ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 21


[ 10 ต.ค. 2550 ] - [ 18270 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 21


        จากตอนที่แล้ว  ชาวปาจีนยวมัชฌคามเมื่อได้รับพระบรมราชโองการว่า ให้หาโคนหาปลายท่อนไม้ตะเคียน ซึ่งคาดคั้นเอาคำตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็จะต้องถูกปรับมากมาย ก็ถึงกับตะลึงพรึงเพริด เพราะไม่ทราบเหตุมาก่อน ว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์สิ่งใด

        ผู้เฒ่าในที่ประชุมได้หยิบไม้ตะเคียนท่อนนั้นส่งต่อให้ทุกคนได้พิจารณาดู ต่างก็อดไม่ได้ที่จะบ่นพึมพำว่า ใครจะไปหยั่งรู้ได้ สองด้านก็กลมเท่ากัน ลายไม้ก็เหมือนกัน ไม่เห็นจะต่างกันที่ตรงไหน และแล้วท่อนไม้นั้นก็กลับมาถึงผู้เฒ่าอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อทุกคนจนปัญญาจนปัญญา ผู้เฒ่าจึงแนะว่า เราน่าจะลองไปปรึกษาพ่อมโหสถบุตรของท่านสิริวัฒกเศรษฐี ท่านทั้งหลายเห็นว่าอย่างไร ทุกคนต่างก็เห็นด้วย ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่างนั้นก็อย่าช้าเลย รีบไปหาพ่อมโหสถกันเถอะ 

        ดังนั้น บ้านของท่านสิริวัฒกเศรษฐี จึงกลายเป็นที่ประชุมของชาวบ้านในฉับพลัน ท่านสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา นั่งรับฟังปัญหาเหล่านั้นด้วยความไม่สบายใจนัก เมื่อพินิจดูท่อนไม้ตะเคียนนั้นแล้วก็อับจนปัญญาเช่นกัน จึงรีบให้คนไปตามมโหสถมา

        เมื่อมโหสถและสหายมาแล้ว สิริวัฒกเศรษฐีก็ได้ยื่นท่อนไม้ตะเคียนนั้นส่งให้มโหสถ บอกว่า พระราชารับสั่งให้พวกเราหาโคนหาปลายของไม้ท่อนนี้ ถ้าหาไม่ได้จะทรงปรับสินไหม 1000 กหาปณะ เราทุกคนต่างก็จนปัญญาแล้ว ลูกพอจะมีวิธีหาให้พวกเราได้ไหมล่ะ

        มโหสถกุมารรับท่อนไม้จากมือบิดา พลางคิดในใจว่า “ช่างแปลกเสียจริง แค่เรื่องธรรมดาเพียงเท่านี้ แต่พระราชาทรงโปรดที่จะทราบคำตอบ  จะว่าเพื่อพระราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มิน่าจะเป็นไปได้ การรู้โคนรู้ปลายของท่อนไม้นี้ ไม่เห็นจะมีประโยชน์ตรงไหนเลย” 

        มโหสถใคร่ครวญอยู่ครู่หนึ่ง ก็มั่นใจว่า “เห็นทีพระองค์คงมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองเชาว์ปัญญาของเราเป็นแน่ จึงได้ผูกปมปริศนานี้ส่งมา”

        เพียงมโหสถได้จับท่อนไม้ตะเคียนเท่านั้น ก็รู้ได้ทันทีว่า ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย แต่ถึงจะรู้คำตอบแล้วก็เก็บไว้ในใจ มิได้บอกออกไปในทันที  เพื่อจะให้มหาชนได้ประจักษ์ด้วยสายตาของตนเอง  จึงพูดกับบิดาว่า “ท่านพ่อ โปรดให้คนนำภาชนะใส่น้ำมาสักใบหนึ่งเถิดขอรับ”

        “ได้สิลูก” ท่านเศรษฐีตอบ แล้วสั่งให้นำถาดกลมสีทองภายในมีน้ำปริ่มขอบมาวางลงต่อหน้ามโหสถ
 
        “ท่านพ่อครับ กระผมต้องการเชือกผูกของสักเส้นหนึ่ง” ท่านเศรษฐีก็รีบให้คนนำมาให้โดยเร็ว

        ครั้นได้เชือกมาแล้ว มโหสถก็เอาเชือกผูกตรงกึ่งกลางท่อนไม้ ให้ทั้งสองด้านมีความยาวเท่ากัน ไม่ให้ล้ำให้เหลื่อม แล้วถือปลายเชือกข้างหนึ่งไว้ จากนั้นจึงยกท่อนไม้นั้นขึ้น แล้วค่อยๆหย่อนลงบนผิวน้ำในถาดนั้น

        ไม้ท่อนนั้นแม้มองด้วยสายตาจะเห็นว่าเท่ากันทั้งสองด้าน แต่เมื่อได้วางลงไปในน้ำ แทนจะจมลงไปในน้ำเท่ากัน กลับกลายเป็นว่า ข้างหนึ่งกลับจมลงไปมากกว่าอีกข้างหนึ่ง

        เมื่อผลปรากฏเป็นเช่นนี้ มโหสถกุมารจึงชี้บอกมหาชนในที่นั้น ให้สังเกตดูลักษณะการจมลงของท่อนไม้ว่า “ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังล่ะว่า ท่อนไม้นี้หาได้จมลงไปในน้ำเท่ากันไม่”

        “อ้อ...เห็นแล้ว พ่อมโหสถ” ทุกคนพากันตอบ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่ามโหสถต้องการจะบอกอะไร จึงพากันย้อนถามขึ้นว่า “แล้วมันจะเกี่ยวกับโคนและปลายของท่อนไม้อย่างไรกันเล่า”

        มโหสถมิได้ตอบตรงๆ แต่ได้ตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่คำตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงตอบเรามาหน่อยซิว่า โดยปกติต้นไม้ทั้งหลาย โคนเกิดก่อนหรือปลายเกิดก่อน”
 
        “ก็โคนน่ะสิ ต้องเกิดก่อนแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย”  ทุกคนตอบพร้อมกัน
 
        “โดยทั่วไปสิ่งที่เกิดก่อน ก็ย่อมเจริญก่อน แล้วอย่างนี้ โคนหรือปลาย พวกท่านว่าส่วนไหนจะเจริญกว่ากันล่ะ” มโหสถซักต่อ
 
    “ถึงอย่างไร โคนก็ย่อมเจริญกว่าอยู่แล้ว”   ทุกคนยืนยันอย่างมั่นใจ

        มโหสถจึงไล่เลียงต่อไปว่า “ถูกต้องแล้ว ในเมื่อโคนเจริญกว่า พวกท่านคิดว่า ไม้ตรงส่วนไหนจะมีเนื้อแน่น และมีความแข็งกว่ากันล่ะ”

        ทุกคนใช้เวลาตรองตามอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดจึงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อืมม... เนื้อไม้ส่วนโคนก็หนาแน่น และแข็งกว่าน่ะสิ”

        มโหสถจึงขมวดปมปัญหาให้กระจ่างขึ้นว่า “ท่อนไม้ส่วนที่แข็งกว่า ก็แสดงว่ามีเนื้อไม้แน่นกว่า และย่อมจะมีน้ำหนักมากกว่า ใช่หรือไม่”
 
        “ใช่แล้ว พ่อมโหสถ” มหาชนรับรองเป็นเสียงเดียวกัน

        “ดีล่ะ ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลายจะสำคัญเช่นไร เมื่อผลปรากฏว่า ท่อนไม้ตะเคียนข้างหนึ่งจมลงไปก่อนอีกข้างหนึ่ง” มโหสถกุมารทวนถามอีก

        “ก็หมายความว่า ข้างที่จมก่อนย่อมจะมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่จมทีหลังน่ะสิ” หลายคนตอบทันทีโดยไม่ทันต้องคิดเลย

        “พวกท่านยังจดจำสิ่งที่ท่านตอบเรามาโดยลำดับ ได้หรือไม่” มโหสถทวนถามซ้ำ
 
        “จำได้สิ พ่อมโหสถ” เสียงมหาชนรับคำ และดูเหมือนหลายคนเริ่มจะตามทันแล้ว

        “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพอจะทราบหรือยังล่ะ ว่าทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย” มโหสถถามเป็นคำรบสุดท้าย

        พอมาถึงตอนนี้ มหาชนก็พากันร้องอ๋อด้วยความยินดี ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันด้วยความบันเทิงใจว่า “โอ... นึกว่าจะยากอะไร ตอนนี้พวกเราทุกคนทราบคำตอบแล้วล่ะ”

        ในที่สุดมโหสถจึงได้แนะนำว่า “ก็เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดได้แล้วว่า ข้างที่จมก่อนเป็นโคน ข้างที่จมทีหลังเป็นปลาย ก็พึงกระทำเครื่องหมายไว้ให้แม่นมั่น แล้วจงนำไปทูลเกล้าถวายแด่พระราชาเถิด”

        ชาวปาจีนยวมัชฌคามเมื่อได้ทราบคำตอบเช่นนั้นแล้ว ก็พากันโล่งใจ  ทั้งอัศจรรย์ใจในการคลายปมปริศนาของมโหสถยิ่งนัก ต่างกล่าวแซ่ซ้องสรรเสริญกันถ้วนหน้าว่า  “มโหสถเอย พ่อนี่ช่างรอบรู้จริงเชียว สมกับที่เป็นบัณฑิตแห่งชาวเราโดยแท้ ถ้าหากไม่ได้พ่อมโหสถ พวกเราคงแย่แน่ๆ” ส่วนว่าพระราชาเมื่อได้สดับคำเฉลยแล้ว จะทรงมีปัญหาอะไรมาให้มโหสถแก้อีกนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 23ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 23

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 24ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 24



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก