รัตนตรัยที่พึ่งแหล่งสุดท้าย


[ 6 พ.ค. 2557 ] - [ 18268 ] LINE it!

รัตนตรัยที่พึ่งแหล่งสุดท้าย

     สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ “บุญ” ซึ่งจะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ มีโอกาสทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่ ได้ฟังอมตธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยบุญเป็นบาทเบื้องต้นทั้งสิ้น

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเสลพราหมณ์ว่า

     “พรหมจรรย์อันเรากล่าวดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง เป็นธรรมอันไม่จำกัดด้วยกาล ผู้ใดศึกษาโดยไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมไม่เป็นโมฆะ”

     การศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนานั้น ถ้าผู้ศึกษามีความตั้งใจจริง มีความเพียรพยายาม  ย่อมได้ผลแห่งการปฏิบัติจริง สิ่งที่ได้ทุ่มเทลงไป ย่อมไม่สูญเปล่า จะเป็นบุคคลผู้มีชีวิตที่เป็นแก่นสารทีเดียว

     เราเคยคิดไหมว่า ชีวิตนี้เราต้องการอะไรกันบ้าง คนในโลกนี้ส่วนใหญ่ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ เช้า สาย บ่าย ค่ำ ทำงานตลอดทั้งวัน เมื่อเลิกงาน กลับบ้าน ก็พักผ่อนนอนหลับ พอเริ่มวันใหม่ก็ทำเช่นนี้อีก ชีวิตวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ บางท่านดำเนินชีวิตอย่างนี้ไปจนตลอด ยังไม่รู้เลยว่าชีวิตที่แท้จริงต้องการอะไร แล้วทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างไปเพื่ออะไร

     การทำงานในชีวิตประจำวันของชาวโลก โดยทั่วไปเพื่อให้ได้ปัจจัยสี่มาหล่อเลี้ยงร่างกาย คือให้ได้อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วชีวิตเราก็ต้องลำบาก และทุกสิ่งที่ได้มาก็เพื่อบรรเทาความทุกข์ให้เรา เนื่องจากพื้นฐานของชีวิตคือความทุกข์ เหมือนกับพื้นฐานของโลกคือความมืด ดังนั้น มนุษย์จึงปรารถนาความสุข ซึ่งความสุขของผู้ครองเรือนนั้นเกิดจากเหตุ ๔ ประการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกว่า “สุขของคฤหัสถ์” คือ

     ความสุขจากการมีทรัพย์ คือเมื่อได้ทรัพย์มาก็เก็บออมไว้ ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ สุขกายสบายใจว่าทรัพย์ของเรานั้นมีอยู่ ชีวิตจะได้ไม่ต้องลำบาก

     ความสุขจากการใช้ทรัพย์ คือได้ใช้จ่ายตามปรารถนา อยากได้อะไรก็ซื้อเอา มีทรัพย์มากจะทำอะไรก็คล่องตัวไม่ติดขัด สะดวกสบายทุกอย่าง

     ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ คือไม่ต้องไปยืมเงินใคร จึงไม่ต้องกังวลในการหาทรัพย์มาใช้คืน และก็ไม่เป็นทุกข์ใจเวลาเจ้าหนี้มาทวง

     ความสุขจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ คือ ประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ก็เกิดความสุข ไม่เดือดร้อนใจ

     ความสุขทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นความสุขพื้นฐานในชีวิตประจำวันของผู้ครองเรือน ซึ่งยังไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตอยู่ เพราะการดำรงชีวิตของเรานั้นน่าจะมีความสุขที่ประเสริฐยิ่งกว่านี้ เนื่องจากความสุขทั้ง ๔ อย่างนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยังไม่ใช่ความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร  

     มวลมนุษยชาติกำลังค้นหาคำตอบของการมีชีวิตอยู่ ว่าเราเกิดมามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ต่างก็ลองผิดลองถูกกันต่างๆ นานา โดยไม่ทันจะรู้ตัวว่า วันเวลาของชีวิตกำลังเหลือน้อยลงไปทุกที ผู้รู้ทั้งหลายได้พบแล้วว่า เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่นั้น ก็เพื่อทำภารกิจหลักของชีวิตให้สมบูรณ์ ให้เข้าถึงบรมสุข สิ่งนั้นก็คือเข้าถึงกายธรรม เพราะกายธรรมเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือ และเป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นอิสระ กิเลสบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ก็เป็นอันว่าภารกิจหลักของชีวิตนี้ ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว กิจที่จะทำต่อไปไม่มีอีกแล้ว เลิกการเวียนว่ายตายเกิด สิ่งนี้แหละเป้าหมายที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ

     * เหมือนเช่นเรื่องธิดาเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อ กุณฑลเกสี นางเป็นผู้มีบุญเก่าสั่งสมมาดี สมบูรณ์ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ วันหนึ่งขณะที่นางอยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ แล้วมองลงมายังท้องถนน เห็นโจรคนหนึ่งถูกราชบุรุษคุมตัวอยู่ เห็นแล้วก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ หลงรักโจรเข้า โจรนั้นเป็นคนโหดเหี้ยมอำมหิต ปล้นฆ่าชิงทรัพย์จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วเมือง ขนาดชาวเมืองเห็นราชบุรุษคุมตัวเขาอยู่ ยังพากันแตกตื่นด้วยความตกใจกลัว

     ธิดาเศรษฐีเมื่อหลงรักโจร ก็ได้แต่เข้าห้องนอนร้องไห้คร่ำครวญถึงโจรคนนั้น แม้เศรษฐีและภรรยาจะพยายามห้ามลูกสาวและชี้แจงให้เข้าใจ แต่นางก็ไม่ยอมฟังเหตุผลและคงยืนยันว่า ถ้าไม่ได้โจรมาเป็นสามีแล้วจะฆ่าตัวตาย ในที่สุดเศรษฐีจึงให้เงินราชบุรุษเพื่อเป็นสินบนให้ปล่อยโจร แล้วพามาอยู่กับธิดาของตนบนปราสาท

     เมื่ออยู่ร่วมกันอย่างสามีภรรยาแล้ว นางคิดจะผูกใจสามีด้วยการตกแต่งเครื่องประดับที่มีราคาแพงๆ และเอาใจสามีทุกอย่าง แต่ว่าวิสัยของโจรแทนที่ว่าเมื่อรอดชีวิตแล้วจะได้สำนึก และคิดกลับตัวกลับใจเสียใหม่ แต่กลับคิดร้ายหนักยิ่งขึ้น เพราะเห็นธิดาเศรษฐีมีเครื่องประดับหลากหลายชนิดล้วนแต่มีราคา จึงเกิดความโลภ คิดวางแผนลวงธิดาเศรษฐีไปฆ่า เพื่อชิงเอาเครื่องประดับนั้น

     โจรลวงนางว่าให้ไปทำพิธีแก้บนที่ยอดเขา โดยอ้างว่า “การที่ฉันรอดชีวิตจากการถูกประหาร และได้มาพบกับแม่นางนั้น เป็นเพราะอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ฉันได้บนไว้ขณะถูกคุมตัวมา” นางหลงเชื่อจึงขึ้นไปบนยอดเขาพร้อมกับโจร โดยสั่งให้ข้าทาสบริวารรออยู่ที่เชิงเขา

     เมื่อถึงยอดเขา โจรก็แสดงอาการหัวเราะ แล้วบอกกับธิดาเศรษฐีว่า “ฉันพาเธอมาเพื่อจะฆ่าเธอ แล้วเอาเครื่องประดับไป” พอรู้ความจริงว่า โจรผู้สามีต้องการฆ่าแล้วชิงเครื่องประดับ นางจึงใช้ปัญญาหลอกให้โจรตายใจ ด้วยการทำทีเป็นร้องไห้คร่ำครวญด้วยความอาลัยรัก และขอแสดงความอาลัยต่อเขาเป็นครั้งสุดท้าย โดยเวียนประทักษิณสามี ๓ รอบ แล้วนางก็โอบกอดโจรอยู่ข้างหลัง ทำทีเป็นร้องไห้เสียใจ แต่พอโจรเผลอ นางก็ผลักโจรตกเหวลงมาตายในที่สุด ครั้นโจรผู้เป็นสามีตายไปแล้ว นางเองรู้สึกละอายใจที่จะกลับบ้าน เพราะเกรงว่าจะถูกบิดามารดาตำหนิ จึงตัดสินใจถอดเครื่องประดับทิ้งเสีย แล้วหนีไปบวชอยู่ในสำนักของปริพาชกแห่งหนึ่ง  

     กุณฑลเกสีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม บวชแล้วไม่นานก็เรียนสำเร็จในความรู้ของพวกปริพาชก ซึ่งมีวิชา “วาทะพันหนึ่ง” ในการถามตอบปัญหา ครั้นเห็นว่าไม่มีความรู้อะไรใหม่เพิ่มเติม  จึงออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความรู้ เมื่อไปถึงหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใด นางจะก่อกองทรายไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านหรือนิคมแห่งนั้น แล้วปักกิ่งไม้หว้าไว้บนกองทรายเป็นเชิงท้าทายว่า “ผู้ใดสามารถตอบปัญหาของเราได้ ขอให้ผู้นั้นจงเหยียบกิ่งไม้หว้ากิ่งนี้” พอพ้น ๗ วันแล้ว ถ้ากิ่งไม้หว้าคงปักอยู่อย่างเดิม ก็แสดงว่าไม่มีตอบคำถามของนางได้ และจะถือกิ่งไม้หว้าแล้วไปแสวงหาที่อื่นต่อไป

     นางเดินทางไปจนถึงเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล หลังจากก่อกองทรายไว้ที่ปากทางเข้าเมือง และปักกิ่งไม้หว้าไว้บนกองทราย พระสารีบุตรบิณฑบาตผ่านมา เห็นเด็กกลุ่มหนึ่งยืนล้อมกิ่งไม้หว้าอยู่จึงถามว่า “นั่นอะไร ” เมื่อพระเถระทราบเรื่องจากเด็กแล้ว จึงให้เด็กเหยียบกิ่งไม้หว้านั้น นางกุณฑลเกสีก็เข้ามาดุเด็กเหล่านั้นว่า กิจด้วยปัญหาของเจ้าไม่มี ทำไมจึงเหยียบกิ่งไม้ พวกเด็กก็บอกว่า “พระสารีบุตรบอกให้เหยียบ”

     นางจึงเข้าไปถามพระสารีบุตรเพื่อความแน่ใจ เมื่อนางรู้แล้วว่าพระเถระเป็นผู้ที่จะตอบปัญหาของนาง จึงเข้าไปยังสำนักของพระสารีบุตรในตอนบ่าย ข่าวการโต้ตอบปัญหานี้ เป็นที่สนใจของชาวเมืองเป็นอย่างมาก ต่างพากันมาฟังการโต้ตอบปัญหาระหว่างบัณฑิตทั้ง ๒ กันอย่างคับคั่ง  

     เมื่อนางกุณฑลเกสีถามปัญหาพระสารีบุตร ไม่ว่าจะถามเรื่องอะไร พระสารีบุตรก็ตอบได้หมด  ถามถึงพันคำถามก็ตอบได้หมด จนคำถามของนางหมด พระสารีบุตรก็ถามว่า “ปัญหาของท่านหมดแล้วหรือ ปัญหาข้ออื่นมีอีกไหม ?” นางตอบว่า “มีเท่านี้แหละท่านผู้เจริญ” เนื่องจากพระสารีบุตรท่านเป็นผู้เลิศกว่าอรหันตสาวกทั้งหลาย ในด้านมีปัญญาเป็นเลิศ คือนอกจากพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครที่จะมีปัญญาเกินกว่าท่าน และท่านยังเคยบวชเป็นปริพาชกมาก่อน จึงมีความแตกฉานในความรู้ของพวกปริพาชก จนกระทั่งอาจารย์สัญชัยปริพาชกได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้สอนแทน ดังนั้นจึงตอบคำถามของนางกุณฑลเกสีได้หมดทุกข้อ  

     พระสารีบุตรจึงถามปัญหากลับไปบ้างว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง ?” นางไม่สามารถตอบได้ พระสารีบุตรจึงเฉลยว่า “พุทธมนต์ น้องหญิง” นางจึงขอร้องให้พระสารีบุตรสอนพุทธมนต์ให้บ้าง พระเถระจึงบอกว่า ถ้าอยากจะเรียนต้องบวชในพระพุทธศาสนาก่อน นางจึงขอบวชทันทีโดยไม่ลังเล พอบวชได้เพียง ๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

     แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราล้วนแสวงหาความรู้ที่แท้จริง เป็นความรู้อันประเสริฐที่รู้เพียงหนึ่งแล้วจะรู้ได้ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความรู้ที่น่าศึกษา น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง ดังเช่นภิกษุณีกุณฑลเกสี ท่านรู้เพียงแค่หนึ่ง คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ตามพุทธวิธี ด้วยการ “หยุด” ที่เรียกว่า “นิโรธ” ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุกายธรรมอรหัต ฉะนั้นความต้องการที่แท้จริงของชีวิตเราคือ ต้องเข้าให้ถึงธรรมกายให้ได้ เพราะความรู้ที่สมบูรณ์ ความรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมอยู่ในกลางธรรมกายนี้แหละ เมื่อหยุดจึงเห็น เมื่อเห็นจึงรู้ เมื่อรู้จึงหลุด เพราะว่า“หยุดเป็นตัวสำเร็จ”

     เมื่อเข้าใจถูกต้องร่องรอยตามคำสอนของพระบรมศาสดาดีแล้ว ขอให้เอาใจใส่ ตั้งใจฝึกฝนอบรมและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังทุกวันทุกคืนอย่าให้ว่างเว้น ตั้งใจฝึกใจหยุดนิ่งกันให้ดี แล้วเราจะพบที่พึ่งภายในที่แท้จริงได้ตลอดไปในที่สุด

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๔๓๔

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมายสูงสุดของชีวิตเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

รู้แจ้งด้วยธรรมกายรู้แจ้งด้วยธรรมกาย

อานุภาพพระรัตนตรัยอานุภาพพระรัตนตรัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน