รูปนันทาเถรี


[ 8 มี.ค. 2557 ] - [ 18286 ] LINE it!

รูปนันทาเถรี

     ธรรมดาของสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม แม้แต่ชีวิตของเราก็เสื่อมไปตามลำดับ จากวัยทารกไปสู่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยแก่ชรา นั่นเป็นความเสื่อมที่เรามองเห็นได้ เราถูกความเสื่อมครอบงำแล้วนำไปสู่ความตาย คือในที่สุดทุกชีวิตต้องเสื่อมสลายไปสู่ความตายหมด เพราะฉะนั้นเราไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ควรมองให้เห็นโทษของความเสื่อมนั้น จะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งปวง แล้วแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นมุ่งสู่พระนิพพานกันทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

“อฏฺฐินํ นครํ กตํ          มํสโลหิตเลปนํ
      ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ          มาโน มกฺโข จ โอหิโต

     สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะ และการลบหลู่คุณท่าน”

     ร่างกายของมนุษย์นั้น ถ้าเราใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์พิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ จะหยาบหรือประณีต ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะใจของผู้เป็นเจ้าของ ถ้ามีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ดีงาม ผิวพรรณวรรณะก็จะดี ถ้าใครมักโกรธหยาบกระด้าง ผิวพรรณวรรณะจะหยาบกร้าน ร่างกายที่เสื่อมโทรมเน่าเปื่อยได้ง่ายนี้ เป็นโครงกระดูกที่ฉาบด้วยเลือดและเนื้อ ที่นับวันมีแต่จะเสื่อมไปสู่ความแก่ และความตาย แต่ถึงกระนั้น คนส่วนมากก็ยังหลงใหลในกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงนี้ ดังเช่นเรื่องของหญิงผู้หลงใหลในความงามของตัว ซึ่งต่อมาได้เห็นสัจธรรมความไม่เที่ยง และในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เรื่องมีอยู่ว่า  

     * ในครั้งพุทธกาล พระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และได้ตัดสินใจออกบวชกันมากมาย พระนางรูปนันทา ผู้มีพระสิริโฉมงดงาม จึงคิดว่า เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติ ออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้า พระนันทะเจ้าพี่ของเราก็ผนวช พระมารดาก็ออกผนวช เราควรจะออกผนวชบ้าง คิดดังนั้นแล้วพระนางก็ตัดสินใจไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อขอผนวช แต่พระนางเป็นผู้รักสวยรักงาม เมื่อรู้ว่าพระบรมศาสดามักจะตรัสถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนางเกรงว่าพระบรมศาสดาจะตรัสถึงโทษในรูปโฉมของตนจึงไม่ได้เสด็จไปฟังธรรมจากพระองค์

     พระนางมักจะได้ยินมหาชนสรรเสริญกันบ่อยๆ ว่า “มนุษย์ในโลกนี้ ถ้าได้เห็นพระบรมศาสดาแล้ว ที่จะไม่มีความเลื่อมใสนั้นเป็นไม่มี เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง” ซึ่งในเรื่องของความเลื่อมใสของบุคคลนั้น ท่านจัดไว้ ๔ จำพวกด้วยกัน

 

     พวกที่ ๑ คือ “รูปัปปมาณิกา” มีความเลื่อมใสในรูป ใครได้เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ และอนุพยัญชนะครบถ้วนสมบูรณ์ มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งประดุจทองคำ สว่างไสวด้วยพระรัศมี ก็เกิดความเลื่อมใส

     พวกที่ ๒ คือ “โฆสัปปมาณิกา” มีความเลื่อมใสในเสียง เมื่อได้มาฟังธรรม ฟังพระสุรเสียงของพระบรมศาสดาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มีความแจ่มใส ชัดเจน นุ่มนวล น่าฟัง กลมกล่อม ไม่แตกพร่า ลึกซึ้ง ก้องกังวาน ก็เกิดติดอกติดใจ มีความอาจหาญร่าเริงในธรรม อยากปฏิบัติตามคำของพระองค์  

     พวกที่ ๓ คือ “ลูขัปปมาณิกา” เลื่อมใสในความเศร้าหมอง สมถะ เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ เห็นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส  

     พวกที่ ๔ คือ “ธัมมัปปมานิกา” มีความเลื่อมใสในพระธรรม เพราะฟังธรรมแล้วเกิดปัญญา ใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงเกิดความเลื่อมใส

     เมื่อพระนางรูปนันทาเถรีได้ฟังคำพรรณนาคุณของพระบรมศาสดาเช่นนั้น เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปฟังธรรมบ้าง จึงบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า จะขอไปฟังธรรมด้วย ภิกษุณีมีใจยินดีว่า นานนักหนาแล้วที่พระนางรูปนันทาเถรีไม่ได้ไปฟังธรรม ถ้าพระนางไปสู่สำนักของพระศาสดา วันนี้พระองค์คงจะแสดงพระธรรมเทศนาอันวิจิตรพิสดารเป็นพิเศษ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า วันนี้รูปนันทามีอินทรีย์แก่กล้า บารมีเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะบรรลุอรหัตผลแล้ว เมื่อพระเถรีได้เสด็จเข้าไปในพระวิหารพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย พระนางทรงดำริว่าเราจะไม่แสดงตน ดังนั้นได้แอบอยู่ข้างหลังภิกษุณีเหล่านั้น ทอดพระเนตรพระบรมศาสดาด้วยจิตเลื่อมใส ขณะนั้นเองพระพุทธองค์ทรงเนรมิตหญิงงามประดุจเทพธิดาอายุราว ๑๖ ปี แต่งกายสวยงามประดับประดาด้วยอาภรณ์เครื่องประดับต่างๆ ครบถ้วน ยืนถวายงานพัดอยู่ใกล้ๆ พระพุทธองค์  

     พระนางรูปนันทานึกชื่นชมอยู่ในใจ แล้วนึกเปรียบเทียบกับตนเอง รู้สึกว่าตนเหมือนกาที่กำลังอยู่ต่อหน้านางพญาหงส์ทอง พระนางมีใจจดจ่อยินดีในรูปของหญิงนั้นมาก จะดูตรงไหนก็งามไปหมด ทันใดนั้นเองพระบรมศาสดาทรงบันดาลให้รูปของหญิงนั้นแก่ไปเรื่อยๆ ครั้นพระเถรีได้ทอดพระเนตรเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ก็เกิดความสลดใจ รำพึงว่า “โอ รูปนี้ไม่งามเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” พระศาสดาทรงเนรมิตรูปนั้นเสื่อมโทรมไปอีก จนกลายเป็นหญิงชราแก่หง่อม มีฟันหัก ผมหงอก หลังค่อม ทำตัวงกๆ เงิ่นๆ ก็ทรงรู้สึกเบื่อหน่ายเหลือเกิน  

     จากนั้น พระบรมศาสดาทรงเนรมิตรูปนั้นให้มีพยาธิรุมเร้า ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ร้องครวญแล้วล้มลงกับพื้น นอนดิ้นทุรนทุรายกลิ้งเกลือกไปมาบนปัสสาวะ และอุจจาระของตน พระนางรูปนันทาเห็นหญิงนั้นแล้วเบื่อระอามาก สักครู่หญิงนั้นก็สิ้นลมหายใจ ศพพองขึ้นอืด มีน้ำหนองไหลเยิ้ม และมีหมู่หนอนชอนไชไปตามทวารทั้ง ๙ คือ ตา หู จมูก ปาก และทวารหนัก ทวารเบา

     พระเถรีพิจารณาซากศพนั้นแล้ว เกิดความสลดสังเวช เห็นอัตภาพของมนุษย์ไปตามความเป็นจริงว่า “หญิงนี้แม้จะสวยเพียงไร แต่ในที่สุดก็ต้องตาย ไม่ช้าความแก่ ความเจ็บ และความตาย จะต้องเกิดขึ้นกับเราเช่นกัน” คิดดังนี้แล้วจึงคลายจากความยินดี คลายความยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกาย มีใจเป็นกลางๆ พร้อมที่จะรองรับธรรมะที่ยิ่งขึ้นไป

     พระบรมศาสดาทรงรู้วาระจิตว่า ตอนนี้พระนางมีใจบริสุทธิ์ขึ้นแล้ว ตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนนันทา  เธอจงดูร่างกายอันกรรมปรุงแต่ง มีความอาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่า มีสิ่งสกปรกไหลออกอยู่ตลอดเวลา แต่คนพาลมีความลุ่มหลงมัวเมาปรารถนากันนัก สรีระของหญิงนั้นเสื่อมไปฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น เธอจงมองให้เห็นธาตุทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า อย่ามีใจยินดีในภพนี้อีกเลย เธอคลายความพอใจในภพได้แล้ว จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป”

     ขณะนั้น พระเถรีได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็บริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ จนได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน พระบรมศาสดาทรงรู้ว่าพระนางบรรลุธรรมกายแล้ว จึงทรงแนะนำให้เข้าถึงธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้นอีก เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ให้ได้บรรลุอรหัตผล จึงตรัสว่า “ดูก่อนนันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า สาระในร่างกายนี้มีอยู่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีสาระอะไรเลย สรีระนี้ถูกกรรมปรุงแต่งด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน เป็นเหมือนนครแห่งกระดูก เธออย่ายึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งปวง จึงจะพ้นทุกข์”

     ขณะฟังพระธรรมเทศนา พระนางก็ปล่อยใจไปตามกระแสธรรม ไม่ยึดมั่นอะไรทั้งสิ้น จิตก็หลุดพ้นต่อไปอีก จนกระทั่งหลุดพ้นถึงที่สุด ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันตเถรี ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ กิจที่จะทำต่อไปไม่มีอีกแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว ได้บรรลุถึงนิพพาน

     ดังนั้น พวกเราจะต้องสละปลดปล่อยวางกันให้ได้ ทำใจให้หยุดนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ ในกลางกาย อย่าไปเสียดายอาลัยอาวรณ์ในสังขารร่างกายนี้ อย่ายึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้น ให้ทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน เพื่อแสวงหาความบริสุทธิ์ภายในที่แท้จริง ให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกาย เราจะได้บรรลุเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์กันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๔ หน้า ๔๓
 
 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
กิสาโคตมีเถรีกิสาโคตมีเถรี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (บรรลุธรรม)อนาถบิณฑิกเศรษฐี (บรรลุธรรม)

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ยอดกัลยาณมิตร)อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ยอดกัลยาณมิตร)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน