ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 20


[ 10 ต.ค. 2550 ] - [ 18264 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 20


        จากตอนที่แล้ว  พระเจ้าวิเทหราชทรงยืนยันว่า ความเป็นบัณฑิตของมโหสถ ก็ปรากฏชัดเจนแล้วว่า เธอเป็นผู้มีปรีชาสามารถ คู่ควรแก่การยกย่องไว้ในฐานะราชบัณฑิตของเรา ทำไมจะต้องรอให้เนิ่นนานอีกเล่า

        อาจารย์เสนกะคิดว่า เราจะต้องประวิงเวลาไว้ให้นานที่สุด จึงทูลว่า   โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า กำลังม้าทราบได้ด้วยความเร็ว กำลังโคอาจทราบด้วยการบรรทุกสัมภาระ ส่วนกำลังแห่งบัณฑิตนั้น ย่อมทราบได้ด้วยการงาน  การจะวัดกำลังแห่งบัณฑิตนั้น อาจจะวินิจฉัยได้ด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ นั่นคือ ความรอบรู้ ความหลักแหลม และความคมคาย หากมโหสถเหมาะสมที่จะเป็นราชบัณฑิตจริง ก็จะต้องผ่านการทดสอบได้อย่างดี ดั่งทองชมพูนุท แม้จะผ่านการทดสอบด้วยวิธีใดๆ ก็ยังคงเป็นธาตุบริสุทธิ์

        พระเจ้าวิเทหราชทรงคล้อยตามคำของท่านเสนกะจึงตรัสว่า  หากจะทดลองให้มั่นใจเสียก่อน ก็ดีเหมือนกัน งั้นก็เป็นอันตกลงตามนั้น แล้วเราค่อยมาคิดปัญหาทดลองกันอีกที

        ดังนั้นในวันหนึ่ง พวกราชบุรุษก็ได้มาปรากฏตัวขึ้นที่หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม พร้อมกับท่อนไม้ตะเคียนกลมยาว 1 คืบที่กลึงมาอย่างดี โดยให้แก้ปัญหาว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ให้ส่งคำตอบกลับมาภายในระยะเวลาชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง หากเกินกว่านั้น จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 1000 กหาปณะ

        พระบรมราชโองการที่เหมือนจะคาดคั้นเอาคำตอบเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามตะวันออกทุกคนถึงกับตะลึงพรึงเพริด   เพราะไม่ทราบต้นสายปลายเหตุมาก่อน ว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์สิ่งใดกันแน่ ต่างคนก็ต่างคิดในใจว่า “พระราชาของเรานี่ ช่างแปลกเสียจริง พระองค์ทรง
มีเหตุผลเช่นไร ถึงได้ตั้งโจทย์อะไรที่ยุ่งยากถึงเพียงนี้”  แม้คิดเห็นตรงกันเช่นนั้น แต่ก็หาได้มีใครกล้าขัดพระบรมราชโองการ เพราะต่างเกรงกลัวต่อพระราชอาชญาด้วยกันทั้งสิ้น จึงได้แต่น้อมรับพระบรมโองการไว้ด้วยความจงรักภักดี
 
        ขณะที่เริ่มประชุมปรึกษาหารือกัน ชายหนุ่มท่าทางใจร้อนคนหนึ่ง ก็กล่าวขึ้นอย่างไม่พอใจว่า “ปัญหาที่ตั้งมานี้ไม่เข้าท่าเลย ไม่รู้ว่าจะถามไปทำไมกัน”  ชายหนุ่มซึ่งเป็นเพื่อนกัน ก็กล่าวเสริมว่า “นั่นสิ  ยุ่งยากชะมัด ทำไมถึงต้องให้พวกเราตอบด้วย”

        ฝ่ายผู้เฒ่าเริ่มจะรำคาญ จึงปรามขึ้นว่า “ปัญหาว่า ‘ทำไมพวกเราจะต้องตอบ’  น่ะ เป็นปัญหาที่หาคำตอบไม่ได้ อย่าไปตั้งขึ้นมาอีกเลย เพียงแค่ปัญหาเดียวก็สิ้นปัญญาจะตอบอยู่แล้ว  ป่วยการเปล่าๆ เก็บปัญญาไว้คิดอ่านปัญหาเฉพาะหน้านี้กันเถิด”  ว่าแล้วก็หยิบไม้ตะเคียนท่อนนั้นส่งต่อกันไปเรื่อยๆ หลายคนพยายามลูบคลำไปมาหลายรอบ แต่ครั้นจนปัญญาก็ส่งต่อ และอดไม่ได้ที่จะบ่นพึมพำว่า “เฮ้อ...ใครจะไปหยั่งรู้ได้ สองด้านก็กลมเท่ากันทั้งนั้น ลายไม้ก็เหมือนกัน ไม่เห็นจะต่างกันที่ตรงไหน”

        ชายชราลองแล้วลองอีก จนเริ่มท้อใจ ในที่สุดจึงเสนอว่า “หรือเราจะลองไปปรึกษาพ่อมโหสถบุตรของท่านสิริวัฒกะ ท่านทั้งหลายเห็นว่าอย่างไร”

        ทุกคนต่างเห็นด้วย ได้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ก็ดีเหมือนกัน เพราะในถิ่นนี้ก็ไม่เห็นว่าใครจะมีปัญญาเกินพ่อมโหสถของเราไปได้ อย่างนั้นก็อย่าช้าเลย พวกเรารีบไปหาพ่อมโหสถกันเถอะ”    และแล้วบ้านของท่านสิริวัฒกเศรษฐี ก็กลายเป็นที่ประชุมของชาวบ้านที่พากันมาขอความช่วยเหลือจากมโหสถอย่างคับคั่ง ขณะนั้นมโหสถยังอยู่ในสนามเด็กเล่น มีเพียงท่านสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา ที่กำลังนั่งรับฟังปัญหาเหล่านั้นด้วยความไม่สบายใจนัก 

        “ดูสิท่านเศรษฐี พระบรมราชโองการของเจ้าเหนือหัวแห่งชาวเรา พระองค์มิได้ทรงประกาศพระราชประสงค์ให้รู้เลย จู่ๆก็ทรงส่งปัญหาเป็นการด่วน หรือปรารถนาจะทดลองพ่อมโหสถของเราก็เป็นได้” ตัวแทนชาวบ้านเรียนปรึกษาท่านสิริวัฒกะ

        “ที่ท่านกล่าวมาก็มีเหตุผลอยู่ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็น่าจะระบุมาเฉพาะพ่อมโหสถโดยตรงเท่านั้น มิใช่รึ” ท่านสิริวัฒกะแย้ง

        “ก็ไม่แน่หรอกนะท่าน บางทีอาจเป็นเพราะพระองค์ทรงพระกรุณาให้พวกเราได้ลับสมอง เป็นการลองใช้ปัญญากันบ้าง จึงได้ทรงบังคับมาจนถึงพวกเราด้วย” อีกฝ่ายกล่าวแย้ง

        “ที่ท่านว่ามาก็มีเหตุผล  ถ้าหากได้ใช้ปัญญาเสียบ้าง ก็จะเป็นการเพิ่มพูนปัญญาของตนให้ยิ่งขึ้นไป หาใช่เป็นการตัดรอนปัญญาไม่” ท่านสิริวัฒกะพอใจในคำตอบที่ได้รับ 

        จากนั้นจึงได้กล่าวต่อว่า “การได้คิดได้อ่านเป็นการลับสติปัญญาได้ทางหนึ่ง ฉะนั้นความเติบโตของปัญญาอยู่ที่ใช้ปัญญาอย่างเหมาะสมตามทางที่ควร” 

        “จะมาหาปัญญาอะไรกับพวกเรา ซึ่งมีความรู้แค่เพียงการไถการหว่าน ทำการงานไปตามประสาของตน”  เสียงชาวบ้านบ่นไม่หยุด

        “เอาเถอะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามทีเถิด อย่าได้ถือเป็นประมาณนักเลย แต่เมื่อใดได้ลองฝึกลองหัดพินิจพิเคราะห์กันเสียบ้าง ก็เป็นวิธีที่จะกระตุ้นความคิดความอ่านได้ไม่มากก็น้อย” ท่านสิริวัฒกะให้เหตุผล

        “ใช่ๆ” หลายคนขานรับแสดงว่าเห็นด้วยแล้วก็ถามกลับว่า “แล้วท่านเศรษฐีคิดหาคำตอบได้แล้วหรือยังละ”

        ท่านเศรษฐีนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะยอมรับว่า “แม้ข้าพเจ้าเองก็ตกอยู่ในฐานะเดียวกันกับพวกท่านนั่นละ ยังไม่อาจจะตอบให้ชัดเจนได้ดอก”

        “ท่านเศรษฐี ข้าว่าเรื่องนี้ พ่อมโหสถของเราจะต้องรู้แน่ ท่านโปรดให้คนไปตามมาเถิด”

        สิริวัฒกะเศรษฐีไม่รอช้า รีบให้คนไปตามมโหสถมาทันที เพียงชั่วครู่หนึ่ง มโหสถกุมารพร้อมด้วยเหล่าสหายก็มาถึง มโหสถกุมารเข้าไปใกล้บิดา น้อมไหว้ด้วยเคารพ แล้วเอ่ยถามว่า  “ท่านพ่อให้คนไปตามกระผมมา ด้วยเรื่องอันใดหรือขอรับ”

        “เจ้าจงดูนี่ซิลูกรัก” สิริวัฒกะเศรษฐีกล่าว พลางยื่นท่อนไม้ตะเคียนคืบหนึ่งส่งให้มโหสถดู

        “พระราชาทรงมีพระบรมราชโองการมา ให้พวกเราพิจารณาท่อนไม้นี้ว่า ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย แม้นไม่รู้จะทรงปรับสินไหม 1000 กหาปณะ เราทุกคนในที่นี้ ต่างจนปัญญาไปตามๆกัน ยังไม่อาจจะชี้ได้เลย ว่าทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ลูกพอจะรู้ได้ไหมล่ะ” ปัญหาใหม่ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้านได้มาถึงมโหสถแล้ว ส่วนว่าท่านจะแก้ปัญหานี้อย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 21ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 21

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 22

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 23ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 23



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก