ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์


[ 5 ก.ย. 2554 ] - [ 18265 ] LINE it!

ทบทวนฝันในฝัน วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554
ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
 
 
 
 
กระแสความตื่นตัวในการเดินธุดงค์ธรรมชัย
เส้นทางประวัติศาสตร์ เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
 
กราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง
 
        กระผม พระกล้าธรรม โชติสิปฺโป (แปลว่า ผู้มีศิลปะอันโชติช่วง, ผู้มีศิลปะแห่งการหยุดใจ) หัวหน้าศูนย์อบรมวัดแม่ปั๋ง (อยู่ใกล้ๆวัดดอยแม่ปั๋งของพระเดชพระคุณหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ขอกราบรายงานบรรยากาศของการเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งประวัติศาสตร์ครับ
 
พระกล้าธรรม โชติสิปฺโป, ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
 
พระกล้าธรรม โชติสิปฺโป
 
        นับตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เมตตาประกาศรับอาสาพุทธบุตรทหารกล้าแห่งกองทัพธรรม จำนวน 1,000 รูป เพื่อเข้าร่วมเดินธุดงค์ธรรมชัยในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ เมื่อวันอาทิตย์ต้นเดือนที่ 4 กันยายน พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้พระธรรมทายาท ณ ศูนย์อบรมที่กระผมดูแลอยู่ เกิดความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรมครับ หลายรูปตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมเพิ่มยิ่งขึ้น จากเดิมกระผมจะให้ทุกรูปเข้าจำวัดตั้งแต่เวลาสี่ทุ่ม แต่ก็มีหลายรูปได้ขออนุญาตบำเพ็ญสมณธรรมเพิ่มขึ้นไปถึงเวลาเที่ยงคืน เพื่อหวังที่จะเป็นหนึ่งในพันรูปที่ได้เดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ครับ
 
        นอกจากนี้ กระแสแห่งการปฏิบัติธรรม เพื่อน้อมบูชาธรรมถวายมหาปูชนียาจารย์ ไม่ได้มีเพียงแต่เหล่าพระธรรมทายาทเท่านั้นครับ แม้แต่พระอาจารย์, พระพี่เลี้ยงทุกรูปในศูนย์อบรมของกระผม พร้อมทั้งเพื่อนสหธรรมิกจากอีกหลายศูนย์อบรม ล้วนตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่อย่างอุกฤษฏ์ ปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งในพันรูปผู้มีบุญใหญ่ ในรุ่นบุกเบิกสถาปนาการเดินธุดงค์ธรรมชัยในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ด้วยครับ ซึ่งทุกรูปล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า “บุญนี้เป็นบุญใหญ่มากไม่อยากพลาดด้วยประการทั้งปวง” ดังนั้น กระผมจึงกราบขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้เมตตาอนุญาตให้พระอาจารย์, พระพี่เลี้ยง ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในชีวิตในครั้งนี้ด้วยครับ
 
กราบคารวะด้วยความเคารพอย่างสูง
 
พระกล้าธรรม โชติสิปฺโป
 
ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
 
แผนที่เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
 
ข้อมูลเบื้องต้นเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
 
        เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร มีสถานที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
 
1.สถานที่เกิดรูปกายเนื้อ แผ่นดินดอกบัว (Lotus Land) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
 
        ที่นี่ เป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานบ้านเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
 
        พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินกลางน้ำ รูปทรงใบบัว ริมคลองสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดสองพี่น้อง ในท้องที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้เรียนหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 9 ปี ที่วัดสองพี่น้อง ซึ่งน้าชายของท่านได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งนี้ ต่อมา พระน้าชายของท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหัวโพธิ์ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงติดตามไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระภิกษุ จากนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ย้ายจากวัดหัวโพธิ์ไปเรียนหนังสือที่สำนักของพระอาจารย์ทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดบางปลา
 
2. สถานที่เกิดในเพศสมณะ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
 
     วัดสองพี่น้องเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2212 (ในรัชสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช) ปัจจุบันเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในพื้นที่ ที่มาของชื่อ “สองพี่น้อง” เล่าสืบกันมาว่า มีช้างสองเชือก เข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน เดินมาจากพุม่วง หรือป่าต้น ในอำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นที่อาศัยของช้างของพระมหากษัตริย์ ในหน้าแล้งมักจะมาหากินแถวนี้ ทางดินที่ช้างเดินย่ำเป็นที่ลุ่ม จนกลายเป็นคลอง จึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง”  
 
3. สถานที่เกิดรูปกายธรรม (ธรรมกาย) หรือสถานที่บรรลุธรรม วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง
 
        วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ยังคงอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าของบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาของวัด และผู้สร้างวัด ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526) ความว่า...พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ อุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2310
 
4.สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกาย (หลังบรรลุธรรมครั้งแรก) วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
 
        วัดบางปลา เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ ไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากสภาพของวิหารซึ่งมีอายุเก่าแก่มาก และจากคำบอกเล่าที่บอกสืบต่อกันมา พอจะสรุปความได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณอายุของวัดจากวิหารเก่าแก่ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และจากเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอายุของวัด คือ นิราศของสุนทรภู่ ซึ่งได้กล่าวไว้ในตอนที่ล่องเรือผ่านมาทางปากคลองบางปลา) เนื่องจากพื้นที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี และคลองบางปลา (ปากคลอง) ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า "วัดบางปลา" จนติดปาก กลายเป็นชื่อของวัดมาจนถึงทุกวันนี้
 
5. สถานที่ทำวิชชาปราบมาร (จนกระทั่งละสังขาร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
 
        วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวราราม และกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เนื่องจากวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า “วัดปากน้ำ” ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 และ พ.ศ.2474 ว่า “วัดสมุทธาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกัน คงเรียกว่า “วัดปากน้ำ” มาโดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยนั้น
 
        วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง (ระหว่าง พ.ศ.2031-2172) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง (สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมา ตัวอย่างเช่น หอพระไตรปิฎก, ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้พระอุโบสถก็ใช้วิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น)
 
        เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้กวดขันพระภิกษุ-สามเณรให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน, ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งสำนักเรียน ทั้งนักธรรมและบาลี, สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้มีพระภิกษุ-สามเณรและสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี
 
6. สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก) วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
 
        ย้อนอดีตไปเมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พุทธศักราช 2460 พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ได้อุทิศชีวิตปฏิบัติธรรมจนค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับจากนั้นมา ท่านได้ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันเผยแผ่วิชชาธรรมกาย จนมีผู้สนใจมาศึกษาและฝากตัวเป็นศิษย์เป็นจำนวนมาก หนึ่งในบรรดาศิษย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ชั้นสูง คือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้เคยได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯว่า "ลูกจันทร์นี้...หนึ่งไม่มีสอง"
 
        หลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมรณภาพแล้ว คุณยายอาจารย์ได้เผยแผ่วิชชาธรรมกายสืบต่อมาตามคำสั่งของท่าน จนกระทั่งมีนิสิตผู้ซึ่งรักการปฏิบัติธรรมอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ มาฝากตัวเป็นศิษย์ของคุณยายอาจารย์ และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม ต่อมา นิสิตผู้นั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า "ธัมมชโย" นับแต่นั้นมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยได้อบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่สาธุชนที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในเขตวัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมกับท่านอย่างเนืองแน่น
 
        ในปี พ.ศ.2513 พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย, คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหมู่คณะ ได้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายขึ้นที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อรองรับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก โดยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ "สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี"
 
        พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อุทิศชีวิตเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก เพื่อสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในการสร้างสันติภาพให้บังเกิดขึ้นแก่โลก
  
รับชมวีดีโอ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ตอนที่ 1
 

รับชมคลิปวิดีโอพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ตอนที่ 1
ชมวิดีโอพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ตอนที่ 1   Download ธรรมะพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ตอนที่ 1
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
จะเป็นอย่างไร เมื่อตายแล้ว ตอนที่ 19จะเป็นอย่างไร เมื่อตายแล้ว ตอนที่ 19

บวช เส้นทางสวรรค์ของพ่อและแม่บวช เส้นทางสวรรค์ของพ่อและแม่

จะเป็นอย่างไร เมื่อตายแล้ว ตอนที่ 20จะเป็นอย่างไร เมื่อตายแล้ว ตอนที่ 20



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน