ตามเห็นกายในกาย


[ 25 มิ.ย. 2557 ] - [ 18273 ] LINE it!

ตามเห็นกายในกาย

     การปฏิบัติธรรม คือการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ รัตนะทั้งสามนี้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของชาวโลกทั้งหลาย เราปฏิบัติธรรมก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าถึงรัตนะทั้งสามนี้ ถ้าเข้าถึงเมื่อไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่โลกต้องการ ที่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ พระรัตนตรัยมีอยู่หลายระดับ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เข้าไปภายใน ถ้าเราทำใจให้หยุดได้ก็จะเข้าถึง แต่ถ้าหยุดไม่ได้ก็เข้าไม่ถึง เพราะ “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” เท่านั้น

     * ในวาระพระบาลี มีข้อความตอนหนึ่ง ที่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กล่าวสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า

  “อหํ สุคต เต มาตา       ตุวํ ธีร ปิตา มม
       สทฺธมฺมสุขโท นาถ       ตยา ชาตมฺหิ โคตม
     สํวทฺธิโตยํ สุคต           รูปกาโย มยา ตว
      อานนฺทิโย ธมฺมกาโย     มม สํวทฺธิโต ตยา
       มุหุตฺตํ ตณฺหาสมนํ        ขีรํ ตฺวํ ปายิโต มยา
      ตยาหํ สนฺตมจฺจนฺตํ       ธมฺมขีรมฺปิ ปายิตา

     ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์

     ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน

     ข้าแต่พระโลกนาถเจ้า พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้แก่หม่อมฉัน

     ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิดแล้ว

     รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต

     ส่วนพระธรรมกายอันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว

     หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนม อันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่

     แม้น้ำนม คือ พระสัทธรรมอันสงบ ระงับความกระหายทุกอย่าง พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว”

     พระอรหันตเถรีท่านได้อุปมาถึงพระคุณที่พระบรมศาสดาได้ประทานให้ คือทรงแนะนำให้พระนางปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงดวงธรรม กายในกายที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปตามลำดับ ตั้งแต่ได้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมและกายธรรม กระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ บุญคุณที่พระนางเคยเลี้ยงดูพระพุทธองค์ ในสมัยที่เป็นสิทธัตถราชกุมาร ซึ่งพระนางได้ทรงป้อนข้าว ป้อนนำ ให้ดื่มนำนม คอยดูแลให้ได้รับความสะดวกสบายทุกอย่างนั้น จะมาเปรียบเทียบกับความเจริญของการได้เข้าถึงธรรมกายนั้นยังไม่ได้เลย

     อันที่จริงแล้วกายในกาย เป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แล้ว สาธุชนทั้งหลายจะต้องตามเห็นเข้าไป ให้รู้ไปถึงต้นแหล่งของกายที่เป็นอมตะให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นกรณียกิจที่สำคัญทีเดียว กายในกายก็เริ่มตั้งแต่ กายไปเกิดมาเกิด หรือกายฝัน กายที่เรานอนหลับแล้วฝันไป ออกไปทำหน้าที่ฝัน ตื่นขึ้นมาแล้วเราไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่จากการปฏิบัติธรรมแล้วพบว่า อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซ้อนอยู่ภายในตัวของเรา ซ้อนๆ กันอยู่ เนื่องจากว่ากายละเอียดภายในโตเท่ากับกายหยาบ เพราะว่าละเอียดกว่า จึงซ้อนกันอยู่ หากว่าไม่ละเอียดกว่าก็ซ้อนกันไม่ได้  

     เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ เราจะมีความรู้สึกแตกต่างจากกายมนุษย์หยาบทีเดียว จากความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะเข้าใจและซาบซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า กายภายนอกนี้เป็นเครื่องอาศัย อาศัยขอยืมมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตกดับไป มีแต่ความเสื่อมสลายไปในที่สุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไป เหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว  

     ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงกายละเอียดภายใน คำสอนทั้งหลายก็ยังคงไม่ซาบซึ้งเข้าไปในใจของเราได้ เราแค่รับทราบแต่ยังไม่ซึ้งเข้าไปในใจ แต่ว่าเมื่อเข้าไปถึงแล้วเราจะซาบซึ้งขึ้นมาทันทีเลย เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ กายภายนอกเหมือนเสื้อเหมือนผ้า เหมือนบ้านเหมือนเรือนที่อาศัยชั่วคราว เป็นของยืมมา แล้วก็มีเวลาใช้อย่างจำกัด ระยะเวลาใช้ก็ไม่เท่ากัน เห็นแล้วก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

     ความยึดมั่นถือมั่นในกายหยาบมันก็ลดน้อยถอยลงไป เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยว่าจะอาศัยชั่วคราวสำหรับสร้างบารมี ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะอาศัยกายนี้เป็นทางผ่านของใจให้เข้าถึงธรรมกาย  และพอถึงกายละเอียดเราจะเข้าใจอย่างนั้น แล้วเห็นซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นลำดับเข้าไปเรื่อยๆ

     เพราะฉะนั้น กายเหล่านั้นเป็นทางผ่านของใจ ใจเราก็ผ่านเข้าไปเรื่อยๆ ในกายมนุษย์ละเอียดจะพบว่ามีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ สวยงามกว่า ละเอียดกว่า เรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายของสุคติภูมิ ถ้าเราละโลกไปแล้วยังไม่ไปนิพพาน กำลังบุญจะส่งให้เข้าถึงกายทิพย์ ซึ่งเป็นกายมาตรฐานของชาวสวรรค์ อยู่ในกลางตัวของเรานี่แหละ เป็นกายของเราเอง แต่ว่าเราจะเข้ามาถึงกายอันนี้ได้ต้องมีกำลังบุญ ต้องมีหิริโอตตัปปะ มีเทวธรรม มีกำลังบุญที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงจะเข้าสวมกับกายนี้ได้

     เมื่อเข้าถึงกายทิพย์แล้ว จะมีภพภูมิหรืออายตนะที่ตรงกับของกายทิพย์บังเกิดขึ้น และในกลางกายทิพย์ก็ยังมีกายอื่นซ้อนกันเข้าไปอีก กายรูปพรหมซ้อนกันอยู่ภายใน เกิดขึ้นจากพรหมวิหารธรรม ๔ หรือทำรูปฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น ได้ให้ทาน รักษาศีล ที่มีกำลังแรงกล้า จะเข้าถึงกายรูปพรหมที่ซ้อนกันอยู่ ในกลางนั้นก็ยังมีอีกกายซ้อนอยู่ เป็นกายอรูปพรหมที่ละเอียดหนักยิ่งขึ้นไปอีก เป็นกายที่เกิดขึ้นจากอรูปฌานสมาบัติ

     พอสุดกลางกายอรูปพรหม ในกลางก็มีอีกกายซ้อนอยู่ เป็นกายธรรมโคตรภู เมื่อเข้าถึงแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงเราเป็นโคตรภูบุคคล ถึงธรรมกายภายในเมื่อไรจะได้ชื่อว่า ถึงไตรสรณคมน์ ไตร แปลว่า สาม สรณะแปลว่า ที่พึ่งที่ระลึก คมนะแปลว่าเข้าถึง แล่นเข้าไปถึง สามอย่างก็มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

     พุทธรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่ใสเป็นแก้ว ได้แก่ธรรมกายนั่นเอง ธรรมรัตนะ คำสอนของท่านหรือดวงธรรมที่รองรับท่านอยู่ในกลางนั้น สังฆรัตนะ ที่ทรงจำรักษาคำสอนเอาไว้ อยู่ในกลางของธรรมรัตนะ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ชื่อต่างกันแต่รวมเป็นอันเดียวกัน

     เหมือนเพชร มีเนื้อ มีแวว มีสี ถ้ารวมแล้วก็เรียกว่า เพชร เนื้อเพชร แววเพชร สีเพชร เนื้อเพชรก็ได้แก่ธรรมกาย แววก็ได้แก่ธรรมรัตนะ สีของเพชรก็ได้แก่สังฆรัตนะ รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้

     เข้าถึงกายธรรมนี้ได้ ชื่อว่าถึงไตรสรณคมน์ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากตรงนี้ ตรงที่มีไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี่แหละ เป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของชาวโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เวลาเราขอถึงไตรสรณคมน์ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายเอาธรรมกายนี่แหละ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายถึงดวงธรรมที่อยู่ในกลางธรรมกาย หมายถึง ธรรมรัตนะ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายถึงธรรมกายละเอียดที่ซ้อนกันอยู่ในกลางธรรมรัตนะ สังฆรัตนะซ้อนอยู่ภายใน ซ้อนกันอยู่ ๓ อย่าง เข้าถึงอย่างนี้ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เวลาเรามีความทุกข์เราก็พึ่งท่านได้ พอใจหยุดอยู่ในกลางธรรมกายความทุกข์ก็ดับไป ความโศกเศร้า เสียใจละลายหายสูญหมด

     เวลาเรามีความสุขก็เพิ่มพูนความสุขได้ เติมเข้าไปจนกระทั่งเข้าถึงเอกันตบรมสุข คือสุขอย่างเดียวไม่มีทุกข์เจือเลย ถึงรัตนะทั้ง ๓ ถึงธรรมกาย แล้วยังมีกายธรรมในกายธรรมที่ใหญ่โตสวยงามหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกทาคามี กายธรรมพระอนาคามี จนถึงกายธรรมพระอรหัต เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งมวล มีแต่สุขล้วนๆ ที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กล่าวไว้เบื้องต้น เป็นความสุขที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้เลย เป็นความเจริญเติบโตในอริยวินัย ที่เกิดจากการเข้าถึงพระธรรมกาย

     เพราะฉะนั้น เมื่อเราทราบถึงความหมายของธรรมกาย อานุภาพของธรรมกายที่จะอำนวยสุขให้กับเราได้อย่างไร ก็ขอให้ลงมือปฏิบัติตามกันให้เต็มที่ อย่าเอาภารกิจประจำวันมาเป็นข้ออ้าง ข้อแม้ และเงื่อนไข ที่จะทำให้เราเกียจคร้านหรือทอดธุระในการปฏิบัติธรรม หมั่นฝึกทำใจให้หยุด ให้นิ่ง อย่างสบายๆ ที่กลางกาย ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน ควบคู่กับภารกิจประจำวันที่เราทำอยู่ และไปช่วยกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตร ชักชวนกันมาทำความดี สวดมนต์ เจริญภาวนาทุกวัน วันนั้นจะเป็นวันที่มีความหมายสำหรับชีวิตของเรา เพราะเป็นวันที่ใจเราตั้งมั่นเพื่อจะให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้

 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๔ หน้า ๒๔๙
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธรรมกายคือหลักของชีวิตธรรมกายคือหลักของชีวิต

รัตนะภายในรัตนะภายใน

หนทางสู่ธรรมกายหนทางสู่ธรรมกาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน