ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 2


[ 2 ก.พ. 2550 ] - [ 18275 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  สุวรรณสาม   ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี  ตอนที่ 2
 

        ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงพระภิกษุในสมัยพุทธกาลรูปหนึ่ง ผู้เป็นต้นเหตุทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องสุวรรณสาม ซึ่งท่านเป็นพระภิกษุที่ออกบวชจากตระกูลเศรษฐีที่มีบุตรชายเพียงคนเดียว

        การบวชของท่านนั้นแสนยากลำบาก เพราะบิดามารดาหวังเอาไว้ว่าจะให้อยู่ดำรงวงศ์ตระกูล และเป็นที่พึ่งอาศัยเมื่อยามแก่เฒ่า ท่านต้องยอมอดข้าวอยู่ถึง 7  วัน จึงได้รับอนุญาตให้บวช

        พระภิกษุผู้เป็นลูกเศรษฐีครั้นได้บวชแล้ว ก็เกิดลาภสักการะมากมาย แต่ท่านก็มิได้ติดใจในลาภสักการะนั้นแต่อย่างใด ได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและเคารพในธรรมวินัยเสมอมา

        เมื่อบวชได้ 5 พรรษา อยู่ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์จนได้หลักยึดเหนี่ยวแล้ว จึงหลีกออกจากหมู่คณะ เพื่อปลีกวิเวก ท่านได้พักอาศัยอยู่ ณ ราวป่าแห่งหนึ่งไม่ห่างจากหมู่บ้านนัก แล้วมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณะธรรม แต่จนแม้วันคืนจะผ่านไปถึง 12 ปี ท่านก็ยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษใดๆ เลย

        กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่งเดินทางมาจากวัดพระเชตวัน ได้บอกให้ทราบถึงความเป็นอยู่ของบิดามารดาของท่านว่า “ท่านทั้งสอง บัดนี้ยากจนอนาถา ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีใครคอยดูแล  ตอนนี้กลายเป็นคนกำพร้าน่าสงสาร ต้องเที่ยวขอทานเขากินไปวันๆ”

        เมื่อภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีได้ยินเรื่องราวของโยมบิดามารดาเช่นนั้นแล้ว ก็ตกใจแทบสิ้นสติ น้ำตาแห่งความสงสารก็เริ่มคลอเบ้า 

        พระเถระแรกทีเดียวก็ไม่ทราบว่าท่านทั้งสองนั้นเป็นบิดามารดาของภิกษุหนุ่ม แต่เมื่อเล่าเรื่องราวนั้นจบลงแล้ว เห็นอาการของภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีเช่นนั้นจึงถามขึ้นว่า “อาวุโส ท่านเป็นอะไร ทำไมจึงร้องไห้ล่ะ” 

        ภิกษุหนุ่มนั้นจึงตอบว่า “ท่านครับ ท่านเศรษฐีและภรรยานั้น เป็นโยมพ่อกับโยมแม่ของกระผมเอง กระผมนี่แหละคือบุตรผู้ละทิ้งท่านทั้งสองออกบวช” 

        พระเถระได้ยินอย่างนั้นแล้วก็ได้แต่นึกสงสาร คิดจะหาทางช่วยเหลือจึงได้กล่าวแนะว่า  “อาวุโส บัดนี้ โยมพ่อโยมแม่ของเธอเข้าถึงความพินาศ สิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว ไม่ต่างอะไรกับจัณฑาลที่เที่ยวขอทานเขาเลย ..เธอควรกลับไปเลี้ยงดูปรนนิบัติโยมทั้งสองของเธอ จะได้ไม่ชื่อว่าเป็นลูกอกตัญญู”

        ภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีนั้นเกิดความเศร้าโศกเสียใจยิ่งนัก นึกตำหนิตนเองว่า “เพราะเราแท้ๆท่านพ่อท่านแม่จึงได้ตกต่ำเช่นนี้”

        ท่านทั้งนึกสงสารโยมพ่อโยมแม่ และทั้งสงสารตัวเองว่า “เราเองแม้จะเพียรพยายามบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ถึง 12 ปี ก็ไม่อาจทำมรรคผลให้เกิดขึ้นได้ เราคงเป็นคนอาภัพแน่แท้...จะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราบวชอยู่ต่อไป หากเราลาสิกขาออกไปครองเรือน แล้วเลี้ยงบิดามารดา ทำบุญให้ทานตามอัตภาพ ก็คงมีสวรรค์เป็นที่ไปในภพเบื้องหน้าได้”

        เมื่อคิดใคร่ครวญดีแล้ว ท่านจึงตัดสินใจมอบที่อาศัยนั้นให้กับพระเถระผู้เป็นอาคันตุกะ ครั้นรุ่งขึ้นจึงกราบลาพระเถระ แล้วออกเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถีในทันที

        เมื่อมาถึงพระอารามแล้ว ท่านได้รำลึกถึงพระบรมศาสดา   ด้วยความเคารพรักในพระพุทธองค์ จึงคิดว่า ในวันพรุ่งขึ้น ก่อนที่ตนจะลาสิกขา ตนจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อฟังธรรมในภาวะแห่งบรรพชิตเป็นครั้งสุดท้าย

        ในยามใกล้รุ่งของวันนั้นเอง ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแผ่ข่ายพระสัพพัญญุตญาณไปทั่วหมื่นโลกธาตุเพื่อตรวจดูเวไนยสัตว์ทั้งหลายนั้น   ได้ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุมรรคผลของภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีเข้ามาในข่ายพระญาณ ก็ทรงทราบเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของภิกษุนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงตั้งพระทัยว่าในตอนสายจะทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐี 
 
 

        ในเวลาสาย เมื่อภิกษุนั้นมาถึงสถานที่ฟังธรรม  พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา โดยยกเอามาตุโปสกสูตร ว่าด้วยเรื่องราวที่ทรงสรรเสริญพราหมณ์นักบวชผู้หนึ่ง ซึ่งท่านได้อาหารบิณฑบาตมาแล้วก็นำมาเลี้ยงดูบิดามารดา

        โดยได้ยกขึ้นมาแสดงว่า “บุคคลใดแสวงหาภัตตาหารมาได้โดยชอบธรรม แล้วเลี้ยงดูบิดามารดา เขาผู้นั้นย่อมได้บุญมาก เมื่อละจากโลกแล้วย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

        ภิกษุเศรษฐีบุตรซึ่งขณะนั้นยืนอยู่ท้ายบริษัท ได้สดับธรรมกถานั้นแล้ว ก็เกิดความโล่งใจ ปานยกภูเขาออกจากอก ความหดหู่เซื่องซึมเพราะเหตุที่ตนจะต้องลาจากสมณะเพศ บัดนี้หายไปเป็นปลิดทิ้ง
 
        ท่านเกิดความร่าเริงยินดีว่า “เราเข้าใจผิดมานานว่า คนที่จะสามารถปฏิบัติบำรุงบิดามารดาได้ ต้องเป็นคฤหัสถ์เท่านั้น แต่พระศาสดาได้ตรัสแล้วว่า แม้จะเป็นบรรพชิตก็สามารถทำอุปการะแก่บิดามารดาได้ ...ช่างดีจริง หากเราไม่ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วไซร้ ป่านนี้เราก็คงต้องเสื่อมจากชีวิตสมณะ คงต้องลาสิกขาไปแล้วเป็นแน่ เอาล่ะ แม้ว่าเราจะเป็นพระอยู่ก็ตาม เราก็จะเลี้ยงดูท่านทั้งสองให้ดีที่สุด เท่าที่ลูกคนหนึ่งจะพึงทำเพื่อพ่อแม่ได้”
 

        ดำริในใจหนักเช่นนั้นแล้ว ภิกษุหนุ่มจึงถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วรีบออกจากพระเชตวันไปยังโรงทานที่เขาถวายอาหารตามสลากที่จับได้ รับเอาภัตตาหารและข้าวยาคูที่ได้ด้วยการจับสลากแล้ว   ก็รีบรุดไปหาโยมบิดามารดาของท่านในทันที

        ฝ่ายโยมพ่อโยมแม่ของพระคุณเจ้า บัดนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับขอทาน เสื้อผ้าดูสกปรก ผมเผ้ารกรุงรังเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน หน้าตาที่เคยผ่องใสมีผิวพรรณงดงาม บัดนี้กลับเสื่อมโทรมเศร้าหมอง ในมือถือเศษกระเบื้องเที่ยวขอข้าวยาคูกินพอประทังชีวิตไปวันๆ..ส่วนที่พักอาศัยนั้น ก็คือชายคาริมฝาเรือนของคนอื่น ซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก  พอให้หลบแดดหลบฝนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

        ฝ่ายพระภิกษุรูปนั้น ดีใจที่จะได้พบกับโยมพ่อโยมแม่ซึ่งจากกันไปนาน แต่เมื่อได้มาเห็นสภาพของโยมทั้งสองเช่นนี้แล้ว ความโศกสลดก็ท่วมทับใจในทันที ไม่อาจทำสิ่งใดได้ จึงได้แต่ยืนนิ่งมองดูสภาพผู้ให้กำเนิดทั้งสอง ยิ่งมองดูน้ำตาแห่งความสงสารก็เริ่มไหลอาบแก้ม

        ฝ่ายสองสามีภรรยาเศรษฐีผู้ตกยาก แม้จะเห็นพระลูกชายมายืนอยู่ใกล้ๆ แต่ทั้งสองก็จำไม่ได้ว่านั่นคือพระลูกชายของตน นึกว่าภิกษุรูปนี้ คงมายืนเพื่อรออาหารบิณฑบาตจากตนเท่านั้น   

        โยมมารดาจึงกล่าวขึ้นว่า “ท่านเอย ของเคี้ยวของฉันที่ควรจะถวายนั้นไม่มีหรอก นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด”  

        ยิ่งได้ฟังถ้อยคำของมารดาเช่นนี้แล้ว ภิกษุนั้นก็ยิ่งเกิดความโศกเศร้าเป็นกำลัง น้ำตาแห่งความเศร้าใจก็ยิ่งเอ่อนองอาบใบหน้า แม้โยมมารดาจะกล่าวอยู่เช่นนั้นถึง 3 ครั้ง ท่านก็ยังคงยืนนิ่งอยู่เช่นเดิม ส่วนเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 3ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 3

ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 4ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 4

ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 5ทศชาติชาดก เรื่องสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ตอนที่ 5



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก