ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 93


[ 27 พ.ค. 2551 ] - [ 18265 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 93

    จากตอนที่แล้ว อาจารย์ทั้ง ๔  ได้วางแผนที่จะทำให้พระเจ้าวิเทหราชทรงเคลือบแคลงในมโหสถได้พร้อมกันมาถามปัญหามโหสถถึงที่บ้าน โดยได้ถามปัญหาข้อแรกว่า “คติในการดำรงชีพนั้น บุคคลผู้ต้องการประกอบกิจอันเป็นประโยชน์   ควรจะตั้งตนอยู่ในคุณธรรมข้อใดเป็นเบื้องต้น”

ซึ่งมโหสถก็ตอบว่า “ความสัตย์หรือความจริงใจย่อมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ประดุจเสาเรือน ต้องเป็นไม้มีแก่น ที่มีเนื้อแน่น และยังจะต้องตรงด้วย หลักภายในก็ยิ่งต้องซื่อตรงเช่นเดียวกัน”

แล้วอาจารย์เสนกะก็รุกถามต่อไปว่า “ผู้ดำรงอยู่ในความสัตย์แล้ว ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป”
 
    “ก็ควรที่จะแสวงหาทรัพย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้น เพื่อความเป็นปึกแผ่นของตนน่ะสิ” มโหสถตอบ

    “เมื่อมีทรัพย์เป็นปึกแผ่นแล้ว ยังจะต้องทำอย่างไรต่อไปอีกล่ะ”
 
     มโหสถตอบอย่างฉะฉานว่า “ความเป็นปึกแผ่นของทรัพย์ถึงจะมีคุณเพียงไร  แต่ถ้ายังต้องอยู่ในวงล้อมของกลุ่มคนที่ริษยา ก็ไม่อาจจะมีความสุขอยู่ได้ ดังนั้น บัณฑิตผู้มีทรัพย์มั่งคั่งแล้ว  ก็พึงแสวงหามิตรสหายสืบไป”

    อาจารย์เสนกะมิได้หยุดเพียงนั้น กลับรุกคืบถามต่อไปว่า “เมื่อคบมิตรแล้ว จะพึงปฏิบัติต่อมิตรนั้นอย่างไรอีกเล่า”

    มโหสถก็ตอบทันทีว่า “มีมิตรแล้ว   ก็ต้องจับความคิดอ่านของมิตรให้ได้น่ะสิ”  

    “เอ..แล้วทำไมจะต้องจับความคิดอ่านของมิตรด้วย”   อาจารย์เสนกะถามพลางแสร้งตีสีหน้าฉงน

    “ท่านเสนกะ ท่านเคยเห็นหรือไม่ว่า บุคคลที่เคยมั่งคั่งเป็นปึกแผ่น แต่ภายหลังกลับต้องเสื่อมลงเพราะมิตรสหาย”   มโหสถตั้งกระทู้ถาม
 
    อาจารย์เสนกะก็รับว่า “เคยเห็นสิ พ่อบัณฑิต”

    “นั่นแหละท่านอาจารย์ เมื่อคบมิตรแล้ว จึงต้องจับความคิดอ่านของมิตรให้ได้ มองให้ออกว่าความคิดอ่านของมิตร โน้มเอียงไปในทางใด  เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร  เพื่อจะได้ตามรักษามิตรนั้นไว้ มิให้ตั้งอยู่ในความประมาท” 

    “แจ่มแจ้งทีเดียว พ่อบัณฑิต” อาจารย์เสนกะกล่าวยกย่องมโหสถ ซึ่งยากจะเข้าใจว่าจริงใจหรือ เสแสร้ง

    ครั้นแล้วจึงดำเนินกลอุบายต่อไปว่า “เมื่อต่างฝ่ายควรได้อ่านความคิดของกันและกัน ฉะนั้นจึงควรถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และน่าจะเปิดเผยเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างให้กันและกันทราบ โดยที่ไม่ควรปิดบังเลย อย่างนั้นสิ”

    “ถูกต้องแล้วท่านอาจารย์ การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะเปิดเผยไปเสียทุกอย่างก็ไม่ถูกต้อง เพราะความคิดของเราบางอย่างที่เป็นความลับ ก็ต้องระมัดระวังไม่ควรแพร่งพรายแก่ผู้อื่น”

    มโหสถอธิบายหลักของการคบมิตรอย่างชัดแจ้ง หวังจะให้เป็นประโยชน์แก่อาจารย์ทั้ง ๔ โดยปราศจากความระแวงว่าตนกำลังถูกอาจารย์เสนกะต้อนให้ตกหลุมพราง

    “หมายความว่า ความลับของเราบอกใครไม่ได้เช่นนั้นหรือ” อาจารย์เสนกะรีบรวบความและถามย้ำ

    “แน่นอน ความลับก็ย่อมต้องเป็นความลับไม่ควรบอกแก่ใครๆทั้งนั้น”  มโหสถบัณฑิตยืนยันหนักแน่น

    อาจารย์ทั้ง ๔ ได้ฟังดังนั้น ก็พากันดีใจ ยิ้มหน้าระรื่น พลางกล่าวพร้อมกันเหมือนนัดหมายกันมาก่อนว่า “ดีล่ะ พ่อบัณฑิต”

    อาจารย์เสนกะยุติคำถามลงเพียงเท่านี้ แล้วรีบขอบอกขอบใจมโหสถบัณฑิตเป็นการใหญ่ เหมือนสำนึกในพระคุณของมโหสถเสียเต็มประดา จากนั้นทั้งหมดจึงได้ขอตัวกลับ

    “เป็นอย่างไรล่ะ ข้าพเจ้าคาดไว้ไม่ผิดเลย ทีนี้แหละ เจ้ามโหสถเอ๋ย! เจ้าไม่รอดแน่ นี่ก็เพราะความฉลาดเกินตัวของเจ้าแท้ๆ” อาจารย์เสนกะรำพึงขึ้นเหมือนมองเห็นความพินาศของ มโหสถอยู่รำไร พลางชักชวนเหล่าสหายไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชทันที

    ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อย ในยามที่พระอาทิตย์ใกล้อัสดง พระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ ณ พระตำหนักภายในเขตราชฐานฝ่ายใน ครั้นทรงทราบว่าอาจารย์ทั้ง ๔ มีเรื่องสำคัญที่จะกราบทูล จึงพระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้เป็นการรีบด่วน

    “ท่านอาจารย์มีเรื่องร้ายแรงอันใดหรือ จึงได้พากันมาเฝ้าในเวลานี้” พระเจ้าวิเทหราชมีพระราชดำรัสถาม

    ท่านเสนกะกราบทูลด้วยสีหน้าหม่นหมองเหมือนมีเรื่องทุกข์ร้อนอยู่ในใจว่า “ขอเดชะฯ รอช้าไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทราบข่าวสำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับความไม่ผาสุกของพระองค์ จึงจำต้องรีบด่วนมาเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าข้า”

    ท้าวเธอได้สดับดังนั้น ก็มิได้ทรงตื่นตระหนกตามคำของอาจารย์เสนกะแต่อย่างใด เพราะทรงเห็นว่า หลายครั้งที่ผ่านมาคำทูลของอาจารย์เสนกะนั้นยังไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก

    ดังนั้น ท้าวเธอจึงเพียงแต่รับสั่งถามด้วยพระสุรเสียงราบเรียบว่า “ท่านอาจารย์มีธุระสำคัญอันใด ก็จงบอกมาเถิด”

    “ขอเดชะ ขอโปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด หากว่าเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลต่อไปนี้ จะเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” อาจารย์เสนกะรีบออกตัวก่อน

    “ไม่เป็นไรท่านอาจารย์ เชิญท่านกล่าวเถิด” ท้าวเธอตรัสเร่งเร้าด้วยทรงใคร่จะทราบความโดยเร็ว

    “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทราบข่าวมาว่า มโหสถบัณฑิตผู้ที่ฝ่าพระบาททรงไว้วางพระทัย สถาปนาไว้ในตำแหน่งเสนาบดี บัดนี้เขากำลังคิดการณ์ใหญ่อย่างลับๆ หวังตั้งตนเป็นกบฏต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระพุทธเจ้าข้า”

    “ฮึ ฮึ...อะไรกัน ท่านอาจารย์ ท่านเอาอะไรมาพูด มโหสถน่ะหรือจะเป็นกบฏต่อเรา” ท้าวเธอตรัสด้วยพระสุรเสียงเจือพระสรวล 
 
     “พระพุทธเจ้าข้า” อาจารย์เสนกะยืนยันหนักแน่น พลางหันไปทางอาจารย์ที่เหลือ ทุกคนต่างพยักหน้าพร้อมกัน

    “อย่าเลยท่านอาจารย์ ท่านอย่ากล่าวหามโหสถว่าเป็นกบฏต่อเราเลย เราไม่เชื่อท่านแล้ว เราไม่เชื่อเด็ดขาด” ท้าวเธอตรัสห้ามด้วยไม่ทรงเชื่อ แต่อาจารย์เสนกนั้นมีไม่เด็ดเตรียมไว้อยู่แล้ว แม้พระราชาจะไม่ทรงเชื่อในเบื้องต้นก็ไม่หวั่นไหว แต่ว่าเขาจะกราบทูลอย่างไรอีกนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 94ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 94

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 96ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 96



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก