หมวก 6 ใบ คิด 6 แบบ


[ 18 ส.ค. 2553 ] - [ 18276 ] LINE it!


หมวก 6 ใบ  คิด 6 แบบ
 
 
        สมองเรา สามารถแยกแยะวิธีคิดเป็นแบบต่าง ๆ ได้ 6 แบบ  โดยแต่ละแบบสามารถวางแผนล่วงหน้าได้  หากมีการวางแผนล่วงหน้าก็จะส่งผลให้มีกลยุทธในการคิดได้ดีขึ้น และนำมาใช้ในการประเมิน คิดในการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ หรือคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดีขึ้น
 
 
วิธีคิด และ การประเมิน ของมนุษย์ แบ่งตามหมวก ได้เป็นดังนี้
 
        1. หมวกสีขาว   มนุษย์จะมองในด้านข้อเท็จจริงต่าง ๆ  เป็นข้อมูลที่กลาง ๆ  เป็นข้อแท้จริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั้น ๆ  เช่น ประชากรทั้งหมด 1,000 ล้านคน มีจำนวน 10 ล้านคน ที่ใช้สินค้าของเรา และมีส่วนแบ่งการตลาดเท่าไร เป็นอันดับที่เท่าไรของสินค้าประเภทเดียวกัน เป็นต้น
 
        2. หมวกสีแดง   มนุษย์จะใช้อารมณ์และความรู้สึกในการคิดประเมินสิ่งต่าง ๆ  เช่น ชอบหรือไม่ชอบ  ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ซึ่งไม่ต้องการเหตุผล
 
        3. หมวกสีดำ   จะเป็นเรื่องของการพิจารณาในส่วนของข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค  เช่น อุปสรรคข้อผิดพลาด ความไม่เข้ากัน  แต่ไม่ใช่แนวคิดที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อน เพียงแต่เป็นตรรกะที่จะบ่งบอกอุปสรรคแก่เราว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้อง สิ่งใดจะกวน สิ่งใดไม่ใช่ คือจะปกป้องเราจากการสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ  และที่สำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เราทำอะไรโง่ ๆ ลงไป เป็นการคิดเชิงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้เรารอบคอบมากขึ้น
 
        4. หมวกสีเหลือง   เป็นวิธีคิดแบบมองประโยชน์ มองด้านดี ว่าถ้าเราตัดสินใจแบบนี้แล้วจะได้อะไรบ้าง เป็นการแยกแยะประโยชน์  และแสวงหาจุดร่วม  ซึ่งจะต้องประสานความใคร่รู้ ความอยากที่จะให้เกิดความสุข ประกอบกับความกระหายที่อยากจะให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี
 
        5. หมวกสีเขียว   เป็นการคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นการแสวงหา เป็นการดูว่าโอกาสใหม่ ๆ 
เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความริเริ่มใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร หาวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ดีขึ้น น่าสนใจขึ้น แต่ต้นทุนน้อยลง เป็นต้น
 
        6. หมวกสีน้ำเงิน   เป็นวิธีคิดในสิ่งที่เราคิด ๆ กันมาแล้ว คล้ายเป็นกรรมการ ซึ่งจะเป็นการมองความคิดของแต่ละคน และจัดระบบระเบียบ แล้วตั้งเป้าหมายให้บรรลุผล ควมคุมให้อยู่ในระบบ เป็นการมองภาพรวมและสรุปรวบยอด เช่น ผู้นำการประชุม
 
 
ประโยชน์จากการใช้วิธีคิดแบบหมวก 6 ใบ ได้แก่
 
        1. ช่วยให้การประชุมราบรื่น
 
        2. ทำให้ได้รับความคิดใหม่ ๆ โอกาสใหม่ ๆ และมุมมองที่กว้างรอบด้าน
 
        3. ช่วยลดการขัดแย้ง  เกิดความคิดใหม่ได้เร็ว เป็นการดึงศักยภาพทุกคนมาใช้โดยไม่รู้ตัวทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม
 
        4. จำกัดโอกาส หรือช่องทางที่จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท โต้แย้ง โต้เถียงกันในเรื่องที่ไม่จำเป็น และลดเวลาที่ต้องสูญเสียไปโดยใช่เหตุ 
 
 
แนวคิดตามหลักธรรมในการบริหารจัดการความคิด  มี 2 ประเด็น คือ
 
        1. ต้องรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง  ว่าเรากำลังคิดอะไร
 
        2. ต้องหลีกเลี่ยง 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้ คือ               
 
                 2.1  กามวิตก คือ  มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น  ซึ่งต้องอยู่ในความพอดี  อย่าเอาผลประโยชน์ตนเองเป็นใหญ่จนไม่คิดถึงคนอื่น
 
                 2.2  พยาบาทวิตก คือ  คิดอาฆาต พยาบาท คิดทำลายให้เสียหาย  ต้องไม่คิดเป็นศัตรูกัน
 
                 2.3  วิหิงสาวิตก คือ  คิดเบียดเบียน กลั่นแกล้ง เยาะเย้ย ดูถูก หมิ่นศักดิ์ศรี ต้องไม่คิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น
 
 
ข้อคิด  สำหรับการบริหารจัดการความคิด

        "หยุดเป็นตัวสำเร็จ" คือ ถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบ แล้วเราจะพบทางออก ในทางปฏิบัติให้หาข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ ศึกษาให้ละเอียดที่สุด ต้องอิงข้อมูลในการตัดสินใจ หรือ นั่งสมาธิ ทำใจให้หยุดนิ่ง แล้วเราก็จะพบคำตอบ

 
 
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วุฒิธรรม  (คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม)วุฒิธรรม (คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม)

สัปปุริสธรรม 7สัปปุริสธรรม 7

ความแตกต่างของการศึกษาในอดีตและปัจจุบันความแตกต่างของการศึกษาในอดีตและปัจจุบัน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ