อาทิตตปริยายสูตร


[ 1 ก.ย. 2557 ] - [ 18324 ] LINE it!

อาทิตตปริยายสูตร

     สรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนตกอยู่ในสภาพนี้ทั้งนั้น คือ มีความไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกอนุวินาที มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศกว่าใครในภพสาม ก็ยังต้องทอดทิ้งพระวรกายของพระองค์ไว้ในโลก แล้วดับขันธปรินิพพานไป  

     ดังนั้นเราต้องหมั่นนึกคิดถึงความตายอย่างนี้อยู่เสมอ จะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต แล้วเร่งขวนขวาย สร้างความดีในทุกรูปแบบ สิ่งใดที่ไม่เป็นสาระ จะได้ปลดปล่อยวาง ให้ใจหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในคน สัตว์ สิ่งของ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา คือพระรัตนตรัยภายในตัวของเรานั่นเอง ให้พิจารณาปล่อยวางอย่างหนึ่ง เพื่อมุ่งเข้าหาอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาระแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน อาทิตตปริยายสูตร ว่า

     “สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน  กิญฺจิ ภิกฺขเว สพฺพํ อาทิตฺตํ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเล่าเป็นของร้อน  

     จกฺขุง ภิกฺขเว อาทิตฺตํ นัยน์ตาเป็นของร้อน  รูปา อาทิตฺตา รูปทั้งหลายเป็นของร้อน  จกฺขุสมฺผสฺโส อาทิตฺโต ความสัมผัสถูกต้องทางตาเป็นของร้อน  ยมฺปิทํ จกฺขุสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา ตมฺปิ อาทิตฺตํ ความรู้สึกอารมณ์มีขึ้น เกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้อันใด เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน เป็นต้น”

     อาทิตตปริยายสูตร เป็นอีกพระสูตรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนบุคคลผู้หลงเชื่อในลัทธิบูชาไฟ  

     เนื่องจากในสมัยก่อนโน้น มีลัทธิพราหมณ์ที่นิยมการบูชาไฟ พอตื่นเช้ามาก็ทำสุริยนมัสการ บูชานอบน้อมพระอาทิตย์บ้าง ไฟบ้าง ที่ทำไปนั้นก็เพราะเข้าใจกันว่า ไฟก็ดี ดวงอาทิตย์ก็ดี เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก และให้คุณประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าไม่นอบน้อมบูชาเทพเจ้าเหล่านี้ ท่านอาจจะนำความหายนะมาให้ แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ไฟที่ร้ายแรงกว่าไฟบรรลัยกัลป์ หรือไฟใดๆ ในโลก นั่นคือ ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ  

     เหมือนในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ให้เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ฟัง จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พร้อมกับพรหมอีก ๑๘ โกฏิ ก็ได้บรรลุธรรมตามไปด้วย หลังจากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร จนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่าน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ต่อมาได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาพร้อมทั้งอริยสัจ ๔ ให้กับยสกุลบุตรพร้อมกับเพื่อนๆ อีก ๕๔ คน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วออกบวชเป็นพระอริยสาวก ทำให้สมัยต้นพุทธกาลมีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นในโลก ๖๑  องค์

     หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ครองเมือง เป็นเมืองที่มีความเจริญมั่งคั่งรุ่งเรืองที่สุดในสมัยนั้น จึงทรงตั้งพระทัยว่า จะปักหลักพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธนี้ ดังนั้น ก่อนอื่นพระพุทธองค์จะต้องทรงแก้ไขความเห็นผิดของเจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียงมากในเมืองนี้ให้ได้เสียก่อน ทรงทำปาฏิหาริย์  ๓,๕๐๐ ครั้ง เพื่อปราบชฏิลเจ้าลัทธิบูชาไฟ คืออุรุเวลกัสสปะมีบริวาร ๕๐๐ นทีกัสสปะมีบริวาร ๓๐๐ และคยากัสสปะมีบริวาร ๒๐๐ ทำให้ทุกคนหันมานับถือพระพุทธศาสนา  

     หลังจากทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง เพื่อกำจัดทิฐิมานะของชฏิล ๑,๐๐๐ คนแล้ว ก็ได้ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง เพราะพวกชฏิลเคยบูชาไฟมาก่อน จึงมีความเข้าใจในเรื่องไฟดี ทรงมีพระประสงค์จะให้ทุกคนได้รู้ว่า ไฟคือความร้อนที่เกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากอะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า  

     * "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ คือราคะ คือโทสะ และโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก ความรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

     โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน มนะ คือใจเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะความคับแค้นใจ

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณที่อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสที่อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย"

     ชฏิลทั้งหลายเมื่อไตร่ตรองตามพระธรรมเทศนา ก็เห็นถูกต้องไปตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย เบื่อหน่ายแม้ในกาย ในโผฏฐัพพะและการเสวยอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่  จิตของภิกษุทั้ง ๑,๐๐๐ รูป ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

     เราจะเห็นว่า ผู้มีบุญบารมีแก่รอบแล้ว เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องมีอรรถาธิบายมากมาย ท่านก็สามารถที่จะตรองตามได้ทัน ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต เพราะท่านคุ้นกับการบูชาไฟมานาน เนื่องจากปฏิบัติกันมาหลายยุคหลายสมัย เพียงแต่ไม่รู้วิธีการที่ถูกต้องว่าจะขจัดไฟ คือกิเลสในตัวให้หลุดล่อนออกไปได้อย่างไร พอมียอดกัลยาณมิตร คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ท่านก็พร้อมที่จะสละวิธีการเก่าๆ เหล่านั้น แล้วก็มุ่งปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ พอปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ให้ดีที่สุด ก็สมปรารถนา ดับไฟกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง

     ไฟกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจของมวลมนุษยชาติมานับภพนับชาติไม่ถ้วน คือ ราคะ โทสะ และโมหะนี่เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดชาติคือความเกิด ชราคือความแก่ มรณะคือความตาย โสกะคือความแห้งใจ ปริเทวะคือความพิไรรำพัน ทุกขะคือความไม่สบายกายเป็นสิ่งที่ทนได้ยาก โทมนัสคือความเสียใจ อุปยาสคือความคับแคบใจ เพราะฉะนั้น ร่างกายที่เร่าร้อนเพราะไฟภายนอก ยังพอมีวิธีแก้ไขได้ แต่ถ้าใจของเรารุ่มร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ และโมหะนั้น มีวิธีการแก้อย่างเดียว คือ ต้องหยุดใจ เพื่อใช้ธรรมโอสถเข้าแก้ไข ต้องสาวเข้าไปหาสาเหตุว่า ที่ใจเรารุ่มร้อนนั้น เกิดมาจากกิเลสตัวไหน  

     เมื่อค้นเข้าไปลึกๆ จะพบว่า ราคะ โทสะ และโมหะเกิดมาจากจักขุบ้าง รูปบ้าง ความรู้เห็นทางตา สัมผัสทางกาย ต้องแก้ไขทาง ตา หู จมูก สิ้น กาย และใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่มากระทบถูกต้องอายตนะทั้ง ๖ นั้น เพียงทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในกลางกาย หยุดใจให้ได้เท่านั้นแหละสำเร็จหมด  

     เมื่อใจหยุดถูกส่วน ถูกต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์แล้ว ก็เบื่อหน่ายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ภายนอก เบื่อหน่ายในความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เบื่อหน่ายในการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เบื่อหน่ายทั้งหมด เพราะมีสุขที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกมากมายนัก โดยเฉพาะสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง จะหาสิ่งใดมาเทียบ หรือเสมอเหมือนไม่มี

     พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าใจหยุดใจนิ่งไม่มี” เมื่อหยุดใจไปตรงกลางกายฐานที่ ๗ ได้ ความร้อนทั้งหลายที่มีอยู่ก็ดับหมด เหลือแต่ความเย็นกายเย็นใจ เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นสุขทุกทิวาราตรี เป็นสีตภูโต คือ มีใจสงบเยือกเย็นแล้ว

     เพราะฉะนั้น อยากดับไฟ คือกิเลส ต้องเริ่มต้นที่ใจหยุดนี่แหละ ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ ฝึกกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๖ หน้า ๑๐๕

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
กุสโลบายในการเข้าถึงพระรัตนตรัยกุสโลบายในการเข้าถึงพระรัตนตรัย

สรรเสริญพระรัตนตรัยปลอดภัยทุกชาติสรรเสริญพระรัตนตรัยปลอดภัยทุกชาติ

ถึงพระรัตนตรัยอยู่ไกลก็เหมือนใกล้ถึงพระรัตนตรัยอยู่ไกลก็เหมือนใกล้



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน