อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ก่อนลมหายเฮือกสุดท้าย)


[ 16 มี.ค. 2557 ] - [ 18325 ] LINE it!

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ก่อนลมหายเฮือกสุดท้าย)

     เราทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรม ตั้งใจมั่นในการทำความดี เมื่อเรายังไม่สิ้นอาสวกิเลส เส้นทางชีวิตอาจแบ่งได้เป็น ๒ ทางคือ ทางหนึ่งไปสู่สุคติ ซึ่งเป็นผลของการทำความดี อีกทางหนึ่งไปสู่ทุคติ ซึ่งเป็นผลบาป บุคคลผู้เป็นบัญฑิตนักปราชญ์ฉลาดในการใช้ชีวิต ย่อมเลือกเอาเส้นทางที่จะนำไปสู่สุคติ เพราะเป็นทางแห่งความสุข และปลอดภัย  

     ดังนั้น เราจึงควรสั่งสมบุญทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อมีโอกาสควรทำให้เต็มที่เต็มกำลัง เก็บเกี่ยวบุญกุศลไว้มากๆ จะได้เป็นเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ มุ่งสู่เป้าหมายคือ อายตนนิพพาน

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“อนิจฺจา วต สงฺขารา    อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ    เตสํ วูปสโม สุโข 

     สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไปสงบระงับสังขารเหล่านั้น นำสุขมาให้”

     ที่หลวงพ่อได้ยกพุทธพจน์บทนี้ เพราะปรารภเหตุเกี่ยวกับสังขารของยอดนักสร้างบารมีผู้มีจิตใจที่งดงาม เริ่มมีความเสื่อมกันบ้างแล้ว บางท่านก็ละสังขารไปก่อนถึงวัยอันสมควร หรือละสังขารไปเพราะสังขารร่วงโรยไปตามกาลเวลาก็มี ในแต่ละวันจึงมีงานฟังสวดพระอภิธรรม และงานฌาปนกิจศพที่ตามวัดต่างๆ ได้เจริญมรณานุสสติกันเป็นประจำ ทำให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จะได้เร่งรีบสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

     แม้เราจะรู้ว่า กายมนุษย์เท่านั้นจึงสามารถสร้างบารมีได้ แต่สังขารนี้ก็ใช่ว่าจะแข็งแรงเป็นอมตะให้ได้สร้างบารมีไปนานๆ เราไม่สามารถหยุดยั้งกาลเวลาได้ฉันใด ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการร่วงโรยของสังขาร ฉันนั้น ในขณะนี้จึงควรหมั่นสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ เมื่อความชราหรือความตายเข้ามาเยือน เราจะได้ไม่เสียดายเวลาในภายหลัง

     * ดังชีวิตอันทรงคุณค่าของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งพวกเราต่างรู้จักกันดีว่า เป็นยอดอุปัฏฐากฝ่ายชายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตั้งใจสั่งสมบุญอย่างเต็มที่ตลอดชีวิต เป็นแบบอย่างที่ดีที่เราควรเอาเยี่ยงอย่าง แม้บั้นปลายชีวิต ท่านไข้ด้วยโรคชรา ประกอบกับมีทุกขเวทนารุมเร้าอย่างหนักหลายวัน ยังคิดอยากจะฟังธรรมะชะโลมใจก่อนละสังขาร ท่านเรียกคนรับใช้ให้ไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกราบทูลเรื่องความป่วยไข้ของท่านให้พระองค์ทรงทราบ และให้ไปนิมนต์พระสารีบุตรเถระมาแสดงธรรมให้ฟัง จะได้เป็นการเห็นสมณะเพื่อเป็นทัสสนานุตริยะก่อนละสังขาร

     พระสารีบุตรไปแสดงธรรมโดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ท่านเห็น เวทนาของมหาเศรษฐี เป็นเวทนาชนิดที่มีความตายเป็นที่สุด ไม่มีใครสามารถห้ามได้  

     พระเถระได้ทักเศรษฐีว่า “ดูก่อนคฤหบดี อัตภาพของท่านพอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลงบ้างไหมหนอ” ท่านเศรษฐีเห็นพระมานั่งอยู่ข้างเตียง ได้ยินเสียงของพระเถระเจ้า รู้สึกปีติใจ ได้กล่าวตอบท่านไปว่า “ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนักเหลือเกิน กำเริบขึ้นเรื่อยๆ อาการเจ็บปวดรุมเร้าไปทั่วทั้งเรือนร่าง ไม่ปรากฏว่าจะทุเลาลงเลย”

     “ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก ท่านผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผมอยู่ เหมือนกำลังถูกคนขันชะเนาะที่ศีรษะ ลมปั่นป่วนท้องของกระผม เหมือนคนฆ่าโค เอามีดคมๆ มาคว้านท้องให้ทนทุกข์ทรมาน กระผมจึงทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เหมือนตัวเองกำลังเข้าไปสู่ความตายทุกขณะ ท่านผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนถูกย่างในหลุมถ่านเพลิง กระผมจึงรุ่มร้อน ทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบอยู่ตลอดเวลา คงจะมีชีวิตสืบต่อไปอีกไม่นาน”

     พระเถระได้ให้กำลังใจท่านว่า “ดูก่อนคฤหบดี ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ความตายต้องย่างกรายเข้ามาหาเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ขอให้ท่านพึงพิจารณาว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสตจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหาจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกายจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโนจักไม่มีแก่เรา ดูก่อนคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด”

     ท่านเศรษฐีค่อยๆ ปล่อยใจไปตามเสียงของพระเถระ ทำตามคำแนะนำที่ท่านบอกไปเรื่อยๆ พยายามแยกกายกับใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางให้ได้ตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องทุกขเวทนา พระเถระเห็นว่าท่านเศรษฐีตั้งใจที่จะข่มทุกขเวทนาด้วยการฟังธรรม จึงได้แสดงธรรมให้ท่านเศรษฐีปล่อยวางในขันธ์ ๕ ว่า “ดูก่อนคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าเราจักไม่ยึดมั่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ กระทั่งวิญญาณที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่เรา”  

     พระเถระได้สอนธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านสอนให้พิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่ธาตุ และไม่ให้ยึดมั่นในธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ให้ปล่อยวางในอรูปทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานัญจายตนะ ให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในโลกนี้โลกหน้า ให้ใจดวงนี้อยู่กับปัจจุบันธรรมอย่างเดียว อารมณ์ใดที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว อย่าได้ไปยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น

     ขณะที่พระสารีบุตรกล่าวสอนธรรมอยู่นั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเกิดความปลื้มปีติถึงกับน้ำตาเย็นได้หลั่งออกมา พระอานนท์จึงถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านยังอาลัยในสังขารร่างกายนี้อยู่หรือ” ท่านเศรษฐีบอกว่า “ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัยในสังขารนี้เลย แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระบรมศาสดา และหมู่ภิกษุสงฆ์มานาน ไม่เคยได้สดับธรรมิกถาที่ละเอียดลึกซึ้งถึงปานนี้เลย พระเถระช่างมีความกรุณา มีความเมตตามาให้ธรรมะกระผมก่อนจะหลับตาลาโลก ช่างเป็นบุญลาภของกระผมจริงหนอ”

     พระสารีบุตรและพระอานนท์ เมื่อกล่าวสอนธรรมะเสร็จแล้ว ก็ถือโอกาสเจริญพรลากลับวัดพระเชตวัน เมื่อพระเถระทั้งสองรูปคล้อยหลังไปได้ไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ได้ทำกาลกิริยาไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรที่มีรัตนวิมานสว่างไสว แวดล้อมด้วยเทพบริวารมากมาย

     เราจะเห็นว่า ชีวิตของยอดนักสร้างบารมีอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นตัวอย่างที่พวกเราควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ท่านได้สั่งสมบุญบนโลกนี้คุ้มเกินคุ้ม ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านจึงได้ถูกจารึกไว้เป็นตำนานเล่าขานมานานกว่า ๒,๕๐๐ ปี  ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐากฝ่ายอุบาสก เมื่อถึงคราวหลับตาลาโลก แม้สังขารร่างกายจะถูกโรครุมเร้า ต้องได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยธรรมโอสถ

     พวกเราทุกคนก็เช่นเดียวกัน อย่าได้ประมาทในชีวิตกัน ขณะที่เรามีเรี่ยวแรงอยู่นี้ ให้ใช้วันเวลาที่ผ่านไปเพื่อการสร้างบารมีให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต มองย้อนกลับมา ได้เห็นแต่ภาพประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม แล้วเราจะเดินทางไปสู่ปรโลกอย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๓ หน้า ๔๑๒
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อนาถบิณฑิกเศรษฐี (มหาเศรษฐีเทพบุตร)อนาถบิณฑิกเศรษฐี (มหาเศรษฐีเทพบุตร)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๑)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๑)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๒)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๒)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน