พิจารณาปล่อยวางในขันธ์ ๕


[ 3 ก.ค. 2557 ] - [ 18294 ] LINE it!

พิจารณาปล่อยวางในขันธ์ ๕

     ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีพื้นฐานของชีวิตเหมือนกัน คือความทุกข์ เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ตั้งแต่วันแรกเกิดกระทั่งถึงวันที่หลับตาลาโลก ทุกชีวิตล้วนมีความทุกข์เป็นปกติ เหมือนกับโลกที่มีความมืดเป็นพื้นฐาน แต่ที่เรามองเห็นคน สัตว์ สิ่งของอะไรต่างๆได้ก็เพราะมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือแสงไฟ จึงทำให้โลกเราสว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ว่าชีวิตเป็นทุกข์แล้ว เราจะได้เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ทั้งหลาย และรีบขวนขวายหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับชีวิตของผู้ที่ปรารถนาความหลุดพ้น เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า

“ยถาปิ กุมฺภการสฺส    กตา มตฺติกภาชนา
สพฺเพ เภทปริยนฺตา   เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ

ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุดฉันนั้น”

     การพิจารณาปล่อยวางถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เป็นสิ่งที่เราควรทำกันเป็นประจำ คือมองให้เห็นว่าร่างกายของเราก็ดี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราก็ดี จะเป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นบุคคล เป็นสัตว์ หรือเป็นอะไรก็ตาม ในที่สุดเราจะต้องทอดทิ้งจากสิ่งเหล่านั้นไป แม้แต่สังขารของพระพุทธเจ้าที่ท่านมีบุญบารมีมาก มีความงดงามประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษทุกประการ ไม่มีใครเทียบได้ เมื่อถึงคราวเสื่อมหมดอายุขัย ท่านก็ต้องดับขันธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลก ท่านยังเป็นอย่างนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา ผู้เลิศทางปัญญาก็ดี ทางฤทธิ์ก็ดี ท่านก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ถึงคราวหมดอายุขัยก็ต้องทอดทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่านี้

     ไฉนเลยชีวิตของเราจะรอดพ้นไปได้ ชีวิตของพวกเราก็เหมือนกับเส้นด้าย ซึ่งมันจะขาดไปในวันไหนก็ไม่มีใครทราบ เรามาเกิดอยู่ในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่อย่างเดียวคือ เราจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้หมดสิ้นไป ขจัดต้นเหตุที่มาของความทุกข์ ให้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ อันนี้คือเป้าหมายของชีวิตของพวกเราทุกๆ คนที่เกิดมาในโลกนี้ ส่วนงานอย่างอื่นนั้นเป็นเป้าหมายรองลงมา เรื่องการทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์ เป็นเพียงให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เท่านั้น เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารร่างกาย แต่เป้าหมายจริงๆ แล้ว ต้องการที่จะขจัดต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป นี่คือเป้าหมายของทุกๆ คน ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สักวันหนึ่งก็ต้องหลุดพ้นกันให้ได้

     ตราบใดที่เรายังขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ไม่หมด ก็จะต้องเกิดอยู่ร่ำไป เกิดมาเมื่อไร ก็พบกับความทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คลอดออกจากครรภ์มารดา วนเวียนอยู่ในโลก จนกระทั่งตาย มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราลองไปพิจารณาดูเถอะ มีช่วงไหนของชีวิต ที่เรามีความสุขอย่างแท้จริงบ้าง ก็มีอยู่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว สุขนิดหน่อย แต่ว่ามีทุกข์มาก บางทีความทุกข์ก็ซ้อนอยู่ในความสุข หวานอมขมกลืน หน้าชื่นอกตรม ถ้าเรามีปัญญา และก็เข้าใจชีวิตเป็นอย่างดี ว่าบางครั้งเราก็มองไม่เห็น ชีวิตของทุกๆ คนก็เป็นอย่างนี้ ร่างกายที่เราอาศัยกันอยู่นี้ จะเป็นเด็ก จะเป็นหนุ่มเป็นสาว จะอยู่ในวัยกลางคน หรือในวัยชรา สักวันหนึ่งจะต้องทอดทิ้งกันไปหมดทุกๆ คน ไม่มีเว้นเลยแม้แต่คนเดียว

     เราควรจะใช้เวลามาพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งบางท่านตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยนึกถึงความจริงนี้เลย ไม่กล้านึก เพราะหวาดหวั่นในการนึกคิด แต่การนึกคิดอย่างนี้ จะสร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์หมดจด จะเป็นเหตุให้เราเบื่อหน่ายในทุกข์ และคิดที่จะแสวงหาทางพ้นทุกข์ ถ้าเรามาพิจารณาอย่างนี้ทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย จะทำให้เราไม่ประมาท จะตั้งใจละความชั่ว สร้างความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส เมื่อมรณภัยมาถึง จะได้ไม่ต้องสะดุ้งหวาดกลัว เราจะเดินทางไปสู่สัมปรายภพอย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ

     * เหมือนพระติสสะเถระ ที่ท่านหมั่นพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขารร่างกาย ก่อนออกบวช ท่านเคยเป็นลูกของมหาเศรษฐี แต่ท่านมีดวงปัญญาเห็นว่าทรัพย์สมบัติภายนอกไม่ได้ช่วยให้ท่านพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารไปได้ จึงขออนุญาตบิดามารดาออกบวช พอบวชได้ไม่กี่พรรษา บิดามารดาของท่านก็ได้เสียชีวิตลง แต่ก่อนตายได้มอบทรัพย์สมบัติที่หามาได้ทั้งหมด ให้กับท่านครึ่งหนึ่ง และก็ให้กับโยมพี่สาวอีกครึ่งหนึ่ง

     แต่เนื่องจากว่า พี่สาวเป็นคนไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ไม่ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อยากได้สมบัติที่พ่อแม่มอบให้พระน้องชาย เอามาเป็นของตนเอง จึงว่าจ้างโจรไปดักฆ่าท่านที่กุฏิ โจรพอได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินมหาศาล ก็พากันไปดักรอที่กุฏิกลางป่าของท่าน ซึ่งท่านบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามลำพัง ในเวลากลางคืน พอโจรออกมาจากที่ซ่อน แล้วเข้าไปจับมัดแขนมัดขาท่านเอาไว้ ตั้งใจว่าจะนำไปฆ่าไม่ให้ใครรู้ ท่านได้อ้อนวอนพวกโจรว่า "อย่าเพิ่งฆ่าท่านตอนนี้เลย ขอให้รอจนถึงรุ่งเช้าก่อนเถอะ ท่านไม่หนีไปไหนหรอก"

     พวกโจรได้ฟังแล้ว ก็ยังไม่เชื่อ กลัวท่านจะหลบหนีไปเสียก่อน พระเถระจึงเอาหินมาทุบขาของตนเองหักทั้งสองข้าง แล้วก็บอกกับพวกโจรว่า อาตมาขาหักทั้งสองข้างแล้ว คงหนีไปไหนไม่รอด พวกท่านจะเชื่ออาตมาหรือยัง พอโจรเห็นความเด็ดเดี่ยวของพระเถระอย่างนั้น ก็รู้สึกทึ่งทีเดียว แต่จะฆ่าท่านให้ได้ เพราะรับค่าจ้างมาแล้ว จึงตอบตกลงว่าคืนนี้ให้ท่านอยู่ในกุฏิตามลำพัง แต่รุ่งเช้าก็จะมาฆ่าท่านให้ได้

     คืนนั้น เมื่อพระเถระนั่งอยู่ในห้องตามลำพัง พร้อมกับความเจ็บปวดที่บีบคั้น ท่านพยายามข่มความเจ็บปวดเอาไว้ แล้วก็ทำใจให้หยุดนิ่งเป็นเอกัคคตา ปล่อยใจเข้าไปสู่กลางของกลางภายใน พิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร คิดเพียงแค่ว่า สังขารร่างกายนี้ เป็นทางผ่านของการสร้างความดี มองเห็นขันธ์ ๕ ของกายมนุษย์ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระแก่นสาร ท่านปล่อยวางจริงๆ เพราะความตายมาจ่อแล้ว พอปล่อยจากกายมนุษย์หยาบได้ ใจก็ไปติดอยู่ที่กายมนุษย์ละเอียด หลุดจากกายมนุษย์ละเอียดไปติดอยู่ในขันธ์ของกายทิพย์ เหมือนเราทิ้งก้อนกรวดไปเอาพลอย

     กายทิพย์มีความละเอียดอ่อน มีความสวยงาม มีความประณีตกว่ามนุษย์มากมาย ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ สวยงาม กลิ่นกายก็หอมฟุ้งเป็นกลิ่นทิพย์ ร่างกายก็ได้สัดส่วน เมื่อมองเห็นกายทิพย์ที่อยู่ในตัวของท่าน ก็ตามพิจารณาเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ พิจารณาเห็นว่า แม้จะไปเป็นเทวดาก็ตาม ก็ยังไม่คงที่ ยังต้องมาเกิดอีก ความติดอกติดใจในกายทิพย์ของสวรรค์ก็หายไป ท่านก็ปล่อยวางต่อไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น

     พอหลุดจากกายทิพย์ ก็ไปติดอยู่ในกายรูปพรหมอีก เข้ารูปฌานสมาบัติมีความสุขกว่าชาวสวรรค์มากมายหลายเท่านัก อายุก็ยืนกว่า ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ไข้ เหลืออยู่อย่างเดียว ยังไม่เที่ยง ต้องจุติอีกเหมือนกัน ก็มองเห็นทะลุปรุโปร่ง มองด้วยสภาวะของใจที่เป็นกลางๆ ตรวจตราดูทั่วถึงหมดทั้งรูปภพ ไม่มีใครที่ไม่จุติเลย หมดกำลังบุญแล้ว ก็ต้องจุติหมด ยกเว้นรูปพรหมที่เป็นพระอนาคามี ท่านมีความเพียรต่อก็ไปนิพพานได้ แต่นอกนั้นจุติหมด มองเห็นแล้วก็เบื่อหน่าย คลายความยืดมั่นถือมั่น จิตก็หลุดพ้น แล้วก็เห็นว่าจิตของท่าน หลุดพ้นจากการยึดอันนี้แล้ว ทิ้งไปเลยไม่อาลัยอาวรณ์

     พอตัดขาดไปเหมือนตาลยอดด้วน ไปเจออีกกายหนึ่งแล้วที่ประณีตกว่ารูปพรหม ท่านเรียกว่า อรูปพรหม สวยงามกว่า มีความเป็นใหญ่ บริวารพวกพ้อง ความสุขอยู่ในอรูปฌานสมาบัติ ที่ละเอียดประณีต มีอารมณ์คล้ายๆ กับพระนิพพาน สุขจริงๆ กระทั่งอรูปพรหมลืมตัวไปว่าเราไม่ต้องจุติอีกแล้ว ลืมไปเลย กิเลสในตระกูลโมหะมันเข้าไปครอบงำไว้ ทำให้ปัญญาแม้จะกว้างกว่าใครในภพสาม แต่ก็ยังแคบอยู่ เป็นความกว้างที่ยังมีขอบเขต พอหมดกำลังของอรูปฌานสมาบัติ ก็ต้องจุติ

     เมื่อหยุดนิ่งหนักขึ้นไปอีก ท่านก็สามารถเข้าถึงธรรมกาย แล้วพบว่า สิ่งที่เป็นขันธวิมุตติ หลุดพ้นจากขันธ์ ๕ นั้น มีอยู่ และก็อยู่นอกเหนือจากภพทั้ง ๓ จึงไม่ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ เพราะกายธรรมเป็นกายที่มีลักษณะเป็นนิจจัง เที่ยงแท้ เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน เป็นตัวตนที่แท้จริง ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะอีกต่อไป คืนนั้นพระเถระได้สามารถปล่อยใจหยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ผู้หมดจดจากกิเลสแล้ว ปล่อยวางในขันธ์ ๕ ทั้งหลาย ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต ไม่ต้องกลับมาเวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป

     พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องเตรียมตัวกันไว้ให้พร้อม ไม่ต้องให้มัจจุราชมายืนตรงหน้าแล้วจึงค่อยทำความดี ต้องฝึกกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้แหละ ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในโลก ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปสู่จุดเสื่อมสลายหมด เราจะได้ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วินาทีนี้ไป ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งกันให้ดี เอาให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ในปัจจุบันนี้ เราจะได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๑๔ หน้า ๒๖๗

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อุปสรรคของการเจริญภาวนาอุปสรรคของการเจริญภาวนา

มาร ๕ ฝูงมาร ๕ ฝูง

อิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพานอิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพาน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน