การทำบุญให้คนตาย ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ละโลกไปแล้ว


[ 1 พ.ย. 2554 ] - [ 18291 ] LINE it!

ตายแล้วไปไหน

ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร

การทำบุญให้คนตาย ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ละโลกไปแล้ว
 
การทำบุญให้คนตาย
 
การทำบุญให้คนตายตามหลักผู้รู้ที่สมบูรณ์
 
      หลังจากที่ญาติมิตรล่วงลับไปแล้ว มีสิ่งที่คนเป็นอยู่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ตาย คือการปฏิบัติตามธรรมเนียมของท่านผู้รู้ที่สมบูรณ์ (สัพพัญญูพุทธเจ้า) คือ
 
๑.)   ไม่พึงสวดอ้อนวอนให้ไปดี หรือสาปแช่งให้ผู้ตายไปไม่ดี [1]     
           
      ในบางลัทธิศาสนา มีการสวดอ้อนวอนให้ผู้ตายเพื่อหวังให้ผู้ตายไปแล้ว ได้ไปอยู่ร่วมกับเทพเจ้าของตน หรือไม่ก็สวดสาปแช่งศัตรูให้ไปสู่อบาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นนอกจากจะไม่มีประโยชน์ ยังทำให้จิตใจผู้ทำเศร้าหมองด้วยโมหะอีกด้วย เพราะผู้ทำกรรมใดไว้ในโลกนี้ ก็ย่อมต้องเสวยผลแห่งกรรมที่ตนทำเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า การทำเพียงสวดอ้อนวอนจึงไม่มีประโยชน์อะไร (ดูในภูมกสูตร)
  
๒.)  พึงทำบุญอุทิศให้
 
     การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของคนที่ยังเป็นอยู่ทีเดียว[2] เป็นสิ่งที่คนทุกชาติทุกศาสนาควรศึกษาไว้ให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในภูมิอื่น (เว้นมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน) ย่อมไม่มีการทำมาหากินเลย ผู้ล่วงลับไปจะมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับกรรมดีกรรมชั่วที่ตนเองกระทำตอนเป็นมนุษย์ และเพราะอาศัยการทำบุญอุทิศให้ของผู้ที่ยังเป็นอยู่ในโลกมนุษย์นี้เท่านั้น[3]  และการทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับก็ต้องทำกับผู้รับที่มีศีลมีธรรมเท่านั้น เช่น พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัย บุญนั้นจึงจะถึงแก่ผู้ตายไปอย่างแน่นอน ตามภูมิตามกำเนิดที่สามารถรับผลบุญที่อุทิศให้[4] แต่ถ้าทำกับผู้รับที่ไม่มีศีลธรรม บุญก็จะไม่ถึงแก่ผู้ตาย[5]     
    
          ส่วนกิจอื่น เช่น การร้องไห้คร่ำครวญ การแสดงอาการเศร้าโศก การสวดอ้อนวอนฝากกับเทพเจ้า การเล่นมหรสพ เป็นต้น ซึ่งบางท้องถิ่นยังนิยมทำกันจนเป็นประเพณี เป็นต้นว่ามีการจ้างนักร้องมาร้องเพลงเศร้า เช่น มอญครวญ มอญร้องไห้
 
อาชีพร้องไห้หน้าศพ
 
การร้องไห้หน้าศพ ถือเป็นการไม่สมควรเลย
 
     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สมควรทำเลย เพราะไม่มีประโยชน์อะไรทั้งแก่ผู้เป็นอยู่และผู้ตาย  มีแต่จะสิ้นเปลืองไป และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี  นอกจากไม่ได้บุญกุศลอะไรแล้ว ซ้ำร้ายยังทำจิตใจให้เศร้าหมองด้วยบาปอกุศลทั้งฝ่ายคนเป็นอยู่และผู้ที่ตายไปอีกด้วย[6]  เพราะทำไปด้วยความเห็นผิดเข้าใจผิด                
                                                                    
     ๒.๑. วิธีอุทิศบุญให้ถึงแก่ผู้ตาย
 
     นอกจากนี้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถายังแสดงว่า ทักษิณา คือผลบุญที่ญาติสาโลหิตอุทิศให้ย่อมสำเร็จผลให้เป็นสมบัติมีอาหาร ที่พัก เครื่องนุ่งห่มเป็นต้นแก่ผู้ล่วงลับในขณะนั้นได้ ก็ด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ[7] คือ
 
๑. ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล เช่น พระภิกษุ สามเณรผู้มีศีลบริสุทธิ์   
๒. ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย  
๓. ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย                                               
 
     ในองค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น องค์ที่ ๑ และ ๒ ขาดไม่ได้ ส่วนองค์ที่ ๓ ขาดได้ เพราะแม้เปรตจะไม่อนุโมทนาบุญด้วยตนเอง บุญที่ญาติอุทิศให้ก็ยังคงไปถึงได้บ้าง[8] 
 
     หากมีผู้สงสัยว่า เปรตจำพวกไหนบ้างที่ได้สามารถได้รับผลบุญที่หมู่ญาติอุทิศให้ พระอรรถกถาจารย์ตอบว่า
 
      “ฐานะใด ตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้น ย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแล เป็นฐานะดังนี้ ทักษิณาที่สำเร็จผลในฐานะนั้น อันแตกต่างกันโดยประเภทแห่งเปรตมี ขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวีเปรต และนิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น ก็ตรัสว่า ย่อมสำเร็จผลโดยฐานะ”[9]  สรุปคือ เปรตทุกจำพวกสามารถได้รับผลบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ได้

ข้อที่ควรคำนึงของผู้จะตาย !

     จากข้อความข้างต้นนี้ มีสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่ว่า  ถ้าผู้ตายสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาเลย หรือศึกษาแต่ผิวเผินเพราะความไม่ใส่ใจ ไม่ทุ่มเทในการประกอบบุญกุศลในโลกนี้  เมื่อละโลกไปแล้ว  แม้มีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ตนอนุโมทนาบุญไม่เป็นก็ย่อมไม่ได้รับส่วนบุญเท่าที่ควร นี้เป็นข้อผิดพลาดของตนคือผู้ตายข้อที่ ๑ 
 
ญาติทำบุญให้ก็อดเหมือนเดิม
 
ญาติไม่ทำบุญให้ก็อดเหมือนเดิม
 
     หรือลูกหลานทะเลาะกันเรื่องแบ่งสมบัติ  ซึ่งเราได้เห็นได้ยินกันอยู่ทั่วไป พ่อแม่จวนตาย ลูกหลานแย่งสมบัติกัน บางทีฆ่ากันตายก่อนพ่อแม่ก็มี ตนเองก็ต้องมาทุกข์ใจก่อนตาย  เพราะสมบัติของตนเป็นเหตุ เมื่อตายไป  จึงไม่มีใครอุทิศส่วนกุศลให้เลย เพราะตนเองมิได้คบหากับบัณฑิตทางธรรมและไมเคยทำแบบอย่างเช่นนี้ไว้ให้ลูกหลานดูเลย นี้เป็นข้อผิดพลาดของตนข้อที่ ๒                                  
                                                                                                                      
     และข้อสุดท้าย แม้บุตรธิดาทำบุญอุทิศให้  แต่ทำไม่ถูกเนื้อนาบุญ[10] เช่น ทำบุญกับผู้ทุศีล มีความเห็นผิด ไม่เชื่อกรรม ผลของกรรม นรกสวรรค์เป็นต้น  ทั้งนี้ก็เพราะสมัยที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ไม่เคยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาเลย  ไม่เข้าหาพระภิกษุสามเณรผู้รู้ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งสามารถชี้แจงโลกนี้โลกหน้าได้กระจ่างชัด   แต่กลับไปคบหานักบวชอื่นหรือพระภิกษุและพุทธศาสนิกชนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า  จึงไม่ฉลาดในวิธีอุทิศส่วนกุศล  บุตรธิดาจึงได้แบบอย่างที่ไม่ถูกต้องตามตนเอง เมื่อถึงคราวต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย  จึงทำไม่ถูกวิธีเช่นกัน  นี้ก็เป็นผู้ผิดพลาดข้อที่ ๓ ของผู้ตาย
        
 
     ๒.๒. วันและสถานที่ที่ควรทำบุญให้เป็นพิเศษ
  
     วันหรือโอกาสที่ควรทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นพิเศษที่คนสมัยโบราณผู้มีปัญญานิยมทำกัน ตามภูมิรู้ภูมิธรรมที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาจากอดีต ด้วยความพากเพียรทางจิต อันประกอบไปด้วยเหตุผลที่ตนเห็นมาเอง มิใช่เป็นเพียงแค่ความเชื่อ แต่ปัจจุบันเหตุผลดังกล่าวได้หายสาบสูญไป   จึงเหลือเพียงความเชื่อตามปัญญาของคนสมัยโบราณ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นประเพณีนิยมที่ดีงาม ที่น่าทำสืบ ๆ กันไป เพื่อเป็นแบบแผน          
 
การอุทิศส่วนบุญส่วนกุสล
 
การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้คนตาย
 
     ให้กับอนุชนรุ่นหลัง วันสำคัญดังกล่าวได้แก่ วันพระ วันครบรอบวันตาย ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน การทำบุญในสถานที่เกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งมีเหตุผลดังต่อไปนี้  
 
          ๒.๒.๑. วันพระ  เฉพาะวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่ยมโลกนรกหยุดทัณฑ์ทรมานให้สัตว์นรก ๑ วันโลกมนุษย์  สัตว์นรกมีทุกขเวทนาเบาบางลง จึงมีโอกาสระลึกถึงบุญกุศลที่ตนทำและอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ได้เต็มที่  ส่วนญาติที่เกิดเป็นเทวดาก็จะนิยมมาฟังธรรมในวันพระและตรวจดูการทำบุญกุศลและอนุโมทนาบุญกับผู้ที่ทำความดีในโลกนี้[11] 
 
           ดังนั้นญาติหรือมิตรสหายที่อยู่ในโลกนี้ จึงควรสละเวลามาทำบุญในวันพระให้กับผู้มีอุปการคุณของตนเอง เพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงามให้กับอนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะบุตรธิดาของตน เพราะเมื่อถึงคราวตนเองละโลกนี้ไปแล้วบุตรธิดาก็จะได้ทำบุญอุทิศให้บ้าง หากเราไม่ทำเป็นแบบอย่างไว้ เมื่อเราล่วงลับไปแล้วก็จะไม่มีบุญให้ได้รับความสุขให้ภพหน้าและไม่มีใครอุทิศส่วนบุญให้ด้วย
 
          ๒.๒.๒. วันครบรอบวันตาย ๗ วัน  ในกรณีที่ผู้ตายไปแล้วเป็นผู้ที่ทำกรรมดีและชั่วไม่มากพอ บุญบาปที่ตนทำในโลกนี้ยังไม่ส่งผลในทันที  ผู้ตายจะวนเวียนอยู่ ๗ วันเพื่อให้มีโอกาสระลึกถึงบุญกุศลได้ และเจ้าหน้าที่ยมโลก (กุมภัณฑ์) กำลังผลัดเปลี่ยนเวรกัน ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ซึ่งจะพาตัวไปยมโลกนรก หากผู้ตายระลึกถึงบุญกุศลที่ตนเคยทำได้ หรือ หากญาติมิตรทำบุญอุทิศให้อย่างถูกวิธี และอนุโมทนาบุญ ผลบุญนั้นก็จะพาไปเกิดในที่   ดี ๆ โดยไม่ต้องไปยมโลกนรก อุสสทนรก หรือ มหานรก อนึ่ง ผู้ตายที่ทำบาปกรรมไว้ เมื่อครบ ๗ วันผู้ตายต้องกลับมา ณ สถานที่ตาย หากเห็นญาติมิตรทำบุญให้ก็จะอนุโมทนาบุญ และจะไปสู่สุคติได้
 
การนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม
                                                         
การนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมในงานศพ
 
            ๒.๒.๓. วันครบรอบวันตาย ๕๐ วัน ในกรณีที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ยมโลกพาไปยมโลกแล้ว ช่วงระหว่างเวลา ๕๐ วันหลังตาย คือช่วงเวลาที่ผู้ตายกำลังรอคอยลำดับคิวการพิพากษาตั้งแต่ถูกลากตัวไปจากมนุษย์โลก ผ่านประตูยมโลก อยู่หน้าลานรอขานชื่อเพื่อเข้าพบพระยายมราช
                               
     *พระยายมราช คือ เทพชั้นจาตุมหาราชิกาประเภทหนึ่งที่มีกรรมเกี่ยวพันด้านกฎหมาย ชอบตัดสินคดีความด้วยความซื่อสัตย์ตอนสมัยเป็นมนุษย์และทำบุญ หรือเมื่อทำบุญก็ตั้งความปรารถนาไว้
         
 
          ๒.๒.๔. วันครบรอบวันตาย ๑๐๐ วัน [12] ช่วงเวลาระหว่าง ๕๑ ถึง ๑๐๐ วัน คือช่วงกำลังถูกพิพากษา พระยายมราชจะซักถามความประพฤติตอนสมัยเป็นมนุษย์  และจะส่งไปเกิดเป็นอะไรต่ออะไร เช่น ไปเกิดในยมโลก อุสสทนรก และมหานรก ไปเป็นมนุษย์ เทวดา เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ตามกรรมที่ปรากฏเป็นภาพหน้าบัลลังก์ของพระยายมราช    ช่วงนี้ถ้าญาติอุทิศบุญให้ก็ยังรับบุญได้  
                                       
          นี้เป็นหลักการส่วนใหญ่ มิใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นญาติมิตรผู้ยังเป็นอยู่ในโลกมนุษย์จึงควรศึกษาวิธีอุทิศส่วนกุศลให้ถูกวิธี และรีบทำบุญทุกบุญอย่างเต็มกำลังและอุทิศส่วนกุศลให้ในวันดังกล่าว


[1]  สํ.สฬา. ภูมกสูตร 29/189
[2]  องฺ.ปญฺจก.อาทิยสูตร 36/94  / ขุ.สุต.อ.มงคลสูตร 47166
[3]  ขุ.ขุ. ติโรกุฑฑสูตร 39/276
[4]  องฺ.ทสก. ชาณุสโสณีสูตร ๑๑ 38/435-40
[5]  ขุ.เปตวัตถุ อ.จูฬเสฏฐีเปรต 49/223 
[6]  ขุ.ขุ. ติโรกุฑฑสูตร    39/276
[7]  ขุ.ขุ.อ. ติโรกุฑฑสูตร 39/291
[8]  ขุ.เปต.อ. นันทกเปตวัตถุที่ ๓  49/516
[9]  ขุ.ขุ.อ. ติโรกุฑฑสูตร  39/299
[10]  ขุ.เป. จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ  49/222
[11]  อํ.ติก.อ.ปฐมราชสูตร 34/163
[12]  ม.อุ. เทวทูตสูตร  23/190
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญให้คนตาย ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ละโลกไปแล้ว
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การทำบุญให้คนตาย ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ละโลกไปแล้วการทำบุญให้คนตาย ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ละโลกไปแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะมีอายุยืน เหตุแห่งการมีอายุยืนทำอย่างไรจึงจะมีอายุยืน เหตุแห่งการมีอายุยืน

ธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตายธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ตายแล้วไปไหน