คาดอีก 5 ปี เด็กปวช.-ป.ตรี 2 ล. วิ่งวุ่นหางาน-อาชีพต่ำกว่าวุฒิ


[ 8 ส.ค. 2549 ] - [ 18253 ] LINE it!


สภาพัฒน์ชี้สถาบันอุดมศึกษา-อาชีวะผลิตกำลังคนไม่สอดคล้อง
ความต้องการอุตสาหกรรมหลัก 13 สาขา ระบุ 5 ปีข้างหน้าคนจบ ปวช-ป.ตรี 2 ล้านวิ่งวุ่นหางาน หรือได้ทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ

แนะปรับการผลิตกำลังคนสอดรับความต้องการประเทศ หนุนเด็กเรียนสายวิทย์เพิ่มร้อยละ 65

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นายปณิธาน ยามวินิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้นำเสนอ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลัก" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ ที่โรงแรมโรสการ์เด้น จ.นครปฐม จัดโดยสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า แม้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีนี้ จะวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจโดยยึดปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง แต่ไทยยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจไทยเน้นการผลิตบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช่เศรษฐกิจบนฐานความรู้และสินค้าที่ผลิตมีมูลค่าต่ำ แต่บริโภคพลังงานและทรัพยากรในการผลิตที่สูงมาก

นายปณิธาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้เพราะคุณภาพแรงงานไทยต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แรงงานไทยทั้ง 34 ล้านคน ร้อยละ 70 ของแรงงานจบต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ ถ้าจะให้ปรับเปลี่ยนเป็นแบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก เมื่อทุกอย่างพร้อม บุคลากรของประเทศก็ต้องพร้อมด้วย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการผลิตกำลังป้อนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักทั้ง 13 สาขาของประเทศ ยังไม่สอดคล้องระหว่างการผลิตกำลังคนของสถานศึกษาและกำลังคนที่ภาค
อุตสาหกรรมต้องการ

"5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2549 มีการผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรี ปวส. ปวช. ทั้งหมด 2,300,000 คน แต่อุตสาหกรรมหลักทั้ง 13 สาขา ต้องการแค่ 300,000 คน แบ่งเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 85,000 คน และไม่ใช่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 210,000 คน ที่เหลืออีก 2,000,000 คน เป็นแรงงานที่เกินความต้องการ ต้องหางานอื่นทำแทน หรือทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา และอีก 5-7 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมทั้งหมดและภาคบริการ ท่องเที่ยว ต้องการแรงงานทั้งหมด 1 ล้านคน และมีอุตสาหกรรมบางสาขาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เช่น อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยาง" นายปณิธาน กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีความหวังและควรส่งเสริม เช่น ไบโอเคมี ยา ปิโตรเคมี ยาง เครื่องประดับ แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ควรปรับการผลิตคนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ และระดับมัธยมควรเพิ่มสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 55 เพิ่มเป็นร้อยละ 65 ให้ได้ในปี 2552 รวมถึงพัฒนาคน เพราะปัจจุบันแรงงานขาดการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียนรู้งานได้ล่าช้า โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ทั้งที่มีความจำเป็นในโลกปัจจุบันอย่างมาก

  นายอมเรศ ศิลาอ่อน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนการจัดการศึกษาเพื่อผลิต
กำลังคนตามความต้องการของประเทศ สกศ. กล่าวว่า ออสเตรเลียต้องการกำลังคนจำนวนมาก และพร้อมจ้างงานจากประเทศต่างๆ รวมทั้งจีน แต่ไม่ระบุชื่อไทย เพราะแรงงานไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องรีบพัฒนาเรื่องนี้ 

ที่มาจากหนังสือพิมพ์



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รำลึก 61 ปีนางาซากิ ญี่ปุ่นวอนทำลายนิวเคลียร์รำลึก 61 ปีนางาซากิ ญี่ปุ่นวอนทำลายนิวเคลียร์

ทำนายมะเร็งล่วงหน้า 10 ปีด้วยเทคโนโลยี “ตรวจคัดกรอง DNA ในเม็ดเลือดขาว”ทำนายมะเร็งล่วงหน้า 10 ปีด้วยเทคโนโลยี “ตรวจคัดกรอง DNA ในเม็ดเลือดขาว”

เผยหญิงไทยเมินผู้ชาย-ขึ้นคานสูงถึง44%เผยหญิงไทยเมินผู้ชาย-ขึ้นคานสูงถึง44%



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS