อนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใด


[ 20 ก.ค. 2555 ] - [ 18264 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
        ปัญหาข้าวของหรือของใช้ต่างๆ ที่แพงขึ้น เราจะเห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน แม้กระทั่งปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือเงินเดือนที่ต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อให้สมดุลกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น การแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลส่วนนี้ให้กับประชาชน
 

ในอดีตกับปัจจุบันเศรษฐกิจในบ้านเรานั้นต่างกันมากแค่ไหน?

 
        ในส่วนที่ไม่ต่างคือว่า คนเราอย่างไรก็ต้องอยู่ต้องกิน สิ่งที่สำคัญคือปัจจัย 4 ตรงนี้คือไม่ต่าง ในแง่หลักการ แต่ถ้าเป็นรายละเอียดแล้ว เช่น ที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนจากบ้านทรงไทยมาเป็นตึกรามบ้านช่อง คอนโดฯ บ้างอย่างที่เห็น เปลี่ยนไปพอสมควร เครื่องแต่งกายจากนุ่งผ้าซิ่น โจงกระเบน มาเป็นปัจจุบันก็เปลี่ยน จริงๆ แล้วปัจจัย 4 นั้นไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบ วิถีชีวิติ สังคม มีการเปลี่ยน ตั้งแต่ยุคเกษตรทำไร่ไถนา ผลิตข้าวของได้ก็เอาไปแลกกัน บ้านก็ปลูกเองไม่ต้องมาหาซื้อบ้านจัดสรรเหมือนปัจจุบัน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทำเอง บางอย่างที่ตัวเองยังไม่มีก็เอาข้าวของเครื่องใช้ที่เรามีไปแลกกับเขาบ้าง โดยไม่ต้องใช้เงินเลย เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง ต่อมาก็เป็นเศรษฐกิจการตลาด มีการซื้อมาขายไปเพราะว่ารูปแบบเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา เงินตราก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้ามองในแง่นี้ต้องบอกว่ามีการเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว
 
        แต่จะเปลี่ยนอย่างไรก็แล้วแต่ ก็หนีไม่พ้นว่าเพื่อหาปัจจัย 4 มาหล่อเลี้ยงชีวิตนั่นเอง เพื่อให้สังขารร่างกายดำรงอยู่ได้ แล้วก็ใช้ในการทำความดีสร้างบุญสร้างกุศล ตรงนี้แหละที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย แต่บางทีคนลืมวัตถุประสงค์หลัก กลายเป็นว่าหาปัจจัย 4 มาหล่อเลี้ยงสังขารเพื่อไว้เที่ยว กิน ดื่ม อย่างนี้น่าเสียดาย
 

มีปัจจัยหลักอะไรบ้างที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศชาติได้?

 
        ปัจจัยที่มีผลกระทบนั้นมีหลายอย่างเลยนะ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในก็เช่นว่าเงื่อนไขปัจจัยภายในประเทศของเราเอง เช่น ความมั่นคงทางการเมือง ความสามารถของฝีมือแรงงานของประชากรว่าเรามีความสามารถในการศึกษาเรียนรู้ ในการผลิตได้ดีขนาดไหน ระบบระเบียบภายในประเทศมีการปรับตัวตามทันกับสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ ก็คือภายในเราเองว่าแต่ละคนมีฝีมือแค่ไหน และสามารถมีระบบที่จัดการรวมพลังความสามารถของทุกคนเข้าด้วยกันได้อย่างดีหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญ
 
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศชาติ
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศชาติ
 
        อย่างในปี พ.ศ. 2540 มีกระบวนการเรื่องการถล่มค่าเงิน มาถล่มบ้านเราทีเดียวเราแย่เลย สาเหตุปัจจัยตรงนั้นเป็นตัวอย่างนะ เพราะเป็นกรณีที่แรงที่สุดในบ้านเราตอนนั้น ที่เกิดค่าเงินบาทลดค่า ธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ ล้มระเนระนาด เพราะเราเองบริโภคมาก ใช้จ่ายเกินตัว ผลคือการนำเข้ามันมากกว่าการส่งออก ประเทศไทยขาดดุลการค้าขาดเงินในบัญชีเดินสะพัดอยู่ทุกปี เป็นเงินที่มาก 7-8 % ของ GDP พอเป็นอย่างนี้ในระยะยาวมันก็ไปไม่รอด พวกกลุ่มนักเก็งกำไรท่านหนึ่งเขาเห็นแล้ว นำโดย จอร์จ โซรอส เข้ามาถล่มค่าเงินไทย เราก็ไปสู้กับเขาโดยที่ไม่ได้ประมาณตัว ไม่ได้ดูว่าพื้นฐานของเรานั้นเราไม่ดีจริงๆ แทนที่จะมาปรับ คือเขามองแล้วว่าค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าเกินจริง ผลคือสินค้าไทยขายสู้เขาไม่ได้ ขายไม่ออกแต่ว่าเงินไม่พอก็ไปกู้เขามา ก็เห็นว่าเงินบาทมันแข็งค่าเกินไป เขาถล่มเราไปสู้เขา ช่วงแรกเหมือนชนะ แต่พอเขาถล่มพักเดียวก็สู้เขาไม่ได้จนหมดเนื้อหมดตัว ตอนนั้นเองเศรษฐกิจระเนระนาดถล่มทลาย
 
        จากปัจจัยภายในที่เราเองไม่รู้จักประมาณในการกินการใช้ แล้วปรับระบบระเบียบในประเทศได้ไม่ดี เรายังไม่พร้อมแต่ไปเปิดเสรีทางการเงิน ให้สามารถกู้เงินนอกได้ คนก็กู้กันเพลิน เคยก็ในประเทศจ่ายดอกเบี้ยร้อย 10 พอกู้เงินนอกดอกเบี้ยร้อยละ 5 หรือ 4 พอเห็นถูกอย่างนี้ก็เลยกู้กันใหญ่เลย เป็นแบบนี้แล้วพอมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบปั๊บเราก็ล้มกันทั้งแถบไปไม่รอดกันเลย ประเทศไทยเราดังไปทั่วโลกตอนนั้น แต่ดังในทางที่ไม่ค่อยดี ต้มยำกุ้งดีซีส โรคต้มยำกุ้งระบาด เหตุข้างในกับเหตุข้างนอกมันจะเนื่องถึงกัน ถึงยุคปัจจุบันก็จะไม่ค่อยได้แตกต่างอะไร ตอนนี้ต้องบอกว่าประมาทไม่ได้ ทั้งยุโรปและอเมริกาเริ่มมีแววว่าพายุใหญ่ทางเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้นประเทศไทยเราเองต้องรีบเตรียมตัวให้พร้อม ถึงสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ให้เรายังสามารถมีภูมิต้านทานในการรับมือกับสถานการณ์ร้ายๆ ที่กำลังจะมาถึงได้ แต่ไม่ต้องตกใจเกินไป ขอให้คนไทยใจนิ่ง มั่นคงอยู่ในบุญและทำงานของเราอย่างดีด้วยความไม่ประมาท ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รับรองว่าประเทศไทยจะไปได้ แล้วไม่ใช่แค่ผ่านแต่จะไปได้อย่างดีด้วย เพราะพื้นฐานของประเทศไทยในแง่ของภูมิศาสตร์เราเอื้อให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ใช่น้ำมันหรืออื่นใด แต่เป็นสภาพ ดิน ฟ้า อากาศ น้ำ ที่ดีนี้คือทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ เพราะเราสามารถใช้ในการผลิตได้ไม่รู้จบ อยู่ที่การบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้นี่เอง ถ้าจัดการได้ดีแล้วทรัพยากรธรรมชาติดีๆ เหล่านี้จะใช้ไม่มีวันหมดเลย
 
คำศัพท์ทางเศรษฐกิจ เช่น GDP นั้นมีความหมายว่าอย่างไร?
 
        เอาตามความเข้าใจง่ายๆ GDP ย่อมาจาก Gross domestic product คือ ปริมาณผลผลิตทั้งหมดภายในพื้นที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทของคนไทยหรือของคนต่างชาติมาลงทุนในไทย รวมหมดว่าทั้งปีนั้นมีผลผลิตเท่าไร ถ้าเอา GDP ต่อหัว ทั้งหมดได้เท่าไหร่ คนไทยมี 65 ล้านคนก็เอามาหาร ออกมาก็จะได้ว่าต่อหัวได้เท่าไร
 
        ปกติถ้าจะดูว่าเศรษฐกิจโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เขาก็ดูจาก GDP นี่แหละว่า GDP ปีนี้โตกว่าปีที่แล้วเท่าไหร่ จะวัดว่าประเทศไหนรวยประเทศไหนจนแค่ไหนก็ดูที่ GDP เขาเท่าไหร่กัน ตอนนี้ของไทยก็ประมาณสัก 5 พันกว่าเหรียญ สหรัฐต่อคนต่อปีก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนข้างไปทางสูงหน่อยๆ
 
คำว่า เป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ นี้มีนัยยะอย่างไร?
 
        อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับศัพท์ที่จะใช้เรียกกัน พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้การแข่งขันมันไร้พรมแดน ถ้าเราสังเกตดูดีๆ ในยุค 20 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจของโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง หลังจากเทคโนโลยีทางไอทีมีการปฏิวัติทางด้านนี้และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว บริษัทหนึ่งๆ แม้ว่าเจ้าของบริษัทจะเป็นคนประเทศไหน จดทะเบียนที่ประเทศใดก็ตาม แต่ภาพความเป็นของประเทศนั้นมันจางกว่าสมัยก่อน ไม่ได้หมดไปนะแต่มันจางลง เพราะว่าเครือข่ายมันคลุมไปทั้งโลก ผลประโยชน์ของเขาเองเกี่ยวโยงไปทั้งโลก มันจึงกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ
 
        ในส่วนที่ว่าเราจะเป็นเมืองขึ้นของเราหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่คุณภาพของคน มันพลิกในพริบตาเลยนะ ถ้าคุณภาพของคนดีมันพร้อมที่จะฟื้นขึ้นมาเลย ถ้าคุณภาพของคนไม่ดีมันก็พร้อมที่จะทรุดลงไปเลยเหมือนกัน ยกตัวอย่างรัสเซีย ตอนเป็นอภิมหาอำนาจประจัญกับอเมริกา ค่าเงินรูเบิลก็แบบหนึ่งนะ แต่พอปรับระบบการบริหารปกครองประเทศ มีการแตกเป็น 15 ประเทศ ปรับระบบมันปั่นป่วนวุ่นวายมาก รายได้คนรัสเซียลดลงจนเกือบจะเหลือ 1 ใน 10 เลยนะ เพราะอยู่ในภาวะจนกะทันหัน นี่คือการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ถ้าเกิดว่าแพ้สงครามเศรษฐกิจเมื่อไหร่ ความเสียหายมากเลยนะ ต่างชาติกรีฑาทัพเข้ามาเลือกซื้อบริษัทไทย เดี๋ยวซื้อแบงค์นี้ ซื้อบริษัทนั้น เพราะเขาเป็นเจ้าของเขาถือหุ้นอยู่ บริษัทอยู่เมืองไทยก็จริงแต่เขาเป็นเจ้าของไปซะแล้ว ฉะนั้นจะทำธุรกิจอะไรต่อไปเขาก็เป็นเจ้าของ กำไรก็เป็นของเขาได้
 
        ฉะนั้นทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่ฝีมือ ในยุคนี้จึงหมดเวลาแล้วสำหรับมือสมัครเล่น ต้องเป็นยุคของมืออาชีพ และทำอย่างดีอย่างรู้เท่าทันจึงจะได้ อย่าว่าแต่อื่นไกลนะแม้แต่อเมริกาที่ว่าเก่งๆ ทำพลาดแค่นิดเดียวประเทศมีสิทธิทรุดทันทีเลย ถ้าค่าเงินดอลล่าตกไปครึ่งหนึ่งอะไรจะเกิดขึ้น เหมือนอยู่ๆ อเมริกาจนไปครึ่งหนึ่งอย่างนี้ ผลสะเทือนจะไปทั้งโลก ทางยุโรปที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้ง อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ฮอลแลนด์ ฯลฯ ถ้าพลาดนิดเดียวสหภาพยุโรปก็ไป ตอนนี้เงินยูโรก็สั่นคลอนอยู่เพราะมีภาวะหนี้เสียเยอะ
 
        ฉะนั้นในยุคนี้นั้นพลาดไม่ได้เลย ต้องตื่นตัวและรู้เท่าทัน ถ้าย้อนมาดูว่าแล้วพวกเราแต่ละคนต้องทำอย่างไรกันบ้าง หลักการพื้นฐานก่อน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สุขเกิดจากการไม่มีหนี้ พยายามหลีกเลี่ยงการมีหนี้ไว้ก็แล้วกัน ถ้าจำเป็นจะต้องมีหนี้จริงๆ ขอให้เป็นหนี้เพื่อการลงทุน แล้วสัดส่วนอย่ามากจนเกินไป หลีกเลี่ยงเด็ดขาดการไปรูดบัตรเครดิต และเอามาใช้ซื้อข้าวของจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือย แบบนี้เรามีปัญหาแน่นอน เศรษฐกิจโลกยังไม่ทันทรุด แต่เรานี่แหละจะทรุดก่อน แต่ถ้าเราไม่มีหนี้และมีเงินเก็บอยู่ด้วย กระจายการลงทุนอยู่ในรูปแบบต่างๆ อะไรเกิดขึ้นเราจะรับแรงสั่นสะเทือนไว้ได้ อยู่ง่ายกินง่ายใช้จ่ายประหยัด รู้จักอดออม และทุ่มเททำงาน ภาวะจะเป็นอย่างไรเราก็จะอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่ได้
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตจะมีการย้ายฐานการผลิตไปตั้งอยู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าเรา?
 
        อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ในยุคโลกาภิวัตน์การเคลื่อนย้ายทุนเป็นไปได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก จะเคลื่อนอย่างไร ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ เมื่อก่อนจะมีโรงงานทอผ้าเยอะมาก พอคนไทยเริ่มรวยขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้วโรงงานเหล่านี้ก็เลิกกิจการหมดเลย ปล่อยรกร้างเพราะค่าแรงคนไทยเริ่มสูงขึ้นๆ จนผลิตแล้วต้นทุนสูงสู้ไม่ไหว เขาก็ต้องย้ายไปหาที่ๆ ถูกกว่า เช่น ไปตั้งโรงงานที่กัมพูชา พม่า เป็นต้น เพราะค่าแรงคนที่นั่นน้อยกว่าเมืองไทยเกือบ 10 เท่า เมื่อค่าแรงขึ้นเขาอยู่ไม่ได้เขาก็ต้องย้าย จริงๆ แล้วการขึ้นค่าแรงโดยภาพรวมนั้นกลับเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันนี้ สาเหตุเป็นเพราะว่าถ้าค่าแรงขึ้นธุรกิจสะเทือนแน่ในช่วงแรก ทุกระดับมากบ้างน้อยบ้าง แต่ผลที่ตามมาก็คือว่า จะเป็นแรงบีบให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัว บางส่วนอาจมีการย้ายฐานไปบ้างก็มี แต่บางส่วนอาจมีการอัพการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ฉะนั้นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจริงๆ ก็แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้ารัฐบาลลดค่าภาษีนิติบุคคลให้เขาก็ไม่มีปัญหา
 
        ดังนั้นทุกธุรกิจจะต้องปรับตัวโดยยกระดับการผลิต แล้วพัฒนาให้มีการประหยัดลดต้นทุนอย่างอื่น ค่าแรงมันขึ้นแต่ถ้าคนมีฝีมือมากขึ้น ทำงานได้มากและประสิทธิภาพทางการผลิตสูง อย่างนี้ก็คุ้ม ประสบการณ์อย่างนี้ญี่ปุ่นก็เคยเจอมาแล้ว เกาหลีก็เคยเจอ เมื่อประมาณปี 1990 ประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว มีการเดินขบวนขอขึ้นค่าแรงเป็นเท่าตัวกันทั้งประเทศ ช่วงแรกๆ บริษัทต่างๆ ก็เซกันพักหนึ่ง แต่หลังจาก 2-3 ปีต่อมา บริษัทต่างๆ ก็ยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลคือเกาหลีรวยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก คนงานก็เก่งขึ้นกว่าเดิม เพราะเงินเดือนขึ้นก็ต้องเพิ่มความสามารถความทุ่มเทขึ้นด้วย
 
ถ้าทุกหน่วยการผลิตมีการปรับตัวยกระดับการผลิตให้ดีขึ้นได้จะอยู่ดีมีสุขกันทุกด้านเลย
ถ้าทุกหน่วยการผลิตมีการปรับตัวยกระดับการผลิตให้ดีขึ้นได้จะอยู่ดีมีสุขกันทุกด้านเลย
 
        ถ้าที่ไหนเล่นแบบง่ายๆ คือให้เงินเดือนคนต่ำๆ เอาไว้ ค่าแรงถูกๆ เอาไว้เราจะได้สู้เขาได้ บริษัทต่างๆ ก็จะเอ้อละเหยลอยชาย รู้สึกว่าไม่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพอะไรมากก็อยู่ได้ คนเราแปลกตรงที่พออยู่สบายๆ มันไม่ค่อยคิดจะปรับตัว แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ปรับแล้วอยู่ไม่ได้มันจะเจ้งก็จะต้องดิ้นรนขวนขวายปรับปรุงทุกอย่าง ผลคือทุกบริษัทนั้นแข็งแรงขึ้นหมดเลย และภาพรวมของประเทศแข็งแรงขึ้นเก่งขึ้น แล้วหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ขนาดกลาง มีศัพท์คำนี้คือ กับดักของประเทศผู้มีรายได้ระดับกลาง คือราวๆ ประเทศไทยนี้แหละ และให้เงินเดือนคนถูกๆ เอาไว้ กดค่าแรงต่ำๆ ไว้แล้วก็อยู่อย่างนี้ ตอนช่วงกำลังโตก็ไม่สามารถโตเลยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลก จนกระทั่งก้าวขึ้นไปเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับนำของโลก แบบเดียวกับพวก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้
 
        ประเทศไทยตอนนี้ 5 พันดอลล่าสหรัฐต่อคนต่อปี แต่อเมริกา ยุโรป นั้นประมาณ 4 หมื่นกว่าเหรียญ มากกว่าเราราวๆ 8-9 เท่า ถ้าเราต้องการแบบนี้เราก็จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเพิ่มค่าแรงคนพร้อมๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระบบการทำงานทั้งหมดเลยทุกคนฮึดพร้อมกันทั้งประเทศ เราจะหลุดพ้นจากกับดักตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยจะทะยานต่อไป ภายใน 20 ปี ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ได้แน่นอน และถ้าทำดีๆ ภายใน 10 ปีนี่แหละประเทศไทยสามารถก้าวเข้าไปสู่ภาวะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นสมาชิก OECD คือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อยู่ที่คนไทยว่าพร้อมหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วใจเดียวกันร่วมแรงร่วมใจพัฒนาทุกอย่าง โดยพื้นฐานของประเทศ โดยพื้นฐานศักยภาพของคนไทยต้องบอกว่าทำได้ ทุกหน่วยผลิตจะอยู่ดีมีสุขกันหมดเลย
 
มีหลักธรรมอะไร ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจควบคู่ไปกับจิตใจได้?
 
        ก็ขอให้ใช้หลักของพระพุทธเจ้า คือ หัวใจเศรษฐี 4 ข้อ คือ อุ อา กะ สะ
 
        1. อุ ย่อมาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ หนักเอาเบาสู้ในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย กิจการทั้งหลายต้องรู้จักรับผิดชอบ แล้วจะรวยอันนี้เข้าใจง่าย แต่คนจะคิดแค่ข้อนี้ข้อเดียว แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ายังมีอีก 3 ข้อ
 
        2. อา ย่อมาจากคำว่า อารักขสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความ ขยันหมั่นเพียร ไม่ให้เงินทองรั่วไหลมีอันตราย ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมิให้เปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ตลอดจนรักษาหน้าที่การงานของตัวเองไม่ให้เสื่อมเสีย ขอให้ยึดหลักการเก็บเล็กผสมน้อยหรือการเก็บหอมรอมริบ ซึ่งล้วนเป็นขบวนการเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง บางคนรักษาไม่เป็นหมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็หมดได้ เพราะรักษาไม่เป็นรั่วไหลตลอด
 
        3. กะ ย่อมาจากคำว่า กัลยาณมิตตตา แปลว่า การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว เพราะคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล เราต้องมีเครือข่ายคนดี ในปัจจุบันไม่มีใครอยู่ได้คนเดียวโดดๆ เราจำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน
 
        4. สะ ย่อมาจากคำว่า สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไปให้รู้จักออมเงิน ออมเงินเอาไว้ ฉุกเฉินเมื่อไร จะได้ใช้เงินออม ถ้ารู้จักใช้ 4 ข้อนี้แล้วละก็เราไปรอดแน่ รวยแน่นอน


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องเกิดมากำพร้าพ่อแม่หรือลูกหลานทิ้งทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องเกิดมากำพร้าพ่อแม่หรือลูกหลานทิ้ง

วัยรุ่นมีปัญหาหรือมีปัญญาวัยรุ่นมีปัญหาหรือมีปัญญา

อาหารบุฟเฟต์มีผลดีหรือเสียอย่างไรอาหารบุฟเฟต์มีผลดีหรือเสียอย่างไร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว