พิษน้ำเมาถล่มทั่วโลก ทำคนตาย ชม.ละ 2,100 คน


[ 11 ส.ค. 2549 ] - [ 18260 ] LINE it!

พิษน้ำเมาถล่มทั่วโลก ทำคนเป็นโรคตายชั่วโมงละ 2,100 คน ไม่นับเมาแล้วขับ ผลวิจัยระบุ ร้ายแรงกว่า ยาบ้า ยาอี ชี้ ในโลกนี้ไม่มีสินค้าอื่นสร้างความพิการเท่าเหล้าอีกแล้ว นานาชาติประชุมในไทย ประกาศตั้งเครือข่ายนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์แห่งเอเชีย-แปซิฟิกที่กรุงเทพฯ เคลื่อนไหวลดภัยน้ำเมาทั่วโลก
       
       ที่โรงแรมเอเชีย องค์กรวิชาการและเอ็นจีโอจาก 13 ประเทศ ร่วมประชุมจัดตั้ง “เครือข่ายนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์แห่งเอเชียแปซิฟิก” ระหว่างวันที่ 11-12 ส.ค.2549 โดยประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ในหัวข้อ “นโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งมีสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าของประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน
       
       ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคแอลกอฮอล์ทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤต    องค์การอนามัยโลก ประมาณว่า มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์แล้วกว่า 76.3 ล้านคนทั่วโลก เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ เสียชีวิต 1.8 ล้านคนต่อปี หรือชั่วโมงละกว่า 2,100 คน โดยรัฐบาลไทยตั้งใจที่จะลดปัญหาดังกล่าว เหล้า เบียร์ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงอันดับแรก ที่ต้องมีมาตรการดูแลแตกต่างไปจากสินค้าธรรมดา จึงได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์แห่งชาติขึ้น และกำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระยะ
       
       “แม้ที่ผ่านมา มาตรการทั้งเชิง นโยบายและการรณรงค์ในประเทศไทย ได้เริ่มทำให้ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์ลดลง รวมทั้งอุบัติเหตุจราจรลดลงในสองปีที่ผ่านมา แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังมีนโยบายสาธารณะที่จำเป็น เช่น การห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ การจำกัดสถานที่จำหน่าย การเพิ่มภาษีและกระบวนการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้ต้องเผชิญแรงเสียดทานหลายด้าน การแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงต้องเป็นปัญหาระดับสากล การที่ผู้ที่ทำงานด้านนี้ในภูมิภาคและทั่วโลกมาร่วมมือกัน นับเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทำนองเดียวกับที่การควบคุมยาสูบได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว” ศ.นพ.สุชัย กล่าว
       
       ด้านนายดีเรค รัธเธอร์ฟอร์ด ประธานเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก หรือ กาปา (GAPA - Global Alcohol Policy Alliance) กล่าวว่า รัฐบาลไทยที่มีวิสัยทัศน์ที่จัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากภาษีสุราและยาสูบ และได้ประสานการทำงานด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง นับ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งนานาชาติควรนำไปใช้       เพราะทุกวันนี้ ไม่มีส่วนใดในโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพร้ายแรงอันดับที่ 3 รายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 3.2 และยังเป็นสาเหตุของโรคภัยต่างๆถึงร้อยละ 4 ของโลก
       
       “เราไม่ได้ต่อสู้กับสินค้าธรรมดา แต่เป็นสารเสพติดอันตรายสูงสุด อันดับ 5 รองจากเฮโรอีน โคเคน บาร์บิทูเรต และเมตาโดน โดยจัดว่าอันตรายกว่ายากล่อมประสาทและยาบ้า กัญชา แอลเอสดีและยาอี ถือได้ว่า ไม่มีสินค้าอื่นใด แม้กระทั่งบุหรี่ที่จะเป็นที่แพร่หลายและเป็นปัจจัยต่อความพิการได้เท่ากับแอลกอฮอล์” นายดีเรค กล่าว
       
       ประธานเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก กล่าวว่า การตั้งเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ในเอเชีย-แปซิฟิก (APAPA- Asia Pacific Alcohol Policy Alliance) ที่กรุงเทพฯในครั้งนี้ จะช่วยสานต่อเครือข่ายโลกให้สมบูรณ์ขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะต้น ในการร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านนโยบายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ขององค์การ
อนามัยโลก ซึ่งจะจัดทำเพื่อรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี พ.ศ.2550 นี้
       
       ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในฐานะประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ มาตรการที่จะควบคุมเฉพาะภายในแต่ละประเทศทำได้จำกัด เช่น เขตการค้าเสรีได้ทำให้ภาษีศุลกากรของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศต่างๆ ลดลงอย่างมาก และยังมีความเชื่อมโยงเรื่องการตลาดของอุตสาหกรรมข้ามชาติ และอื่นๆ อีกหลายด้านอีกด้วย นักรณรงค์และผลักดันนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก จึงได้ประสานงานกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการขึ้นเพื่อรับมือปัญหาข้ามชาติดังกล่าว โดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการประกาศตั้งเครือข่ายนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์แห่งเอเชีย-แปซิฟิกขึ้น ซึ่งเครือข่ายได้รับเป็นศูนย์ประสานงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยมีผู้เข้าประชุมประมาณ 40 คน จากจำนวน 18 ประเทศ ซึ่งเป็นผู้แทนจากองค์กรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก
 
ที่มา-


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
"พเยาว์ พูลธรัตน์" ตายสงบ สิ้น "ฮีโร่''''โอลิมปิก"

ผวาผีสาวยาบ้า! นิมนต์พระ สวดไล่วิญญาณผวาผีสาวยาบ้า! นิมนต์พระ สวดไล่วิญญาณ

ตัวอย่างอันตรายยาซื้อทางเน็ต คนไข้หญิงถึงสูญ เสียการมองเห็นตัวอย่างอันตรายยาซื้อทางเน็ต คนไข้หญิงถึงสูญ เสียการมองเห็น



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS