ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 19


[ 5 ต.ค. 2550 ] - [ 18265 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 19


        จากตอนที่แล้ว  พระเจ้าวิเทหราช ครั้นได้สดับคำรายงานเรื่องที่ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาทดลองปัญญามโหสถโดยผ่านทูตคนสนิท ก็ทรงอัศจรรย์พระทัยปรารถนาจะสดับเรื่องนั้นจากมหาอำมาตย์ผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง จึงมีรับสั่งให้เรียกตัวอำมาตย์กลับคืนสู่พระนคร

        มหาอำมาตย์ครั้นกราบทูลเล่าเรื่องราวจบลง  จึงแสดงความเห็นของตนทิ้งท้ายแด่พระองค์ว่า   ธรรมดาแก้วมณีอันเลอค่า  ย่อมเป็นที่ปรารถนาของชนทั้งปวง  เมื่อพบแล้วไม่รีบคว้าไว้  หากสูญหายไปก็น่าเสียดาย ขอทรงโปรดให้เรียกตัวมโหสถเข้าเฝ้าโดยเร็วเถิด

        พระเจ้าวิเทหราชทรงพอพระหฤทัยในคำกราบทูลของมหาอำมาตย์ยิ่งนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจจะตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองได้ในทันที จึงผินพระพักตร์มาหาอาจารย์เสนกะ แล้วจึงตรัสหารือว่า   ท่านอาจารย์เห็นสมควรที่เราจะเรียกตัวมโหสถมาเข้าเฝ้าได้หรือยังล่ะ

        ฝ่ายอาจารย์เสนกะ เมื่อได้ยินว่าท้าวสักกเทวราชได้เสด็จมาเพื่อประกาศปัญญานุภาพของ มโหสถก็ยิ่งขุ่นเคืองใจ  ครุ่นคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถยับยั้งพระองค์ไว้ได้

        เมื่อได้ช่องกราบทูล จึงรีบทูลคัดค้านและชี้แจงเหตุผลในทันทีว่า การที่มโหสถเป็นผู้มีปัญญามากนั้นก็เป็นที่ประจักษ์แล้ว  แต่ในยามนี้บ้านเมืองก็เป็นปกติสุขดี จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันใด ที่จะต้องรีบนำตัวมโหสถมาสู่ราชสำนัก ดังนั้น ขอจงทรงรอดูอีกสักพักเถิด

        แม้คำชี้แจงของท่านอาจารย์เสนกะ ฟังดูก็พอจะมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่อาจทำให้ทรงคล้อยตามได้ในทันที พระองค์จึงทรงแย้งว่า “ทำไมจะต้องรออีกเล่าท่านอาจารย์ ในเมื่อการวินิจฉัยคดีของมโหสถที่ผ่านมา ก็ปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่า เธอเป็นผู้มีปรีชาสามารถ คู่ควรแก่การยกย่องเชิดชูไว้ในฐานะราชบัณฑิตของเราแล้วนี่นา”

        ท่านอาจารย์เสนกะฟังพระดำรัสของเจ้าเหนือหัวแล้ว คิดว่า การจะกราบทูลทัดทานลอยๆ เกินไป อาจจะทำให้ทรงขุ่นเคืองพระทัยได้ จึงคิดไตร่ตรองหาช่องทางที่มีเหตุมีผลแยบคายกว่าเดิม เพื่อประวิงเวลาไว้ให้นานที่สุด 

        “ขอเดชะ พระบารมีไม่พ้นเกล้าฯ ตามที่พระองค์ทรงกังวลพระทัยว่าจะเนิ่นนานเกินไปนั้น ข้าพระบาทขอกราบทูลว่า มิได้เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน พระเจ้าข้า” ท่านเสนกะยืนยัน

        ท้าวเธอจึงทรงรับสั่งถามว่า  “อย่างไรกัน ท่านอาจารย์ เราไม่เข้าใจ ไหนท่านลองแถลงมาให้กระจ่างซิ”

        อาจารย์เสนกะจึงถือโอกาสกราบทูลว่า “ขอเดชะ ปวงปราชญ์แต่โบราณกาลมา ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ธรรมดาว่าการงานที่เร่งด่วนเกินไป โดยมิได้ไต่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ย่อมมีโอกาสผิดพลาดพลั้งเผลอได้ง่าย และจักเป็นเหตุให้ล่าช้าในภายหลัง ส่วนการงานที่วางแผนอย่างรอบคอบแต่ต้น แม้ว่าจะใช้เวลาคิดอ่านนานสักหน่อย แต่ย่อมจะให้ผลที่น่าพอใจในที่สุด พระเจ้าข้า”
 

        ท้าวเธอยังไม่ทรงพอพระทัย ตรัสถามด้วยพระสุรเสียงดังกึกก้องไปทั่วท้องพระโรงว่า “ท่านอาจารย์ท่านหมายความว่า จะให้เรารอไปเรื่อยๆ น่ะหรือ”

        “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระบาทเพียงแต่เห็นด้วยเกล้าว่า พระองค์ควรจะถือโอกาสในระหว่างที่รอคอยอยู่นี้ ทดลองวัดกำลังปัญญาของมโหสถไปด้วย  ดังที่โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า กำลังม้าทราบได้ด้วยการทดลองความเร็วฝีเท้า กำลังโคอาจทราบด้วยการบรรทุกสัมภาระ  ส่วนกำลังแห่งบัณฑิตนั้น ย่อมทราบได้ด้วยการงาน พระเจ้าข้า” ท่านเสนกะรีบกราบทูล

        ท่านเสนกะทราบพระราชอัธยาศัยดีว่า หากพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย หรือไม่เข้าพระทัยสิ่งใด ก็จักทรงทักท้วงขึ้นทันที   ฉะนั้นท่านเสนกะจึงไม่รอ
ให้พระองค์ต้องรับสั่งถาม  รีบกราบทูลชี้แจงว่า “การจะวัดกำลังแห่งบัณฑิตนั้น ก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด  เพราะปรีชาญาณของแต่ละคน ไม่ว่าจะมากน้อยสักปานใด แต่ก็อาจจะวินิจฉัยได้ด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการเสมอกัน นั่นคือ ความรอบรู้ ความหลักแหลม และความคมคาย

        แม้มโหสถก็เช่นกัน หากเป็นผู้รอบรู้ หลักแหลม และคมคายเช่นนั้นจริง สมกับที่เป็นบัณฑิตแล้วไซร้ ก็จักสามารถผ่านการทดสอบได้อย่างดี ดั่งทองชมพูนุทที่แม้จะผ่านการทดสอบด้วยวิธีใดๆ ก็ยังคงเป็นธาตุบริสุทธิ์ตลอดกาลทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า”

        ท่วงทีวาจาและศิลปะการอ้างเหตุผลของอาจารย์เสนกะ ยังคงได้ผลดีอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่นานเท่าไร พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงคล้อยตามคำของท่านเสนกะจนได้
 
        “อืมม... น่าฟังมากท่านอาจารย์ หากจะทดลองให้มั่นใจเสียก่อน ก็ดีเหมือนกัน งั้นก็เป็นอันตกลงตามนั้น แล้วเราค่อยมาคิดปัญหาทดลองกันอีกที”

        “ขอเดชะ เรื่องปัญหาที่จะทดลองนั้น ให้เป็นหน้าที่ของฝ่าพระบาทเอง   พระองค์โปรดทรงวางพระหฤทัยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” ท่านเสนกะกราบทูลเพื่อให้สมพระทัยของพระเจ้าวิเทหราช

        และแล้ววันหนึ่ง ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามต้องตื่นตระหนกตกใจกันไปถ้วนหน้า เมื่อมีพวกราชบุรุษจากราชสำนักมาปรากฏตัวขึ้นที่หมู่บ้าน  พวกเขานำข่าวสารเร่งด่วนมาพร้อมกับท่อนไม้ตะเคียนกลมยาว 1 คืบ อันเป็นวัตถุแห่งปัญหา ครั้นแล้วจึงป่าวประกาศพระบรมราชโองการให้ชาวเมืองได้รับทราบว่า

        “ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามทุกคนจงฟัง พระเจ้าวิเทหราช เจ้าเหนือหัวแห่งมิถิลานคร ใคร่จะทราบว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ทางไหนเป็นโคน ทาง
ไหนเป็นปลาย ทั้งนี้ให้นำคำตอบกลับมาแจ้งแก่เราโดยเร่งด่วน ภายในระยะเวลาชั่ววันหนึ่งกับอีกคืนหนึ่ง อย่าให้เกินกว่านั้น มิเช่นนั้น จะต้องถูกปรับเป็นพินัยหลวงถึง 1000 กหาปณะ”
 

        ปัญหาครั้งนี้ เกิดขึ้นจากบุคคลต้นคิดคืออาจารย์เสนกะเพื่อทดลองปัญญาของมโหสถโดยเฉพาะ  เป็นปัญหาที่ตั้งขึ้นอย่างมีเงื่อนไข คือถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะต้องถูกปรับมากมายเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แล้วมโหสถจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 20ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 20

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 21ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 21

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก