นักดาราศาสตร์เตรียมรับมือดาวหางชนโลก


[ 26 ส.ค. 2549 ] - [ 18258 ] LINE it!

  ในการประชุมใหญ่ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union - IAU) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็กในระหว่างวันที่ 14-25 สิงหาคม 2006 นอกจากนักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะมาสะสางปัญหานิยามของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะกันใหม่ หลังจากการค้นพบเทหวัตถุดวงใหม่หลายดวงนอกวงโคจรของดาวเนปจูน
ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโตกันแล้ว

ที่ประชุมยังหยิบยกเรื่องภัยคุกคามจากดาวหางและดาวเคราะห์น้อยประเภท "เทหวัตถุใกล้โลก" (Near-Earth Objects - NEOs) มาพิจารณากันด้วย ซึ่งไอเอยูแถลงว่าได้จัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาศึกษาภัยคุกคามจากเทหวัตถุ
ใกล้โลกอย่างละเอียดและกว้างขวางยิ่งขึ้น

เทหวัตถุใกล้โลกคือ ดาวหางและดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่มีวิถีโคจรตัดกับวิถีโคจรของโลก ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวหางและดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตรหรือใหญ่กว่าแล้วจำนวน 1,100 ดวง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่จะมีอานุภาพในการ
ทำลายล้างทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว

โลกในอดีตเคยถูกดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดจนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบทั้งหมดสูญพันธุ์เกิดขึ้น
ในปลายยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิก (251 ล้านปีก่อน) ซึ่งเรียกกันว่ายุคแห่งการล้มตายครั้งยิ่งใหญ่ (the great dying)

และอีกครั้งหนึ่งในปลายยุคครีเตเชียส-เทอร์เทียรี เมื่อ 65 ล้านปีก่อนซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จนหมดโลก ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งสุดท้ายที่ทังกัสกา ไซบีเรีย เมื่อปี 1908 อานุภาพการทำลายในครั้งนั้นเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 15 เมกะตัน ทำให้ผืนป่าแบนราบกว่า 2,150 ตารางกิโลเมตร โชคดีที่มันไม่ได้ชนโลกในเขตชุมชนหนาแน่นอย่างเมืองใหญ่ๆ ของโลก


นิค ไคเซอร์ นักดาราศาสตร์ของสถาบันดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย เจ้าของโปรแกรม Pan-STARRS ซึ่งใช้กล้องดิจิตอล 4 ตัวสแกนท้องฟ้าเพื่อตรวจจับดาวหางและดาวเคราะห์น้อยกล่าวว่า "เป้าหมายของเราคือการค้นหาดาวเคราะห์น้อยนักฆ่าเหล่านี้ให้พบ
ก่อนที่พวกมันจะพบเรา"

ส่วนจีโอวานนี วอลเซคชี จากสถาบันฟิสิกส์แห่งชาติอิตาลีบอกว่า เป้าหมายหลักก็คือ สร้างระบบเตือนภัยอย่างถาวรเหมือนอย่างระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิในมหาสมุทรแปซิฟิก บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ให้โลกมีเวลาพอที่จะตอบโต้ภัยคุกคาม เช่นส่งจรวดยิงเทหวัตถุใกล้โลกเพื่อหันเหทิศทางหรือส่งยานอวกาศดันให้มัน
เปลี่ยนวิถีโคจรที่ไม่เป็นอันตรายต่อโลก

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้คิดค้นวิธีการกำจัดดาวเคราะห์น้อยหรือ
ดาวหางที่จะชนโลกไว้หลายวิธี อาทิ การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายอย่างในภาพยนตร์เรื่องอมาเกนดอน การใช้ฝูงยานอวกาศซึ่งมีสว่านเจาะลงใต้พื้นผิวและดันมันออกไป และการใช้กระจกรับแสงอาทิตย์จากยานอวกาศส่องไปยังพื้นผิวเพื่อให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งจะทำให้มันเปลี่ยนวิถีโคจรได้ แต่จะเลือกใช้วิธีการใดจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของดาวเคราะห์และดาวหางแต่ละดวง
ซึ่งมีความแตกต่างกัน


ทุกวันนี้องค์การนาซามีโปรแกรมตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกที่ชื่อว่า "NASA"s Spaceguard Survey" ซึ่งสามารถตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่ได้แล้วจำนวน 800 ดวง และอีก 103 ดวงอยู่ในบัญชีการเฝ้าติดตาม และนาซาหวังว่าจนถึงปี 2008 จะสามารถตรวจพบเทหวัตถุใกล้โลกได้จำนวน 90%

ขณะที่สภาคองเกรสสหรัฐอเมริกาได้ขอให้องค์การนาซากำหนดแผนที่จะตรวจจับตำแหน่ง ความเร็ว วิถีโคจร ของเทหวัตถุใกล้โลกขนาด 140 เมตรซึ่งสลัวๆ ให้เสร็จภายในปี 2020 ด้วย

เดวิด มอริสัน นักวิทยาศาสตร์นาซาซึ่งจะเป็นประธานทีมงานพิเศษที่ไอเอยูจะตั้งขึ้นให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบเทหวัตถุใกล้โลกทุกสัปดาห์แทนที่จะเป็นทุกปีเหมือนเมื่อก่อน

ไอเอยูยังให้ความมั่นใจว่าดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (99942 Apophis) จะไม่ชนโลกในปี 2029 แต่โคจรเฉียดโลกในระยะใกล้เพียง 18,640 ไมล์ หรือ 30,000 กิโลเมตร (ใกล้โลกมากกว่าดาวเทียมพาณิชย์หลายดวง) ซึ่งคนในเอเชียและแอฟริกาเหนือจะสามารถชมดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยตาเปล่าในวันที่ 13 เมษายน 2029

เมื่อปีก่อนนักวิทยาศาสตร์กังวลใจกับดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสขนาด 300 เมตรซึ่งการคำนวณในครั้งนั้นพบว่าโลกมีโอกาสเท่ากับ 1 ใน 5,500 ที่จะถูกชนในปี 2036 การชนของมันจะมีอำนาจทำลายล้างมหานครนิวยอร์กและปริมณฑลจนราบเรียบ ทว่าการคำนวณใหม่พบว่าโลกมีโอกาสถูกชนโดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เท่ากับ 1 ใน 30,000

มหันตภัยจากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางกำลังเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ตื่นตัวมากกว่าที่ผ่านมา เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2006 ที่รัฐโคโลราโด องค์การนาซาได้จัดประชุมเวิร์กช็อปเพื่อประเมินและหาวีธีการที่ดีที่สุดที่จะตรวจจับ จำแนกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกรวมทั้งหาวิธีการดันให้เทหวัตถุใกล้โลก
ออกจากวิถีโคจรที่จะชนโลก

การประชุมนี้เป็นโอกาสเดียวกันกับที่ดาวเคราะห์น้อย 2004 XP14 ขนาด 410-920 เมตร โคจรเฉียดโลกเพียง 268,624 ไมล์ (432,308 กิโลเมตร) หรือ 1.1 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ทุกๆ 1,500 ปี จะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสเฉียดโลก แต่ยังไม่มีสถิติว่าดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกอย่างที่เกิดขึ้นที่ทังกัสกาจะเกิดขึ้นทุกกี่ปี

ในทรรศนะของจีโอวานนี วอลเซคชี แล้ว ในที่สุดมนุษยชาติจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่เขาเรียกมันว่า
กระสุนจากอวกาศทุกดวงได้ เขาบอกว่าหลุมอุกกาบาตบนโลกเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่าได้เกิดอะไรขึ้น

"การชนได้ก่อกำเนิดดาวเคราะห์ขึ้น และการชนอีกเช่นกันที่ทำให้ดาวเคราะห์พบจุดจบ" เขากล่าว

ที่มา -


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
"บูดาเบลส" ยึดธรรมะพาชีวิตรุ่ง ปฏิวัติค่านิยมวัยโจ๋ ทำตัวมีสาระ

สังคมเสื่อม!!! พบวัยรุ่นอายุ14-19 คลอดลูกปีละ5หมื่นสังคมเสื่อม!!! พบวัยรุ่นอายุ14-19 คลอดลูกปีละ5หมื่น

ข่าวร้าย! ใกล้หมดเวลาค่าโทรฯ ราคาถูกข่าวร้าย! ใกล้หมดเวลาค่าโทรฯ ราคาถูก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS