เข้าพรรษา เข้าถึงธรรม


[ 21 ก.ค. 2559 ] - [ 18264 ] LINE it!

สมาธิ
วันเข้าพรรษา
เข้าพรรษา เข้าถึงธรรม

โดย พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร
 

     เมื่อกล่าวถึงคำว่า "เข้าพรรษา" จะนึกถึงภาพที่พระภิกษุสงฆ์ท่านเดินลัดคันนา แบกกลด ฝนตก ชายจีวรเลอะเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนดิน   แม้สาเหตุของการบัญญัติให้พระภิกษุจำพรรษาตลอดสามเดือนจะมีเหตุมาจากการที่ไม่ประสงค์ให้พระภิกษุไปเดินเหยียบย่ำข้าวกล้า ผลิตผลทางการเกษตรของชาวนา เพราะเป็นช่วงฤดูเพาะปลูก แต่ก็เป็นประโยชน์จากการที่พระสงฆ์ไม่ได้ออกนอกวัด ไม่ได้จาริกไปที่ไหน ทำให้ท่านได้อยู่กับที่ อยู่แต่ในวัด ได้มีเวลาประพฤติปฎิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น

     จากช่วง 9 เดือนที่แต่ละรูปได้ออกปฏิบัติศาสนกิจตามสถานที่ต่างๆ ทั้งออกเทศนาตามสถานศึกษา อบรมเยาวชน หรือเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ญาติโยมในที่ห่างไกลจากวัด 9 เดือนที่ออกพรรษาพระท่านบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนา และแก่ศรัทธาสาธุชนเป็นอันมาก  ในช่วงเข้าพรรษานี้จึงเป็นโอกาสดีของพระภิกษุที่จะได้บำเพ็ญสมณธรรมทำประโยชน์ส่วนตนให้งอกงามคือการได้มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง

     ช่วง 3 เดือนนี้ อากาศกำลังสบาย ฝนตก ไม่ร้อนเกินไป และไม่หนาวเกินไป เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก ทำให้พระแต่ละรูปได้หันกลับเข้ามามองตนเองว่า "ตนนั้นมีนิสัยอะไรที่ไม่ดีบ้าง" จะได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตนเอง

      บวกกับพระสงฆ์แต่ละรูปได้มีโอกาสอยู่ร่วมกัน ได้เห็นข้อบกพร่องของกันและกัน ทำให้มีโอกาสได้ตักเตือนกัน เพราะ "ธุลีในดวงตาของตน ยากที่ตนจะมองเห็น" การได้มีเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรบอกข้อบกพร่องของตนนั้นจึงถือเป็น "ขุมทรัพย์" เป็นทางในการเจริญก้าวหน้าไปสู่ "อริยทรัพย์"​ภายในต่อไป  ทำให้การศึกษาสิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เจริญงอกงามมากกว่าเดิม  
 
 

     นอกจากจะได้ปฏิบัติธรรม ได้แก้ไขข้อบกพร่องของตนแล้ว เข้าพรรษายังเป็นช่วงที่ได้สร้างความดีให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น พระภิกษุแต่ละรูปมักใช้โอกาสที่ตนได้อธิษฐานจำพรรษา อธิษฐานตั้งใจสร้างบุญให้มากกว่าเดิม เช่น บางรูปตั้งใจสวดพระปาฏิโมกข์ให้ได้ บางรูปตั้งใจนั่งสมาธิให้ได้วันละ 3 ชั่วโมง บางรูปก็ตั้งใจอ่านพระไตรปิฎกให้จบเล่ม เป็นต้น นั่นคือได้มีโอกาสอธิษฐานบ่มบารมีให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

     ในส่วนของพุทธศาสนิกชน ช่วงเข้าพรรษาก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เจริญรอยตามการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ คือ
 
         1. ได้ปฏิบัติธรรมให้มากกว่าเดิม
         2. ได้สำรวจข้อบกพร่องของตน และพัฒนาแก้ไขนิสัยไม่ดีของตน
         3. ได้สร้างบุญทั้งทำทาน รักษาศีล และบุญอื่นๆ ให้มากกว่าเดิม

     จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติในช่วงเข้าพรรษานี้เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงธรรมทั้งสิ้น และในช่วงเดือน สิงหาคม กันยายน และตุลาคม ที่อยู่ระหว่างช่วงเข้าพรรษานี้ ก็มีวันที่เนื่องด้วยมหาปูชนียาจารย์ ทำให้ใจของเราผูกพันกับครูบาอาจารย์ นั่นคือ

    วันที่ 27 สิงหาคม เป็น "วันธรรมชัย" คือวันที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ได้ก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ คือวันที่หลวงพ่อได้ออกบวชเป็นพระภิกษุนั่นเอง

    วันที่ 10 กันยายน เป็น "วันคล้ายวันละสังขารของคุณยายอาจารย์" มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายจากพระเดชพระคุณหลวงปู่มาถึงหลวงพ่อธัมมชโย และผู้เป็นครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อฯด้วย

    วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 คือ "วันครูวิชชาธรรมกาย" ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน สำหรับปี พ.ศ. 2559 นี้ ตรงกับวันที่ 16 กันยายน เป็นวันที่พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ท่านได้เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติธรรมและได้ค้นพบวิชชาธรรมกายให้หวนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

    วันที่ 10 ตุลาคม คือ "วันคล้ายวันเกิดด้วยรูปกายเนื้อของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ" คือวันเกิดของหลวงปู่นั่นเอง ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

    จะเห็นได้ว่าช่วงเข้าพรรษานี้มีวันที่เนื่องด้วยมหาปูชนียาจารย์ถึง 4 วันด้วยกัน หากจิตใจเกาะเกี่ยวกับหลวงปู่ หลวงพ่อ คุณยายตลอดพรรษาก็จะทำให้กาย วาจา ใจ ใสสะอาดบริสุทธิ​์เป็นภาชนะรองรับบุญที่จะเกิดขึ้นช่วงเข้าพรรษา และในวันบุญใหญ่ต่างๆ เช่น วันพระ วันอุโบสถ วันที่เนื่องด้วยมหาปูชนียาจารย์ เป็นต้น ทำให้ใจเกาะเกี่ยวกับพระรัตนตรัยทำให้สามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายๆ

     การจะตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ได้ตลอดต่อเนื่อง 3 เดือนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเมื่อตั้งใจทำได้ระยะหนึ่งก็จะมีอุปสรรคต่างๆ มาขัดขวางทำให้ไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจได้ต่อเนื่องทุกวัน การจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปได้ ก็ต้องอาศัยความเพียรอย่างมาก แม้มีปัญหาก็ต้องตั้งใจทำสิ่งที่ตนอธิษฐานไว้ให้สำเร็จให้ได้   และตรงนี้เองคือทางมาแห่ง "บารมี" ในการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้ หากทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายมากเท่าไร บารมียิ่งมากขึ้นเท่านั้น หากทุ่มเทในระดับเอาชีวิตเป็นเดิมพัน บารมียิ่งทับทวีขึ้นไปอีก หากตั้งใจจะนั่งสมาธิให้ได้ทุกวันตลอดพรรษา แม้ต้องแลกด้วยความยากลำบากหรือแม้ด้วยชีวิตก็ยอมขอเพียงให้ได้ "นั่งสมาธิทุกวัน"

 


     การได้ใช้โอกาสช่วงเข้าพรรษาตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันนี้ มีเรื่องราวของปรากฏในสมัยพุทธกาล ขอยกตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่งนั่นคือ "พระจักขุบาล" หลังจากที่ท่านได้บวชศึกษาพระธรรมวินัยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว พระจักขุบาลจึงชักชวนเพื่อนสหธรรมิกอีก 60 รูปจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง เมื่อฤดูเข้าพรรษามาถึงชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสจึงอาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ณ ที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้น และตั้งใจอุปัฏฐากบำรุงเป็นอย่างดี

     ในวันอธิษฐานพรรษา พระจักขุบาลถามเพื่อนภิกษุสงฆ์ว่า ในพรรษานี้ " ท่านทั้งหลายจะจำพรรษาด้วยอิริยาบถเท่าใด ? " พระภิกษุแต่ละรูปต่างตอบว่าจำพรรษาในอิริยบถ 4 คือ นั่ง ยืน เดิน และนอน ทันใดนั้นเองพระจักขุบาลผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของพระพุทธองค์ ผู้ตั้งใจออกบวชเพื่อแสวงหามรรคผล ก็กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายเป็นผู้ประมาทแล้ว ชื่อว่า อบายภูมิทั้ง 4 เป็นเหมือนเรือนที่รอให้เจ้าของเรือนกลับไปได้ในทุกเวลา ในพรรษานี้กระผมจักจำพรรษาด้วยอิริยาบถ 3" พระจักขุบาลตั้งใจจำพรรษาโดยการ นั่ง ยืน และเดินเท่านั้น ไม่ปรารถนาจะเหยียดหลังนอนตลอดพรรษา ตั้งใจจะทำความเพียรตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

    เมื่อเวลาผ่านไปพระจักขุบาลได้ทำตามที่ตนทั้งใจอย่างอุกฤษฏ์จนดวงตาเกิดความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก เมื่อชาวบ้านที่เป็นหมอมาตรวจรักษา ได้ให้ยาหยอดตาแก่ท่าน และแนะนำให้ท่านนอนพัก เพื่อโรคลมในดวงตาจะได้ทุเลาลงและหายในที่สุด

     พระจักขุบาลได้หยอดตาตามที่หมอให้ไว้ แต่ไม่ได้นอนพักตามคำแนะนำของหมอ ความเจ็บปวดในดวงตาจึงไม่ทุเลาลงเลย เมื่อความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมแรงกล้าเช่นนี้ แม้ความเจ็บปวดในดวงตาจะทวีมากยิ่งขึ้น พระจักขุบาลก็ไม่ยอมอยู่ในอิริยาบถนอน ได้แต่ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

    ในค่ำคืนหนึ่งความเจ็บปวดได้เพิ่มขีดความรุนแรงจนพระจักขุบาลไม่อาจจะทนได้ เกิดความกระสับกระส่ายเป็นอย่างมาก เมื่อความเจ็บปวดถึงขีดสุด ท่านจึงนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ และข่มความเจ็บปวดไว้ ในขณะที่ความคิดในจิตเกิดขึ้นว่า "บัดนี้ เราเป็นผู้มีความเที่ยงตรงต่อมัจจุราชแล้ว เหตุไฉนจะยังประมาทอยู่เล่า.." เมื่อภิกษุผู้เป็นปุถุชนประสบต่อความเจ็บปวดแสนสาหัสอยู่เช่นนั้น ไม่มีใครช่วยเหลือท่านได้ มีหน้ามุ่งตรงต่อความตาย หากจะหันหลังให้กับการบำเพ็ญสมณธรรม คือ กลับไปสู่อิริยบถนอน ก็ชื่อว่าผู้ประมาทโดยแท้ ทั้งที่ทุกวินาทีคือความตาย เพราะเหตุนั้นพระจักขุบาลจึง "ยอมตาย ไม่ยอมทิ้งธรรม" ตั้งใจปฏิบัติธรรมแม้ความเจ็บปวดจะถึงขีดสุดแล้วก็ตาม

    ในกลางค่ำคืนนั้นเอง ดวงตาทั้งสองของพระจักขุบาลก็ได้แตกออก เลือดก็ไหลออกจากเบ้าตาทั้งสองข้าง ในขณะเดียวกันกิเลสอาสวะทั้งหลายก็ "แตก" เช่นกัน ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในเวลาเดียวกันกับที่ดวงตาทั้งสองของท่านแตกไม่ก่อนไม่หลังกัน พระจักขุบาลได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่นอนตลอดช่วงเข้าพรรษา และท่านก็ได้บรรลุธรรมในที่สุด


    ท่านสาธุชนทั้งหลาย ช่วงเข้าพรรษานี้จึงเป็นช่วงสำคัญในการประพฤติปฎิบัติธรรมตามแบบอย่างอันดีงามที่มีปรากฏในสมัยพุทธกาล ทั้งจะได้ขัดเกลานิสัยที่ไม่ดีของตน และได้อธิษฐานทำความดีอื่นๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ในช่วงเข้าพรรษานี้จึงขอให้พุทธศาสนิชนทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ตั้งใจปฏิบัติธรรม เพราะผู้ประมาทชื่อว่าผู้ตายแล้ว เรื่องที่ยกมาเบื้องต้นนี้ สมด้วยพุทธพจน์ว่า

อุฎฺฐาเนนปฺปมาเทน   สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี      ยํ โอโฆ นาภิกีรติ ฯ

     ผู้มีปัญญาพึงสร้างที่พึ่งให้กับตนเองที่กิเลสอาสวะไม่สามารถท่วมถึงได้  ด้วยความเพียร ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการข่มใจตนเอง ฯ

     ขอให้พรรษานี้เป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาทุกท่าน ขอให้เจริญในธรรม ฯ


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
“สัมมาอะระหัง” รวยเร็ว รวยแรง สำเร็จจริง“สัมมาอะระหัง” รวยเร็ว รวยแรง สำเร็จจริง

เราจะได้อะไรจากการสวดมนต์อย่างถูกหลักวิชชาเราจะได้อะไรจากการสวดมนต์อย่างถูกหลักวิชชา

วิบากกรรมออนไลน์ ดิ่งลงขุมลึกกว่าที่คาดคิดวิบากกรรมออนไลน์ ดิ่งลงขุมลึกกว่าที่คาดคิด



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะสอนใจ