เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(4)


[ 17 มิ.ย. 2553 ] - [ 18273 ] LINE it!

เ น มิ ร า ช ช า ด ก
บํ า เ พ็ ญ อ ธิ ษ ฐ า น บ า ร มี ( ๔ )



 
     ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อนสอง อยู่คนเดียว ย่อมไม่รื่นรมย์ ย่อมไม่ได้ปีติเกิดแต่วิเวก ชนเหล่านั้นถึงจะมีโภคสมบัติเสมอด้วยพระอินทร์ ก็ชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะได้ความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น

     ความงามยามราตรีอยู่ที่รัศมีแห่งแสงจันทร์ ความงามของดวงตะวันอยู่ที่การทอแสงให้กับสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ทั้งหลาย ความงามของมนุษย์ทั้งหญิงและชายอยู่ที่การฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีใจผ่องแผ้ว ประกอบด้วยมหากรุณาเหมือนทะเล และท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล การหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เสมอ จะทำให้ใจของเราเกลี้ยงเกลาจากมลทิน คือ กิเลสที่มาห่อหุ้มดวงจิต เมื่อไม่มีมลทินของใจ ความสว่างไสวก็จะเข้ามาแทนที่ ความรักและความปรารถนาดี ที่เกิดจากใจหยุดนิ่งย่อมจะบังเกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นควรให้โอกาสอันสำคัญนี้กับตัวเอง ด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนาทุกๆ วัน

มีวาระพระบาลีใน เนมิราชชาดก ว่า

" เย อทุติยา น รมนฺติ เอกิกา
วิเวกชํ เย น ลภนฺติ ปีตึ
กิญฺจาปิ เต อินฺทสมานโภคา
เต เว ปราธีนสุขา วรากา

    ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อนสอง อยู่คนเดียว ย่อมไม่รื่นรมย์ ย่อมไม่ได้ปีติเกิดแต่วิเวก ชนเหล่านั้นถึงจะมีโภคสมบัติเสมอด้วยพระอินทร์ ก็ชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะได้ความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น "

    ความสุขในโลกนี้มีหลายอย่าง ตั้งแต่มีทรัพย์แล้วได้ใช้จ่ายทรัพย์ มีบ้าน มีรถ มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีครอบครัวที่อบอุ่น และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย กล่าวโดยย่อ เป็นสุขที่อิงอามิส ซึ่งเรียกว่า สามิสสุข คือต้องอาศัยอายตนภายในกระทบกับอายตนภายนอก เช่น ตาของเราได้เห็นรูปสวยๆ หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต จมูกได้กลิ่นหอมๆ ลิ้นได้รับรสที่อร่อยถูกใจ กายได้สัมผัสนุ่มๆ ใครได้อารมณ์เช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความสุขตามประสาชาวโลกที่เข้าใจกัน

    ในภาวะของโลกปัจจุบัน เป็นยุคที่ความเจริญทางด้านวัตถุมีมาก มนุษย์มักวัดความสุขกันที่วัตถุสิ่งของภายนอก ทำให้ไม่รู้ว่าความสุขที่ยิ่งกว่าสามิสสุข คือสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส ซึ่งเรียกว่านิรามิสสุขนั้นเป็นอย่างไร สุขชนิดนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาจิตใจของตนให้สูงขึ้น ด้วยการสั่งสมบุญ ตั้งแต่ดำรงตนเป็นผู้ให้เสมอ หมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และเจริญสมาธิภาวนา ความสุขเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เกิดจากคุณงามความดีของตนเอง

    สุขอิงอามิสนั้น ท่านผู้รู้ได้กล่าวอุปมาว่า เหมือนกับอาศัยบ้านเขาอยู่ ยืมจมูกเขาหายใจ แม้จะมีสมบัติพัสถานมากมาย มีทิพยวิมานใหญ่โต เทียบกับเวชยันตปราสาทของท้าวสักกเทวราช ก็ยังไม่ชื่อว่า ได้พบความสุขอย่างแท้จริง เพราะชื่อว่ายังอิงอามิสอยู่ ผู้รู้ทั้งหลายจึงแนะนำพรํ่าสอนให้แสวงหานิรามิสสุข ดังเช่นเรื่องของพระเจ้าเนมิราชที่หลวงพ่อได้เล่าไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่าท้าวสักกะทรงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าการให้ทาน

    * เมื่อท้าวสักกเทวราชทรงอ้างถึงผู้รู้ในสมัยก่อนว่า แสวงหาความสุขที่ไม่อิงอามิสด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เช่นมหาฤาษี ๗ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูง จนได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ฤาษีเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ละสมบัติทางโลกออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูง ได้เสวยความสุขที่ละเอียดจากฌานสมาบัติ จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้พระเจ้าเนมิราชฟังว่า  

    บริเวณป่าหิมพานต์ มีแม่น้ำชื่อสีทา อยู่ทางด้านทิศอุดร เป็นแม่น้ำลึกข้ามยาก มีความใสมาก กาญจนบรรพตมีสีประหนึ่งไฟที่ไหม้ไม้อ้อ ลุกโพลงรุ่งโรจน์โชติช่วงตลอดเวลา ที่ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์แห่งนั้นมีฤาษีประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตน อาศัยอยู่เพื่อบำเพ็ญเพียร แต่ละรูปมีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเคารพกราบไหว้มาก ทุกตนมีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น

    วันหนึ่ง ฤาษีตนหนึ่งเหาะเข้าไปกรุงพาราณสีเพื่อบิณฑบาต ท่านปุโรหิตเห็นกิริยาอาการที่สงบสำรวม บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ได้กล่าวเชื้อเชิญท่านฤาษีให้เข้าไปนั่งในบ้าน ถวายอาหารหวานคาวให้ท่านขบฉันจนอิ่มหนำสำราญ กระทำเช่นนี้อยู่ ๒-๓ วัน จนเกิดความคุ้นเคย จึงถามว่า "พระคุณเจ้าอาศัยอยู่ที่ไหน อยู่กันเท่าไร" เมื่อปุโรหิตรู้ว่ามีฤาษีผู้มีอานุภาพ บำเพ็ญสมณธรรม มากถึง ๑๐,๐๐๐ ตน รู้สึกอัศจรรย์ใจที่ท่านสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ยิ่งรู้ว่าฤาษีแต่ละตนต่างก็ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ใจของปุโรหิตก็ยิ่งน้อมไปในบรรพชา อยากออกบวชเป็นฤาษีเหมือนผู้มีอานุภาพนั้นจึงขอฤๅษีบวช

    ท่านปุโรหิตจึงไปทูลลาพระราชา พระราชาทรงสงสัยว่า เหตุใดท่านปุโรหิตจึงคิดอยากบวช เพราะหน้าที่ตำแหน่งในปัจจุบันถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสุดแล้ว ครั้นรู้ว่า ปุโรหิตปรารถนาจะออกบวช เพราะเห็นโทษในกามทั้งหลายและเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ เห็นว่าบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง ฆราวาสเป็นทางคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลีจึงอยากออกบวช

    พระราชาสดับเหตุผลเช่นนั้น ทรงอนุโมทนากับท่านปุโรหิตคู่ใจ และอนุญาตให้บวช ทั้งกำชับว่า เมื่อบรรลุธรรมขั้นสูงแล้วให้หาโอกาสแวะมาเยี่ยมบ้าง เมื่อปุโรหิตรับคำแล้วก็ถวายบังคมลาพระราชา กลับไปที่บ้านเพื่อพรํ่าสอนบุตรและภรรยา มอบสมบัติทุกอย่างให้ รุ่งเช้าท่านฤาษีใช้อานุภาพจับข้อมือปุโรหิตเหาะไปสู่ป่าหิมพานต์ ให้บวชเป็นฤาษีในวันนั้นทันที ท่านบวชได้เพียงไม่กี่วันก็ได้บรรลุอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ เหมือนมหาฤาษีรูปอื่นๆ

    ต่อมา ท่านฤาษีอดีตปุโรหิตรำลึกถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับพระราชา จึงเหาะเข้าไปในเมืองเพื่อโปรดพระราชา พระราชาเห็นท่านฤาษีกลับมาเยี่ยมก็ทรงปลื้มพระทัย ได้ถวายอาหารอันประณีต ครั้นทราบว่าท่านฤๅษีอาศัยอยู่กับมหาฤๅษีอีกนับหมื่นรูป ก็อยากจะทำบุญกับมหาฤาษีทั้งหมื่นรูปนั้น จึงขอให้ท่านฤาษีช่วยเป็นธุระในการอาราธนานิมนต์ ให้พระองค์ได้มีโอกาสสั่งสมบุญในเนื้อนาบุญเหล่านั้น

    ท่านฤาษีเห็นความตั้งใจดีของพระราชา จึงใช้อานุภาพของท่านพาพระราชาและเหล่าอำมาตย์ราชเสนา ไปรอทำบุญถวายทานกับมหาฤาษีทั้งหมื่นรูปที่ริมฝั่งแม่น้ำสีทา โดยให้ตั้งค่ายหลวงไว้รอ จากนั้นตัวท่านเข้าไปอาราธนาเหล่ามหาฤาษีทุกรูปให้มารับบาตรเพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับพระราชา  วันรุ่งขึ้น เหล่ามหาฤาษีทั้งหมื่นตน ต่างพร้อมใจกันเหาะมาที่ฝั่งแม่น้ำสีทาเพื่อรับบาตรจากพระราชาและข้าราชบริพารทั้งหมด เมื่อพระราชา ได้ถวายทานก็ยิ่งปีติดีใจ ที่ได้ทำบุญใหญ่กับเนื้อนาบุญผู้ทรงฤทธานุภาพ จึงปวารณาตนว่า จะขอถวายทานกับเหล่าพระคุณเจ้าไปจนตลอดชีวิต

    ท้าวสักกะเล่าเรื่องนี้และก็ทรงสรุปว่า "ดูก่อนมหาราช พระเจ้ากรุงพาราณสีในกาลนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เป็นหม่อมฉันเอง หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐด้วยทาน ได้ถวายทานอยู่นานถึง ๑๐,๐๐๐ ปี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถก้าวล่วงกามภพไปบังเกิดในพรหมโลก ส่วนฤาษีเหล่านั้นทั้งหมดบริโภคทานที่หม่อมฉันบริจาค ก้าวล่วงกามาวจรภูมิไปบังเกิดในพรหมโลก ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีความสุข และความบริสุทธิ์เหนือกว่าหม่อมฉันมากมายหลายเท่านัก เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์นี้แหละประเสริฐกว่าทาน"  ท้าวสักกเทวราชทรงประทานโอวาทให้พระเจ้าเนมิราชต่อไปว่า "ดูก่อนมหาราช แม้ว่าพรหมจริยา เป็นธรรมมีผลมากกว่าทาน แต่ถึงอย่างนั้น ธรรมทั้งสองนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้น พระองค์จงอย่าประมาทในธรรมทั้งสอง จงบริจาคทาน รักษาศีลประพฤติธรรม" ตรัสฉะนี้แล้ว ก็เสด็จไปสู่ทิพยสถานวิมาน

    จะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย แม้จะสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์อันเป็นเหตุให้ได้นิรามิสสุข แต่ท่านไม่ได้ให้ทิ้งการให้ทาน ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์อันสำคัญที่จะทำให้การประพฤติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์สะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ เราจะได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องมัวมาเสียเวลากับการแสวงหาทรัพย์ จะได้สามารถสร้างบารมีได้เต็มที่ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ให้พวกเราทำตามที่นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อนท่านได้สอนไว้กันทุกคน 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เนมิราชชาดก เล่ม ๖๓ หน้า ๒๔๗


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(5)เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(5)

เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(6)เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(6)

เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(7)เนมิราชชาดกบําเพ็ญอธิษฐานบารมี(7)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน