อย่าให้เกิดอาการน้อยใจ


[ 20 ก.ย. 2556 ] - [ 18266 ] LINE it!

อย่าให้เกิดอาการน้อยใจ
 
 
     หนทางแห่งการสร้างบารมีเป็นเส้นทางที่ยาวไกล และจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นและไม่ประมาท จึงจะสามารถสร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่ง และย่นหนทางในสังสารวัฏให้สั้นเข้ามาได้ หากเป็นผู้ประมาทในชีวิตแล้ว ก็ยิ่งเป็นการยืดเวลาของการเวียนว่ายตายเกิดให้ยาวนานออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า สังสารวัฏของผู้ที่ประมาทนั้นยาวไกลหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้ การที่เราจะเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างสมบูรณ์ได้นั้น ต้องหมั่นทำภาวนา นำใจของเราให้กลับเข้ามาอยู่ในแหล่งแห่งสติ แหล่งของปัญญาตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งอยู่ที่กลางของกลางกายให้ได้ตลอดเวลา พลังแห่งสติและปัญญาของเราจึงจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อย่างแท้จริง
 
มีวาระพระบาลีใน ธูมการิชาดก ความว่า
 
                           “เอวํ โย สนฺนิรงฺกตฺวา   อาคนฺตุํํ ํ กุรุเต ปิยํ
                            โส เอโก พหุ โสจติ    ธูมการีว พฺราหฺมโณ
 
     ผู้ใดละทิ้งคนของตน ทำผู้ที่มาใหม่ให้เป็นที่รักอย่างนี้ ผู้นั้นคนเดียวจะเศร้าโศกมากมาย เหมือนพราหมณ์ธูมการีเศร้าโศกอยู่อย่างนั้น”
 
     ถ้อยคาถาอันเป็นคำสุภาษิตที่หลวงพ่อยกมาข้างต้นนี้ เป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญสำหรับทุกท่าน โดยเฉพาะท่านที่จำเป็นต้องร่วมงานกับผู้คนจำนวนมาก การวางตัวของเรากับบุคคลเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมปรารถนาหัวหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตา มากด้วยคุณธรรม ซึ่งคุณธรรมพื้นฐานที่สำคัญก็คือ การเป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที ให้ความสำคัญกับทุกๆ คน โดยอย่าให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเราเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะถ้าน้อยเนื้อต่ำใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้ว อาการเช่นนี้ ย่อมจะเป็นผลร้ายกับเราและโครงงานของเราได้
 
     เรื่องราวที่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน จนเกิดเป็นความเสียหายนี้เคยมีมาแล้วทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยพุทธกาล ก็เคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาแล้วเช่นกัน
 
     * สมัยหนึ่ง พระเจ้าโกศลผู้เป็นพระราชาแห่งเมืองสาวัตถี หลังจากที่ผ่านพ้นภาวะสงครามมาแล้ว พระองค์ไม่ได้สงเคราะห์ทหารเก่าๆ ที่ติดตามสนองงานพระองค์มาตั้งแต่ครั้งออกศึก ไม่ได้ทรงยกย่องด้วยสักการะทั้งหลาย แต่กลับสงเคราะห์ทหารใหม่ ภายหลังเมื่อพระเจ้าโกศลเสด็จไปปราบปรามโจรที่ปัจจันตชนบท ทหารเก่าที่เคยออกรบต่างพากันคิดว่า เมื่อพระราชาไม่ทรงให้ความสำคัญ พวกเรารบไปก็คงไร้ประโยชน์ ทหารใหม่ที่พระราชาให้ความสำคัญก็คงจะรบอย่างเต็มกำลัง ฝ่ายทหารใหม่ก็คิดว่า เรามาเพื่อเป็นแขกของพระราชาเท่านั้น ทหารเก่าที่เคยรบครั้งก่อนก็คงจะช่วยกันรบอย่างเต็มที่ เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดเช่นนี้ ใจก็ไม่เป็นหนึ่ง ทำให้เหล่าโจรสามารถรบชนะได้อย่างสบายๆ
 
     เมื่อพระเจ้าโกศลปราชัยต่อการปราบปรามครั้งนี้ ทรงตกพระทัย พลางดำริว่า แสนยานุภาพของทหารเรานี้ ยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้ เป็นเพราะอะไรกันหนอถึงได้พ่ายแพ้ ครั้นใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนแล้วก็รู้ว่า การที่เราปราชัยอย่างย่อยยับก็เพราะว่า เราวางตัวไม่สม่ำเสมอในทหารหาญ ทำการสงเคราะห์ผู้มาใหม่ ละเลยเพื่อนเก่าผู้ร่วมตายกันมาในสนามรบ พระองค์รีบเสด็จกลับเมือง จากนั้นทรงดำริว่า เราคนเดียวเท่านั้นหรือที่ปราชัยอย่างนี้ ในสมัยก่อนมีผู้นำที่ทำเช่นนี้แล้วพ่ายแพ้หรือไม่ ทรงรำพึงดังนี้แล้วก็ระลึกถึงพระบรมศาสดา ครั้นเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงรีบเสด็จไปยังพระเชตวันเพื่อทูลถามเรื่องราวในอดีตที่ตนอยากรู้
 
     ครั้นเสด็จไปถึงพระเชตวัน ได้ถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลเรื่องราวทั้งหมดทันที จากนั้นทรงตรัสถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอดีตกาล เคยเกิดเรื่องเหมือนที่เกิดขึ้นกับข้าพระองค์หรือไม่” พระบรมศาสดาทรงปรารถนาจะตักเตือนพระราชา ไม่ให้มองข้ามผู้ที่เคยมีอุปการคุณมาก่อน จึงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ใช่จะมีแต่พระองค์เท่านั้นที่ปราชัยเพราะการวางตัวเช่นนี้ แม้ในสมัยก่อนก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับพระองค์เช่นกัน” พระราชาได้ฟังดังนั้น ยิ่งทำให้พระองค์ปรารถนาที่จะสดับเรื่องราวทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้น จึงทูลอ้อนวอนพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดตรัสเล่าเรื่องราวเหล่านั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้า” พระศาสดาผู้เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาจึงทรงนำอดีตมาเล่าว่า
 
     ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า ธนัญชัย ยุธิฏฐิลโคตร เสวยราชสมบัติอยู่ที่อินทปัตนครในแคว้นกุรุ ในพระชาตินั้น พระโพธิสัตว์เสด็จอุบัติในตระกูลปุโรหิตของพระเจ้าธนัญชัย ครั้นเติบใหญ่พระโพธิ์สัตว์ได้รับการศึกษาจากสำนักตักสิลาซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ของบัณฑิตทั้งหลายในสมัยนั้น เมื่อจบการศึกษาแล้ว พระโพธิสัตว์ก็เดินทางกลับมารับราชการสนองงานพระเจ้าธนัญชัยที่อินทปัตนคร ได้รับตำแหน่งปุโรหิตผู้คอยถวายอรรถธรรมแด่พระราชาสืบต่อจากบิดาของตน ประชาชนได้ขนานนามพระโพธิสัตว์ว่า วิธูรบัณฑิต
 
     ในช่วงแรกของการครองราชสมบัติ บ้านเมืองยังไม่ค่อยสงบเรียบร้อย พระเจ้าธนัญชัยยังต้องปราบปรามเหล่าโจรร้ายเพื่อรักษาความสงบ พระองค์มีทหารที่มีฝีมือมากมาย ทำให้ทุกๆ ครั้งที่ออกปราบปราม ทรงประสบชัยชนะด้วยดีตลอดมา กระทั่งวันหนึ่ง ภายหลังที่กรำศึกมานานจนบ้านเมืองสงบสุข พระเจ้าธนัญชัยทรงมีทหารใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น พระองค์เริ่มลืมเลือนทหารเก่า ไม่ทรงคำนึงถึง ปล่อยปละละเลย ไม่ทรงยกย่องให้เกียรติเหมือนดังเดิม
 
     พระเจ้าธนัญชัยได้ยกย่อง และสักการะพวกทหารใหม่เท่านั้น ทั้งๆ ที่ทหารใหม่เพียงแค่แขกผู้มาเยือน ยังไม่เคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในการปราบปรามเหล่าโจรร้าย จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดกบฏขึ้นที่ปัจจันตชนบท พระราชาพร้อมด้วยทหารเก่าและใหม่เดินทางไปปรามปรามกบฏด้วยกัน ครั้นไปถึง ทหารทั้งสองฝ่ายเกิดความแตกแยก ไม่มีใจเป็นหนึ่ง ทหารเก่าก็คิดว่า ในเมื่อเราหมดความหมายต่อพระราชาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะรบไปทำไมกัน ปล่อยให้ทหารใหม่เขารบไปเถิด ฝ่ายทหารใหม่ก็คิดว่า เราก็เป็นเพียงแค่แขกผู้มาเยือนเพียง อีกไม่นานก็กลับบ้านแล้ว ไม่รู้ว่าจะรบไปทำไม ปล่อยให้เจ้าบ้านเขารบให้เต็มที่เถิด
 
     เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดเช่นนั้น ทำให้ศึกในครั้งนั้นพระราชาเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ทรงกลับมาตรึกตรองหาสาเหตุก็รู้ว่า พระองค์เองมีความผิดอย่างมากที่วางตนไม่เหมาะสมกับทหารผู้จงรักภักดี  วันหนึ่งพระองค์จึงถือโอกาส เข้าไปถามวิธูรบัณฑิตว่า “ดูก่อนท่านบัณฑิต ในสมัยก่อนเคยมีประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองอย่างนี้หรือไม่” พระโพธิสัตว์สดับคำถามของพระราชาแล้ว ปรารถนาจะกล่าวถ้อยคำเตือนพระราชา จึงนำเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาเล่าว่า “ข้าแต่มหาราช เรื่องที่เกิดขึ้นกับพระองค์นี้ ทำให้พระองค์เกิดความเศร้าโศก แต่ความโศกของพระองค์ยังไม่ชื่อว่าโศกเท่าไรนัก 
 
     ในกาลก่อนนั้น เคยมีพราหมณ์เลี้ยงแพะคนหนึ่งชื่อว่าธูมการี ต้อนแพะฝูงใหญ่ออกหากิน และได้สร้างคอกใหญ่ไว้ในป่า พักแพะไว้ในคอกก่อไฟกันยุง เลี้ยงดูแพะและบริโภคนมแพะอยู่ที่ป่าแห่งนั้น วันหนึ่ง มีฝูงชะมดผ่านมาทางนั้น ได้เข้ามาอาศัยในคอก เพราะมีการก่อไฟป้องกันยุงให้ พราหมณ์เห็นชะมดมีสีเหมือนทองคำก็เกิดความสิเน่หารักใคร่ ลืมเลือนแพะทั้งหลายไปโดยปริยาย ไม่ได้สนใจว่าแพะจะกลับมาเข้าคอกหรือไม่ หันมาเลี้ยงดูชะมดแทน ไม่ดูแลแพะอย่างที่เคยทำ
 
     เมื่อเลี้ยงดูได้ระยะหนึ่ง ชะมดก็หนีเข้าป่าไป แพะทั้งหลายก็หายสาบสูญไปด้วย ทำให้พราหมณ์รู้สึกเสียใจมาก จนล้มป่วยเป็นโรคผอมเหลืองและเสียชีวิตในที่สุด ข้าแต่มหาราช ผู้ที่ละทิ้งลืมเลือนเพื่อนเก่า ทำผู้ที่มาใหม่ให้เป็นที่รักเกินไป ก็จะเสียใจเช่นนี้”
 
     ครั้นพระโพธิสัตว์ทูลให้สติพระราชาดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา พระราชาก็กลับตัวหันมาทำนุบำรุงทหารผู้จงรักภักดีเช่นเดิมและดำรงตนอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบุญทุกอย่าง เมื่อละโลกแล้ว ก็ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์     
 
     เราจะเห็นว่า การวางตัวและการปฏิบัติตนกับผู้ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและละเอียดอ่อนมาก บุคคลที่ทำงานเป็นหัวหน้าคน มีผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องดูให้ดี อย่าให้มีการได้ใหม่แล้วลืมเก่า ลืมอุปการคุณของผู้ที่จงรักภักดี ต้องเป็นผู้ที่ตระหนักและจดจำท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย แล้วเราจะเป็นที่รักของทุกๆ คน ชีวิตของเราจะได้ประสบแต่ความสุขความสำเร็จไปทุกภพทุกชาติ

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๔๐๒
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑

ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒

ทำบุญอย่างไรได้ผลมากทำบุญอย่างไรได้ผลมาก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน