ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 92


[ 25 พ.ค. 2551 ] - [ 18272 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 92

    จากตอนที่แล้ว อาจารย์ทั้ง ๔  ครั้นเห็นว่า สิ่งที่ตนทำลงไปนั้นกลับกลายเป็นว่า ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนบารมีของมโหสถขึ้นไปอีก ก็พากันแค้นใจยิ่งนัก  จึงมาปรึกษาหารือกันใหม่ว่า “บัดนี้ มโหสถมียศใหญ่เป็นถึงเสนาบดี พวกเราสิ กลับอับเฉาเหงาหงอยลงทุกวัน พวกเราจะเอาอย่างไรกันดี”

แล้วอาจารย์เสนกะก็เริ่มออกความเห็นว่า “เราจะต้องทำให้พระราชาทรงเคลือบแคลงในมโหสถให้ได้ ว่ามโหสถน่ะ เป็นคนมีลับลมคมใน เป็นผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ”

    เมื่อเห็นว่าอาจารย์ทั้ง ๓ เริ่มสนใจ อาจารย์เสนกะจึงแนะนำแผนร้ายว่า        “พวกเราต้องเข้าไปหามโหสถด้วยกัน   แล้วถามมโหสถด้วยคำถามว่า  “ขึ้นชื่อว่าความลับ    ควรบอกแก่ใครจึงจะดี หากมโหสถตอบว่า “ความลับไม่ควรบอกแก่ใครทั้งนั้น”

เพียงเท่านี้ก็พอแล้วที่เราจะนำความข้อนั้น ขึ้นกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า  มโหสถเป็นคนมีลับลมคมใน  และอาจเป็นข้าศึกแก่พระองค์เมื่อไหร่ก็ได้”

    อาจารย์เสนกะ เมื่อเห็นว่าทุกคนเริ่มเห็นพ้องตรงกันและเข้าใจอุบายของตนดีแล้ว  ก็ได้กำหนดวันทำการทันที เมื่อถึงวันนัดหมายก็ได้พาอาจารย์เหล่านั้นออกเดินทางไปยังเรือนของ มโหสถบัณฑิตโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากมโหสถเป็นอย่างดี

หลังจากได้สนทนาปราศรัยกันตามสมควรแล้ว อาจารย์เสนกะจึงเอ่ยถึงธุระที่พากันมาหา มโหสถบัณฑิตว่า  “พ่อมโหสถ ข้าพเจ้าใคร่ขอโอกาสถามปัญหาท่านสักข้อหนึ่งเถิด”

    “จะเป็นไรไปเล่าท่านอาจารย์ จะถามสักกี่ข้อก็ได้ เชิญถามมาเถิด หากสิ่งนั้นข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าก็ยินดีจะวินิจฉัยให้” มโหสถบัณฑิตเปิดโอกาสให้ถามได้

    “คืออย่างนี้พ่อบัณฑิต พวกข้าพเจ้าน่ะ มีปัญหาสำคัญที่ถกเถียงกันมานาน แต่แล้วก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จึงได้พากันมาหาท่าน เพื่อหวังพึ่งปรีชาของท่านให้ช่วยวินิจฉัยชี้ขาด”

    “ปัญหาอะไรหรือท่านอาจารย์” มโหสถบัณฑิตซักด้วยความอยากรู้ พลางคิดในใจว่า “คราวนี้อาจารย์เสนกจะมาไม้ไหนอีก”

    อาจารย์เสนกะไม่รอช้า รีบถามตรงประเด็นโดยไม่อ้อมค้อมว่า “พ่อบัณฑิต พวกข้าพเจ้าใคร่จะทราบคติในการดำรงชีพที่แน่ชัดว่า บุคคลที่ปรารถนาจะประกอบกิจอันเป็นประโยชน์   ควรจะตั้งตนอยู่ในคุณธรรมข้อใดเป็นเบื้องต้น”

    “ข้อนี้ไม่ยากนี่ท่านอาจารย์ ความสัตย์ชื่อว่าเป็นคุณธรรมที่บัณฑิตควรมีอยู่ในใจ ฉะนั้น ความสัตย์หรือความจริงใจย่อมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด” ท่านมโหสถตอบอย่างจัดเจนราวกับเป็นผู้เจนจบในคดีโลก

    “ทำไมถึงต้องเป็นความสัตย์ด้วยล่ะ จะมีอย่างอื่นก่อนมิได้หรือ” ท่านเสนกะแย้งด้วยใคร่จะทราบเหตุผล

    มโหสถบัณฑิตก็ย้อนถามบ้างว่า  “ธรรมดาเสาที่จะใช้เป็นหลักของเรือนได้ ต้องเป็นไม้มีแก่น ที่มีเนื้อแน่น เรือนนั้นจึงจะตั้งอยู่ได้นาน ใช่หรือไม่” 
 
    “ใช่ พ่อบัณฑิต”

    “หลักภายนอกยังต้องตรงและแข็งแกร่ง ฉันใด หลักภายในก็ฉันนั้น  ยิ่งต้องซื่อตรงหนักแน่น เช่นเดียวกัน   แล้วท่านยังจะเห็นคุณธรรมอย่างอื่น ที่ควรเป็นหลัก ยิ่งไปกว่าความสัตย์อีกหรือ” มโหสถบัณฑิตถามย้ำ

    “ไม่มีเลย พ่อบัณฑิต ความเป็นคนจริงประเสริฐนัก”   อาจารย์เสนกะรับรอง

    มโหสถบัณฑิตจึงสรุปเพื่อยืนยันมติของตนอีกครั้งว่า “ถูกแล้วท่านอาจารย์ ความเป็นคนจริง พูดจริง ทำจริง เป็นคุณสมบัติที่ถือเป็นหลักของคนได้แน่”

แล้วอาจารย์เสนกะก็รุกถามถึงประเด็นสำคัญต่อไปว่า “ผู้ดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์จริงแล้ว ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป”

    “ก็ควรที่จะแสวงหาทรัพย์ เพิ่มพูนทรัพย์ให้มากเข้า เพื่อความเป็นปึกแผ่นของตนน่ะสิ

    ท่านเสนกะยังไม่หมดความสงสัย จึงถามต่อไปว่า “เมื่อมีทรัพย์เป็นปึกแผ่นแล้ว ก็เป็นอันยุติกันเพียงนี้ หรือว่ายังมีกิจอันใดที่จะต้องทำต่อไปอีก พ่อบัณฑิต

    “ยังมีสิท่านอาจารย์”  มโหสถตอบอย่างฉะฉาน “แม้นมีทรัพย์มากมายก่ายกอง แต่จะเรียกว่าเป็นผู้สมบูรณ์แล้ว หาควรไม่ ทรัพย์อำนวยความสุขให้ท่านได้ก็จริงอยู่ แต่ทรัพย์นั้นก็อาจอำนวยทุกข์ให้แก่เจ้าของทรัพย์ได้เหมือนกัน  ความเป็นปึกแผ่นของทรัพย์ถึงจะเป็นคุณเพียงไร  แต่ถ้ายังต้องตกอยู่ในวงล้อมของผู้ริษยา บุคคลก็ไม่อาจจะมีความสุขอยู่ในกองเงินกองทองเหล่านั้นได้
 
เพราะเมื่อมองไปรอบตัว ก็เต็มไปด้วยศัตรูคู่แค้นผู้เร่าร้อนไปด้วยไฟแห่งริษยา หากต้องทนอยู่ในท่ามกลางกองเพลิงเช่นนั้น ที่ไหนท่านจะนอนตาหลับลงได้”

    “อืมม..ถ้าเช่นนั้น ควรจะต้องทำอย่างไรต่อไปล่ะท่าน” อาจารย์เสนกะถาม

    “หากว่ามีทรัพย์มั่งคั่งแล้ว   บัณฑิตก็พึงแสวงหามิตรสหายสืบไป ยิ่งมีมิตรมากก็ยิ่งดี ความอุ่นหนาฝาคั่งด้วยมิตรเป็นสิ่งที่น่ายินดี” มโหสถอธิบาย   

    “แต่ข้าพเจ้ายังสงสัยว่า   ผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์ ใคร ๆ ต่างก็จะรี่เข้าหาทั้งนั้น  แล้วไยจึงต้องแสวงหามิตรให้เหนื่อยเปล่าด้วยเล่า” อาจารย์เสนกะโต้กลับ

    มโหสถบัณฑิตก็แย้งทันทีว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ   การได้มิตรหัวประจบมามากมาย จะมีประโยชน์อะไร การคบหามิตรเช่นนั้น ยังไม่เรียกว่าเป็นบัณฑิต
เพราะบัณฑิตย่อมดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือจะต้องเลือกคบมิตร หากได้มิตรสหายร่วมสุขร่วมทุกข์   ช่วยคิดช่วยอ่าน   ตลอดถึงร่วมเป็นร่วมตายด้วยจึงจะนับว่าเป็นบัณฑิตที่จริงแท้”

    “ข้าพเจ้าเข้าใจแล้ว” อาจารย์เสนกะรับคำ   พร้อมรุกคืบคำถามต่อไปว่า “เมื่อคบมิตรแล้ว จะพึงปฏิบัติต่อมิตรนั้นอย่างไรอีกหรือไม่” ถ้อยสนทนาของบัณฑิตทั้ง 2 ล้วนเต็มไปด้วยสาระน่ารู้ ซึ่งเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของการครองเรือน ว่าหากอยากประสบความรุ่งเรืองตามวิสัยโลกก็ต้องทำดังนี้ แต่มโหสถบัณฑิตจะตอบอย่างไรอีกนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 93ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 93

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 94ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 94

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 95



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก