”
 
     ความโกรธเป็นสิ่งที่ทำร้ายมิตร และทำร้ายตนเอง พระบรมครูของเราจึงทรงแนะนำพร่ำสอนให้เจริญเมตตา โดยไม่ให้โกรธพยาบาทอาฆาตต่อกัน และยังทรงตรัสอานิสงส์ของความไม่โกรธไว้ว่า “ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ แม้คนหมู่มากจะว่า ก็ไม่มีใจขุ่นมัว ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเครียด และความเสียใจให้ปรากฏเกิดขึ้นเลย ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนได้ทำ สั่งสมพอกพูนให้ไพบูลย์ ครั้นจุติจากสวรรค์แล้วมาเกิดในเมืองมนุษย์ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้ คือมีฉวีวรรณดังทองคำ และผู้ที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกผนวชจะได้บรรลุอมตธรรมอันเลิศ”
 
     จะเห็นว่า ความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี มีแต่นำทุกข์นำโทษมาให้ ส่วนอานิสงส์ของเมตตานั้นมีมากมาย เพราะฉะนั้นหากเราโกรธใครก็ตาม ให้เราหมั่นเจริญเมตตาจิตอยู่เสมอ เมื่อทำบ่อยๆ จิตของเราจะมีแต่ความสุข โลกนี้ก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น มองไปทางไหนก็มีแต่ความรัก ความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน จะเป็นโลกที่มีแต่สันติสุขอย่างแท้จริง โลกจะร่มเย็นดับทุกข์เข็ญได้ ก็ด้วยเมตตานี้ ขอให้เราหมั่นเจริญสมาธิภาวนาแผ่เมตตากันทุกๆ วัน

พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย
 
* มก. เล่ม ๕๗ หน้า ๒๒
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ระแวงภัยที่ควรระแวงระแวงภัยที่ควรระแวง

อย่าให้เกิดอาการน้อยใจอย่าให้เกิดอาการน้อยใจ

ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน