มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต


[ 20 พ.ค. 2552 ] - [ 18269 ] LINE it!

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง
 
 จุดหมายสูงสุดของชีวิต
 
 
ผู้มีปัญญา ย่อมเล็งเห็นกามคุณเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นโรค
ผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจในกามคุณอันเป็นทุกข์ เป็นภัยใหญ่หลวงได้
 
    จุดประสงค์ของชีวิต ก็เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์ยังสร้างบารมีเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติ ก็ทำแต่ความดี จนกระทั่งหมดอายุขัย และตลอดระยะเวลานั้น ท่านไม่เคยละเลยต่อการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ทรงกระทำอย่างนี้ทุกชาติ จนบารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบรมครูของเรา สั่งสอนสัตวโลกให้เข้าถึงธรรมตามพระพุทธองค์ไปด้วย ดังนั้น เราควรหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งกัน
 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยเป็นสรภังคโพธิสัตว์ ได้กล่าวธรรมภาษิตไว้ว่า "ผู้มีปัญญา ย่อมเล็งเห็นกามคุณเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นโรค ผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจในกามคุณอันเป็นทุกข์ เป็นภัยใหญ่หลวงได้"
 
    ปัจจุบันนี้ กระแสสังคมโลกกำลังเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน โลกใบนี้จึงดูเหมือนว่าจะเล็กลงไปถนัดตา ซึ่งคนส่วนมากจะพัฒนาแต่เฉพาะภายนอก โดยลืมนึกถึงการพัฒนาจิตใจ ทำให้เกิดการแข่งขัน ต่อสู้กันด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มาบำรุงบำเรอตามความปรารถนา ซึ่งไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เรียกว่า เบญจกามคุณ แสวงหาในเรื่องที่ทำให้ใจเหินห่างจากศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความสุขที่แท้จริง ยิ่งแสวงหาเท่าไร ก็จะยิ่งห่างไกลจากความสุขมากขึ้นเท่านั้น
 
    ผู้ที่มัวแต่แสวงหาความสุขจากภายนอก จะไม่มีวันรู้ซึ้งถึงความสุขที่แท้จริงเลยว่าเป็นอย่างไร เพราะผู้ปรารถนากามคุณ จะมีความพร่องอยู่เป็นนิตย์ แม้จะถมเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม เหมือนทะเลที่ไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ หากเมื่อใดที่มนุษย์เปลี่ยนวิธีการแสวงหาความสุขจากภายนอก มาแสวงหาความสุขภายใน ที่เกิดจากใจหยุดนิ่งกัน ความรู้สึกพอดีก็จะบังเกิดขึ้น อยากแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่ออกมาจากใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งความรู้สึกนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโลก ให้บังเกิดสันติสุขที่แท้จริง
 
    โดยเฉพาะ ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ทำให้รู้เห็นไปตามความเป็นจริง เล็งเห็นทุกข์ และโทษของเบญจกามคุณ ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน กับสิ่งไร้สาระเหล่านั้น ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด ใจจะยินดีในพระนิพพาน มุ่งแสวงหาธรรมรส ซึ่งเป็นความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย
 
    *เหมือนในสมัยอดีต พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นพระกุมารในกรุงราชคฤห์ ทรงพระนามว่า พรหมทัต พระองค์ทรงมีสหายสนิทอยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของมหาอำมาตย์ ชื่อ ทรีมุข ทั้งสองได้ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา เมื่อเรียนจบได้อำลาอาจารย์เพื่อไปหาประสบการณ์ตามสถานที่ต่างๆ จนเสด็จไปถึงเมืองพาราณสี
 
    พรหมทัตกุมารทรงพักผ่อนอยู่บนแผ่นมงคลศิลา ในพระราชอุทยานจนผล็อยหลับไป เผอิญวันนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีสวรรคตครบ ๗วันพอดี พระองค์ไม่มีรัชทายาทสืบทอดราชสมบัติ ปุโรหิตพร้อมกับเหล่าอำมาตย์จึงได้เสี่ยงบุษยราชรถ คือ ปล่อยราชรถที่เทียมด้วยม้าสีขาวออกจากพระนคร เพื่อแสวงหาผู้มีบุญมาปกครองแผ่นดิน
 
    ทรีมุขได้ยินเสียงดุริยางค์ที่ติดตามขบวนบุษยราชรถกำลังวิ่งมา ก็รู้ทันทีว่า "วันนี้พระสหายของเราจะได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองนี้ และเราจะต้องเป็นเสนาบดี แต่เราไม่ปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์เลย ชีวิตนักบวชเท่านั้น เป็นชีวิตที่สงบและประเสริฐที่สุด"
 
    แล้วทรีมุขก็รีบไปยืนหลบอยู่ในที่กำบัง รถม้าแล่นไปหยุดอยู่ที่ประตูพระราชอุทยาน ปุโรหิตเห็นพระโพธิสัตว์บรรทมหลับอยู่บนแผ่นศิลามงคล จึงไปตรวจดูลักษณะที่ฝ่าพระบาท ก็ทราบว่าท่านผู้นี้เป็นคนมีบุญ จึงให้ประโคมดุริยางค์ขึ้นพร้อมกัน
 
    เมื่อพระราชกุมารได้สดับเสียงดุริยางค์ตื่นจากบรรทมแล้ว ปุโรหิตจึงได้ทูลอัญเชิญให้พระองค์เป็นพระราชาองค์ต่อไป พระราชกุมารมัวเพลิดเพลินอยู่กับความเป็นใหญ่ที่ได้รับ จึงลืมนึกถึงทรีมุขผู้เป็นพระสหาย ได้เสด็จขึ้นราชรถ มีบริวารห้อมล้อมมากมายเข้าไปสู่พระนคร
 
    เมื่อทรีมุขเห็นว่าไม่มีใครอยู่บริเวณนั้นแล้ว ก็ออกมานั่งบนแผ่นศิลามงคลนั้น ท่านได้เห็นใบไม้เหลืองร่วงหล่นลงมาตรงหน้าพอดี จึงพิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไปของสังขาร เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในสรรพสิ่ง ใจก็หยุดนิ่งไปตามลำดับ ปล่อยวางความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณในขณะนั้นนั่นเอง จากนั้นท่านไปบำเพ็ญสมณธรรมที่ภูเขานันทมูลกะในป่าหิมพานต์
 
    ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อได้รับอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว ทรงรับสั่งหาทรีมุขกุมาร ทรงให้ราชบุรุษเที่ยวสืบข่าว เสาะแสวงหาตามเมืองต่างๆ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะพบเลย จนเวลาได้ล่วงเลยไปถึง ๕๐ปี พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าก็ระลึกถึงพระสหาย ตั้งใจว่าจะไปแสดงธรรมเพื่อให้พระราชาออกผนวช จึงเหาะมาทางอากาศลงที่พระราชอุทยาน และให้เด็กน้อยคนหนึ่งไปกราบทูลพระราชา
 
    เมื่อพระราชาเสด็จมาถึง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ทรงพระชราภาพแล้ว บัดนี้ได้เวลาอันสมควรที่พระองค์จะละกามคุณ เพื่อเสด็จออกผนวชแล้ว"
 
    พระราชาเมื่อได้สดับดังนั้น ยังทรงรับไม่ได้ จึงปฏิเสธว่า "ข้าพเจ้ายังกำหนัดยินดี มีความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ คงออกบวชไม่ได้ แต่จะขอทำบุญกุศลให้เต็มที่"
 
    ด้วยจิตที่จะอนุเคราะห์พระราชา พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงถวายพระพรว่า "ธรรมดานักโทษย่อมไม่ยินดีในเรือนจำ มีแต่ดิ้นรนแสวงหาหนทางออกจากเรือนจำนั้นอย่างเดียว ขอพระองค์จงเป็นเช่นนั้นเถิด จงเห็นภพทั้งหมดเหมือนเรือนจำเถิด โลกนี้ถูกความมืด คือ อวิชชา ห่อหุ้มไว้ ตราบใดที่สัตวโลกยังไม่ได้รับแสงสว่างจากพระสัทธรรม เปรียบเสมือนตกอยู่ในคุกมืด ขอพระองค์จงมุ่งสู่อภิสัมมาสัมโพธิญาณเถิด เพราะหากจะเอากองกระดูกของผู้ที่เกิดแล้วเกิดอีก มากองรวมกัน ภูเขาแม้สูงตระหง่านก็ดูเหมือนว่าจะเตี้ยเกินไป เมื่อเทียบกับกองกระดูกนั้น การเกิดบ่อยๆย่อมเป็นทุกข์ร่ำไป"
 
    เมื่อแสดงธรรมให้พระราชาได้คิดแล้ว ท่านก็กลับไปยังภูเขานันทมูลกะตามเดิม พระราชาเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาอันประเสริฐเช่นนั้นแล้ว ทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยว ทรงสละราชสมบัติทั้งหมดให้พระราชโอรส แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าป่าหิมพานต์ ผนวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ ท่านมุ่งปรารภความเพียร เจริญเมตตาจิตอยู่เป็นประจำ เมื่อละโลกไปแล้วก็ไปสู่พรหมโลก
 
    จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ มิใช่การได้ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีทรัพย์สมบัติมากมาย ผู้รู้ทั้งหลายจึงแสวงหาสิ่งที่เหนือกว่าความสุขจากเบญจกามคุณ เพราะท่านรู้ว่าสมบัติเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่เป็นของเราตลอดไป เป็นเพียงทางผ่านในการสร้างบารมีเท่านั้น ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุธรรมอันประเสริฐ ก็ไม่ควรประมาทในชีวิต ชีวิตของเราจะปลอดภัยเมื่อได้เข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริงเท่านั้น ให้มองดูชีวิตว่าเปรียบประดุจผลไม้สุกที่นับวันจะร่วงหล่นไปทุกขณะ มัจจุราชนับวันจะคืบคลานเข้ามาหา ถึงหมองูจะเยียวยาผู้ที่ถูกอสรพิษกัดให้หายได้ แต่จะถอนพิษให้ผู้ที่ถูกมัจจุราชประทุษร้ายแล้วไม่ได้เลย
 
    การนำใจกลับเข้ามาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ให้หยุดนิ่งจนเป็นปกติ จะทำให้เราได้เข้าถึงจุดที่ปลอดภัยที่สุดที่พญามัจจุราชเข้าไปไม่ถึง ยิ่งสามารถชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากเพียงใด ก็ยิ่งห่างไกลจากความทุกข์ ความสุขและความบริสุทธิ์ก็เพิ่มพูนทับทวีมากยิ่งขึ้น เมื่อไรที่สามารถทำใจให้หยุดนิ่ง เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป ได้ชื่อว่าหลุดพ้นแล้วจากหัตถาพญามัจจุราช
 
    เพราะฉะนั้น ให้ทุกๆท่านหมั่นฝึกทำใจให้หยุดนิ่ง ควบคู่กับภารกิจประจำวันที่เราทำอยู่ แล้วชีวิตนี้จะทรงคุณค่าและมีความหมาย เพราะได้เข้าถึงความสุขอันเกิดจากการประพฤติธรรมและเข้าถึงธรรมกัน
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. ทรีมุขชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๒๕


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - พากเพียรเพื่อพระนิพพานมงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - พากเพียรเพื่อพระนิพพาน

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - หยุดใจเป็น สำเร็จทุกอย่างมงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - หยุดใจเป็น สำเร็จทุกอย่าง

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - มุ่งสู่โลกุตรธรรมมงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง - มุ่งสู่โลกุตรธรรม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน