เทศกาลออกพรรษาที่เชียงตุง


[ 22 พ.ย. 2550 ] - [ 18270 ] LINE it!

เชียงตุงดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา
ตอน เทศกาลออกพรรษาที่เชียงตุง
 
    เชียงตุง เมืองสำคัญของรัฐฉาน ประเทศเมียนม่าร์ เป็นเมืองเล็ก แต่มีความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมชาวพุทธที่เข้มแข็ง ที่บรรพบุรุษชาวเชียงตุง ยังคงรักษาวัฒนธรรมสืบทอดมาถึงลูกหลานได้อย่างยาวนาน ปัจจุบันเชียงตุงมีประชากรประมาณ 243,000คน ประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ไทเขิน ไทใหญ่ ไทเหนือ ไทลื้อ ชาวจีน ชาวปะหล่อง อาข่า (อีก้อ) ชาวลู่ ลีซอ เป็นต้น
 
    โดยมี ชาวไทเขิน เป็นชนพื้นเมืองเดิม ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนาของชาวเชียงตุง จะเป็นไปด้วยความพร้อมเพรียงกัน และสมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 
    การเดินทางมาเชียงตุงของเหล่ากัลยาณมิตร ลูกพระธัมฯ ในครั้งนี้ เสมือนหนึ่งว่า เราได้ย้อนเวลากลับไปสู่อดีตภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อ 50กว่าปีที่แล้ว ที่นี่ยังมีโอ่งน้ำตั้งหน้าบ้าน คอยมอบน้ำใสจากใจจริงให้แก่ผู้เดินทาง
 
 
    การเดินทางมาเชียงตุงในครั้งนี้ จึงเหมือนการได้กลับมาเยี่ยมเยียนบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย ที่นี่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้า จะมีก็แต่ตลาด หรือที่ชาวเชียงตุง เรียกว่า “กาด” เป็นสถานที่ชุมนุมกันของคนทุกเพศทุกวัย
 
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวเชียงตุงจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ชาวเชียงตุงไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน จะถือว่าเป็นประเพณี ที่ต้องกลับมาเข้าพรรษาที่บ้าน เพื่อมาทำบุญให้กับบรรพบุรุษ “วันพระ” หรือ “วันศีล” ซึ่งถือว่าเป็นวันบุญศักดิ์สิทธิ์ ที่ทุกคนต้องไปวัด หรืออย่างน้อยแต่ละบ้านต้องส่งตัวแทนมาวัดอย่างน้อย บ้านละ 1คน และสำหรับผู้ที่มีอายุ 30-40ปีขึ้นไป หรือครอบครัวที่ลูกเริ่มโตมีครอบครัวแล้ว พอถึงวันศีล พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะต้องมาสมาทานศีลแปด และนอนที่วัดในวันพระ
 
    สำหรับลูกหลาน ก็จะช่วยกันทำอาหาร มาถวายพระ และนำมาประเคนถวายให้ผู้ใหญ่ หรือ ผู้เฒ่า-ผู้แก่ที่มาถือศีลแปดที่วัด เมื่อถวายแล้ว ก็จะมีการให้พรเป็นบทสวดเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ เพื่อฝึกให้ลูกหลานมีความเคารพ มีความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพบุรุษ บุพการี
 
 
    ในช่วงเข้าพรรษา โรงเรียนจะปิดเรียนในวันพระ เพื่อให้เด็กนักเรียนไปทำบุญที่วัดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย
 
    ก่อนวันพระ จะมีประเพณีเรียกว่า “วันตุมศีล” คือ วันตักบาตรก่อนวันพระ ทุกๆ 7วัน จะมีการตักบาตรใหญ่ที่ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงานและชาวเชียงตุง จะมาตักบาตรพร้อมกันอย่างพร้อมเพรียง พระภิกษุ สามเณรจะส่งตัวแทนมาจากทุกวัด ทั้งวัดของชาวไทเขิน ไทใหญ่ และวัดพม่า
 
 
    พิธีเริ่มต้นด้วยขบวนอัญเชิญพระพุทธรูป องค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมือนหนึ่งว่า พระองค์ได้เสด็จเป็นประธานในการตักบาตร เราได้เห็นภาพของคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ จนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มาตักบาตรด้วยความศรัทธา ภาพของสามเณรที่รับบาตรจนล้นจนอุ้มบาตรแทบไม่ไหว
 
 
    เมื่อใกล้วันออกพรรษา ทั้งวัดวาอารามและบ้านเรือนที่เชียงตุง จะช่วยกันทำความสะอาด เพื่อเตรียมรับการเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละบ้านจะมีการทำ “เขี่ยงต่างพุทธ” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  
 
 
 
    เชียงตุงได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองร้อยวัด” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่คงความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในด้านประเพณี พิธีกรรมไว้ให้เห็น และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เอกลักษณ์ของการสร้างวัดของชาวเชียงตุง จะนิยมสร้างวิหารขนาดใหญ่
 
 
    พระอาจารย์ บุญทิพย์ วิสาโร พระอาจารย์สอนวิปัสสนา แห่งวัดกรรมฐาน จอมแจ้ง เมืองเชียงตุง เล่าให้ฟังว่า...
 
    “ที่เชียงตุงเราจะสร้างวิหารใหญ่ๆ เหตุที่สร้างใหญ่ เพราะวัดคือศูนย์รวมแห่งศรัทธา ในเมื่อวันนี้ศรัทธาเรามี แต่ถ้าเราไม่ทำไว้ แล้วอนาคตลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร เราไม่ได้สร้างเพื่ออวด เพื่อแข่ง แต่เราทำด้วยศรัทธา เพราะคนเข้าวัดเยอะ ถ้าเราไม่ทำใหญ่โต ญาติโยมมาวัดก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย...
 
    เวลาที่เราจะสร้างวิหารในวัด เราจะคำนวณก่อนว่า วันนี้หมู่บ้านเรามีผู้หญิง 100คน เราต้องกะว่า อนาคต เราจะมีเด็กเกิดขึ้นกี่คน การสร้างอะไร เราต้องเดินไปสู่อนาคต ไปสู่ความก้าวหน้า คิดถึงยุคลูกหลานของเรา เราจึงมักสร้างวิหารใหญ่ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนลูกหลานของเรา จะถือว่าสร้างใหญ่โตไม่ได้ สิ่งปลูกสร้างที่เราสร้าง สร้างเพื่อพระพุทธศาสนา ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นบุญทั้งในปัจจุบัน อนาคต และโลกหน้าของชาวเชียงตุง...
 
    ชาวเชียงตุงจะเป็นคนที่เลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนามาก พระพุทธศาสนาเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของชาวเชียงตุง เมื่อเด็กเกิดมา พอเริ่มสอนได้ เขาจะเริ่มสอนให้กราบพระก่อน ฝึกให้ถวายภัตตาหารพระ
 
 
    สิ่งเล็กๆที่ปลูกฝังนี้จะยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต ที่จะทำให้พวกเขารักและหวงแหนพระพุทธศาสนา...วัดที่เชียงตุงเราจะให้ความสำคัญกับโบสถ์มาก ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เงาของโบสถ์ เราก็จะไม่ไปเดินทับ เพราะถือว่าโบสถ์เป็นเสมือนที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หญิงห้ามเข้าโบสถ์ แม้กระทั่งบันไดโบสถ์ก็ห้ามผ่าน
 
    พระพุทธศาสนาในเชียงตุง เราจะไม่ทอดทิ้งกัน แม้ว่าจะมีความหลากหลายของเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ แต่วัดคือศูนย์รวมจิตใจ ให้ชาวเชียงตุงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่จำกัดว่า วัดนี้เป็นของใคร ส่วนใหญ่ชาวเชียงตุงจะมีวัดที่ไปบ่อยๆ หรือเป็นวัดที่บรรพบุรุษช่วยกันสร้าง แต่ประเพณีของเรา จะปลูกฝังให้ชาวเชียงตุงรักการทำบุญ และนิยมไปทำบุญกันหลายๆวัด จะเอาประเพณีเป็นตัวผลักดัน เรียกว่า สุข-ทุกข์ ก็ให้ไปวัด แม้ไม่มีอะไรมีแต่มือเปล่าก็มาวัดได้...
 
    พระพุทธศาสนา เป็นรากแห่งความเจริญของศรัทธาชาวเชียงตุง ที่ไม่สามารถ ลด ละ เลิกได้ และช่วยกันรักษาวัฒนธรรมตั้งแต่ ปู่ย่า ตายาย มาตลอดจนถึงปัจจุบัน”


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันออกพรรษาของชาวเชียงตุงวันออกพรรษาของชาวเชียงตุง

โชโชโลซ่า  ตอน  หนึ่งปีที่รอคอยโชโชโลซ่า ตอน หนึ่งปีที่รอคอย

บิ๊กทู ชู บิ๊กบุญ ในเคปทาวน์บิ๊กทู ชู บิ๊กบุญ ในเคปทาวน์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน