สมาธิมีผลต่อความสุขความสำเร็จของมนุษย์ทุกคนได้จริงหรือ


[ 17 ก.ค. 2555 ] - [ 18271 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
 
ศาสตร์แห่งสมาธิ
 
        ความสำเร็จของชีวิตเกิดขึ้นได้ด้วยศาสตร์แห่งสมาธิ เพราะสมาธิเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อความสุขความสำเร็จของมนุษย์ทุกๆ คน ข้ามพ้นความเชื่อทางพุทธศาสนา กลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติ
 

สมาธิคืออะไร ทำไมทุกคนจะต้องมีและทำไมจึงต้องฝึกสมาธิด้วย?

 
        สมาธิ คือ การที่ใจคนเรานั้นนิ่ง เมื่อพูดถึงสมาธิเราจะนึกถึงคนที่นั่งหลับตา จริงๆ นั่นคือท่านั่งสมาธิที่เป็นมาตรฐาน เพราะเวลาเรานั่งหลับตาเราก็ตัดเรื่องราวต่างๆ มองไม่เห็นอะไร แล้วจะเหลือแต่เรื่องที่ต้องควบคุมนั่นคือควบคุมความคิดของเราเองเป็นหลัก
 
        จริงๆ แล้วถ้าทำจนชำนาญ สมาธิสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะ นั่ง นอน ยืน เดิน อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ทานข้าวก็ตาม เราก็ทำสมาธิไปด้วยได้ เพียงแต่ว่าตอนนั้นก็เหมือนว่าเอาใจเป็นสมาธิเอาไว้ในระดับหนึ่ง แล้วทำกิจอื่นๆ ไปด้วย พูดง่ายๆ ว่าทำกิจทุกอย่างๆ มีสตินั่นเอง
 
        โดยสรุปรวม สมาธิ คือ การที่ใจเราเองสงบนิ่ง ตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์เดียว ในทางธรรมะใช้คำว่า เอกัคคตา คือ การที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว นิ่งอย่างต่อเนื่อง พอเป็นอย่างนี้ผลที่ตามมาก็คือ ใจจะบริสุทธิ์และผ่องใส เหมือนน้ำที่เราไปตักมาจากลำคลองที่มันขุ่นๆ เอามาใส่โอ่งไว้ให้มันอยู่นิ่งๆ จนมันค่อยๆ ตกตะกอน น้ำมันก็จะค่อยๆ ใสขึ้น ใจคนเราก็เหมือนกัน ถ้ามัวแต่คิดนั่นคิดนี่มีเรื่องสารพัดอย่างก็เลยทำให้ใจคนทั่วไปนั้นขุ่น มัว เศร้าหมอง แต่พอใจเรานิ่งๆ แล้ว ทั้งกิเลส ทั้งอนุสัย อนุสัย คือ กิเลสอย่างละเอียด มันจะค่อยๆ นอนก้น ใจก็จะใสขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่เกิดจากการทำสมาธิ
 
        เราจะได้ยินคำหนึ่งที่คู่กันอยู่มากๆ ก็คือคำว่า สติ ขนาดมรรคมีองค์ 8 ข้อ 7 ก็คือ สัมมาสติ และข้อ 8 ก็คือ สัมมาสมาธิ จะเห็นว่าสติกับสมาธินั้นมักจะคู่กัน แล้วสติกับสมาธิความหมายเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ถ้าจะเอาความหมายในเชิงปฏิบัติจริงๆ ก็จะเปรียบคล้ายๆ กับว่า ถ้าคนเราเผลอสติใจเราก็จะเผลอไปคิดนั่นคิดนี่ ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามีสติก็จะไม่ฟุ้ง จะนึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราทำสมาธิอยู่ก็จะไม่เผลอสติไปคิดเรื่องอื่น คือใจกลับมาอยู่ในที่ๆ ควรเป็น แต่สมาธิที่ว่าตั้งมั่นมีแต่ใจที่ดิ่งลงไป ถ้าจะเปรียบ สัมมาสติ ก็เหมือนเอาตะปูมาจ่อ ไม่ใช่จะตอกตะปู แต่เอามาจ่อตรงเป้า แต่พอสัมมาสมาธิก็คือตีตะปูเข้าไปเลย
 
        ฉะนั้น สติกับสมาธิ จะเป็นกระบวนการต่อเนื่องกันไป จึงต้องมีสัมมาสติก่อนแล้วต่อด้วยสัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าเรามีทั้งสติและสมาธิแล้วใจเราจะนิ่งได้ง่ายมาก แล้วความผ่องใสของใจจะบังเกิดขึ้น พอเป็นอย่างนี้แล้วผลดีมันจะเกิดขึ้นอย่างมากมายทีเดียว
 
        ถ้าสังเกตให้ดี สมาธิเราใช้อีกคำหนึ่งว่าใจหยุดก็ได้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านจึงสรุปสั้นๆ ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพานเลย ทุกอย่างในโลก คนทุกคนทุกชาติทุกภาษาทุกศาสนา จะทำทุกอย่างตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปจนถึงเรื่องยากๆ ให้สำเร็จได้ต้องหยุด จริงๆ แล้วการเคลื่อนไหวทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความต่อเนื่องของการหยุดนั่นเอง เอาง่ายๆ ถ้าหากเราจะเขียนหนังสือแล้วถ้ามือเราไม่นิ่ง มือสั่นนี่ก็จะเขียนไม่ได้หรือเขียนได้ก็ไม่เป็นตัวขยุกขยุยไปหมด ถ้าจะเขียนให้ได้เป็นตัวอ่านได้มือต้องนิ่ง แล้วค่อยๆ เคลื่อน ยิ่งนิ่งเท่าไหร่ฝีมือการเขียนยิ่งเฉียบขาด
 
        เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเดินแล้วขาสั่นเป๋ซ้ายเป๋ขวาก็ชักแย่แล้ว ทุกอย่างต้องนิ่ง ต้องเที่ยง ถึงจะเคลื่อนไหวได้อย่างทรงพลัง ฉะนั้นจริงๆ ความเคลื่อนไหว คือการนิ่งที่ต่อเนื่องนั่นเอง ในทุกเรื่องจึงต้องมีสมาธิ ยิ่งมีสมาธิมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น ที่พูดถึงเบื้องต้นง่ายๆ ของการเคลื่อนไหวในทางโลก ในอิริยาบถต่างๆ ของเรา แต่จริงๆ แล้วหลวงปู่ฯ ท่านบอกว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพานทีเดียว คือจะปฏิบัติธรรม จะทำความดีทุกอย่างใจต้องหยุด พอใจหยุดพลังจะเกิด แล้วจะเกิดผลดีขึ้นมามากอย่างไม่น่าเชื่อ คนทุกคนในโลกจะต้องได้ฝึกสมาธิ แล้วจะเข้าใจตรงนี้
 

ในศาสนาอื่นมีการฝึกสมาธิบ้างหรือไม่ ถ้ามีจะมีความแตกต่างกันอย่างไร?

 
        ถ้าใครจำได้ที่เคยศึกษาพุทธประวัติมา จะพบว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะออกบวชแล้วตรัสรู้ธรรมนั้น ในช่วงแรกท่านไปฝึกกับ อาฬารดาบส จนได้สมาบัติ 7 ต่อมาก็ไปฝึกกับ อุทกดาบส จนได้สมาบัติ 8 ซึ่งก็คือ รูปฌาน 4 กับอรูปฌาน 4 นั่นเอง หัวข้อของรูปฌานกับอรูปฌานนั้นเหมือนในพระพุทธศาสนาเลย รูปฌานก็ได้แก่ปฐมฌาน ฌานที่ 1 ทุติยฌาน คือ ฌานที่ 2 ตติยฌาน คือ ฌานที่ 3 และ จตุตฌาน คือ ฌานที่ 4 ส่วนอรูปฌาน ขั้นแรกก็คือ อากาสานัญจายตนะ ขั้นที่ 2 คือ วิญญาณัญจายตนะ ขั้นที่ 3 คือ อากิญจัญญายตนะ ขั้นที่ 4 คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เหมือนกันเลย จนกระทั่งว่าคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า สมาธิในพระพุทธศาสนากับนอกพระพุทธศาสนานั้นเหมือนกัน เพราะเห็นหัวข้อชื่อเหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะในยุคนี้แม้ในอดีตเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์กำลังสร้างบารมีอยู่ก็ยังเคยเป็นฤาษีบ้าง มีเรื่องราวในชาดก ปฏิบัติจนได้สมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศได้ อย่างนี้เป็นต้น จริงๆ สมาธินอกพระพุทธศาสนามีมาแน่นอน แล้วเหมือนในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ตรงนี้มีปมสำคัญ ว่าจริงๆ แล้วนั้นไม่เหมือน จะเหมือนก็ที่ใจนิ่งเหมือนกัน แต่จุดแตกต่างสำคัญของสมาธิในพระพุทธศาสนากับนอกพระพุทธศาสนาก็คือว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้นใจจะมาอยู่ในตัว ส่วนสมาธินอกพระพุทธศาสนานั้นจะส่งใจไปนอกตัว เช่น ฤาษีที่บูชาไฟนั่งเพ่งกองไฟ คือ เอาใจไปอยู่ที่กองไฟ แต่ว่าในพระพุทธศาสนาท่านให้เอาใจมาไว้ในตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7
 
สมาธินอกพระพุทธศาสนาจะส่งใจไปนอกตัว เช่น ฤาษีที่บูชาไฟนั่งเพ่งกองไฟจะเอาใจไปอยู่ที่กองไฟ
สมาธินอกพระพุทธศาสนาจะส่งใจไปนอกตัว เช่น ฤาษีที่บูชาไฟนั่งเพ่งกองไฟจะเอาใจไปอยู่ที่กองไฟ
 
        พอพูดถึงบูชาไฟ บางคนก็นึกว่าในพระพุทธศาสนาก็มีเตโชกสิณเหมือนกัน คือ กสิณไฟนั่นเอง โดยการใช้ไฟเป็นนิมิตเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่ต่างที่จุดที่ตั้งของใจ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญเลย ของนอกพระพุทธศาสนาพอเขาเอาใจไว้นอกตัวแล้ว ใจมันก็นิ่งเป็นสมาธิได้เหมือนกัน แต่ได้ระดับหนึ่ง เพราะมันไม่ตรงโฟกัสของใจทีเดียว แต่พอเอาไฟมาไว้ในตัว  ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 แล้วดูภาพไฟตรงนี้ เอาไฟเป็นนิมิตเท่านั้นเอง แทนที่จะดูดวงแก้ว นึกองค์พระ จะนึกเป็นไฟก็ได้ถ้าเป็นเตโชกสิณ ถ้านึกดวงแก้วก็เป็นอาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง นึกถึงองค์พระก็เป็นพุทธานุสสติ มันเป็นอย่างนั้น พอใจนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายผลคือตรงนี้คือจุดโฟกัสของใจที่แท้จริง พระพุทธเจ้าตอนสร้างบารมีอยู่ไปฝึกกับอาฬารดาบสกับอุทกดาบส พอหมดความรู้ครูบาอาจารย์แป๊บเดียวได้เพราะพื้นฐานความรู้มันดี อาจารย์บอกว่าหมดภูมิแล้วมีเท่านี้แหละ ให้ช่วยอยู่เป็นอาจารย์ช่วยสอนคนอื่นเขาต่อไป เจ้าชายสิทธัตถะท่านปรารถนาความพ้นทุกข์ เมื่อฝึกความรู้ของครูบาอาจารย์จนหมดแล้วก็ยังไม่พ้นทุกข์ ก็เลยยังไม่เอา ปฏิเสธและแสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป เมื่อไม่มีคนสอนก็ต้องหาเอง ไปทรมานตัวก็เอาทุกรูปแบบก็ยังไม่ตรัสรู้ แสดงว่าวิธีการนี้ยังไม่ใช่ ท่านเลยได้ข้อสรุปว่า หนทางสุดโต่ง 2 สายคือ เพลิดเพลินในกามสุข เบญจกามคุณทั้ง 5 นั้นไม่ถูก เพราะท่านผ่านมาก่อนแล้ว และการทรมานตัวจนสุดๆ แบบนั้นก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ต้องเส้นทางสายกลาง ซึ่งในเชิงปฏิบัติจริงๆ ก็คือ การน้อมนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นเอง จิตก็ดิ่งไปตามลำดับ ผ่านรูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 เหมือนกัน แต่ว่าคราวนี้ไม่ตัน ฤาษีชีไพรนั้นเอาใจไปอยู่นอกตัวมันตัน รู้ระดับหนึ่ง ฤาษีเขาก็รู้จักนรกสวรรค์เหมือนกัน เห็นเหมือนกันแต่ไปต่อไม่ได้เพราะไม่รู้จักนิพพาน ฉะนั้นจะเห็นว่าจำพวกพระอินทร์นั้นมีมาก่อนพระพุทธศาสนา เพราะฤาษีชีไพรที่เขาปฏิบัติธรรมเขาก็รู้ว่ามีอยู่จริง และบอกกล่าวกันมาแต่ไม่รู้จักว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร มันตันอยู่แค่ภพ 3
 
สมาธิในพระพุทธศาสนาท่านให้เอาใจมาไว้ในตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ถ้านึกดวงแก้วก็เป็นอาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง
สมาธิในพระพุทธศาสนาท่านให้เอาใจมาไว้ในตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ถ้านึกดวงแก้วก็เป็นอาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง
 
        มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อพราหมณ์วังคีสะ ทำสมาธิมาเห็นนรกเห็นสวรรค์ เก่งมากถือไม้ท่อนหนึ่งพอเจอศพคนตายเคาะทีเดียวบอกได้เลยว่าจะไปเกิดที่ไหน เจ้าตัวก็ภูมิใจว่าตัวเองเก่งมั่นใจในวิชาตัวเอง พระพุทธเจ้าวันหนึ่งเห็นบุญเก่าของพราหมณ์วังคีสะ ว่าจะบรรลุธรรมได้ พระองค์เลยมาโปรดให้วังคีสะมา แล้วเผอิญมีพระอรหันต์เพิ่งนิพพานใหม่ๆ สรีระท่านยังอยู่ ก็ให้วังคีสะลองวิชา ก็ปรากฏว่าไม่เห็นเพราะท่านเข้านิพพาน วังคีสะไม่รู้ รู้แค่ภพ 3 จึงไม่เห็น แต่ดีตรงที่ไม่มั่ว ก็ลองดูใหม่อีกหลายรอบก็ยังไม่เห็นอีกอยู่ดี และเป็นคนฉลาดจึงรู้เลยว่า พระพุทธเจ้าวิชาสูงกว่า จึงทิ้งไม้แล้วกราบพระพุทธเจ้าว่าจะขอเรียนวิชานี้ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าได้แต่ถ้าจะเรียนต้องบวชก่อน วังคีสะก็ยอมทำตามทุกอย่างเพราะอยากรู้วิชา จึงบวชแล้วแล้วพระพุทธเจ้าก็สอนให้ปฏิบัติธรรมเอาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย สุดท้ายก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์และได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศทางด้านปฏิภาณไวด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า สมาธินอกพระพุทธศาสนานั้นมี และทำให้รู้เห็นได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อจำกัดเพราะยังไม่ตรงโฟกัสของใจ พระพุทธองค์ท่านผ่านสิ่งเหล่านี้มาหมดแล้วทิ้ง เอาใจย้อนกลับมาไว้ในตัว ได้รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 แต่รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 ในพระพุทธศาสนาไม่เหมือนกับของนอกพระพุทธศาสนา เพราะใจอยู่ที่โฟกัสของใจที่ศูนย์กลางกายเต็มที่ทำให้ไม่ตัน ปฏิบัติแล้วบรรลุความรู้ความเห็นมันขยายกว้างกว่ากันมาก จนสุดท้ายบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลทั่วไปก็เป็นพระอรหันต์ได้ หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นในชาตินี้จนถึงที่สุดคือพระนิพพานอย่างนี้นี่เอง
 
ปัจจุบันจะเห็นว่าชาวตะวันตกหันมาสนใจสมาธิมากขึ้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไร?
 
        จริงๆ น่าทึ่งทีเดียว คงผ่านตาทางนิตยสาร Time มาแล้ว เห็นภาพดาราฝรั่งนั่งสมาธิขึ้นหน้าปกเลย อย่าลืมว่า Time magazine คือ นิตยสารรายสัปดาห์อันดับ 1 ของโลก ที่พิมพ์ขายในอเมริกาซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่น แล้วเอาภาพนั่งสมาธิมาขึ้นหน้าปกแล้วบอกว่า ศาสตร์แห่งสมาธิ เนื้อหาบอกว่าตอนนี้ใครๆ ก็สนใจสมาธิกัน นักวิทยาศาสตร์ก็วิจัยสมาธิ หมอก็บอกให้ฝึกสมาธิ นักเรียน นักธุรกิจ นั่งสมาธิกันทั้งนั้นเลย
 
นิตยสาร Time นำภาพดาราฝรั่งนั่งสมาธิขึ้นหน้าปก
นิตยสาร Time นำภาพดาราฝรั่งนั่งสมาธิขึ้นหน้าปก
 
        เขาไปวิจัยเก็บข้อมูลมาพบว่า ตอนนี้คนอเมริกานั่งสมาธิวันละประมาณ 10 ล้านคน เผลอๆ คนอเมริกานั่งสมาธิมากกว่าคนไทยอีก มันค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่าบางถิ่น เช่น นิวยอร์คเมืองเดียวมีศูนย์สอนสมาธิเป็นร้อย เพราะคนสนใจกันมากมากันเป็นร้อยเลย จนเขาบอกว่าแถบนั้นเป็นแถบชาวพุทธ เป็นภาพลักษณ์เลยว่าแถวนั้นเป็นย่านชาวพุทธ เพราะมีสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นร้อยๆ ที่ แต่คนนั่งไม่ใช่คนเอเชีย โดยหลักก็คือฝรั่งมานั่ง แล้วก็ไม่ได้จำกัดด้วยว่าคนนั่งจะต้องเป็นชาวพุทธด้วยเขาไม่เกี่ยงเลย คนศาสนาอื่นเขาก็นั่ง โรงเรียนต่างๆ ตอนนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีระดับที่พวกไฮโซเอาลูกมาเรียน เขาจะให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเรียนหนังสือ เพราะผลวิจัยรองรับแล้ว ว่านั่งแล้วจะเรียนหนังสือดี เขาถึงใช้คำว่า สมาธิเป็นศาสตร์ หรือ ศาสตร์แห่งสมาธิ เพราะเขาถือว่าสมาธิมันข้ามพ้นความเชื่อทางด้านศาสนาไปแล้ว มันกลายเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งไปแล้ว อย่างในโรงเรียนเวลาจะสอนวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เขาก็จะไม่มาถามนักเรียนว่าเธอนับถือศาสนาอะไร ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ต้องเรียนต้องสอนเพราะมันเป็นความจริงของโลกพื้นฐาน สมาธิอยู่ในสถานะภาพแบบนั้น
 
        แม้แต่คณะแพทย์ฮาร์วาดที่มีชื่อเสียงมากของโลก ก็ยังบอกให้คนไข้นั่งสมาธิเพราะคนป่วยถ้านั่งสมาธิจะหายเร็ว และถ้าไม่ป่วยแล้วนั่งสมาธิก็จะแข็งแรงมากขึ้น เขาจะไม่มาถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร แล้วบริษัทต่างๆ ก็จัดที่นั่งสมาธิให้พนักงาน เพราะผลทดลองพิสูจน์แล้วว่า เมื่อให้พนักงานมานั่งสมาธิแล้วประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น นักธุรกิจเขานึกถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เขาคิดว่าลงทุนทำห้องสมาธิไว้ให้แล้วผลลัพธ์ที่ได้มามันคุ้ม ยังนึกเลยว่าของเขาเองเวลาจะฝึกสมาธิต้องดั้นด้นแสวงหา เพราะในบ้านเมืองเขามันเป็นเรื่องใหม่ แต่ประเทศไทยของเราเมืองพุทธแท้ๆ มีโอกาสรออยู่ จะนั่งสมาธินั้นไม่ยากเลย ไปวัดแป๊บเดียวก็ได้นั่งแล้ว ถ้าไม่นั่งนี่ต้องบอกว่าน่าเสียดายนะ หาควรไม่ ฉะนั้นเราเองชาวพุทธทุกคนควรได้ปฏิบัติ แม้เคยได้ฝึกปฏิบัติมาแล้วก็อย่าขี้เกียจนั่ง เดี๋ยวจะกลายเป็นใกล้เกลือกินด่าง เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แล้วสมาธิจะอำนวยประโยชน์ให้เราเองอย่างมหาศาลทีเดียว
 
วัดพระธรรมกายมีความคิดที่จะขยายศาสตร์แห่งสมาธิ ให้เข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้อย่างไรบ้าง?
 
        เราจะเห็นว่าตั้งแต่สร้างวัดพระธรรมกายมา กิจกรรมหลักคือสมาธินี่แหละ วันอาทิตย์เช้ามาก็นั่งสมาธิ คือทำกิจกรรมอะไรเราจะต้องมีสมาธิเป็นตัวยืนหลักอยู่เสมอ ในทุกๆ กิจกรรมบำเพ็ญบุญ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านเตรียมสถานที่ไว้ให้ ที่ปฏิบัติธรรมพิเศษไม่ว่าจะเป็นสวนพนาวัฒน์ก็ตาม สวนป่าหิมวันต์ก็ตามที่ภูเรือนี่ หรือเวิร์ดพีชวัลเล่ย์ที่เขาใหญ่ก็ตาม รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วกายธรรมที่ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ ก็เตรียมเอาไว้เพื่อรองรับญาติโยม ใครว่างก็มา จะ 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วันก็ตาม มานั่งปฏิบัติกันเถอะ
 
        ถ้ายังเป็นนิสิตนักศึกษาก็จัดเวลามาได้ ช่วงซัมเมอร์ก็บวชหรือฝ่ายชายจะเรียนอยู่หรือจบแล้วก็ตาม เข้าพรรษาได้ก็บวชทั้งพรรษาเลยระหว่างบวชจะได้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นต่อเนื่องไปด้วย นี่คือการที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะมาวัดก็ได้นั่งแค่ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าไปนั่งทั้ง 7 วันนั้นอารมณ์มันต่อเนื่อง วางภารกิจแล้วไล่อารมณ์เหล่านี้ไป ก็ได้ผลขยายในเรื่องของสมาธิไประดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ที่น่าดีใจมีข่าวที่น่าชื่นชมอนุโมทนาคือ กำลังจะมีไปอีกขั้นหนึ่งว่า สมาธิจะเกิดผลไม่เฉพาะแต่เพียงผู้มาปฏิบัติเท่านั้น แต่ผู้มาปฏิบัติๆ เพื่อนำไปสอนต่อ แล้วสิ่งดีๆ ก็กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่การบวชนั้นได้อานิสงส์มากจุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่การบวชนั้นได้อานิสงส์มาก

อนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใดอนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใด

ทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องเกิดมากำพร้าพ่อแม่หรือลูกหลานทิ้งทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องเกิดมากำพร้าพ่อแม่หรือลูกหลานทิ้ง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว