มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (2)


[ 22 ธ.ค. 2552 ] - [ 18280 ] LINE it!

มงคลที่ 38 จิตเกษม

ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (2)
 

    ผู้มีปัญญาพึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอนชี้โทษว่า เป็นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษเลย 

    ความเพียรเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะทำให้เราล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าปราศจากความเพียรแล้ว ยากที่จะหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ในสังสารวัฏนี้ไปได้ ฉะนั้น ความเพียรในการปฏิบัติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงธรรม เราจะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า เรามีความเพียรแค่ไหน ถ้าเราไม่ย่อท้อ หมั่นปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ เราย่อมจะเห็นการพัฒนาของใจที่ก้าวหน้าตลอดเวลา กระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และสามารถกำจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปได้

    มีวาระพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน คาถาธรรมบท ว่า

นิธีนํว ปวตฺตารํ    ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ    ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส    เสยฺโย โหติ น ปาปิโย
 
ผู้มีปัญญาพึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอนชี้โทษว่า เป็นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษเลย 
 
    การคบบัณฑิตยอดกัลยาณมิตรนั้น เสมือนการได้ต้นทางแห่งสวรรค์และพระนิพพาน เพราะกัลยาณมิตรจะคอยชี้ขุมทรัพย์ คือ ข้อบกพร่องในตัวเราที่ติดตัวมาข้ามภพข้ามชาติ เสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น ถ้าหากมีกัลยาณมิตรผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ต้องถือเป็นโชคดีของเราที่ได้สั่งสมบุญมาดี ให้เราน้อมรับไว้ด้วยความเคารพ อย่าไปมีทิฐิมานะ อวดดื้อถือดี หรือโต้แย้ง หากเราบกพร่องจริงอย่างที่ท่านชี้แนะ ให้รีบปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะถ้าเรายังมีกัลยาณมิตรคอยชี้แนะ ให้ดีใจเถิดว่า เรายังเป็นผู้ที่ยังพอแนะนำตักเตือนได้ แต่ถ้าไม่มีใครกล้าแนะนำตักเตือนแล้ว ก็ให้รู้ตัวว่า เรากำลังเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก จนหาบุคคลใดว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้แล้ว ดังเรื่องของพระฉันนะ

    *เนื่องจากท่านประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูป จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงติเตียนและบัญญัติสิกขาบท ต่อมาภายหลัง ยังเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ได้กล่าวหาพระอัครสาวกทั้งสองว่า "เมื่อพระลูกเจ้าของเรา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในคราวนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นใครสักคน แต่มาบัดนี้ พวกท่านมากล่าวว่า เราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคคัลลานะ เราเป็นอัครสาวก พวกท่านเป็นผู้ที่เห็นแก่หน้า"
 
    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงรู้เรื่องจากภิกษุทั้งหลาย จึงรับสั่งให้ตามพระฉันนะมาเข้าเฝ้าพลางตรัสสอนว่า "อย่าไปกล่าวหาพระอัครสาวกทั้งสอง เพราะตำแหน่งต่างๆที่ได้รับนั้น ล้วนได้มาด้วยบุญ และอัครสาวกทั้งสองได้ปรารถนาตำแหน่งนี้มานานแล้ว"
 
    พระฉันนะนั่งนิ่งฟัง เหมือนจะยอมรับผิด แต่เมื่อกลับจากที่เข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้ว ก็ไปด่าว่าพระเถระทั้งหลายเหมือนเดิม

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งให้พระฉันนะมาเข้าเฝ้าอีก ทรงตรัสสอนอยู่ถึงสามครั้งว่า "ฉันนะ อัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตรของเธอ เป็นอุดมบุรุษ เธอจงคบกัลยาณมิตรเช่นนี้ ไม่ควรคบมิตรชั่ว ไม่ควรคบบุรุษผู้ต่ำทราม ควรคบกัลยาณมิตรเท่านั้น ควรคบแต่อุดมบุรุษชั้นสูงสุด เพราะนั่นเป็นทางให้ได้บรรลุธรรมอันประเสริฐสูงสุด"

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมจบ ภิกษุสงฆ์หลายรูปได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระฉันนะถึงจะได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใด ครั้นกลับไปที่พำนัก ก็ยังเที่ยวด่าว่าภิกษุทั้งหลายเหมือนเดิม ก่อนดับขันธปรินิพพานพระบรมศาสดาจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกเธอควรลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ"

    เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์จึงได้ประกาศท่ามกลางสงฆ์ว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เมื่อตถาคตล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเถิด"

    พระเถระทั้งหลายจึงถามว่า "ดูก่อนอานนท์ ท่านได้ทูลถามพระบรมศาสดาหรือไม่ว่า นัยของการลงพรหมทัณฑ์นี้หมายถึงอะไร"
 
    พระเถระได้บอกความหมายของพรหมทัณฑ์ที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า "ถ้าพระฉันนะประสงค์จะทำสิ่งใด ก็ปล่อยให้ทำไปตามความประสงค์เถิด อย่าได้ว่ากล่าวสั่งสอนพระฉันนะ ให้วางเฉยเสีย"
 
    พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านอานนท์จงเป็นผู้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเถิด"
 
    เมื่อพระอานนทเถระได้รับอนุมัติจากสงฆ์แล้ว จึงออกเดินทางพร้อมพระภิกษุอีก 500รูป มุ่งหน้าไปยังวัดโฆสิตาราม เมืองโกสัมพี ซึ่งเป็นที่พำนักของพระฉันนะ ครั้นพระฉันนะรู้ว่า พระอานนทเถระมาเยี่ยม จึงรีบเข้าไปหา ไหว้พระเถระด้วยความนอบน้อม เพราะรู้ว่าฐานะตำแหน่งทางโลกนั้น พระอานนท์เป็นพระอนุชา เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ส่วนตนเป็นเพียงข้าทาสคนรับใช้ จึงมีความยำเกรงพระอานนท์เป็นพิเศษ

    พระอานนทเถระได้กล่าวกับพระฉันนะว่า "ดูก่อนฉันนะ สงฆ์ได้มีบัญชาให้เรามาลงพรหมทัณฑ์ท่าน"
 
    พระฉันนะถามว่า "ข้าแต่ท่านพระอานนท์ พรหมทัณฑ์นั้นได้แก่สิ่งใดขอรับ"
 
    พระอานนท์ชี้แจงว่า "พรหมทัณฑ์ คือ การไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่สั่งสอน ท่านจะพูด จะทำอะไรก็ได้ตามใจท่าน พระภิกษุทั้งหลายจะไม่ว่ากล่าวตักเตือนท่านอีกต่อไป"
 
    เมื่อได้ฟังเช่นนั้น พระฉันนะกล่าวว่า "ข้าแต่พระอานนท์ การที่ภิกษุสงฆ์ไม่ว่ากล่าว ตักเตือนหรือสั่งสอนกระผมนี้ ก็เท่ากับสงฆ์กำจัดกระผมแล้ว มิใช่หรือ"
 
    พระอานนท์ได้แต่นิ่งๆ ไม่ได้พูดอะไรทั้งสิ้น

    เมื่อพระฉันนะถูกลงพรหมทัณฑ์จากสงฆ์ จึงรู้สึกเร่าร้อน และเสียใจมาก ถึงกับเป็นลมล้มสลบไปทันที ครั้นฟื้นก็ลุกขึ้นไปหาพระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมพูดด้วย ท่านจะไปพูดกับพระภิกษุรูปไหน ก็ไม่มีใครยอมพูดด้วย ในที่สุดท่านคลายจากทิฐิมานะ หลีกออกไปอยู่ตามลำพัง ได้ตั้งใจเจริญสมณธรรม มุ่งทำความเพียรอย่างเต็มที่ ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

    เมื่อพระฉันนะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เข้าไปหาพระอานนทเถระ ขอร้องว่า "ข้าแต่พระอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์ของกระผมในบัดนี้เถิด"
 
    พระอานนท์ชี้แจงว่า "ดูก่อนท่านฉันนะ เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันใด พรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับในวันนั้นแหละ"
 
    พระฉันนะแสดงนัยแห่งความเป็นพระอรหันต์ให้พระอานนท์ได้รับรู้ และในที่สุดสงฆ์ก็รับท่านเข้าหมู่ตามเดิม
 
    จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า คนที่มีทิฐิมานะมาก ก็เหมือนอึ่งอ่างพองลม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองตัวโตขึ้น อึ่งอ่างพองลมนี้ หลอกได้แต่ตัวเอง แต่ไม่สามารถหลอกผู้อื่นได้ ตัวโตขึ้นแต่จิตใจกลับต่ำลง สู้ความมีใจใหญ่ใจสูง แต่กลับอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ได้ ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม คือ การถอนทิฐิมานะออก ไม่ให้มีความถือตัว อวดดื้อถือดี ก็จะสามารถเอาชนะใจตนเองได้ กระทั่งมีจิตใจสูงส่ง

    ดังนั้น ให้ทุกคนหมั่นฝึกฝนคุณธรรม ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย มีความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มาก ให้เราเป็นเหมือนมหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของแม่น้ำจากทั่วทุกสารทิศ ให้น้อมรับคุณธรรมความดีได้ทุกอย่าง และความอ่อนน้อมจะทำให้เราเป็นที่รักที่เมตตา เป็นคนมีเสน่ห์และเมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม จิตใจเราจะปลอดโปร่งสบาย นุ่มนวลละเอียดอ่อน จะเข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายดายสะดวกสบายกันทุกๆคน 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

*มก. พระปุราณเถระ เล่ม 9 หน้า 521


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ธรรมกายต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ธรรมกายต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมีมงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมี

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ปล่อยวางอย่างพระอริยะมงคลที่ 38 - จิตเกษม - ปล่อยวางอย่างพระอริยะ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน