แคร์ทำไมก็แค่ "โลกร้อน"


[ 2 ก.ย. 2549 ] - [ 18255 ] LINE it!

  “โลกร้อน” มีอะไรให้น่าสนใจหรือ ร้อนนักก็เปิดแอร์เย็นๆ นั่งจิบกาแฟร้อน ก็ไม่เห็นจะต้องไปเดือดร้อน หลายคนจะคิดเช่นนี้และมองปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งยังหนักหัว แต่ใครจะสำนึกได้ว่าเราก็เหมือน “กบ” ที่ถูกโยนใส่น้ำในหม้อตั้งไฟ เมื่อน้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นจนเดือดเราก็ไม่มีเรี่ยวแรงกระโดดหนี
       
       ปัญหาโลกร้อนพูดกี่ทีๆ ก็เหมือนเดิมไม่พ้น น้ำแข็งละลาย-น้ำท่วมโลก แต่นิตยสาร “จีเอ็ม” (GM) ก็จัดให้มีการเสวนากันในหัวข้อ “ภาวะโลกร้อน ปัจจุบันและวันพรุ่งนี้” ซึ่งถอดความมาจาก The Day after Tomorrow ภาพยนตร์ฮอลลิวูดที่ว่าด้วยเรื่องดังกล่าวโดยตรง โดยมี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน กลุ่มกรีนพีชภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสารจีเอ็ม ร่วมเสวนา และมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
       
       แคร์ทำไมแค่โลกร้อน
       
       การพูดคุยปัญหาร้อนๆ เกิดขึ้นบริเวณบาร์กาแฟสตาร์บัคส์ในสถานที่ซึ่งเย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ
ของร้านหนังสือบีทูเอสภายในเซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่า เปิดเรื่องด้วยการตั้งคำถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องกังวลต่อปัญหาโลกร้อน ซึ่ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ในฐานะผู้คร่ำหวอดนิยายและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ไปแล้วทั่วโลกอย่าง An Inconvenient Truth ซึ่งนำแสดงโดย อัล กอร์ (Al Gore) อดีตคู่แข่งของ “บุชจูเนียร์” และเพิ่งจะลงโรงในบ้านเราไปหมาดๆ
       
       รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า  การเปรียบภาวะโลกร้อนของอัล กอร์เป็นไปอย่างนิ่มๆ เหมือนโยนกบลงในหม้อน้ำที่ถูกต้ม น้ำจะค่อยๆ ร้อน กบก็ไม่รู้สึกอะไร แต่กว่าจะรู้สึกก็กระโดดหนีไม่ทันเสียแล้ว พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่ว่าด้วยโลกร้อนอีก 2 เรื่องคือ The Day after Tomorrow และ 10.5 ซึ่งเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ ว่า 2 เรื่องดังกล่าวได้พูดถึงหายนะอันเกิดจากโลกร้อน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จริงในอีกหลายล้านปีข้างหน้า รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นว่าเราไม่ถึงขั้นต้องสละชีวิตเพื่อช่วยโลก แต่เราสามารถช่วยโลกได้โดยที่เราก็ยังมีความสุขได้
       
       ทางด้าน ธารา จากกลุ่มอนุรักษ์ “กรีนพีช” กล่าวถึงการพิทักษ์โลกจากหายนะโลกร้อนว่า จำเป็นต้องปฏิวัติความคิดในการใช้พลังงาน โดยได้ยกตัวอย่างการพลังงานของสนามบินสุวรรณภูมิ
ิซึ่งใช้ความร้อนที่เหลือใช้จากระบบไปใช้ทำความเย็นภายในสนามบิน พร้อมกันนี้ได้ตอบคำถามถึงการให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนของสื่อ
ว่าเป็นเหมือนคลื่นที่เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง และในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนก็เป็นเรื่องลำบากใจ
เพราะถูกมองว่าขยายเรื่องให้ใหญ่โตและโม้มากเกินไป
       
       คนจนจ่อคิวต้นๆ รับผลกระทบโลกร้อน
       
       ธารายังกล่าวถึงนิตยสาร “ฟอร์จูน” (Fortune) ใน พ.ศ.2537 ซึ่งสรุปรายงานขงอกระทรวงกลาโหมของสหรัฐว่า อย่างไรเสียภาวะโลกร้อนก็ต้องเกิดขึ้นและจะรุนแรงมาก ซึ่งวิธีที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวคือ “ล้อมรั้วตัวเอง” ไม่ให้ผู้ลี้ภัยเข้าไปประเทศ เพื่อรองรับอุณหภูมิที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ขณะเดียวกันสื่อก็ได้เชื่อมโยงภาวะโลกร้อนกับกรณีเฮอริเคน ซึ่งสหรัฐต้องยอมรับไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนในเรื่องนี้ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญกับความแตกต่างทางด้านชนชั้น โดยคนที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ ก็คือคนจนและประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่คนรวยกลับไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน
       
       ส่วนโตมรผู้พลักดันให้เกิดการเสวนานี้ขึ้นกล่าวว่า คล้ายว่าคนในเมืองใหญ่ใช้พลังงานมากกว่าคนต่างจังหวัด แต่เขามีข้อมูลเล็กๆ ที่ชวนให้ประหลาดใจ โดยมีรายงานว่าคนในเมืองใหญ่อย่างแมนฮัตตันใช้พลังงานน้อยกว่าคนในชานเมือง เนื่องจากมีการหารการใช้พลังงานมากกว่า อย่างไรก็ดีเขาตั้งข้อสังเกตว่าคงไม่เป็นจริงกับชนบทในประเทศโลกที่ 3 อย่างประเทศไทย
       
       ปัญหา “วัฒนธรรมจัดตั้ง” ทำให้มอง “โลกร้อน” ไกลตัว
       
       นอกจากนี้โตมรยังพยายามตอบคำถามว่า ทำไมคนจำนวนมากจึงรู้สึกว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งน้องในที่ทำงานของเขาก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเครียด โดยเขาคิดว่าปัญหามาจาก “วัฒนธรรมจัดตั้ง” ของเรา ที่คุณครูมักจะสอนว่าเราอยู่ในประเทศที่โชคดี ประเทศเราดีที่สุด มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ไม่มีภัยธรรมชาติ ทำให้เราตกอยู่ในอุดมการณ์หลงชาติ และไม่ได้เตรียมพร้อมรับกับความเสี่ยง วันหนึ่งเราก็ตื่นมาพบความจริงว่าเราก็มีสึนามิ เรามีรอยแผ่นดินเลื่อน เรากล่อมตัวเองมาตลอดว่าเรา “เจ๋ง” ที่สุดในโลก เราจึงคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว และเรื่องเหล่านี้ยังฝังหัวเราอยู่โดยเฉพาะผู้ที่อยู่วัย 30 ขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับเรา
       
       ขณะที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกันว่า เดิมเราเคยเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีแผ่นดินไหว แต่ต่อมาก็ทราบว่าไม่จริง ซึ่งปัญหาไม่ใช่เรื่องขาดข้อมูลข่าวสาร แต่เรามีปัญหาในการเลือกใช้ข้อมูลข่าวสาร ภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคนไทยโชคดีเพราะอยู่ในแผ่นดินที่แผ่นดินที่ดีทึ่สุด อุดมสมบูรณ์ที่สุด ไม่อยู่ในแนวแผ่นดินไหว และทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้
       
       โลกร้อน - “มายาลวง” หรือ “เรื่องจริง”
       
       มาถึงขณะนี้หลายคนอาจจะยังมองว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว และยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และหลายคนอาจตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเรื่องโลกร้อนเป็นเพียงแค่เรื่องที่พูดกันไป ตื่นตูมกันไปเองหรือไม่ ซึ่งคำถามดังกล่าว ธาราได้ยืนยันว่าได้มีการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสรุปออกมาได้ว่า
อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส และหากเพิ่มมากกว่านี้แค่ 1-2 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแบบไม่หวนคืนสู่สภาพเดิมได้อีก พร้อมทั้งกล่าวถึงงานวิจัยของอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บ่งชี้ว่า 50 ปีที่ผ่านมานี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งกลางวันและกลางคืนของไทยเพิ่มสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่อ่าวไทยเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 มิลลิเมตร แม้จะดูเป็นตัวเลขน้อยๆ แต่ก็ประมาทไม่ได้
       
       ทางด้าน รศ.ดร.ชัยวัฒน์ได้เสริมว่า น้ำแข็งขั้วโลกละลายนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งหากน้ำแข็งขั้วโลกละลายหมดนั้นจะสูงขึ้นสักแค่ไหน เขาก็ได้ชี้ว่าหากเป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายหมดก็ไม่ส่งผลกระทบเหมือนที่ขั้วโลกใต้ เพราะน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือนั้นลอยอยู่ในน้ำเมื่อละลายหมดก็ทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นไม่เท่าไหร่ ต่างจากน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ซึ่งอยู่บนพื้นดิน หากละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 72 เมตร
       
       “ปาหี่” พิธีสารเกียวโต
       
       ส่วนโตมรได้กล่าวไปถึงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าเอาเข้าจริงๆ ก็ “ปาหี่” เพราะคนที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนจริงๆ ก็ไม่ได้พยายามมากมายนักกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหา อีกทั้งยังมีการซื้อ “เครดิต” โดยว่าจ้างให้ประเทศอื่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วเอามาอ้างว่าสามารถลดไปเท่าไหร่ อีกทั้งการลงนามในพิธีสารดังกล่าวก็ไม่ได้มาจากความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงๆ แต่มาจากความต้องการผลประโยชน์ในทางการค้า
       
       นอกจากนี้โตมรยังถ่ายทอดความรู้จากการอ่านว่า กระบวนการของโลกร้อนนั้นไม่ได้เกิดอย่างค่อยๆ เป็น แต่เมื่อโลกร้อนถึงจุดหนึ่งก็จะเร่งปฏิกิริยาให้โลกร้อนเร็วขึ้น เช่น น้ำแข็งขั้วโลกซึ่งเป็นสีขาวก็ช่วยสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ออกไปได้ แต่เมื่อน้ำแข็งละลายและน้ำกลายเป็นสีดำก็จะดูดความร้อนเข้ามายังโลก อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งฝังอยู่ในน้ำแข็งก็จะถูกปล่อยออกมา และเพิ่มให้กับบรรยากาศ เขายังตั้งสังเกตว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ได้พบนกนางแอ่นบ่อยมาก ทั้งที่เป็นนกอพยพและจะหนีหนาวมาเมืองไทย เขาจึงเสนอความคิดว่าอาจเป็นไปได้ว่าอากาศทั่วโลกร้อนเท่ากัน อยู่ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน
       
       สื่อเสนอข้อมูล “โลกร้อน” แค่ผิวๆ
       
       การเสวนาดำเนินมาถึงท้ายสุดและเปิดโอกาสให้คนฟังได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถาม ซึ่ง รัฎดา ลาภหนุน ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่า    ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ข้อมูลบนสื่อก็ยังเป็นข้อมูลแบบเดิมๆ สั้นๆ และไม่ได้บอกว่ารากของปัญหามาจากอะไร และข้อมูลก็อยู่แค่ผิวๆ อาจเป็นเพราะว่าคนทำสื่อก็ไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งคงต้องมีการเพิ่มความรู้ให้สื่อมวลชนมากขึ้น
       
       ทางด้านโตมรซึ่งเป็นสื่อที่จับหัวข้อดังกล่าวมาเสวนา ได้ให้ความเห็นต่อคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้สื่อเกิดความตระหนักในการนำเสนอ
เรื่องราวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเขาก็ได้ตอบคำถามว่าไม่ต้องสร้างความตระหนักให้กับสื่อแล้ว เพราะภัยได้มาถึงประตูบ้านแล้ว ซึ่งจะเกิดการตื่นตัวตามมา ตอนนี้แม้จะช้าเกินไปแต่ก็ยังไม่สายที่จะเริ่มต้น
 
 
ที่มา-









   


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ป้องกันโจรกรรมรถป้องกันโจรกรรมรถ

ระบบตรวจค้น.. ระบบตรวจค้น.. "ระเบิดใต้ท้องรถขณะขับเคลื่อน"

12ล้านคนไทยป่วยโรคฮิตศตวรรษ2112ล้านคนไทยป่วยโรคฮิตศตวรรษ21



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS