ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 5


[ 20 ก.ค. 2550 ] - [ 18275 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 5


        จากตอนที่แล้ว ท่านสิริวัฒกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า ในบ้านของอนุเศรษฐีทั้งหลายก็มีกุมารเกิดในวันเดียวกับมโหสถถึงหนึ่งพันคน คิดอยากจะได้กุมารเหล่านั้นมาเป็นเพื่อนเล่นกับมโหสถ จึงได้จัดส่งของกำนัล ทั้งยังได้มอบนางนมให้ดูแลกุมารน้อยๆ เหล่านั้นอีกนางละหนึ่งคน

        มโหสถกุมารค่อยๆ เจริญวัยขึ้น โดยมีกุมารผู้เป็นสหายพันคนรายล้อมรอบข้าง เป็นทั้งเพื่อนเล่นและบริวาร จวบจนอายุได้ ๗ ปี เกียรติคุณของมโหสถกุมารก็ร่ำลือไปทั่วปาจีนยวมัชฌคาม ถึงความเฉลียวฉลาด และความสามารถที่เป็นเยี่ยม  ทั้งเป็นที่รักและเอ็นดูของชนทั้งหลาย

        วันหนึ่งขณะที่วิ่งเล่นอยู่กับเหล่าสหาย  ฝนได้ตกลงมา ทำให้เหล่ากุมารต้องรีบหนีฝน วิ่งชนกันหกล้มเข่าแตก เท้าบวม มโหสถกุมารเห็นความลำบากของเพื่อนๆ  จึงออกปากชวนกันสร้างศาลา โดยร่วมกันออกเงินคนละหนึ่งกหาปณะ แล้วเรียกนายช่างมาเจรจารับเหมาก่อสร้าง

         เมื่อได้ตกลงเรื่องค่าจ้างกันแล้ว นายช่างจึงเริ่มปรับพื้นดินให้เรียบเสมอ แล้วลงมือขึงเชือกเพื่อวัดระดับพื้นที่ มโหสถกุมารได้เห็นนายช่างขึงเชือกไม่ถูกแบบที่ตกลงกันไว้ ก็ตรงรี่เข้าไปบอกว่า นายช่าง ท่านขึงเชือกอย่างนี้ ก็ผิดแบบนะซิ ขอให้พวกท่านช่วยกันขึงใหม่เถิด

        นายช่างก็ไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของมโหสถกุมาร ด้วยสำคัญว่าเป็นเพียงเด็กน้อย ทั้งหมดจึงยังคงก้มหน้าก้มตาขึงเชือกแบบเดิมของตนต่อไป

        มโหสถกุมารเห็นนายช่างยังนิ่งเฉยอยู่ ก็พูดซ้ำเป็นคำรบสอง คราวนี้นายช่างนั้นเงยหน้าขึ้น ตอบมโหสถน้ำเสียงที่ทั้งเคารพทั้งเอ็นดูว่า“นายท่าน เราได้ศึกษาศิลปะงานช่างนี้มาอย่างไร ก็เพียรก่อสร้างไปตามนั้น พวกเราจะทำจนสุดกำลังความสามารถของตน ขอท่านจงเชื่อมั่นเถิด”

        มโหสถกุมารค้านว่า “แม้เพียงการขึงเชือกเท่านั้น พวกท่านก็ยังทำไม่ถูก แล้วท่านจะรับทรัพย์ของเรา สร้างศาลาได้อย่างไรกัน”

        “พ่อหนูเอย พวกเราทำดีที่สุดแล้ว หากพ่อมโหสถต้องการจะให้ดียิ่งไปกว่านี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วละ” นายช่างกล่าวตอบด้วยสีหน้าห่อเหี่ยว บ่งชัดว่าเริ่มท้อใจ

         “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ท่านจงส่งเชือกนั้นมาให้กระผม เดี๋ยวกระผมจะขึงให้เอง”
กล่าวดังนี้แล้ว มโหสถก็รับเชือกจากมือนายช่างนำมาขึงเสียเอง

        ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ เชือกที่ขึงนั้นก็เป็นประหนึ่งว่าท้าววิสสุกรรม เทพเจ้าแห่งศิลปะการก่อสร้างมาขึงให้ เกินกว่าวิสัยที่นายช่างทั่วไปจะสามารถทำได้ นายช่างเห็นดังนั้นก็พากันประหลาดใจ ที่เด็กตัวเล็กแค่นี้สามารถทำงานยากๆ ที่แสนซับซ้อนได้

        ครั้นแล้วมโหสถจึงถามว่า “พวกท่านจะสามารถขึงเชือกตามที่กระผมบอกให้ได้ไหมเล่า”

        พวกนายช่างต่างยอมรับในความสามารถของมโหสถ จึงรับปากพร้อมกันด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “ได้ขอรับ  นายท่าน”

        นับแต่นั้นมา มโหสถกุมารจึงเป็นผู้วางแผนงาน และคอยควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเองในทุกขั้นตอน โดยจัดสรรศาลาออกเป็นส่วนๆ ภายในแบ่งเป็นห้องๆ ประกอบไปด้วยห้องสำหรับคนยากไร้ได้พักพิง ห้องสำหรับนักบวชอาคันตุกะที่จาริกมาจากแดนไกลได้พำนัก   ห้องสำหรับคนเดินทางแวะพักผ่อนให้หายเหนื่อยล้า ห้องเก็บสินค้าและสัมภาระสำหรับพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมาค้าขาย รวมถึงห้องสำหรับหญิงอนาถาใช้คลอดบุตร

        ห้องเหล่านี้ล้วนมีซุ้มประตูออกทางด้านหน้า ภายในศาลามีห้องโถงใหญ่ เป็นสนามเล่น มีโรงวินิจฉัยคดี และที่ประชุมดุจโรงธรรมสภา ภายในศาลายังได้ให้จิตรกรวาดจิตรกรรมที่ผนังรายรอบห้องทุกห้อง ล้วนเป็นยอดศิลปะที่วิจิตรอลังการชวนทอดทัศนา

        เมื่อได้สร้างศาลาสำเร็จแล้ว มโหสถบัณฑิตก็มาดำริว่า “เพียงแต่ศาลาเท่านั้น ยังหางดงามไม่ แต่หากว่าศาลาหลังนี้มีสระโบกขรณีอยู่รายรอบ ความงามก็จักปรากฏเฉิดฉายขึ้น”

        คิดดังนี้แล้วจึงสั่งการให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้รอบศาลา เป็นเวิ้งวุ้งคุ้งน้ำ คดเคี้ยวนับพันคุ้ง  ทั้งยังให้ทำท่าน้ำถึง ๑๐๐ ท่า เพื่อให้มหาชนได้ลงอาบชำระกาย ล้วนดารดาษไปด้วยปทุมชาติหลากพันธุ์เต็มสระ    รอบขอบสระก็ให้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างพันธุ์ และไม้ผลยืนต้นไว้ร่มครึ้มงามตา ไม้ดอกไม้ผลเหล่านั้นต่างชูดอกออกใบให้ผลสลับกันไม่ขาด ทั้งนี้เพราะมโหสถได้ขอทรัพย์เพิ่มเติมจากท่านสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา ซึ่งก็ได้เพิ่มเติมจากบิดาอีกหลายพันกหาปณะ

        ในที่สุดศาลาหลังนี้จึงปรากฏว่าสง่างามล้ำสมัย เปรียบได้กับสุธรรมาเทวสภาบนสรวงสวรรค์ ได้ชะลอมาสู่ภพมนุษย์

        ด้วยเหตุที่มโหสถบัณฑิตได้จัดการทุกสิ่ง โดยมุ่งเพิ่มพูนทานบารมีของตนให้ยิ่งๆขึ้นไป ศาลาหลังนี้จึงได้ก่อประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก

        ก็ปรากฏว่ามีประชาชนพากันมาพักค้างเนืองแน่นทุกวันมิได้ขาด แม้นผู้คนที่สัญจรไปมาต่างก็ได้รับความสะดวกสบายครบครัน    ยิ่งกว่านั้นในบางคราวเมื่อถึงกาลอันเหมาะสม มโหสถบัณฑิตยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม ชักนำมหาชนที่มาพักค้างให้ตั้งอยู่ในกองการกุศล  แนะนำในสิ่งอันเป็นกรณียกิจ คือ สิ่งที่ควรทำ เป็นความถูกต้องดีงาม เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ
 
        ให้เว้นห่างจากอกรณียกิจ คือสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นความผิดความชั่ว ที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทษภัยและความเสื่อม

        หมู่ชนที่ได้สดับรสอรรถรสธรรมที่แสดงเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก  ต่างอนุโมทนาสาธุการ กล่าวแซ่ซ้องสรรเสริญ จึงทำให้เกียรติคุณอันงดงามของพระโพธิสัตว์ฟุ้งเฟื่องระบือไกลไปทั่วทุกทิศานุทิศ

        ในกาลนั้น มโหสถบัณฑิตได้รับความเคารพ นบนอบ บูชา ได้เป็นเสมือนกาลสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสด็จอุบัติขึ้นในโลกทีเดียว
        ย้อนกล่าวถึงพระเจ้าวิเทหราช นับแต่วันที่ท่านอาจารย์เสนกะได้ทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้ง

        พระประสงค์ที่จะเสาะหาบัณฑิตคู่พระหฤทัยไว้ช่วยเหลือราชกิจ ก็ยังมั่นคงเช่นเดิม แม้บัดนี้จะล่วงเลยมานานถึง ๗ ปีแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา แต่เหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 6ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 6

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 7ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 7

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 8ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 8



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก