มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - ผู้กลัวตายและไม่กลัวตาย


[ 30 มิ.ย. 2550 ] - [ 18291 ] LINE it!

 
มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - ผู้กลัวตายและไม่กลัวตาย
 
ผู้มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ดำรงอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี 
ส่วนผู้มีความเพียร แม้เป็นอยู่เพียงวันเดียว
เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่ามากมายนัก

        ในสังสารวัฏมีภัยอเนกประการ ภัยที่น่าหวาดกลัวที่สุด คือ ภัยจากอบายภูมิ ภพของอบายนั้น เป็นภพที่เสวยแต่ความทุกข์อันแสนทรมาน  เมื่อพลัดตกไปในอบายภูมิแล้ว กว่าจะกลับมาสู่สุคติภูมิได้ ต้องใช้เวลายาวนาน  การดำรงชีวิตด้วยการตั้งใจทำคุณงามความดี เป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะไปสู่สุคติภูมิอย่างเดียว แต่ถ้าหากเกิดมาแล้ว เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเข้าออก ไม่ได้สั่งสมบุญเพิ่มขึ้น ชีวิตจะว่างเปล่าจากสิ่งที่มีคุณค่า เกิดมาก็เหมือนไม่ได้เกิด  ดังนั้นเราควรแสวงหาสาระของชีวิต ด้วยการสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ เพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

"โย จ วสฺสสตํ ชีเว        กุสีโต หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย        วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

        ผู้มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ดำรงอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ส่วนผู้มีความเพียร แม้เป็นอยู่เพียงวันเดียว เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่ามากมายนัก"   
 
        ผู้มีความเกียจคร้าน ย่อหย่อนในการปรารภความเพียร หมายถึง บุคคลที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่รู้จักประกอบคุณงามความดี พระพุทธองค์ตรัสเรียกชีวิตของผู้นั้นว่า  เป็นโมฆบุรุษ  คือ  ว่างเปล่าจากคุณงามความดี 
 
        ส่วนผู้ที่ปรารภความเพียรมั่นคง  คือ  คนที่ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตนั่นเอง ผู้ไม่ประมาทในปัจฉิมโอวาทของพระบรมศาสดา คือ ผู้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์
 
        ประโยชน์ตน หมายถึง การสั่งสมบุญบารมีให้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดแม้แต่วันเดียว จนกระทั่งตั้งใจปฏิบัติธรรมได้เข้าถึงพระธรรมกาย สามารถกำจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไปได้อย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ และทำประโยชน์ของผู้อื่น ด้วยการชักชวนให้มารู้จักเส้นทางการสร้างบารมีเพื่อไปที่สุดแห่งธรรม ให้รู้จักเส้นทางการดำรงชีวิตอยู่ในสังสารวัฏนี้อย่างปลอดภัย

        แม้ชีวิตนี้จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน แต่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญว่า ใครดำรงชีวิตอยู่อย่างประเสริฐหรือไม่นั้น ไม่ได้วัดกันที่ความมั่งคั่ง มิใช่เกิดจากความยาวนานของชีวิต แต่วัดที่ ใครจะใช้เวลาที่ผ่านไปให้มีคุณค่า เป็นไปเพื่อการเพิ่มพูนบุญญาบารมีได้มากกว่ากันต่างหาก

        *เหมือนในสมัยหนึ่ง มีพราหมณ์ชื่อ ชานุโสณี เป็นผู้ที่มีสติปัญญา ได้ฟังกิตติศัพท์ความเป็นผู้รู้แจ้งโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางไปเข้าเฝ้า ทูลเรื่องความเห็นของตนเองว่า
 
        "ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สัตว์ที่เกิดมาแล้ว ที่ชื่อว่าผู้ไม่หวาดกลัวไม่สะดุ้งต่อความตายนั้นไม่มีในโลกนี้ แล้วพระองค์มีความเห็นอย่างไรบ้าง"

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเหล่าสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จำพวกที่หวาดกลัว หวาดหวั่นต่อความตายก็มี พวกที่ไม่กลัวไม่สะดุ้งต่อความตายเลยก็มี"
 
        พราหมณ์ทูลถามต่อไปว่า "แล้วทั้งสองอย่างนี้เป็นอย่างไรเล่าพระเจ้าข้า"

        พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  "หมู่สัตว์ที่สะดุ้งกลัวต่อความตาย คือผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีเป้าหมายของชีวิต ไม่รู้ว่า ตัวเองเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน หรือมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เมื่อไม่รู้คุณค่าก็ไม่แสวงหาที่พึ่ง ยังมีความยึดมั่นในกามคุณ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด  เมื่อเจ็บป่วยหนัก ใกล้จะหมดลมหายใจ จิตใจจึงเต็มไปด้วยความกังวล อาลัยอาวรณ์ในเบญจกามคุณที่เคยได้รับ และหวาดหวั่นต่อมรณภัยที่จะมาถึง เพราะไม่มั่นใจในชีวิตหลังความตายว่าจะไปสู่สุคติภูมิหรือทุคติภูมิ

        ส่วนคนบางคน แม้ไม่มีความอาลัยในกาม แต่ยังอาลัยอาวรณ์อยู่กับสังขารร่างกายของตัวเอง ยึดติดลุ่มหลงในร่างกาย พยายามที่จะปิดบัง ซ่อนเร้นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตัวเองทุกวิถีทาง  เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีทางที่จะรักษาแก้ไขได้ ก็บังเกิดความวิตกกังวลว่า ร่างกายที่สวยสดงดงาม น่ารัก   น่าอาลัยของเรา จะจากไปแล้ว ทุกข์โทมนัส ความสะดุ้งกลัวต่อความตายก็บังเกิดขึ้น

        นอกจากนี้ยังมีอีกจำพวกหนึ่ง พวกนี้มีมาก คือ เป็นผู้ไม่ใส่ใจเรื่องการประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจ ทำแต่กายทุจริต  วจีทุจริตและมโนทุจริตเป็นอาจิณ ไม่ทำความดีด้วยตัวเองแล้วยังไม่พอ ยังคัดค้านการทำความดีของผู้อื่นอีก ก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จะเกิดความวิตกกังวลว่า ชีวิตที่ผ่านมานั้น  ไม่เคยสั่งสมคุณงามความดีอะไรเลย ภาพของบาปกรรมก็มาปรากฏชัดอยู่ในใจ ทำให้จิตใจเร่าร้อน คติของผู้ที่ทำแต่บาปอกุศล ก็ต้องไปสู่อบายภูมิ ซึ่งเป็นภพภูมิที่ต้องชดใช้กรรม ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นแสนเป็นล้านปี  เมื่อในใจนึกถึงความดีของตัวเอง ไม่ออกอย่างนั้น จึงเกิดความสะดุ้งหวาดกลัวต่อความตายที่มาอยู่ต่อหน้า

          คนบางคน ขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว สุขภาพร่างกายแข็งเเรง ในใจมีแต่ความสนุกสนานร่าเริง คิดแต่ว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส     ไม่ได้สนใจการประพฤติปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตไปวันๆ เมื่อเวลาใกล้ตาย จึงเกิดความวิตกกังวลว่าตัวเราเมื่อยังสดใสแข็งแรง ก็ไม่สนใจศึกษาหลักธรรมให้เข้าใจ ซึ่งบัดนี้หมดโอกาสเสียแล้ว ความสงสัยมืดมนในใจยังมีอยู่มาก อีกทั้งความตายก็กำลังจะพรากเราไป เมื่อไม่สิ้นความสงสัย ในใจจึงเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น"

          พราหมณ์ทูลถามต่อไปว่า "ผู้ที่ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นอย่างไร"
 
        พระบรมศาสดาทรงอธิบายให้ฟังว่า "ใครก็ตาม เป็นผู้ลดละความมักมากหรือไม่หมกมุ่นในกาม มองเห็นโทษของกามว่า มีต้นหวานแต่ส่วนปลายนั้นขม ถ้าไปยึดมั่นลุ่มหลง ความทุกข์ก็เพิ่มพูนทับทวี ถึงคราวป่วยหนักใกล้จะตาย จึงไม่มีความกังวลในกามคุณเหล่านั้น เมื่อไม่กังวล จึงไม่มีอะไรที่จะต้องไปเศร้าโศกเสียใจ ไม่ทุบอกชกตัว

        บางคนมองเห็นสัจธรรมของชีวิตว่า  เมื่อเกิดแล้ว ชีวิตต้องพบกับความแก่ ความเจ็บ สุดท้ายต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย จึงไม่มัวเมาประมาทในร่างกายซึ่งมีปกติเปื่อยเน่า เป็นรังของโรค เต็มไปด้วยของปฏิกูล แล้วหมั่นสร้างคุณงามความดี และปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต เวลาใกล้จะตาย ก็จะไม่มีความวิตกกังวลถึงสังขารร่างกาย และไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย แม้แต่นิดเดียว จะไปสู่สัมปรายภพอย่างผู้มีชัยชนะ

         คนอีกพวกหนึ่ง เห็นชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงพากเพียร ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ    ตั้งแต่ปฐมวัย พิจารณาเห็นความตายอยู่ทุกอิริยาบถ ด้วยการเจริญมรณานุสติเป็นประจำ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต  เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ไปอย่างสงบสุข ไม่มีความหวาดหวั่นสะดุ้งกลัว ประเภทสุดท้าย คือผู้สนใจศึกษาธรรมะและปฏิปทาที่ดีงามจากนักปราชญ์บัณฑิต มีความสงสัยก็เข้าไปถามผู้รู้ จนหมดความสงสัยในเรื่องโลกและชีวิต จึงไม่มีความกลัวต่อความตาย"

        พราหมณ์ชานุโสณี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว เหมือนกับบุคคลที่เดินอยู่ในความมืดมายาวนาน แล้วได้มาพบแสงสว่างอันไม่มีประมาณ จิตใจมีแต่ความแช่มชื่น เบิกบาน ดื่มดํ่าในรสแห่งธรรมของพระพุทธองค์ พราหมณ์ได้ก้มลงกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในธรรมภาษิต และได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต

         เราจะเห็นว่า เส้นทางของผู้ที่เกิดมาแล้ว ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เหินห่างจากการสร้างความดีทั้งกาย วาจา และใจ ย่อมเป็นชีวิตที่ไม่หวาดกลัวต่อมรณภัย จะมีชัยอยู่อย่างปลอดภัย และจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ ต่างจากชีวิตของผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของการสร้างบารมี  มีมากราวฟ้ากับดิน ชีวิตของโมฆบุรุษ จะดำรงอยู่อย่างผู้แพ้ คือพ่ายแพ้ต่ออำนาจอาสวกิเลส เป็นชีวิตที่หวาดหวั่นอยู่เป็นนิตย์ และจากไปอย่าง ผู้พ่ายแพ้ ไปสู่อบายภูมิที่ปราศจากความสุข ต้องเสวยวิบากกรรมอันแสนทรมานเป็นเวลายาวนาน

        เพราะฉะนั้น ขอให้เรามั่นใจได้ว่า การที่เราตั้งใจทำความดี ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมีโดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้างและเงื่อนไข ทุกลมหายใจเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี ชีวิตเราจะปลอดภัยและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข และจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ เพราะเราเข้าใจแล้วว่านั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยเท่านั้น เราจะเข้าถึงภพภูมิที่ดีกว่า ละเอียดประณีตกว่า เหมือนการย้ายตำแหน่ง ย้ายที่อยู่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  ดังนั้น วันเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ เราปรารถนาจะสร้างบุญอะไร ให้รีบทำให้เต็มที่ น้ำขึ้นให้รีบตัก เรามาถึงฝั่งแห่งทะเลบุญแล้ว จะใช้ภาชนะอะไรตักก็เลือกเอา ตักมากได้มาก ตักปานกลางก็ได้ปานกลาง ตักน้อยก็ได้น้อย เพราะชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับเรา แล้วแต่เรา ใครรักบุญปรารถนาบุญ ก็รีบทำกันให้เต็มที่ ให้สมกับที่เกิดมาสร้างบารมีอย่างแท้จริง
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. อรายสูตร เล่ม ๓๕ หน้า ๔๔๔ 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สู่เส้นทางนิพพานมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สู่เส้นทางนิพพาน

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - การตั้งตนไว้ชอบมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - การตั้งตนไว้ชอบ

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - มหาพรหมผู้เห็นผิดมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - มหาพรหมผู้เห็นผิด



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน