พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๑)


[ 19 ต.ค. 2556 ] - [ 18284 ] LINE it!

พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๑)

     ธรรมดาของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม แม้แต่ตัวของเราก็ต้องเสื่อมไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น เราไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ควรมองให้เห็นโทษของความเสื่อมในตัวเราและสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา มีเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อเราเข้าใจวงจรของชีวิตอย่างนี้ เราจะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนบุคคล แล้วมุ่งแสวงหาหนทางหลุดพ้นไปสู่อายตนนิพพาน ที่ไม่มีชราและมรณะ เป็นอมตะ

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน สามัญญผลสูตร ว่า

“จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ    
สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี    
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

     ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่หงุดหงิด สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เทียวไปคนเดียวดังนอแรด”

     ความสันโดษเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทางมาแห่งความสุขกายสบายใจ คนส่วนใหญ่ที่มีความทุกข์อยู่ เพราะไม่รู้จักพอ มีแล้วอยากมีอีก เหมือนแม่น้ำ แม้มีมากมายหลายสาย ก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้ แต่ถ้ารู้จักยินดีในสิ่งที่ได้มา พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ก็เหมือนกับน้ำเพียงเล็กน้อยที่ทำให้แก้วน้ำเต็มบริบูรณ์ได้ ในทำนองเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทองแม้มีอยู่จำนวนไม่มาก แต่ก็สามารถยังใจของผู้ที่มีความสันโดษให้เต็มเปี่ยมได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใด หากใจของผู้นั้นขาดความสันโดษ ใจจะเร่าร้อนกระวนกระวาย มีความกระหายไม่รู้จักอิ่มอยู่นั่นเอง

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ภิกษุเป็นผู้มีความมักน้อย สันโดษ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เห็นแก่ลาภ ยินดีปัจจัยสี่ตามมีตามได้ ไม่ให้ยินดีในวัตถุสิ่งของนอกตัว ซึ่งเป็นทางมาแห่งการเพิ่มพูนอาสวกิเลส แต่ให้มีใจยินดีในพระนิพพานอันเป็นนิรามิสสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุ เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน ใครที่มีอัธยาศัยเช่นนี้จะอยู่ที่ไหนก็มีความสุข จะอยู่ในป่า อยู่ในบ้านหรืออยู่คนเดียวก็มีความสุข เหมือนพระอัญญาโกณฑัญญะเถระ ผู้ยินดีในความสันโดษ ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าหิมพานต์ตามลำพังอยู่ถึง ๑๒ ปี แม้อยู่คนเดียวก็ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง มีความสุขที่เกิดจากการได้บรรลุธรรมภายใน

     * พระเถระที่ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ เพราะรู้ทั่วถึงธรรมก่อนสาวกรูปอื่นๆ เป็นผู้รัตตัญญูรู้ราตรีนาน เนื่องจากว่าท่านมีอายุมาก จึงคิดอยากหลีกเร้นอยู่ตามลำพัง อันที่จริงแล้ว ท่านเป็นพระมหาสาวกผู้มีบุญมาก พระคุณของท่านแผ่ไปในหมู่เทวดา พรหม อรูปพรหม เพราะท่านเป็นอริยสาวกองค์แรก พวกมนุษย์และเทวดาเมื่อเข้าเฝ้าพระตถาคตเจ้า เอาดอกไม้ของหอมบูชาพระพุทธองค์แล้ว จะเข้าไปบูชาพระเถระเป็นองค์ถัดไป

     เป็นธรรมเนียมว่า เมื่อมีญาติโยมสาธุชนหรือผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา เข้ามาเยี่ยมเยียนในวิหาร  พระอัญญาโกณฑัญญะจะต้องแสดงธรรมิกถาหรือต้อนรับปฏิสันถาร แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อท่านแนะนำและทำเป็นตัวอย่างให้กับพระอริยสาวกรุ่นหลังไว้เป็นแนวทางแล้ว จึงขอโอกาสไปปฏิบัติธรรมอยู่ตามลำพัง

     อีกสาเหตุหนึ่ง ขณะออกบิณฑบาต พระสาวกทุกรูปจะเดินตามลำดับพรรษา และเวลาแสดงธรรม เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ตรงกลาง พระธรรมเสนาบดีนั่งทางด้านขวา พระโมคคัลลานะนั่งทางด้านซ้าย ส่วนเบื้องหลังของพระอัครสาวกทั้งสอง ภิกษุเจ้าหน้าที่จะปูอาสนะไว้สำหรับพระอัญญาโกณฑัญญะ ภิกษุที่เหลือจะนั่งแวดล้อมพระพุทธองค์ พระอัครสาวกทั้ง ๒ รูปมีความเคารพในพระเถระมาก เพราะท่านเป็นผู้แทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนใคร เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ จึงให้ความสำคัญท่านรองมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     เมื่อเป็นเช่นนี้ พระโกณฑัญญะเถระจึงคิดว่า ภิกษุเหล่านี้บำเพ็ญบารมีสิ้นอสงไขยกับแสนกัป เพื่อต้องการนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านรู้ฐานะของท่านดี จึงปรารถนาที่จะให้อัครสาวกทั้งสอง ผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา บริหารคณะสงฆ์ได้สะดวก ไม่ต้องมัวมาเกรงใจท่าน เพราะฉะนั้น ท่านจึงขออนุญาตพระผู้มีพระภาคเจ้าหลีกเร้นไปอยู่ในป่าตามลำพัง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาต

     หลังจากนั้น พระเถระก็เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร เหาะเข้าป่าหิมพานต์พักอาศัยอยู่ริมสระมันทากินีโบกขรณี ซึ่งเป็นถิ่นของพวกช้างตระกูลฉัททันต์ สมัยก่อน โขลงช้างฉัททันต์ประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก เคยปรนนิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นพระองค์กลับไปอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ ไม่มีใครให้ได้บำรุง พอโขลงช้างเห็นพระเถระเข้ามา ก็คิดว่าบุญเขตของพวกเรามาถึงแล้ว จึงช่วยกันเกลี่ยทำที่จงกรม เอาหญ้าออก เอากิ่งไม้เครื่องกีดขวางออก จัดแจงที่อยู่ของพระเถระ ทำอาคันตุกวัตรเป็นอย่างดี โขลงช้างประชุมปรึกษากันเพื่อจัดเวรยามว่า ในแต่ละวันหากเป็นหน้าที่ของช้างเชือกใด ก็ให้ปฏิบัติดูแลพระเถระเป็นอย่างดี

     นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่ช้างทั้งหลายขวนขวายในการสร้างบุญ มีวิธีการอุปัฏฐากพระเถระ คือ ช้างเชือกไหนที่อยู่รับบุญ จะต้องจัดเตรียมน้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน ทำวัตรพระเถระตั้งแต่เช้าตรู่ สถานที่นี้อยู่ใกล้กับสระโบกขรณีชื่อมันทากินี ซึ่งกว้าง ๕๐ โยชน์  สระแห่งนี้ไม่มีสาหร่ายหรือจอกแหน น้ำในสระจะใสเหมือนสีแก้วผลึก มีปทุมขาวแผ่ขยายไปครึ่งโยชน์ ปทุมแดงขนาดใหญ่ ดอกโกมุทแดง ดอกโกมุทขาว ดอกอุบลเขียว ดอกอุบลแดง และดงข้าวสาลีแดงที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแต่ละชนิดจะกินรัศมีกว้างครึ่งโยชน์

     ถัดจากนั้น มีผลไม้รสหวานหอมอร่อย ฟักทอง น้ำเต้า และฟักเขียว เป็นต้น ดงอ้อยแผ่ขยายไปครึ่งโยชน์ ลำอ้อยแต่ละต้นขนาดเท่าต้นหมาก ดงกล้วย ซึ่งมีลูกโตขนาดเท่าลำแขน ดงขนุนที่มีผลขนาดเท่าตุ่ม ดงมะม่วง ป่าชมพู่ ดงมะขวิด กล่าวรวมๆ ก็คือว่า ผลไม้มีอุดมสมบูรณ์ และก็มีเกือบทุกชนิด เวลาดอกไม้บาน ลมจะหอบเอาละอองเกสรไปเก็บไว้บนใบกอปทุม ในดอกปทุมนั้น หยาดน้ำจะตกเป็นหยดๆ สุกด้วยแสงอาทิตย์ที่แผดเผา จากนั้นจะกลายเป็นเหมือนน้ำตาลเคี่ยว ซึ่งมีชื่อเรียกใหม่ว่า โปกขรมธุหรือน้ำหวานบนใบบัว ช้างจะนำน้ำนี้มาถวายพระเถระ

     รากบัวในสระจะโตขนาดเท่าหัวไถ ช้างก็ไปนำมาถวายท่าน เหง้าบัวมีขนาดเท่ากลอง และใบบัวใหญ่ เหง้าบัวนั้นแต่ละข้อจะมีน้ำนมประมาณหม้อหนึ่ง ช้างก็ไปถอนขึ้นมาถวาย จากนั้นช้างจะช่วยกันปรุงเมล็ดบัวกับน้ำตาลกรวดถวาย โดยเอาอ้อยวางบนแผ่นหินแล้วเอางวงจับแผ่นหินอีกก้อนหีบอ้อย น้ำหวานก็ไหลออกมาจนเต็มแอ่งและบ่อ จากนั้นก็ทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์แผดเผา งวดจนกลายเป็นนมก้อน เสร็จแล้วช้างก็นำมาถวายพระเถระ ขนาดของยากๆ ช้างยังสามารถทำได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องผลาผล ไม่ว่าจะเป็นขนุน กล้วย มะม่วงสุก จึงไม่เหลือวิสัยที่เหล่าช้างฉัททันต์จะนำมาถวายพระเถระได้

     พระเถระปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าตลอด ๑๒ ปี บางครั้งก็แสดงธรรมให้กับภุมเทวา รุกขเทวา อากาสเทวา ในวันอุโบสถจะมีพระอินทร์พร้อมกับบริวารลงมาฟังธรรม ท่านก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ในบริเวณนั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตัวท่านเองก็มีความสุขตามอัตภาพ เพราะได้ช้างเป็นอุปัฏฐากที่ดี ต่อมาเมื่อท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเอง ก็รู้ว่ากำลังจะหมดลง จึงเหาะกลับไปทูลลาปรินิพพานต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนว่าท่านจะปรินิพพานที่ไหน และใครจะเป็นผู้จัดงานประชุมเพลิงให้กับท่าน และพิธีจะยิ่งใหญ่อลังการเพียงไร เราจะได้มาติดตามเรียนรู้กันในครั้งต่อไป  


พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๕ หน้า ๓๓๗
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๒)พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๒)

อัครสาวก ซ้าย-ขวาอัครสาวก ซ้าย-ขวา

พระมหากัสสปเถระ (๑)พระมหากัสสปเถระ (๑)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน