ทำไมต้องจดสิทธิบัตรหรือมีลิขสิทธิ์


[ 3 ส.ค. 2555 ] - [ 18275 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
ลิขสิทธิ์
 
        การละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ซีดีเพลง (มักเป็นซีดีรวมไฟล์เพลงประเภท MP3) วีซีดี และ ดีวีดี ภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ รวมไปถึง ซอฟต์แวร์ เกม และ โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ
 
        ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในปี พ.ศ. 2553 นั้น ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นอันดับ 6 ในเอเชียแปซิฟิก และอินโดนีเซียเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในเอเชีย
 
        บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมือง (เพิร์ก) เปิดเผยผลสำรวจผู้จัดการที่เป็นชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจอยู่ใน 12 ประเทศในเอเชียระหว่างมิ.ย.กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของ ประเทศเอเชียที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญามากที่สุด ส่วนแชมป์ประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดในปีนี้ตกเป็นของอินโดนีเซีย
 
        เอเอฟพีรายงานว่า   อินโดนีเซียมีคะแนนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 8.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่ามีคะแนนการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ
 
        ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์มีคะแนน 1.5 รั้งตำแหน่งชาติที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาน้อยที่สุด ตามมาด้วยญี่ปุ่น 2.1 คะแนน ฮ่องกง 2.8 คะแนน ไต้หวัน 3.8 คะแนน และเกาหลีใต้ 4.1 คะแนน
 
ประเทศไทยกับการปราบปรามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
ประเทศไทยกับการปราบปรามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
 
        ส่วนประเทศไทย ซึ่งอยู่ในอันดับ 6 ของการจัดอันดับอันดับครั้งนี้ มีคะแนนอยู่ที่ 6.17 คะแนน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับดีกว่าด้วยคะแนน 5.8 แต่ยังทิ้งห่างเวียดนาม ซึ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับรั้งท้ายตาราง เนื่องจากมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูสีกับอินโดนีเซีย อยู่ที่ 8.4คะแนน ตามหลังประเทศจีน 7.9 คะแนน ฟิลิปปินส์ 6.84 คะแนน และอินเดีย 6.5 คะแนน
 
        หากไทยสามารถลดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ 10 จุดภายใน 4 ปี จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมูลค่า 38,900 ล้านบาท และจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลดีของการปราบปรามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
 

เรามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการจดสิทธิบัตรในผลงานของเรา?

 
ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ
 
        1. ทางด้านกฎกติกากลางๆ
 
        2. ถ้าเป็นตัวเราๆ ควรทำหรือไม่
 
        ในแง่ภาพใหญ่ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์นั้น มีขึ้นมาเพื่ออะไร วัตถุประสงค์หลักมีอยู่ 2 ข้อ คือ
 
        1. เพื่อความเป็นธรรม เพราะถ้าใครไปคิดอะไรได้หรือทำอะไรขึ้นมาได้แล้วคนอื่น copy ไปได้ง่ายๆ แล้วรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่คิดหรือผลิตขึ้นมา
 
        2. เป็นเรื่องของแรงจูงใจให้มีการพัฒนา เพราะของบางอย่างกว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้ต้องใช้เงินทุน ต้องใช้เวลาทุ่มเททรัพยากรบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อทำเสร็จแล้วคนอื่น copy ไปเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ขาดแรงจูงใจให้ไม่มีการพัฒนา เพราะทุ่มเทไปบางครั้งก็ใช้งบประมาณเป็น 100 ล้านก็มี
 
        แล้วตัวเราเองควรไปจดสิทธิบัตรหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราคิดอะไรขึ้นมาได้แล้วอยากเปิดกว้าง แล้วแต่ว่าใครจะเอาไปใช้อย่างไรเราก็ไม่ว่า ไม่หวง เราก็ไม่ต้องจด แต่ถ้าเราหวงก็จด อันนี้กรณีสิทธิบัตร
 
        ส่วนลิขสิทธิ์ ตรงนี้ต้องแยก ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นลิขสิทธิ์ก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกงานเขียน วรรณกรรม เช่น ลิขสิทธิ์หนังสือ เพลง หนัง พวกนี้เรียกว่าลิขสิทธิ์ เวลาจดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้ว ก็คือห้ามไม่ให้ใครเอาไปทำซ้ำ เช่นว่า สร้างหนังขึ้นมาและมีลิขสิทธิ์แล้วมีคนอื่นเอาไปปั๊มเป็นซีดี อย่างนี้ถือว่าเป็นซีดีเถื่อน ถ้าไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เขา อย่างนี้ถือว่าผิด
 
        ในกรณีสิทธิบัตร ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น ทำซอฟแวร์ขึ้นมาหรือทำลิขสิทธิ์รถยนต์ โมเดลรถยนต์อะไรต่างๆ หรือว่าสิทธิบัตรยาที่ไปค้นคว้าจนได้ยาขึ้นมา ซึ่งถ้าได้ยามาแล้วก็ต้องเขียนไว้ว่ายาตัวนี้มีสารประกอบอะไรบ้าง อธิบายอย่างละเอียดด้วยว่าค้นคว้ามาอย่างไร ใครจะเอาวิธีการที่เขาอธิบายไป copy เพื่อไปศึกษาก็ไม่ผิด แต่ห้ามนำเอาวิธีการแบบเขาไปทำยาเอง คือไป copy ตัวรายละเอียดไม่มีปัญหา แต่ห้ามผลิตตัวยา นี่คือสิทธิบัตร คือห้ามในการผลิต ผลิตภัณฑ์สุดท้าย แต่ไม่ได้ห้ามในเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียด
 
        แต่ก่อนเดิมทีก็ไม่มีลิขสิทธิ์อะไร เพราะการค้นคว้าของเมื่อก่อนไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายเหมือนในปัจจุบัน และวงการการค้าก็ไม่กว้างขวางเหมือนปัจจุบัน ฉะนั้นผลประโยชน์แรงจูงใจด้านนี้ไม่ใช่ตัวหลักในการค้นคว้า แต่จะรู้สึกว่าเมื่อเห็นใครเอาความคิดเราไปใช้จะเกิดความภาคภูมิใจมากกว่า ที่ทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง เป็นแรงจูงใจด้านนี้มากกว่า นี่คือรากฐานที่มาของสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ในปัจจุบัน ยิ่งพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเร็วเท่าไหร่ จำนวนสิทธิบัตรที่จดมันยิ่งมากขึ้น แค่อะไรนิดๆ หน่อยๆ จดสิทธิบัตรหมด จดเอาไว้ก่อน
 

คนที่ชอบใช้ของเลียนแบบลิขสิทธิ์นั้นผิดหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้ถูกต้องได้?

 
        ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนละเอียดอ่อน จะบอกว่าผิดถูก 100 % นั้นก็พูดไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละกรณี เช่นว่า เมื่อเรารู้ที่มาว่าสิทธิบัตรลิขสิทธิ์นั้นมาจากเรื่องความเป็นธรรมและแรงจูงใจในการพัฒนา มันต้องมองต่อ ทุกอย่างเหมือนดาบ 2 คม มี 2 ด้านว่า ถ้าเป็นธรรมก็ดี แต่บางครั้งมีสิทธิบัตรแล้วไม่เป็นธรรมขึ้นมา เช่น บริษัทยา ที่ลงทุนผลิตยาแล้วใคร copy ได้ เขาก็ขาดทุน ก็ต้องให้เขามีสิทธิบัตร แต่ถ้าเขาคิดราคาสูงกว่าความเป็นจริงมากเกินไป หรือไม่ได้นึกถึงความเป็นธรรมของผู้บริโภค อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะมีรายละเอียดหลายอย่าง เช่น เขาคิดราคาเกินไปจนคนรับไม่ไหว มันจึงต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย ให้เขาได้รับการรักษาที่ดีและบริษัทยาก็ต้องอยู่ได้ด้วย ถ้าคิดเผื่อแผ่ได้อย่างทั่วถึงอย่างนี้ถือว่าดี
 
        ฉะนั้นถ้ามีบางประเทศ เช่น อินเดีย ที่บอกว่าเขาไม่สนใจลิขสิทธิ์ยาของบริษัทยา เพราะมันไม่เป็นธรรมกับคนของเขา รัฐบาลเขาจึงประกาศไม่รับลิขสิทธิ์เรื่องนี้ ถามว่าถูกหรือผิด รัฐบาลอินเดียไปโกงเขาหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะมีมุมมองหลายแง่มุม สุดท้ายตัวที่ตอบจริงๆ อยู่ที่ว่า ความเป็นธรรม และอีกประเด็นที่ประกอบเข้ามาก็คือ เพื่อประโยชน์ตนหรือไม่ หรือเพื่อส่วนรวม ดูว่าเจตนารมณ์เป็นอย่างไร
 
        อย่างรัฐบาลอินเดียที่ทำไปก็เพื่อปกป้องประชาชนของเขา ให้มีโอกาสได้ยาที่เป็นธรรม ถ้าราคายามันสูงเกินไปจนคนป่วยเอายามารักษาไม่ได้ รัฐบาลเขาก็ยอมไม่ได้ที่จะเห็นประชาชนคนป่วยเขาล้มตายไปเรื่อยๆ ก็หาวิธีการเท่าที่แง่มุมกฎหมายสากลกับกฎหมายประเทศจะเอื้อให้ ทำให้เขามีมาตรการของเขาออกมา ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้จะบอกว่ารัฐบาลอินเดียผิดศีลนั้นก็พูดยาก มันอยู่ที่เจตนารมณ์ แต่ถ้าเป็นลักษณะที่คนอื่นเขาค้นคว้าผลิตยามาได้ แล้วตัวเองไปทำยาปลอมมาขายเพื่อให้ตัวเองรวย ไปละเมิดสิทธิบัตรเขา อย่างนี้ถือว่าผิด
 
        ถ้ามีการดัดแปลงสูตรบางตัวยาออกมา และสามารถรักษาได้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่เหมือน 100 % นั้น ทุกอย่างต้องดูที่เจตนารมณ์เสมอว่าเป็นธรรมหรือไม่ เช่น เขาทำมาตลอดแล้วไปดัดแปลงต่อจากเขาเล็กน้อย แล้วบอกว่าเป็นของใหม่ ไปต่อยอดเขามาแล้วถือเอาเป็นของตัวเอง อย่างนี้แม้ในด้านกฎหมายเปิดให้ก็ยังถือว่าไม่ถูก ฉะนั้นคำว่าถูกหรือผิด เราไม่ได้อิงกฎหมายเป็นหลักแต่ถือเจตนารมณ์เป็นตัวหลัก ว่าเนื้อหาการกระทำนั้นมันถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ มันต้องยอมรับว่าใครออกแรงเท่าไหร่ ทำมาเท่าไหร่ ควรจะได้รับเท่าไหร่ ความเป็นธรรมมันเป็นตัวชี้ว่าถูกหรือผิด เมื่อไหร่เสียความเป็นธรรมเมื่อนั้นผิด ถ้าเมื่อไหร่เป็นธรรมเมื่อนั้นถูก
 
ที่ผ่านมามีบ้างหรือไม่ที่ทำเพื่อมวลมนุษยชาติจริงๆ แต่ในแง่กฎหมายกลับพ่ายแพ้?
 
        ต้องบอกว่า มี จริงๆ ไม่ต้องดูสิทธิบัตรอะไรอื่นมาก เราคงเคยได้ยินชื่อ มหาตมคานธี มีการกระทำอย่างหนึ่งของมหาตมคานธี ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ในอินเดียประชาชนยากจนมาก เจอเรื่องหนักอยู่เรื่องหนึ่งที่ว่า เกลือมันแพงมาก ซึ่งประเทศอินเดียนั้นมีทะเล 2 ฝากฝั่งยาวหลายพันกิโลเมตร ทำไมขาดแคลนเกลือ เพราะรัฐบาลอังกฤษที่มายึดครองอินเดียอยู่ออกกฎหมายว่า ทุกคนห้ามทำนาเกลือ เกลือทั้งประเทศอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลอังกฤษ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว พอเป็นอย่างนี้ราคาเกลือจึงสูงมาก มหาตมคานธี บอกว่าไม่ถูกต้องแล้ว นำพาชาวอินเดียเป็นแสนคนเดินเท้าไปยังชายฝั่งทะเลเพื่อไปทำนาเกลือกัน ประกาศอย่างเปิดเผย รัฐบาลอังกฤษก็บอกเป็นการละเมิดกฎหมาย สิทธิในการทำนาเกลือตามกฎหมายเป็นของอังกฤษเท่านั้นที่ยึดครองอินเดียอยู่ ก็เอาตำรวจมาเรียงแถวถือตะบอง มหาตมคานธีก็เดินเข้าไปตำรวจก็ตีหัวล้มตึงลงไป มหาตมคานธีไม่สู้เลย แต่เอาหัวให้ตีเฉยๆ อย่างนั้นแหละ เรียงแถวกันเข้าไปให้เขาตีหัวอย่างนั้นแหละ ทีละแถวๆ รัฐบาลอังกฤษบอกผิดกฎหมาย แต่คนอินเดียก็ยอมให้เขาตีหัว อยากตีก็ตีไป แต่พวกเขาก็ยืนยันที่จะไปทำนาเกลือ เพราะพวกเขารู้สึกว่ากฎหมายที่รัฐบาลอังกฤษออกนั้นมันไม่เป็นธรรม
 
        เป็นเหตุให้นักข่าวจากทั่วโลกแห่กันมาทำข่าวกันสดๆ แถวแล้วแถวเล่าด้วยความองอาจ และเรียกร้องความเป็นธรรม จนทำให้กระแสกดดันจากทั่วโลก ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องยอมเปิดว่า ให้คนอินเดียทำนาเกลือเองดีกว่า อย่างนี้ถามว่า มหาตมคานธี นั้นทำผิดกฎหมายหรือไม่ ตอบว่าทำผิดแต่เป็นธรรม เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม จนกระแสกดดันจากทั่วโลกที่เห็นด้วยกับความเป็นธรรม ทำให้กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นธรรม ฉะนั้นจะถือเอากฎหมายเป็นตัวตัดสินอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องดูว่าเนื้อหาสาระของเรื่องนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นธรรมก็ถูกไม่เป็นธรรมก็คือผิด ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป
 
ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ สมุนไพรไทย ที่ชาวต่างชาติเอาไปจดลิขสิทธิ์แทน เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้แบบนี้?
 
        ต้องเป็นเรื่องของทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน และนักวิชาการทั้งหลาย ต้องช่วยกันให้ความรู้เรื่องนี้ และตระหนักถึงความสำคัญ เพราะในโลกของการแข่งขันนั้น ผู้ที่รู้เท่าทันย่อมได้เปรียบ ต้องรู้เท่าทันเขาไม่เช่นนั้นก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบ มันไม่ใช่แค่ถูกแอบเอาเมล็ดพันธุ์พืชไปขึ้นสิทธิบัตรธรรมดาเท่านั้น เราคงเคยได้ยินคำว่าพืช GMO คือมีการตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ทนต่อโรคและศัตรูพืช โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยอะไรได้ มันสามารถให้ผลผลิตดี แต่คนก็จะกลัวว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีจริง เพราะมันไม่ใช่ของธรรมชาติ ถ้ากินไปแล้วจะมีโรคหรือเปล่าก็ไม่รู้
 
พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ที่ชาวต่างชาติเอาไปจดลิขสิทธิ์แทน
พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ที่ชาวต่างชาติเอาไปจดลิขสิทธิ์แทน
 
        แม้กระทั่งเรื่องยาก็เคยเกิดเรื่องมาแล้ว มีสมัยหนึ่ง ยาแอนตี้ไบโอติค เตตร้าซัยคลิน ออกมาใหม่ๆ ดังมากเลย เมื่อประมาณสัก 50 ปีที่แล้ว ดังไปทั่วโลกเลย ว่ามันมีประสิทธิภาพดีมากในการฆ่าเชื้อ หมอใช้กันมากที่สุด แล้วเกิดอะไรขึ้น คือเขาพึ่งมารู้ทีหลังว่า กรณีหญิงมีครรภ์หรือเด็กตัวเล็กๆ ที่กิน เตตร้าซัยคลิน เข้าไป ฟันจะเหลืองหมดเลย ฉะนั้นลูกของหมอรุ่นนั้นออกมาฟันเหลืองกันหมดเลย เพราะคุณพ่อคุณแม่ความรู้ดีเลยกินยาที่ถือว่าทันสมัยที่สุด แต่ผลออกมาคือลูกแย่เลย กว่าจะมารู้ผลข้างเคียงมันก็อีกหลายปีให้หลัง
 
        เขาจึงกลัวว่าพืช GMO เมื่อทานไปแล้วอีกหน่อยอาจเจอโรคที่คิดไม่ถึงหรือไม่ ทางยุโรปเขาต่อต้านแต่อเมริกากับจีนนั้นเดินหน้าลุย อเมริกาบุก และจีนประชากรมาก ถ้าไม่บุกเหมือนอเมริกาแล้ว อีกหน่อยตัวเองจะเสียเปรียบ เพราะว่าพืช GMO ถ้าประเทศใดผลิตไปก่อนแล้วสมมติว่ามันใช้ได้ระยะยาว ทุกคนยอมรับกันทั้งโลก ประเทศที่เทคโนโลยีตามเขาไม่ทัน ไม่ใช่ว่าเราปลูกของเก่าเราก็อยู่ต่อไปได้ แต่ถึงคราวจะอยู่อาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าพืช GMO ถ้าทำเหมือนกัน ลงแรงเท่ากัน แต่ผลผลิตที่ให้ต่อ 1 ไร่ มันมากกว่าที่เราเคยทำแต่ก่อนเท่าตัว
 
        ผลคือ ถ้าเราทำแบบเดิม ราคาข้าวเราก็จะขายสู้เขาไม่ได้ เพราะต้นทุนเราแพงและผลผลิตออกมาแล้วได้ครึ่งเดียว ราคาข้าวจากทั่วโลกก็จะลดลง แล้วเราก็ขาดทุน ถ้าจะให้อยู่ได้ก็ต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวจากเขามาถึงจะสู้เขาได้ พอปลูกเสร็จแล้วจะเก็บเมล็ดข้าวทำพันธุ์ไว้ใช้ปีหน้าก็ไม่ได้ จะต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากเขาเสมอเพราะกฎหมายบังคับว่าเขามีลิขสิทธิ์ มันเป็นเรื่องสิทธิบัตรแล้ว ที่จะต้องไปซื้อพันธุ์จากเขาเสมอเลย ฉะนั้นคนที่คิดสูตรนี้ขึ้นมาได้ก็จะรวยเอาๆ คนอื่นก็ปลูกไป ตัวเองไม่ต้องปลูก รับเงินค่าสิทธิบัตรอย่างเดียว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จีนเขาเห็นว่าอเมริกาพัฒนาไป ถ้าตัวเองไม่พัฒนาตามอีกหน่อยอาจสู้อเมริกาไม่ได้ จีนจึงเดินหน้าลุยเลย แต่ยุโรปยัง
 
ในด้านพระพุทธศาสนา เรื่องของลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรนั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
 
        ในพระพุทธศาสนาเราเอง เราค่อนข้างจะเปิดกว้าง อย่างความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสรู้ธรรม พระองค์ไม่ได้หวงความรู้เลย มีแต่เปิดกว้างอยากให้คนปฏิบัติตามเยอะๆ จะได้เข้าถึงกันมากๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกทั้งหลายก็ไม่ได้จดสิทธิบัตรอะไรเลย มีแต่เปิดกว้างให้คนมาศึกษา และพระองค์ก็สนับสนุนให้คนมีน้ำใจต่อกัน
 
        คนที่แข่งขันแล้วประสบความสำเร็จ ได้รายได้จากสิทธิบัตรมา ก็ไม่ควรจะว่าอะไรที่เกินเลยไป ต้องรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าอาศัยกฎหมายเป็นเกราะอิงพอถึงจุดหนึ่งก็จะมีปัญหา ฉะนั้นต้องมีน้ำใจ กฎหมายแค่เป็นเครื่องช่วย แต่ในกรอบของกฎหมายนั่นแหละ เจ้าของสิทธิบัตรเองจะต้องมีน้ำใจและคำนึงถึงความยุติธรรมของผู้บริโภคด้วย อย่างนี้จะอยู่ด้วยกันได้
 
มีวิธีการอย่างไรที่เราจะมีความคิดอิสระ ไม่ถูกบีบบังคับด้วยกรอบมากจนเกินไป?
 
        คนเราเองโดยทั่วไปเรานึกถึงการแข่งขัน อย่างทางด้านเทคโนโลยีก็จะคิดว่าใครจะฉลาดกว่ากัน ในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่ากัน ถือว่าเป็นชาติเทคโนโลยี แต่ในโลกปัจจุบัน การเรียนรู้ซึ่งกันและกันมันเร็วมาก ไม่ทิ้งห่างกันเท่าไหร่ กลายเป็นว่าการแข่งขันที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันต่อการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็คือ การแข่งขันว่าใครจะเป็นคนคุมมาตรฐานโลก
 
        ตัวอย่างเช่น ในยุคหนึ่งมีวีดีโอออกมามี VHS กับ Beta Max โดยเทคโนโลยี Beta Max ดีกว่า แต่ว่า โซนี่ เจ้าของ Beta Max ภูมิใจว่าของตัวเองเหนือกว่า ยังไงก็ต้องชนะแน่นอนเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ VHS รู้ว่าตัวเองด้อยกว่าหน่อยสู้ไม่ได้ ก็ใช้วิธีการป่าล้อมเมือง เอาพวกมากรุม คือ เปิดกว้างให้บริษัทไหนก็ได้ที่เช็คเทคโนโลยี VHS ได้ ผลคือ วีดีโอ VHS มีเนื้อหามาก ระบบ VHS สามารถเลือกหนังให้ดูได้มากกว่า สมมติว่า 1 พันเรื่อง แต่ Beta Max ได้ 100 เรื่อง แต่ออกมาภาพคมชัดสวยงาม แต่ดูได้จำนวนที่น้อยกว่า ส่วน VHS นั้นมีเป็นพัน ที่ไหนก็มี หาง่าย สุดท้าย VHS ก็ชนะ ผ่านไปไม่กี่ปี โซนี่ต้องประกาศเลิกผลิต Beta Max เจ๊งเลย
 
ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรมีหลักแนวคิดอย่างไร เพื่อให้เขามองทุกอย่างด้วยความเป็นธรรมได้?
 
        ทวนย้ำอีกครั้งว่า ขอให้ยึดความเป็นธรรม ผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายก็ให้ออกด้วยความเป็นธรรม ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ขอให้ถือความเป็นธรรม อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค และผู้บริโภคก็ต้องถือความเป็นธรรมด้วย อย่าเอาเปรียบผู้ผลิต ถ้าได้อย่างนี้แล้วทุกคนจะมาพบเจอกันที่ความพอดีได้ แล้วทุกอย่างจะลงตัว
 
        ขอฝากไว้ว่า ขอให้มั่นใจว่าคนไทยทำได้ เราก็ทำได้ ให้เราก็เป็นหนึ่งในเจ้าของสิทธิบัตร เจ้าของลิขสิทธิ์ ขอให้ทำจริงๆ เราจะพบว่าศักยภาพเราเองที่มีอยู่นั้นมากกว่าที่เราคิด ส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่มักจะขาดความมั่นใจ ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยทำได้ถ้ามั่นใจ เครื่องจักรจริงๆ ก็ผลิตได้ถ้ามั่นใจ ถ้ามีการสนับสนุนจากภาครัฐและทำอย่างเป็นระบบ ถ้าหาตลาดรองรับเขาแล้วให้การอุดหนุนช่วยทำให้สินค้าเขาราคาถูกกว่าชาวบ้านเขาหน่อย พอเริ่มพัฒนาไปได้พักเดียวเท่านั้น เราจะยืนหยัดอยู่ได้ ขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นและทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะพบว่าในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3-5 ปี เราจะพบว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้ามาเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลกได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด ศึกษาค้นคว้าให้ดีและทำให้เป็นระบบ แล้วเราจะพบว่าเราก็เป็นหนึ่งในเจ้าแห่งนวัตกรรมของโลกได้เหมือนกัน


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำไมจึงมีโรคระบาดเกิดขึ้นทำไมจึงมีโรคระบาดเกิดขึ้น

การเล่นกีฬามีส่วนในการเพิ่มพูนคุณธรรมได้อย่างไรการเล่นกีฬามีส่วนในการเพิ่มพูนคุณธรรมได้อย่างไร

ลูกควรจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้อย่างไรบ้างลูกควรจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้อย่างไรบ้าง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว