เผยโฉมแก๊งนำจับลิขสิทธิ์ปลอม


[ 1 ก.ย. 2549 ] - [ 18263 ] LINE it!

การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาที่พบมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเทปผี ซีดีเถื่อน หนัง เพลง หรือ แม้แต่เกม ซึ่งวางขายกันกลาดเกลื่อนเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยากจะควบคุม สร้างความหนักใจให้แก่ผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าประเภทนี้เป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งหลายบริษัทจำเป็นต้องตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อนำจับและดำเนินคดีกับผู้ละเมิดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่มักมีการละเมิดลิขสิทธิ์มากพอกับร้านขายแผ่นโปรแกรม ภาพยนตร์และเกม

1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ เมื่ออัตราการจับกุมเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทั่วประเทศ ได้มีเสียงเข้ามายัง IT Digest ถึงความไม่เป็นธรรมและไม่ชอบมาพากลในการนำจับของบางบริษัท ทั้งรูปแบบการจับกุม การต่อรองราคาเพื่อยอมความ การทิ้งคดี การจับเกมเก่าที่ไม่มีใครเล่น รวมถึงหลักฐานการรับมอบอำนาจช่วงที่น่าคลางแคลงใจ

“ ผมถูกจับวันที่ 2 มิ.ย. เขามากัน 11 คน มีตำรวจด้วยแต่ไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบ มีตัวแทน 2 คนเข้ามาเล่นอยู่ก่อนแล้ว ยื่นหมายค้นให้เราดู แต่ขณะที่เราจะดูว่าเป็นของจริงของปลอม เขาก็ยกของไปแล้ว เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจมาคุยเรื่องกฎหมายกับเรา พอจะพูดอะไร เขาก็บอกว่าถ้าพูดมากจะขนให้หมดร้านเลย เราจะใช้กฎหมายกับกฎหมู่ของเขาก็ไม่มีประโยชน์” ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตและเกมรายหนึ่ง ใน จ.สมุทรปราการ เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ผู้เคราะห์ร้ายรายนี้เล่าให้ฟังว่า บริษัทนำจับดังกล่าวอ้างว่าร้านของตนได้ละเมิดลิขสิทธิ์ เกม BeachHead 2000 อันเป็นสิทธิ์ที่บริษัท บางกอก ซีดี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บางกอก ซอฟต์แวร์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด อ้างว่าได้รับช่วงมาจาก บริษัท อาตาริยุโรป เอส.เอ.เอส. ซึ่งเป็นเกมเก่าและไม่ใช่เกมที่ฮิตเลย ทั้งยังไม่มีขาย ใครๆ ก็สามารถดาวโหลดจากอินเทอร์เน็ตมาเล่นได้ เมื่อไปที่สถานีตำรวจ ตัวแทนนำจับก็เรียกหนึ่งแสนบาทเพื่อยอมความโดยบอกว่าต่อรองได้ จากแสนลดให้เหลือสามหมื่น แต่ตนก็ได้ขอให้คนกลุ่มนี้เปิดเครื่องดูว่าตนผิดข้อหาอะไร ตอนแรกอีกฝ่ายไม่ยอม เพราะปกติที่อื่นจับแล้วจะไม่มีการเปิดเครื่อง แต่กรณีนี้ตำรวจให้เปิด ตัวแทนบริษัทก็งง นัดอีก 4 – 5 ครั้ง ไม่มา จนตำรวจจะต้องออกหมายเรียก

“ผมโชคดีที่เจอตำรวจดี ให้ความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าทางตำรวจไม่อนุญาตให้พิสูจน์กันต่อหน้า ผมก็คงแย่ เพราะปกติต้องไปเปิดเครื่องกันในชั้นศาล รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือท่านสั่งให้เปิด บริษัทที่นำจับเขาก็เป็นคนเปิดเครื่องเอง ต้องเข้าไปหาในไฟล์ที่อยู่ลึกมากไม่ได้มีอยู่บนหน้าจอ ขณะที่เปิดเขาก็ต้องโทรศัพท์ปรึกษาอีกคนหนึ่งไปด้วย และเมื่อเปิดมาแล้วยังเล่นไม่ได้อีก เขารู้ว่าเขาเสียเปรียบก็เลยเลิก เพราะคงไม่อยากขึ้นศาลเหมือนกัน เนื่องจากกลัวถูกตรวจสอบ เขามาคุยกับผมขอถอนแจ้งความ แต่ต่อรองว่าอย่าฟ้องกลับ ตำรวจถามผมว่าเขาขอถอนแล้วเราจะว่าอย่างไร ผมก็โอเค เพราะต้องการเครื่องคืนไปทำมาหากิน เรามีอาชีพค้าขาย ไม่ใช่ค้าความ”

“ผมได้บอกเขาไปว่า บนหน้าจอผม เกมดังๆ ผมซื้อลิขสิทธิ์มาหมด แล้วเอามาไว้ที่เดสก์ทอป แม้แต่เกมกิ๊กก๊อกก็ยังมี แล้วเกมเขา ถ้าดีขนาดนั้น ทำไมผมต้องเอามาซ่อนไว้จนลึกขนาดนี้ เขาทำธุรกิจเขาต้องมีคุณธรรม ไม่ใช่ส่งคนมาใส่เกมลงเครื่องผมแล้วก็ส่งคนมาจับ หลังจากนั้น พ้นจากกรณีผมแล้ว ผมนึกว่าเขาจะหยุด แต่เขาไม่หยุด รีบไปเก็บเกี่ยวตบทรัพย์จากร้านอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ต่ออีก มีหลายคนโทรเข้ามาบอกผมว่าโดนไป 8 เครื่อง 10 เครื่อง ยอมจ่ายไป 2 หมื่น 4 หมื่น นับจากคดีผมมาถึงตอนนี้ เท่าที่ทราบโดนไปเกือบ 50 ราย และน่าจะถึง 100 แล้วด้วย ลองคิดดูว่าเป็นมูลค่าเท่าไหร่” ชายผู้นี้กล่าว

ด้าน ผู้เสียหายจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ร้านอินเทอร์เน็ตและเกมบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ถูกบริษัทผู้อ้างว่ารับอำนาจช่วงจากบริษัทอาตาริ ยุโรปฯ มาดำเนินการจับกุมเช่นกัน และโดนจับพร้อมกันทั้งหาดใหญ่เป็นจำนวน 14 ราย ถูกกล่อมจนยอมความไป 6 ราย อีก 8 รายที่เหลือกำลังสู้คดี ล่าสุด เพื่อนผู้ประกอบการที่ขึ้นศาล 2 รายแรกเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

“พอเรื่องถึงศาลคนกลุ่มที่มาจับกุมก็ทิ้งคดีไปหมด ผมโทรไปอยากให้มาคุยกันเขาก็ไม่มา อ้างว่าไม่ว่าง คาดว่าเป็นเพราะพวกนี้ได้สิทธิ์จับไม่นาน ไม่กี่เดือน ดังนั้น ถ้ามีการสู้คดีในชั้นศาลพวกนี้จะไม่สนใจอีกเลย ไปรีดเงินรายอื่นดีกว่า” เจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตและเกมในหาดใหญ่ กล่าว

ผู้เสียหายข้างต้นเป็นเพียงไม่กี่รายที่ต่อสู้และมีกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ต่างจากหลายพื้นที่ที่การดำเนินการจับกุมการละเมิดของบริษัทเกมรายนี้กำลัง “ระบาด” อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมที่ไร้ความน่าเชื่อถือ การเข้ามาอย่างผู้บุกรุก สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการที่ประกอบอาชีพสุจริต ทำให้หลายคนตั้งฉายาให้กับบริษัทค้าความนี้ว่า “หมานำจับ”

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากถูกคนกลุ่มนี้สร้างความเดือดร้อนให้แล้ว ตนได้พยายามสืบหาข้อมูลเพราะคาดว่าจะต้องขึ้นศาลอย่างแน่นอน และจากหลักฐานที่ได้มา เช่น หนังสือมอบอำนาจจากบริษัท ในเครืออาตาริ ที่ให้แก่บริษัทนำจับดังกล่าวพบว่ามีข้อพิรุธหลายประการ ประกอบกับเมื่อเช็คทางเว็บไซต์ของอาตาริยุโรปแล้ว ไม่พบรายชื่อเกมที่บริษัทนำจับอ้างสิทธิ์ไปจับกุมผู้ประกอบการหลายรายทั่วประเทศ นอกจากนี้ ที่ตั้งของบริษัทนำจับตามที่แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะใช้เป็นสถานที่ประกอบการประเภทอื่นมากกว่าที่จะเป็นที่ตั้งของบริษัทตามที่กล่าวอ้าง แม้กระทั่งเว็บไซต์ก็ยังไม่มี รายชื่อเกมทั้ง 154 เกมก็ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงวัฒนธรรมเลยแม้แต่เกมเดียว จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าบริษัทนี้ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างชาติเข้ามาจริงหรือไม่ และซื้อมาทำอะไร เพราะไม่มีช่องทางขายให้แก่ลูกค้าเลย

ย้อนกลับมาฟังความคิดเห็นของฝ่ายถือลิขสิทธิ์อย่าง บริษัท นิวอีร่า อินเตอร์แอกทีฟ มีเดีย จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้าซอฟท์แวร์จากผู้ผลิตชั้นนำ อาทิ UbiSoft, THQ, Monte Cristo ที่ไม่เคยมีเสียงสะท้อนในทางร้ายเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินการนำจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์กันบ้าง นายรังษี ชาติประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายบังคับคดี ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้มีกลุ่มคนบางกลุ่มเปิดตัวเป็นบริษัทนำจับลิขสิทธิ์อย่างไม่ถูกต้องจริง โดยอาจจะมีการปลอมแปลงเอกสารซึ่งไม่ทราบว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐ
มาได้อย่างไร เพราะในความเป็นจริงแล้วการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์นั้นยากมาก ต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

อีกประการหนึ่ง จากการสอบถามของ IT Digest ธุรกิจประเภทนี้ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศปีต่อปี บางเกมราคาเป็นล้าน จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกเช่นกันว่า อาศัยเพียงการขายเกมชื่อไม่ค้นหูซึ่งต้องแลกมาด้วยมูลค่าลิขสิทธิ์ราคาแพง บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนน้อยๆ จะอยู่ได้อย่างไร

สำหรับประเด็นเรื่องการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้นั้น นอกเหนือจากความไม่โปร่งใสของบริษัทนำเข้าลิขสิทธิ์แล้ว ผู้จัดการฝ่ายบังคับคดี
บริษัท นิวอีร่า ยังบอกด้วยว่า อีกส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย นำใบอนุญาตที่หมดอายุแล้วไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือขายต่อให้บุคคลอื่น สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอย่างสุจริต ดังนั้น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ตบทรัพย์” ก็อยากจะขอให้บริษัทต่างๆ ดูแลเจ้าหน้าที่ของตนอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพและมีจริยธรรม หากเจ้าหน้าที่คนใดพ้นสภาพหรือหมดอำนาจลง บริษัทก็ควรประกาศให้รู้โดยทั่วกัน เพื่อมิให้เกิดการฉวยโอกาสนำใบอนุญาตในมือไปใช้ได้ ส่วนผู้ประกอบการที่ถูกนำจับก็ขอให้ใจเย็นๆ อย่าตื่นตระหนก ขอดูเอกสารจากผู้นำจับให้แน่ชัด และตรวจสอบมายังบริษัทต้นสังกัดก่อน

ฝ่าย นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทไซเบอร์ แพลนเน็ต อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด ผู้พัฒนาและจำหน่ายเกม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น และกระทบกับทุกฝ่าย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและพัฒนาเกมอยากให้ช่วยกันสนับสนุนของแท้ เพราะเชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเองก็ไม่อยากเสียเวลาขึ้นศาล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีค่ายเกมบางค่ายไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
มาเพื่อการค้า แต่เน้นที่การจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากได้เงินมากกว่า

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมไทยไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ การที่คนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยช่องว่างทางกฎหมาย หากินจากลิขสิทธิ์ที่ก็ไม่แน่นักว่าตนจะมีสิทธิ์จริง

วันนี้ผู้ประกอบการหลายรายได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก บางรายต้องเสียเงิน 2 หมื่น 4 หมื่น หรือ 1 แสน แลกกับการได้เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองกลับคืนมาเพื่อเอาไปใช้ทำมาหากินให้เร็วที่สุด ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลิขสิทธิ์ที่เขากล่าวหาว่าตนละเมิดนั้นมาอยู่ในเครื่องตั้งแต่เมื่อใดและอย่างไร บางคนคิดจะสู้คดี เพราะตระหนักถึงความไม่ถูกต้องที่ได้รับ จนถึงขั้นต้องสืบหาหลักฐานด้วยตัวเอง เพราะเมื่อสอบถามไปยังหน่วยราชการที่รับผิดชอบ บางครั้งก็ได้รับคำตอบให้ไปถามจากบริษัทคู่กรณีเอาง่ายๆ เสียด้วยซ้ำ

การละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะต่างก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติเพียงไหน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวคงจะไม่สำคัญไปกว่าคำถามที่ว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหน้าที่ของใคร

การตรวจสอบหลักฐานก่อนการอนุญาตเพื่อป้องกันมิจฉาชีพมาตักตวงผลประโยชน์
ในประเทศไทยเป็นหน้าที่ของใคร การติดตามเรื่องภาษีเพื่อมิให้เกิดการหลอกลวงต้มตุ๋นเป็นหน้าที่ของใคร และการให้ความเป็นธรรมแก่คนสุจริตเป็นหน้าที่ของใคร

คำถามเหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามที่รอคำตอบจากหน่วยราชการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้...

...............................................................................
ที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
แห่จับตา รื้อเจดีย์ วัดพันอ้นแห่จับตา รื้อเจดีย์ วัดพันอ้น

ประหลาดประหลาด

รักยิ่งใหญ่จากใจแม่ แบกลูกขึ้นหลังส่งเรียนถึงมหาวิทยาลัยรักยิ่งใหญ่จากใจแม่ แบกลูกขึ้นหลังส่งเรียนถึงมหาวิทยาลัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS