มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ธรรมกายต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์


[ 28 ธ.ค. 2552 ] - [ 18266 ] LINE it!

มงคลที่ 38 จิตเกษม

ธรรมกาย ต้นแหล่งแห่งความบุริสุทธิ์
 

    นักปราชญ์เหล่าใด เจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาของพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมากมาย มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง 

    เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตนเองและเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ประชุมรวมอยู่ในธรรมกาย ธรรมกาย คือ แก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเรา ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้ หากฝึกใจให้หยุดนิ่ง หยุดได้เมื่อไรก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ถ้าเราเข้าถึงธรรมกายแล้ว ชีวิตเราจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีความสุขเพิ่มมากขึ้น จะมีความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต

    คำว่า ธรรมกาย มีหลักฐานปรากฏอยู่ในปัจเจกพุทธาปทานตอนหนึ่งว่า...
 
    "นักปราชญ์เหล่าใด เจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาของพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมากมาย มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง"
 
    คำว่า สุญญตวิโมกข์ คือ สภาวะที่ใจหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะพิจารณาเห็นสรรพสิ่ง โดยความเป็นอนัตตา คือ เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ธรรมจักษุเกิดขึ้น จะเห็นด้วยตาของธรรมกายว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาได้ ไม่มีสาระแก่นสาร ใจจึงคลายความยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งเหล่านั้น ยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์

    นอกจากนี้ ธรรมกายยังรู้เห็นรูปนามที่ประกอบด้วยขันธ์ห้า เหล่านี้ว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้เปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ เมื่อเห็นอย่างนี้จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจิตหลุดพ้นแล้ว ใจจะน้อมไปในพระนิพพาน ซึ่งคงที่ยั่งยืนและเป็นบรมสุข ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลุดพ้นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์

    ส่วนคำว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ เป็นสภาวะที่ญาณทัสสนะของธรรมกาย รู้ว่ารูปนามขันธ์ห้าทั้งหลายที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นเหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว เป็นรังแห่งโรคทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดมาก็เป็นทุกข์แล้ว ทุกข์ที่ต้องคอยดูแลสังขารร่างกายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ จะบังคับไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ จึงถอนความอาลัยความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทำให้พบว่า มีแต่ธรรมกายเท่านั้นที่เป็นสรณะที่แท้จริง

    คำว่า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมากมาย หมายถึงว่า เมื่อท่านได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต กายท่านใหญ่โตมาก ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายก็โตใหญ่ ยิ่งเข้าถึงกายธรรมที่ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป ยิ่งใหญ่โตเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เป็นธรรมกายสว่างไสวอยู่ภายในนั้น ไม่ใช่เพียงแค่กายสองกาย แต่มีเป็นอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน กายธรรมมีลักษณะเหมือนกันหมด คือ ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ มีแต่หยุดในหยุดเข้าไปสู่เอกันตบรมสุขเรื่อยไป

    ธรรมกายนี้มีความละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู อันเป็นกายกึ่งกลางระหว่างความเป็นปุถุชนกับพระอริยบุคคล ลักษณะคล้ายกับพระปฏิมากร มีเกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว ใสยิ่งกว่าเพชร สะอาดบริสุทธิ์ ใสเกินใส สวยเกินสวย งดงามไม่มีที่ติ สถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ถ้าหยุดนิ่งเข้าไปอีก ก็จะเข้าถึงธรรมกายพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต ไปตามลำดับ ที่มีชื่อต่างกันเช่นนี้ เพราะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวธรรมที่เข้าถึง ตามสภาพของจิตใจที่ปล่อยวางได้มากเท่าไร ยิ่งปล่อยวางกิเลสได้มากยิ่งเบาใจมาก ยิ่งเบาใจมากเท่าไรก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ

    ความรู้ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นความรู้ที่ดี เพราะเห็น จำ คิดรู้ สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายคือเรา เราคือธรรมกาย ธรรมกายขยายกว้างออกไป จิตใจก็ขยายออกไปไร้ขอบเขต ยิ่งขยายออกไปมาก ความสุขก็พรั่งพรูออกมามาก มีความเบิกบาน เป็นสุขทั้งวันทั้งคืน

    *เหมือนพระมหากัปปินะ ก่อนบวชท่านเป็นพระราชา สมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ ข้าราชบริพารทั้งหญิงและชาย เครื่องบำรุงบำเรอต่างๆ แต่ท่านก็ยังบอกว่า ไม่มีความสุขเลยแม้แต่นิดเดียว จนกระทั่งสละราชสมบัติออกบวช ได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายคือท่าน ท่านคือธรรมกาย เป็นอันเดียวกัน ความสุขก็ท่วมท้นออกมา มีปีติเบิกบานใจ จนกระทั่งเปล่งอุทานว่า สุขจริงหนอๆ จะนั่ง นอน ยืน เดิน ได้เปล่งอุทานแต่ความสุข

    ท่านพูดสุขจริงหนอๆ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งภิกษุปุถุชนได้ยินเข้า ก็นึกว่า ท่านคงนึกถึงความสุขในสมัยที่เป็นฆราวาส จึงไปทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ทำไมพระมหากัปปินะ ถึงได้เปล่งอุทานอย่างนี้ สงสัยจะนึกถึงความสุขสมัยก่อนโน้น"
 
    พระพุทธองค์ตรัสว่า "ลูกของเรา (คือ เรียกผู้เข้าถึงธรรมกายว่า "ลูกของเรา" เพราะผู้เข้าถึงธรรมกาย ได้เห็นธรรมกายเหมือนกับพระพุทธองค์) ลูกของเราได้เข้าถึงธรรมกายหมดกิเลสแล้ว ตัดเครื่องผูกในโลกนี้ได้แล้ว พบกับความสุขที่แท้จริงจึงเปล่งอุทานอย่างนั้น"
 
    พระพุทธองค์ทรงเรียกพระมหากัปปินะ เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ ถามท่านว่า "ทำไมเธอจึงเปล่งอุทานอย่างนั้น"
 
    ท่านบอกว่า "ข้าพระองค์สมัยเป็นฆราวาส เป็นพระราชามหากษัตริย์ ปกครองข้าราชบริพารมากมาย มีราชกิจมาก ไม่มีเวลาเป็นของตนเองเลย มีแต่คนมาร้องทุกข์ เรื่องร้องสุขไม่เคยได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตใจทั้งวันทั้งคืน จึงมีแต่ความทุกข์ ความสุขไม่เคยพบเลย บัดนี้ ข้าพระองค์ปล่อยวางภารกิจของหนักลงแล้ว จิตของข้าพระองค์ได้เข้าถึงธรรมกาย มีความสุขตลอดเวลา จึงได้เปล่งอุทานออกมาจากภายในลึกๆ ในแหล่งของความสุขที่เข้าถึง คือ เปล่งอุทานออกมาจากแหล่งของความสุข หรือต้นกำเนิดของความสุข พอเปล่งออกมาก็เบิกบานใจ มีความสุขสดชื่นอยู่ตลอดเวลา"

    ถ้าพวกเราทั้งหลายเข้าถึงธรรมกาย จะรู้สึกได้แบบพระมหากัปปินะ มีความสุขเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ถ้าทุกคนในครอบครัวของเรา เข้าถึงธรรมกาย ครอบครัวของเราก็อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเพื่อนบ้านของเราได้ประพฤติปฏิบัติตามอย่างเราและได้เข้าถึงธรรมกาย หมู่บ้านนั้นตำบลนั้นจะมีความสุข ถ้าเราขยายธรรมกายไปทั่วประเทศทั่วโลก ชาวโลกทุกคนก็จะเปล่งคำอุทานเหมือนกันว่า สุขจริงหนอสุขจริงหนอ และปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น มนุษย์จะเลิกรบราฆ่าฟัน เลิกเบียดเบียนกัน ทรัพยากรต่างๆในโลกนี้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็จะถูกแบ่งปันกันฉันพี่น้อง เพราะความปรารถนาดีอยากให้ทุกคนมีความสุข โลกนี้จะเกิดสันติสุขที่แท้จริง

    เมื่อมนุษย์ทุกคนมีศีลมีธรรม มีธรรมกายปรากฏขึ้น ดินฟ้าอากาศในโลกนี้จะเป็นปกติ พอเหมาะพอดีไม่ร้อนเกินไปไม่หนาวเกินไป เหมาะต่อการอยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ โภคทรัพย์สมบัติ อาหารต่างๆ จะเกิดขึ้นด้วยบุญบันดาล ไม่มีการอัตคัดขาดแคลน เหมือนในสมัยที่พระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้นมาในโลก ปกครองโลกด้วยศีลห้า มนุษย์ยุคนั้นไม่ต้องทำมาหากิน อยู่ได้ด้วยบุญของพระเจ้าจักรพรรดิ และบุญของทุกๆคน โลกทั้งโลกร่มเย็นเป็นสุข มีเมตตาธรรมต่อกัน เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่แหละ เป็นหลักของชีวิต หลักของโลก เข้าถึงได้เมื่อไร โลกทั้งโลกจะอยู่เย็นเป็นสุข

    หลวงพ่อถึงอยากให้ทุกคนในโลกได้เข้าถึงธรรมกาย ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยกันชักชวนกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตร สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะได้มีโอกาสมาสวดมนต์เจริญภาวนา เพื่อตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ทำให้เข้าถึงธรรมกายซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก เหลือแต่คอยผู้มีบุญไปชักชวน ให้เขารู้จักวิธีปฏิบัติให้เข้าถึงเท่านั้น เพราะฉะนั้นให้เริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน หมั่นปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่ง ให้ได้ทุกวัน ให้เข้าถึงพระธรรมกายด้วยตัวของเราเองให้ได้ แล้วก็ช่วยกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้นมากๆ ให้ขยายกันออกไปทั้งในและต่างประเทศ ขยายไปให้ทั่วทั้งโลกกันเลย
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

*มก. พระมหากัปปินเถระ เล่ม 41 หน้า 299


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมีมงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมี

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ปล่อยวางอย่างพระอริยะมงคลที่ 38 - จิตเกษม - ปล่อยวางอย่างพระอริยะ

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - สำคัญที่ดวงจิตมงคลที่ 38 - จิตเกษม - สำคัญที่ดวงจิต



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน