ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 61


[ 26 มี.ค. 2551 ] - [ 18265 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 61


        จากตอนที่แล้ว  อาจารย์เสนกะถูกมโหสถโต้กลับด้วยวาทะที่เฉียบคม ก็รีบโต้กลับว่า “มโหสถยังเด็กจะรู้อะไร ปากก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม  คนไม่มีทรัพย์ เหมือนต้นไม้ไม่มีผล นกมันยังไม่แลเลย”

        มโหสถก็รีบโต้กลับอย่างอาจหาญว่า “ท่านเสนกะหรือจะรู้อะไร เขามองเห็นเพียงแต่ทรัพย์ คนพาลมีทรัพย์ ย่อมอาศัยทรัพย์นั้นทำความชั่ว ไม่รู้ว่านายนิรยบาลกำลังเตรียมกระชากตัวไปสู่นรกอันร้ายกาจ ข้าพระองค์ขอยืนยันว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนพาลมีทรัพย์ไม่ประเสริฐเลย”

        พระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำของมโหสถแล้ว ก็ทรงอัศจรรย์ใจ ตรัสชื่นชมมโหสถว่า  “เธอช่างพูดได้เข้าทีจริงเชียว” ขณะเดียวกันก็ทรงหันมาถามอาจารย์เสนกะว่า “ ท่านอาจารย์ล่ะจะว่าอย่างไร”

        อาจารย์เสนกะก็ไม่ยอมจำนนโดยง่าย รีบยกอุปมาว่า “แม่น้ำทุกสาย ไม่ว่าสายไหน เมื่อไหลไปถึงมหาสมุทร ชื่อเดิมก็หายไป ได้ชื่อใหม่ว่า มหาสมุทร ผู้มีปัญญาเลิศก็เช่นเดียวกัน ครั้นมาถึงถิ่นของผู้มีทรัพย์ ชื่อของเขาย่อมไม่ปรากฏ คงปรากฏแต่เพียงชื่อของบุคคลผู้มีทรัพย์เท่านั้น”

        มโหสถก็โต้กลับอาจารย์เสนกะทันควันเช่นกันว่า “มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่เพียงไร ก็ไม่อาจล้นฝั่งไปได้  ฝั่งย่อมสกัดกั้นคลื่นไว้ได้ทั้งหมด  คนผู้ที่มีทรัพย์มากก็เช่นกัน เมื่อถึงคราวอับจนปัญญา ก็จะพากันไปพินอบพิเทาคนมีปัญญา เพื่อรับทราบข้อวินิจฉัยอันลึกซึ้ง  ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ จึงยืนยันว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนพาลมีทรัพย์ไม่ประเสริฐเลย”  

        เมื่อถูกเกทับด้วยข้ออุปมาที่เหนือชั้นกว่า ท่านเสนกะจึงต้องรีบกลับลำในทันที แล้วจึงตั้งประเด็นขึ้นใหม่ว่า “ช้าก่อนมโหสถ ข้ออุปมานั่นอาจไกลตัวเกินไป ลองมาฟังเรื่องจริงบ้างจะเป็นไรไป”

        ท่านเสนกะกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง “ใครๆต่างก็รู้กันว่า คนที่มีทรัพย์สมบูรณ์ด้วยยศ แม้นว่าจะไร้ปัญญา เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชน สง่าราศีย่อมฉาบทาเรือนกายของเขา และไม่ว่าเขาจะกล่าวถ้อยคำใด ถึงจะเป็นคำเท็จก็ตาม ถ้อยคำนั้นย่อมจูงใจผู้คนให้เห็นคล้อยตามได้ง่าย เพราะใครๆก็นิยมชมชอบคนมีทรัพย์ หากคนมีทรัพย์พูดแล้วย่อมเสียงดังกว่า คนมีปัญญาน่ะหรือ หากไม่มีทรัพย์เป็นแรงหนุนแล้ว จะให้เป็นที่นิยมชมชอบได้อย่างไรกัน ใครเขาจะรับฟังและยอมกระทำตามคำของคนจนเล่า  ข้าพเจ้าเห็นดังนี้ จึงยังคงยืนยันว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีทรัพย์เท่านั้นประเสริฐ”

        พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นว่าการปะทะคารมกันระหว่างบัณฑิตทั้งสอง เริ่มดุเด็ดเผ็ดร้อนขึ้นตามลำดับ จึงทรงเร่งหนุนให้มโหสถกล่าวแก้บ้าง

        มโหสถยิ้มหน่อยหนึ่ง แล้วจึงโต้กลับพร้อมเหน็บท่านเสนกลึกๆว่า “คนพาลผู้โง่เขลามองเห็นแต่สุขจอมปลอมโลกนี้เท่านั้น แต่โลกหน้าเขากลับมองไม่เห็นเสียเลย ท่านอาจารย์อย่าได้เอาวิสัยของคนพาลมากล่าวเลย   ก็คนไร้ปัญญาที่พูดเอาแต่ได้ มุ่งให้คุณแก่ตนเองแต่ให้ร้ายผู้อื่น โป้ปดมดเท็จอย่างไรไม่สนใจ พูดโกหกพกลม เพ้อเจ้อไปตามเรื่องตามราว ต่อให้เขามีทรัพย์สักปานใด ก็ย่อมถูกตำหนิได้แม้ในท่ามกลางที่ประชุมชน ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว คนเหล่านี้ถึงมีทรัพย์มากแต่ก็เป็นคนหนักแผ่นดิน แล้วจะประเสริฐอะไร มิหนำซ้ำภายหลังเขายังจะต้องไปสู่ทุคติอีก”

        ท่านเสนกะถูกเหน็บเต็มๆ ก็เจ็บลึกเข้าไปในใจสุดที่จะกล้ำกลืนได้ แต่ก็มิได้ลังเลใจ ยังคงยืนหยัดอยู่ในมติของตนอย่างเข้มแข็งว่า  “บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน แต่ไร้ทรัพย์ไร้ที่พักพิง ไม่มีหลักมีฐานอันใด ก็หมดท่าหมดสง่าราศี ถึงจะกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้อยคำของเขาย่อมไม่งอกงามในที่ประชุมชน ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ เขาปรากฏตนในท่ามกลางบริษัทเหมือนหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์อุทัยฉะนั้น อย่างนี้แล้วเขาจะประเสริฐอย่างไรเล่า”

        มโหสถค้านในทันทีว่า “อาจารย์เสนกะ วาจาของท่านวิปริตไปเสียแล้ว ท่านผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ย่อมไม่กล่าวคำเหลาะแหละเหลวไหล เขาย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญในท่ามกลางที่ประชุมชน ทั้งภายหลัง เขาย่อมได้ไปสู่สุคติอย่างแน่นอน ตรงข้ามกับคนพาลที่พูดเอาแต่ได้ เขาย่อมถูกตำหนิติฉิน และภายหลังย่อมไปสู่ทุคติโดยมิต้องสงสัย”

        ถึงอย่างไร อาจารย์เสนกะก็ไม่ยอมจำนนง่ายๆ รีบโต้กลับทันควันว่า “มโหสถเอ๋ย เจ้าอย่าได้พูดไกลไป มองดูแค่รอบกายเถิด ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ทั้งแก้วแหวนเงินทอง ช้างม้าวัวควาย ตลอดจนเหล่าข้าทาสบริวาร ล้วนพรั่งพร้อมอยู่ในสกุลของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ใช่แต่เท่านั้น แม้คนมีปัญญามหาศาลแต่หากไม่มีทรัพย์แล้ว ก็เท่ากับสิ้นยศอำนาจวาสนา ในที่สุดก็ต้องตกเป็นขี้ข้าของคนมีทรัพย์กันหมดทีเดียว ทรัพย์ทั้งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ จึงไม่หนีหายไปไหน ย่อมตกอยู่ในอำนาจของคนมีทรัพย์ ให้ได้ใช้สอยอุปโภคบริโภคตามความปรารถนา”

        มโหสถบัณฑิตก็แย้งกลับด้วยเหตุผลที่หนักแน่นกว่า และยังเหน็บเข้าเต็มแรงว่า “ท่านเสนกะ ที่ท่านกล่าวมาก็จริงอยู่ แต่ท่านก็รู้อยู่ว่า ตระกูลผู้มั่งคั่ง ถึงแม้จะมีทรัพย์มาก แต่เพราะความที่เขาเป็นคนพาลสันดานหยาบ จึงไม่รู้จักจัดแจงการงาน ความภาคภูมิโอ่อ่าด้วยทรัพย์อันเป็นสิริจึงไม่อาจอยู่ได้นาน ไม่ช้าทรัพย์นั้นก็จักต้องละทิ้งเขาไป ทรัพย์ของคนโง่ย่อมถูกปอกลอกไปได้ง่าย ไม่ต่างจากงูที่ลอกคราบเก่าทิ้งเสีย ในเมื่อทรัพย์ของคนโง่มีวันแต่จะเสื่อมสิ้นไป แล้วคนโง่จะเหลือสิ่งใดให้ภาคภูมิใจกันเล่า”

        การโต้วาทะของบัณฑิตทั้ง ๒ เริ่มเข้มข้นขึ้นไปทุกขณะ อาจารย์เสนกะนั้นมุ่งแต่ประโยชน์ในปัจจุบัน มองสั้นๆ แค่เพียงในชาตินี้ว่า ให้ได้ใช้ทรัพย์แสวงหาความสุขไปวันๆ ก็เพียงพอแล้ว

        ส่วนมโหสถบัณฑิต ไม่ได้มองเพียงแค่ในชาตินี้เท่านั้น แต่ได้มองไกลออกไปถึงในภพชาติเบื้องหน้า เพราะเห็นชัดถึงคุณและโทษของทรัพย์ว่า ถ้าหากขาดปัญญาในการใช้สอยแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพย์ไปในทางที่เป็นบาป   เช่นนำไปเสียให้กับอบายมุข นำไปดื่มสุรา เล่นการพนัน และเที่ยวกลางคืนเป็นต้น ทรัพย์นั้นแทนที่จะเรียกได้ว่าเป็นทรัพย์สมบัติ แต่จะกลายเป็นทรัพย์วิบัติไป เพราะนำความวิบัติมาให้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ส่วนว่าอาจารย์เสนกะนั้น แม้จะรู้ว่า ตนนั้นเริ่มเพลี่ยงพล้ำเข้าไปทุกที แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้  แต่ว่าท่านเสนกะจะกล่าวแก้อย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 62ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 62

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 63ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 63

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 64ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 64



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก