เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๕)


[ 25 มี.ค. 2557 ] - [ 18272 ] LINE it!

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๕)

 

 

     ในสมรภูมิรบที่มากด้วยอันตรายนั้น ทหารเมื่ออยู่ในหลุมหลบภัยย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรูฉันใด ในสมรภูมิชีวิตที่มากด้วยความทุกข์นั้น ผู้มีใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวงฉันนั้น ศูนย์กลางกายเป็นเสมือนหลุมหลบภัยของใจที่จะคอยป้องกันภัยจากปัญหา และอุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิตที่เกิดขึ้นกับใจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาใจให้หยุดนิ่ง ณ ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และเมื่อใจหยุดนิ่ง กระแสแห่งความสุขความชุ่มเย็นภายใน จะหล่อเลี้ยงใจให้มีความสดชื่นเบิกบาน มีความสว่างไสว จนกระทั่งเห็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไปสู่ภายใน ถึงพระรัตนตรัยได้อย่างแจ่มกระจ่าง ฉะนั้น ใจหยุดนิ่งจึงเป็นหลักสำคัญของชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า

     “ถ้าหากว่าสรรพสัตว์พึงรู้ผลแห่งการจำแนกทาน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ตรัสแล้ว รู้โดยวิธีที่ผลนั้น เป็นผลใหญ่ไซร้ สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินเสีย มีใจผ่องใส พึงให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก”

     การทำบุญให้ถูกหลักวิชชาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการจะได้รับผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลหรือไม่นั้น ต้องดูกันที่การประกอบเหตุว่า ทำบุญถูกหลักวิชชาหรือไม่ ทำบุญกับใคร และเจตนาในการให้เป็นอย่างไร ในคัมภีร์ท่านได้กล่าวถึงเจตนาในการให้ทานของคนในโลกนี้ไว้หลายอย่างด้วยกัน

     คือบางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน บางคนให้ทานเพราะความโลภ หวังจะได้ผลตอบแทน คือเมื่อให้ไปแล้ว ก็หวังว่าเขาจะให้ตอบแทนกลับมา บางคนให้ทานเพราะความโกรธ จึงให้ไปแบบประชดประชัน บางคนให้ทานเพราะความกลัว ถ้าไม่ให้ก็กลัวเขาติเตียน บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำกันมา ถ้าเราไม่ให้ก็จะเสียธรรมเนียมของวงศ์ตระกูล จึงให้ไปตามประเพณีกันอย่างนั้นเอง

     บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บางคนให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจจะผ่องใส ความเบิกบานใจ ความปีติปราโมทย์ใจ ย่อมเกิดขึ้นมาตามลำดับ บางคนให้ทานเพื่อปรับปรุงจิต โดยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เพิ่มเติมใจที่พร่องให้เต็ม เป็นการสลัดความตระหนี่ออกจากใจ นี่เป็นเจตนาในการให้อย่างย่อๆ ของทายกทั้งหลายในโลกนี้ เวลาที่พวกเราให้ทานแล้ว ให้ลองถามตัวเองดูว่า เรามีเจตนาในการให้อย่างไรบ้าง

     บางท่านเมื่อทำบุญแล้ว มักจะบ่นว่า “ทำไม บุญถึงไม่ส่งผลสักที” ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การให้ผลของบุญ มีช่วงจังหวะเวลาของการให้ผล เหมือนกับการปลูกกล้วย เราต้องรอเวลากระทั่งต้นกล้วยออกลูก เราจึงจะได้รับประทานผลของมัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  เมื่อเราได้ให้ทานแล้ว จะได้ความสบายใจในทันที เพราะการให้ทานมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสลัดความตระหนี่ออกจากใจ เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เป็นก้าวแรกของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ให้ทาน เพื่อเพิ่มพูนความโลภ หรือความหลง แต่เป็นการให้ที่ประกอบด้วยศรัทธา และปัญญา

     เรามาติดตามเรื่องราวของผลบุญที่เกิดจากการให้ทานของท่านเมณฑกเศรษฐีกันต่อ   ท่านคือ ยอดวีรบุรุษแห่งทายกทั้งหลายที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อให้ได้ทำทาน โดยยึดถือคุณธรรมเป็นใหญ่ ยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้ ท่านคือ บุคคลผู้ดำรงวงศ์ทานของบัณฑิตนักปราชญ์อย่างแท้จริง ผลบุญอันน่าอัศจรรย์จึงบังเกิดขึ้นกับท่านและครอบครัว

     * แพะกายสิทธิ์ได้ดุนหลังกันผุดขึ้นที่หลังบ้านของท่านเศรษฐี และทุกคนในครอบครัวต่างได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านเศรษฐีเป็นที่เลื่องลือ ความทราบถึงพระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ พระองค์ประสงค์จะทราบถึงข้อเท็จจริง จึงรับสั่งให้มหาอำมาตย์ไปตรวจสอบ

     มหาอำมาตย์รับพระบรมราชโองการแล้ว ก็ยกขบวนเสนา ๔ เหล่า เดินทางไปยังภัททิยนคร เมื่อไปถึงก็เข้าไปหาเมณฑกคหบดี ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง และได้ขอดูอานุภาพของท่านเศรษฐี เมณฑกเศรษฐีก็ไม่ขัดข้อง หลังจากชำระล้างร่างกายเสร็จแล้ว จึงสั่งให้คนงานทำฉางข้าวให้ว่างเปล่า แล้วนั่งอยู่นอกประตูฉาง แหงนดูเบื้องบน ท่อธารข้าวเปลือกได้ตกลงมาจากอากาศจนเต็มฉาง มหาอำมาตย์เห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น ก็สรรเสริญว่า “บุญญานุภาพของท่านเศรษฐี ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ทีนี้ ข้าพเจ้าขอชมอานุภาพของภรรยาท่านบ้าง”

     เมณฑกคหบดีจึงบอกภรรยาว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงจัดเลี้ยงแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่าให้อิ่มหนำสำราญ” ขณะนั้น ภรรยาได้นั่งใกล้หม้อข้าวสุกเพียงใบเดียวกับหม้อแกงหม้อหนึ่งเท่านั้น แล้วตักอาหารแจกแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่าด้วยมือของตัว อาหารนั้นมิได้หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ พวกเหล่าเสนาที่ยกขบวนกันมาจำนวนมาก ต่างก็อิ่มอร่อยในอาหารอันโอชะของนาง มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า “ท่านคหบดี บุญญานุภาพของภรรยาท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ทีนี้ ขอชมบารมีของลูกชายท่านบ้าง”

     เมณฑกคหบดีจึงบอกลูกชายว่า “เจ้าจงแจกกหาปณะแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่าเถิด” ลูกชายท่านคหบดีถือถุงเงินหนึ่งพันกหาปณะเพียงถุงเดียวเท่านั้น แจกอยู่ครึ่งค่อนวัน ก็ไม่หมดถุง  จากนั้นท่านมหาอำมาตย์ได้ขอดูอานุภาพของลูกสะใภ้ท่านเศรษฐี หญิงสะใภ้ก็นั่งใกล้กระเฌอซึ่งจุข้าวได้ ๔ ทะนาน เพียงใบเดียวเท่านั้น นางแจกข้าวเปลือกแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ข้าวเปลือกซึ่งเป็นธัญญพืชที่แจกไป ตราบใดที่นางยังไม่ลุกจากที่ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะหมดสิ้นไป

     มหาอำมาตย์ชื่นชมอานุภาพของลูกสะใภ้แล้ว ปรารถนาอยากจะเห็นอานุภาพของทาสที่ชื่อปุณณะต่อไป ท่านเศรษฐีได้ตอบไปว่า “ทาสของข้าพเจ้าไถนาเพียงร่องเดียว สามารถแตกออกเป็น ๗ รอย แต่อานุภาพของทาสข้าพเจ้านั้น ท่านต้องไปชมที่นา” มหาอำมาตย์บอกว่า “ไม่ต้องแล้วล่ะ ท่านคหบดี ข้าพเจ้าทราบถึงอานุภาพของทาสท่านแล้ว” หลังจากพิสูจน์อานุภาพบุญของแต่ละคนในครอบครัวของท่านเศรษฐีแล้ว มหาอำมาตย์พร้อมเสนา ๔ เหล่า ก็พากันเดินทางกลับไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ พระราชาจึงส่งฉัตรเศรษฐีไปมอบให้ และแต่งตั้งให้เป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง

     เราจะเห็นว่า การทำบุญที่ตัดขาดออกจากใจโดยมุ่งบุญเป็นหลัก ทานที่ทำไปแล้ว เมื่อรำลึกถึงก็เกิดความปีติใจทุกครั้ง เมื่อถึงขีดถึงคราวที่บุญส่งผล ก็ส่งผลเป็นอัศจรรย์เกินควรเกินคาด ส่งต่อๆ กันไปข้ามภพข้ามชาติ เสวยสุขกันยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน นี่คืออานุภาพของบุญที่ส่งผลเป็นอจินไตย เป็นเรื่องเหลือเชื่อแต่ก็เป็นความจริง สิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายมักจะเกิดขึ้นกับบุคคลอัศจรรย์ผู้มีหัวใจไร้ขอบเขตเสมอ

     บุญนั้นเป็นธาตุสำเร็จ เวลาส่งผลแก่เจ้าของบุญ จะเป็นไปตามแรงอธิษฐานที่เราได้ตั้งความปรารถนาไว้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราให้ทาน หลวงพ่อจึงอยากแนะนำให้พวกเรารู้จักอธิษฐานจิตที่เป็นไปในทางที่ชอบ ประกอบด้วยกุศล นอกจากเราจะอธิษฐานให้รวย สวย ฉลาด สมปรารถนาแล้ว ก็ต้องอธิษฐานให้มีกาย วาจา ใจ ที่สะอาดบริสุทธิ์ไปทุกภพทุกชาติ และให้เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุดด้วย

     บางท่านเข้าใจว่า เมื่อทำบุญแล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิษฐาน เพราะการอธิษฐานอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่ายังมีความโลภอยู่ แต่ความเป็นจริงแล้ว การอธิษฐานกับความโลภนั้นคนละอย่างกัน เพราะการอธิษฐานเป็นการตั้งผังชีวิตในอนาคต เป็นเสมือนหางเสือเรือ ที่คัดท้ายนาวาชีวิตของเราให้ไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีเป้าหมายที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน จึงจำเป็นต้องอธิษฐานตอกยํ้าซํ้าเดิมบ่อย ๆ เมื่อวันหนึ่งที่บารมีของเราเต็มเปี่ยม บุญจะส่งผลให้เราสมหวังดังใจปรารถนา ดังนั้น ให้พวกเราทุกคนหมั่นสั่งสมบุญแล้วอธิษฐานจิตกันให้ดี

 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๕๖  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๖)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๖)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๗)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๗)

ชฎิลเศรษฐี ผู้มีภูเขาทองชฎิลเศรษฐี ผู้มีภูเขาทอง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน