ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 94


[ 30 พ.ค. 2551 ] - [ 18269 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 94

    จากตอนที่แล้ว มโหสถได้ตอบปัญหาของอาจารย์เสนกะไปว่า “เมื่อมีมิตรแล้ว   ก็ต้องจับความคิดอ่านของมิตรให้ได้ มองให้ออกว่าความคิดอ่านของมิตร  เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร  เพื่อจะได้ตามรักษามิตรนั้นไว้ มิให้ตั้งอยู่ในความประมาท” 

    อาจารย์เสนกะเห็นว่าคำตอบเริ่มเข้าประเด็น จึงรวบรัดถามให้ชัดลงไปว่า “เมื่อต่างฝ่ายควรได้รู้ความคิดอ่านของกันและกัน ฉะนั้น ก็ควรจะเปิดเผยเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างให้กันและกันทราบ โดยที่ไม่ควรปิดบังเลย อย่างนั้นสิ”

    มโหสถก็ตอบทันทีว่า “ผู้เป็นมิตรต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่การจะเปิดเผยไปเสียทุกอย่างก็ไม่ถูกต้อง เพราะความคิดอ่านบางอย่างที่เป็นความลับ ก็ต้องระมัดระวังไม่ควรแพร่งพรายแก่ผู้อื่น”

    อาจารย์เสนกะรีบรวบความชี้เป้าให้มโหสถฟันธงลงตรงๆ เลยทีเดียวว่า “หมายความว่า ความลับของเราบอกใครไม่ได้เช่นนั้นซิ”
 
    มโหสถบัณฑิตก็ยืนยันว่า “แน่นอน ความลับก็ย่อมต้องเป็นความลับไม่ควรบอกแก่ใครทั้งนั้น” 

    อาจารย์ทั้ง ๔ เมื่อได้คำตอบที่ตนต้องการแล้ว ก็ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชกราบทูลยุยงว่า  “ขณะนี้ มโหสถบัณฑิตกำลังคิดการณ์ใหญ่ หวังก่อการกบฏต่อราชบัลลังก์”
 
    ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงตรัสห้ามว่า “ท่านอาจารย์ ท่านอย่ากล่าวหามโหสถอย่างนั้นเลย เราไม่เชื่อพวกท่านอีกแล้ว”

แต่อาจารย์เสนกะได้เตรียมการเอาไว้แล้ว จึงกราบทูลเสริม เพื่อยืนยันในคำของตนต่อไปว่า “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า จริงนะพระเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าขอยืนยันว่าสิ่งที่ได้กราบทูลไปนั้นเป็นความสัตย์จริง มิได้มีเจตนาจะให้ร้ายมโหสถเลย พระพุทธเจ้าข้า หากว่าพระองค์ยังมิทรงเชื่อ จะทรงพิสูจน์ด้วยตัวพระองค์เองก็ยังได้ พระพุทธเจ้าข้า”

    ท้าวเธอทรงเงียบอยู่ครู่หนึ่ง ทรงใคร่ครวญถึงมูลเหตุ เพื่อชั่งน้ำหนักว่าถ้อยคำของอาจารย์เหล่านั้นน่าเชื่อถือเพียงใด แต่ครั้นทรงพิจารณาเค้ามูลแล้ว ก็มิได้ทรงเชื่อ จึงมีรับสั่งถามตามปกติว่า “ก็ท่านอาจารย์มีหลักฐานอะไรรึ”

    อาจารย์เสนกะไม่รอช้า รีบทูลตอบในทันทีว่า “ขอเดชะ มีแน่นอนพระพุทธเจ้าข้า เรื่องนี้ขอพระองค์ได้โปรดถามมโหสถด้วยพระองค์เองเถิดว่า “ความคิดอ่านที่เป็นข้อเร้นลับ สมควรจะบอกแก่ใครหรือไม่ เพียงเท่านี้ฝ่าพระบาทก็จะทรงเห็นด้วยเกล้าว่า มโหสถมีลับลมคมในแฝงอยู่ในส่วนลึก ถึงเวลานั้นพระองค์ก็จักทรงทราบว่า ไม่ควรจะไว้วางพระทัยในมโหสถอีกต่อไปแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำกราบทูลของอาจารย์เสนกะแล้ว ก็มิได้ทรงเชื่อ  เพราะทรงแน่พระทัยเหลือเกินว่า อย่างไรเสียมโหสถบัณฑิตก็จะไม่คิดเป็นกบฏต่อพระองค์เป็นแน่ แต่ในเมื่ออาจารย์เสนกะยืนยัน กล้าท้าให้พิสูจน์ความจริงถึงเพียงนี้ ในที่สุด ท้าวเธอจึงทรงรับว่า “เอาเถอะ ถ้าเช่นนั้นเราจะลองถามมโหสถดู”

    ครั้นตรัสตกลงดังนี้แล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงรอคอยโอกาสที่จะถามมโหสถบัณฑิตให้รู้แน่ กระทั่งวันหนึ่ง โอกาสนั้นก็มาถึง
 
    ภายหลังจากที่ทรงบริหารพระราชกรณียกิจเสร็จสิ้นแล้ว ท้าวเธอจึงทรงมีพระดำรัสถามเหล่าราชบัณฑิตที่มาเฝ้าพระองค์ภายในท้องพระโรงว่า  “ท่านทั้งหลาย เรามีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า  เมื่อบุคคลกุมความลับที่สำคัญยิ่งไว้ภายในใจ จะเป็นข้อที่ควรติฉินหรือควรสรรเสริญก็ตาม เขาเหล่านั้นสมควรจะเปิดเผยความลับนี้แก่ใครจึงจะเป็นการดี ขอท่านทั้งหลายจงร่วมกันวินิจฉัยปัญหานี้เถิด”

    ทันใดนั้น อาจารย์เสนกะไม่รอช้า รีบชิงกราบทูลก่อนใครๆว่า “ขอเดชะมหาราชเจ้า ก่อนอื่นข้าพระบาททั้งหลายใคร่จะทูลถามความเห็นของพระองค์ก่อน พระพุทธเจ้าข้า หากได้ทราบความดำริของพระองค์แล้ว พวกข้าพระบาทก็จักได้กราบทูลให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยสืบไป พระพุทธเจ้าข้า” อาจารย์เสนกะกราบทูลดังนี้ ก็ด้วยประสงค์ที่จะโน้มน้าวพระเจ้าวิเทหราชให้มาเป็นฝ่ายตนเสียก่อน

    ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงตรัสออกความเห็นว่า “ภรรยาใดเป็นหญิงมีศีล ซื่อสัตย์ต่อสามี เป็นที่รักที่เจริญใจของสามี โอนอ่อนผ่อนตามความพอใจของสามี ภรรยาเช่นนั้นแหละ จึงเป็นผู้ที่สามีควรไว้วางใจ เปิดเผยความลับแด่นางได้โดยไม่ปิดบัง”  ข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพารว่า ภรรยาผู้มีคุณสมบัติพร้อมมูลตามที่พระเจ้าวิเทหราชตรัสถึงนั้น ทรงหมายถึงพระนางอุทุมพรเทวีนั่นเอง

    ฝ่ายอาจารย์เสนกะเมื่อเห็นว่าความเห็นของพระราชาเป็นฝ่ายเดียวกับพวกตนแล้ว ก็นึกกระหยิ่มใจว่า  “โชคเข้าข้างเราโดยแท้ คราวนี้ล่ะ มโหสถจะต้องถึงคราวย่อยยับแน่”

    จากนั้นจึงได้กราบทูลพระราชาว่า  “ขอเดชะ ในข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯว่า สหายใดเป็นที่พึ่งได้ในยามลำบาก ร่วมสุขร่วมทุกข์ ช่วยประคับประคองกันไปโดยมิได้หน่ายหนี สหายผู้มีอุปการะเช่นนี้ จึงจะเป็นผู้ควรไว้วางใจ บอกความลับให้แก่กันได้โดยไม่ปิดบัง พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าวิเทหราชได้สดับความเห็นของอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงกับตรัสชมว่า “อืมม...น่าฟังทีเดียวท่านอาจารย์ หากว่าเป็นเพื่อนตายกันจริงๆ อย่างไรซะ ก็คงเก็บความลับเอาไว้ได้”

    ครั้นแล้วจึงตรัสถามอาจารย์ปุกกุสะต่อไปว่า “ท่านอาจารย์ปุกกุสะล่ะ เห็นเช่นไร”

    อาจารย์ปุกกุสะรอคอยโอกาสนี้อยู่แล้ว จึงกราบทูลอย่างฉาดฉานว่า “พี่ชายหรือน้องชายคนใด มีจิตใจมั่นคง ดำรงอยู่ในศีล เป็นผู้ประพฤติธรรม การบอกความลับแก่พี่ชายหรือน้องชายเช่นนี้แล เป็นสิ่งสมควรยิ่ง พระพุทธเจ้าข้า”

    ท้าวเธอทรงเห็นคล้อยตามคำของอาจารย์ปุกกุสะเช่นกัน ครั้นแล้วจึงถามอาจารย์กามินทะเป็นคนต่อไป

    อาจารย์กามินทะก็ไม่รอช้า รีบกราบทูลในทันทีว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า บุตรคนใดเป็นอนุชาตบุตร สามารถดำรงวงศ์ตระกูลของบิดาไว้ได้ บิดาก็ควรบอกความลับทุกอย่างแก่บุตรนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

    ท้าวเธอได้สดับเช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยในคำตอบของอาจารย์ทั้ง 3 คนเป็นเบื้องต้น เพราะคำตอบของแต่ละคนนั้นล้วนมีเหตุผลที่น่าพอใจด้วยกันทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้น ท้าวเธอก็จะต้องตรัสถามอาจารย์เทวินทะ และมโหสถไปตามลำดับ ส่วนว่า อาจารย์เทวินทะและมโหสถจะตอบอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 96ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 96

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 97ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 97



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก