ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 6


[ 24 ก.ค. 2550 ] - [ 18285 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 6


        จากตอนที่แล้ว มโหสถกุมารได้เห็นพวกช่างขึงเชือกไม่ถูกแบบที่ตนต้องการ จึงบอกให้นายช่างขึงใหม่ เมื่อเห็นว่าพวกช่างไม่สามารถขึงเชือกตามแบบที่ตนต้องการได้จริงๆ จึงรับเอาเชือกมาขึงเสียเอง แล้วก็บอกนายช่างว่า ให้ขึงแบบนี้

        นับแต่นั้นมา มโหสถกุมารจึงเป็นผู้วางแผนงาน และคอยควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยจัดสรรไว้เป็นส่วนๆ แบ่งเป็นห้องสำหรับคนยากไร้ ห้องสำหรับนักบวชที่เดินทางไกล ห้องพักคนเดินทาง ห้องเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า รวมถึงห้องทำคลอด

        ภายในศาลามีห้องโถงใหญ่ เป็นสนามเล่น มีโรงวินิจฉัยคดี และที่ประชุมดุจโรงธรรมสภา ภายในศาลายังได้ให้จิตรกรวาดจิตรกรรมที่ผนังรายรอบห้องทุกห้อง โดยรอบศาลาก็ให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้รอบศาลา เป็นเวิ้งคดเคี้ยว มีท่าน้ำถึง ๑๐๐ ท่า เพื่อให้มหาชนได้ลงอาบ

        เมื่อถึงกาลอันเหมาะสม มโหสถบัณฑิตยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม ชักนำมหาชนที่มาพักค้างให้ตั้งอยู่ในกองการกุศล  แนะนำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ หมู่ชนที่ได้สดับรสอรรถรสธรรม ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ ให้ความเคารพ นบนอบ บูชา

        ส่วนพระเจ้าวิเทหราช นับแต่วันที่ได้สดับคำทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้ง แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๗ ปีแล้ว ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตในฝันอยู่ตลอดเวลา  แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงมีพระดำรัสกับท่านเสนกะว่า “ท่านอาจารย์ นับจากวันที่ท่านได้ทำนายสุบินนิมิตให้แก่เรา จนถึงบัดนี้ก็ ๗ ปีแล้ว  ถ้าถือเอาวันนั้นเป็นวันเกิดของบัณฑิตน้อย ป่านฉะนี้เขาก็คงเจริญวัยได้ ๗ ปีแล้ว ก็น่าจะปรากฏแววแห่งความเฉลียวฉลาดมาบ้างเป็นแน่ เห็นทีเราจักต้องให้อำมาตย์ออกไปเที่ยวสืบเสาะดูให้รู้แน่ชัด ท่านจะเห็นเป็นประการใด”

        อาจารย์เสนกะเห็นชัดว่าพระราชาทรงใฝ่พระหฤทัยในเรื่องบัณฑิตน้อยมาก จึงปรารถนาจะให้ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์ จึงรีบกราบทูลคล้อยตามพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นพระดำริอันชอบยิ่งแล้วพระเจ้าข้า”

         “ดีละ ท่านเสนกะ ถ้าเช่นนั้นเราจักสั่งให้อำมาตย์ไปสืบดูให้ทั่วนคร” รับสั่งพลางเรียกอำมาตย์ ๔ คนมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งให้แยกย้ายกันออกไปสืบหาให้ทั่วทั้ง ๔ ทิศ

        บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น มีเพียงอำมาตย์ผู้มุ่งตรงไปทางตะวันออกเท่านั้น ที่ได้ประสบกับสถานที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะเมื่อมาถึงหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม เขาได้เข้าไปนั่งพำนักอยู่ในศาลาอันโอ่โถงวิจิตรตระการ  ตื่นตากับสระโบกขรณี และสวนไม้ดอกไม้ผล ดุจดังว่าได้นั่งชื่นชมทิพยสมบัติอันโอฬารอยู่ในเทวโลก ก็ดำริในใจว่า “ผู้ที่สร้างศาลาหลังนี้ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีสติปัญญาอย่างยิ่งทีเดียว จึงสามารถกระทำศาลาให้ยิ่งใหญ่อลังการได้ถึงเพียงนี้”

        เขาจึงเริ่มไต่ถามมหาชน จนได้ความว่า มโหสถกุมาร บุตรสิริวัฒกเศรษฐี บัณฑิตน้อยแห่งบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง

        ยิ่งได้ฟังเสียงร่ำลือถึงกุมารผู้ปรีชาสามารถแล้ว กอปรกับวัยของกุมารก็มาพ้องตรงกันกับพระสุบินนิมิต ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า “มโหสถกุมารผู้นี้ เห็นทีว่าจะต้องเป็นบัณฑิตที่พระราชาทรงมีพระราชดำรัสให้สืบหาเป็นแน่” 

        อำมาตย์ผู้นั้นจึงได้ซักไซ้ไล่เลียงถามประวัติของบัณฑิตนั้นอย่างละเอียดลออ แล้วรีบทำรายงานถวายพระราชา โดยให้บุรุษคนสนิทเป็นทูตถือสารนั้นไปกราบทูลข่าวดีแด่พระองค์ ส่วนตนก็ยังคงรออยู่ในที่นั้นเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไป

        ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของทูตแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก พระพักตร์สดชื่นราวกับได้ทรงเสวยทิพยสุธาโภชน์อันเอมโอษฐ์

        จึงตรัสเรียกท่านเสนกะมาเฝ้า รับสั่งว่า “เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ก็อำมาตย์เขามารายงานเช่นนี้ ท่านอาจารย์เห็นว่าเราควรจะนำบัณฑิตน้อยนั้นมาได้หรือยัง”

        ท่านเสนกะเพิ่งจะได้ทราบข่าวนั้น ก็ตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง คิดว่า “โอ นี่หรือ ที่ควรจะเรียกว่าเป็นข่าวดี ก็แน่ละอาจเป็นข่าวดีสำหรับพระองค์ แต่สำหรับเราแล้ว สมควรจะเรียกว่าเป็นข่าวร้ายมากกว่า”

        พระราชาทรงเห็นท่านเสนกะนิ่งเงียบไป ก็เข้าพระทัยว่าท่านอำมาตย์คงตรวจดูด้วยพยากรณ์ศาสตร์ จึงทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่สอง

        อาจารย์เสนกะจินตนาการไปไกลว่า “หากมโหสถกุมารนี้ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อใด เราก็คงหมดความสำคัญ แม้พระราชาก็จักทรงลืมเราไปเสียสิ้น ไม่ช้าเราก็จะตกต่ำหมดรัศมี แม้ลาภ ยศ บริวาร และความเป็นใหญ่ก็จะพลอยสูญสิ้น จำเราจะต้องกราบทูลทัดทานไว้ก่อน”

        อาจารย์เสนกะไม่ปรารถนาให้พระราชาตรัสถามเป็นครั้งที่ ๓ จึงรีบกราบทูลในขณะนั้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ เพียงแค่กุมารนี้สามารถสร้างศาลาได้ใหญ่โต ยังหาอัศจรรย์ไม่  บุคคลจะเป็นบัณฑิตเพียงเพราะการสร้างศาลา ข้อนี้ช่างเล็กน้อย ดูไม่สมแก่เหตุเลย พระพุทธเจ้าข้า”

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของท่านเสนกะแล้ว ก็เห็นพ้องว่า หากพระองค์จะอาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ แล้วนำกุมารน้อยเข้ามาสู่ราชสำนัก ในฐานะราชบัณฑิตก็ดูกระไรอยู่ ยังมีข้อที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง  อีกประการหนึ่ง ท่านอาจารย์เสนกะผู้พยากรณ์เรื่องนี้มาแต่ต้นก็ยังมากล่าวคัดค้านเช่นนี้ สมควรที่พระองค์จะทรงรับฟังคำของท่านเสนกะไว้ก่อน แต่เพราะเหตุที่ทรงใฝ่หายอดบัณฑิตนี้มานานถึง ๗ ปี   จึงยากยิ่งที่จะทรงตัดพระหฤทัยได้ในทันที จึงทรงนิ่งครุ่นคิดอยู่

        อาจารย์เสนกะเห็นพระองค์ทรงนิ่งแสดงท่าทีครุ่นคิดอยู่ ไม่ตรัสสิ่งใดออกมาเลย ก็ไม่รู้ว่าพระราชาทรงคิดอย่างไรอยู่ หากปล่อยให้นิ่งนานไป ก็หวั่นใจว่าพระราชาจะทรงกริ้วตน   จึงรีบกราบทูลอธิบายเพื่อปกป้องตนเองว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของชาววิเทหรัฐ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลทัดทานเช่นนี้ เพราะตรองเห็นด้วยเกล้าว่า หากบัณฑิตที่พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯรับไว้ในฐานะราชบัณฑิตนั้น ด้วยเหตุเพียงการให้ช่างสร้างศาลาเท่านั้น  เมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป พระราชาต่างเมืองก็อาจทรงรำลึกถึงพระองค์ด้วยความดูแคลนก็เป็นได้   แต่ในทางกลับกัน หากพระราชาเหล่านั้นทราบว่า ผู้ที่จะมาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ จะต้องผ่านการทดสอบภูมิปัญญาอย่างเข้มงวด ไฉนเลยจะไม่กลัวเกรงในพระบารมี ขอพระองค์ทรงใคร่ครวญดูเถิด พระเจ้าข้า”

        พระราชาทรงสดับคำของท่านอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงพอพระหฤทัย จึงมีพระดำรัสให้ทูตที่มากราบทูลไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นว่า “ขอให้ท่านอำมาตย์จงรออยู่ที่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้นต่อไป  และหากมีเหตุการณ์ใดที่เนื่องกับบัณฑิตผู้นั้น ก็จงนำความมากราบทูลเราทันที  จนกว่าเราจะมั่นใจว่า มโหสถกุมารคือบัณฑิตที่เราตามหา เมื่อนั้นท่านจึงค่อยเดินทางกลับ”
 
        ทูตนั้นเมื่อรับพระบรมราชโองการแล้ว ก็รีบนำพระราชสาสน์ไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นในทันที ดังนั้น มโหสถกุมารจึงอยู่ในการสอดแนมของพระราชาตลอดเวลา แต่เหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 7ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 7

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 8ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 8

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 9ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 9



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก