วัดโบสถ์บนบางคูเวียง


[ 7 ก.ย. 2557 ] - [ 18290 ] LINE it!

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง

     วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย 

     ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่หลวงปู่ได้ค้นวิชชาธรรมกายให้หวนกลับคืนมา ณ พระอุโบสถวัดโบสถ์บนบางคูเวียง วันนี้จึงอยากนำทุกท่านมาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของวัดโบสถ์บนกัน ซึ่งนำมาจากหนังสือ "ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย"ของอุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

     ข้อมูลที่นำมาในส่วนของวัดโบสถ์ (บน) นี้ เรียบเรียงโดย พระมหา ดร.วรัญญู วรญฺญู ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2550 ปัจจุบัน พ.ศ.2557 จึงอาจมีข้อมูลบางประการที่ไม่ตรงกับปัจจุบันเสียทีเดียว แต่ก็ได้บรรยากาศ และกลิ่นไอของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่หลวงปู่สด (หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ) ได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญสมณะธรรมอย่างอุกฤษฎ์ และได้ค้นพบธรรมะภายใน ณ อุโบสถหลังเดิมของวัดโบสถ์ (บน) แห่งนี้ อันกล่าวได้ว่าวัดโบสถ์ (บน) เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วโลก และอำนวยสุขให้แก่ผู้ปฏิบัติตามได้จริงในปัจจุบัน

 

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง
เรียบเรียงโดย พระมหา ดร.วรัญญู วรญฺญู

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง


      ณ ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันล้ำค่าแห่งบรรพบุรุษไทย

      วัดโบสถ์(บน) เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 20 ไร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีชื่อทางราชการว่า "วัดโบสถ์ (บน)" แต่โบราณเรียกกันว่า "วัดบางคูเวียง" ในกลอนนิราศสุพรรณเรียกแปลกไปว่า "บางโคเวียง"

      ในวรรณกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นักกวีได้ให้ความหมายของคำว่า "คูเวียง" ไว้ในทำนองเดียวกันว่าหมายถึง "ความอาลัยคิดถึงเมือง" ของพระมหากษัตริย์ในอดีต ที่ทรงรอนแรมมาจากวังมาถึงตำบลนี้แล้วทรงหวลพระทัยถึงเวียงวัง ดังโครงนิราศพระประธมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งเมื่อ พ.ศ.2377 ที่ว่า


คูเวียงใครขุดไว้ เป็นคู
เวียงบ่พานพบคู่ เปล่าอ้าง
เหมือนเรียมนิราศพธู ลับเนตร มาแม่
ชมแต่นามอ้างว้าง  อกว้าอาวรณ์ฯ

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง



และสุนทรภู่ ได้พรรณนาไว้ในกลอนนิราศสุพรรณ แต่งเมื่อ พ.ศ.2344 ว่า

บางคูเวียงเสียงสงัดล้วน  สวนไสว
เวียงชื่อคือท้าวไท  ท่านตั้ง
เวียงราชคลาดแคล้วไกล   กลับระทึก นึกเอย
ยามยากจากเมืองทั้ง  ถิ่นปลื้มลืมเกษมฯ

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง

ประวัติความเป็นมาของวัดโบสถ์บน

      ประวัติและผู้สร้งโบสถ์ (บน) ไม่แน่ชัด เป็นแต่มีเรื่องเล่าที่ปรกฏในหนังประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ ฑ.ศ.2526)ที่ว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรอยุธยาเคยมาประทับอยู่บริเวณที่ก่อตั้งวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุ ที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์คือ อุโบสถรูปเรือสำเภา อันหมายถึงการเดิทนทางสัญจรและการค้าในอดีต

     วัดบางคูเวียง จึงเป็นชื่อตามตำบลท้องถิ่น ส่วนคำว่า "วัดโบสถ์บน" หรือ "วัดโบสถ์ (บน) " มีที่มาอย่างไร ขอฝากให้ศึกษากันต่อ
วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2300 ในสมัยอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2310 พื้นที่โดยรอบวัดเป็นสวนและคลองซอย เป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนที่สงบและร่มเย็น

เหตุการณ์สำคัญวัดโบสถ์บน

     วัดโบสถ์ (บน) ถึงแม้จะเป็นวัดอยู่ในสวนแต่ก็มีความอัศจรรย์ของสถานที่แห่งนี้หลายอย่าง มีพระเถระที่ทีความสำคัญและทรงวิทยาคุณมาพักอาศัยบำเพ็ญสมณะธรรมหลายยุคหลายสมัย เช่น เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ดต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ดังมีหลักฐาน คือ มณฑปกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอกเศษ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร

     ถัดมาคือรพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งเป็นภิกษุหนุ่มได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนฯ มาจำพรรษาที่วัดนี้ และได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างอุกฤษฏ์ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บรรลุธรรม ณ อุโบสถหลังเดิมของวัด เมื่อวันเพ็ญเดือน 10 ตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2460 และต่อมาได้มีการปฏิบัติธรรมตามแนวหลวงพ่อวัดปากน้ำ สืบกันมาเป็นลำดับ

ภายในโบสถ์วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง.

 


     ระหว่างปี พ.ศ.2544-2546 พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้เป็นประธานดำเนินการบูรณะอุโบสถหลังเดิม โดยมีพระครูมงคลพัฒนคุณ (สังเวียน อภิชาโต) เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน) ในขณะนั้นเป็นกำลังสำคัญ และในการนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ,กรรมการมหาเถรสมาคม, แม่กองงานพระธรรมทูต, ประธานคณะพระธรรมจาริก, และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (ซึ่งคณะนั้นเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการเถระสมาคม) ได้เมตตาให้คำแนะนำ และอนุโมทนาในการบูรณะครั้งนี้ด้วย

     อุโบสถหลังเดิมของวัด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในความดูแลของกรมศิลปากร และมีบันทึกของกรมศิลปากรว่า เคยมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2475 เนื่องจากหน้ามุขของอุโบสถได้พังทลายลงมา ได้เปลี่ยนหน้ามุข และกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2500 ได้มีการซ่อมผนังที่เสื่อมสภาพ อีกครั้งหนึ่ง

    เนื่องจากทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2538 ทางวัดจึงได้ใช้อุโบสถหลังเดิม เป็นวิหารปฏิบัติธรรม และได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของคณะศิษยานุศิษ์ในพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำได้จาริกแสวงบุญ ปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกุศลตลอดปี

วัดโบสถ์บนบางคูเวียง


อาคารเสนาสนะ

     อุโบสถหลังใหม่กว้าง 39 เมตร ยาว 60 เมตร หลังคาจตุรมุข ยอดปราสาท สร้างเมื่อ พ.ศ.2538
     อุโบสถหลังเดิม กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว ลักษณะทรงไทยฐานเป็นเรือสำเภา ฝาผนังฉาบปูนเรียบ หน้าต่างลงรักปิดทองประดับเป็นลวดลาย รอบอาคารมีใบเสมาโบราณ ตั้งอยู่บนแท่นดอกบัวจำนวน 8 ใบ
     มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
     หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2502
     ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 24 เมตร ยาว 60 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2548
     กุฎีสงฆ์จำนวน 15 หลัง เป็นอาคารไม้ และอาคารตึกครึ่งไม้


ปูชนียวัตถุ

พระประธาน พระพุทธรูปบริวาร ในอุโบสถหลังเดิม 28 องค์ และพระอัครสาวก 2 องค์
พระประธานในอุโบสถหลังใหม่
พระพุทธบาทจำลองกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอกเศษ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างถวายไว้เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว
เจดีย์โบราณ 4 องค์ หน้าอุโบสถหลังเดิม


การศึกษาสงเคราะห์

     ทางด้านทิศเหนือของวัด เป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลมีชื่อเป็นทางการว่า โรงเรียนวัดโบสถ์ ตั้งมากว่า 100 ปี ปัจจุบันเปิดสอนในระดับประถมศึกษาตั้งแต่ชั้น อนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน)



พระสมุห์อนุวัฒน์ อายุวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง
พระสมุห์อนุวัฒน์ อายุวฑฺฒโน 
เจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน


     เนื่องจากวัดโบสถ์ (บน) เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาโดยตลอดถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลานาน มิได้มีการบันทึกไว้ จึงไม่สามารถสืบค้นรายนามเจ้าอาวาสได้ทั้งหมด มีรายนามเท่าที่สืบค้นได้ดังนี้

1. พระอธิการขาวอินทร์    พ.ศ.2437-2454
2.พระอธิการชุ่ม   พ.ศ.2454-2471
3.พระอธิการนก  พ.ศ.2471-2485
4.พระอธิการสุด   พ.ศ.2485-2493
5.พระครูนันทการโกศล  พ.ศ.2493-2523
6.พระอธิการแก้ว ฐิตวํโส  พ.ศ.2523-2532
7.พระครูมงคลพัฒนคุณ (สังเวียน อภิชาโต)  พ.ศ.2532-2550
8.พระสมุห์อนุวัฒน์ อายุวฑฺฒโน  พ.ศ.2550 - ถึงปัจจุบัน


บทความเกี่ยวกับวัดโบสถ์(บน)

ตามรอยมหาปูชนียาจารย์ ตอน วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในเส้นทางธุดงค์ธรรมชัย ปี พ.ศ.2555
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในเส้นทางธุดงค์ธรรมชัย ปี พ.ศ.2556

วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในเส้นทางธุดงค์ธรรมชัย ปี พ.ศ.2557

ร่วมสถาปนาสร้างสถานที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ประมวลภาพธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2 วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2556 วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง จ.นนทบุรี
ประมวลภาพธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2556 วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง จ.นนทบุรี
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความแตกต่างของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ความแตกต่างของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กับงานด้านการปกครองสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กับงานด้านการปกครอง

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กับงานด้านศาสนศึกษาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กับงานด้านศาสนศึกษา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พระพุทธศาสนา