ถ้าเราถูกใส่ความจะทำอย่างไรดี - หลวงพ่อตอบปัญหา


[ 25 ส.ค. 2553 ] - [ 18266 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
คำถาม : กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ผมขอเรียนถามว่าในกรณีที่เราถูกใส่ความโดยไม่มีมูลความจริง เราควรจะวางตัวอย่างไรดีครับ?
 
คำตอบ : เจริญพร คำว่า “ใส่ความ” คือเราถูกเขาว่าเราผิด เราทำดีเขาก็ว่าเราทำเลว อย่างนี้เรียกว่าใส่ความกัน การที่คนใส่ความกันคือทั้งๆ ที่รู้ว่า เราไม่ผิด เราไม่เลว แต่ยังใส่ความว่าเราผิด เราเลว ลองเจาะลึกเข้าไปในใจเขา ทำไมเขาจึงทำกับเราอย่างนั้น ทำไมจึงต้องเป็นเรา หรือทำไมเราจึงโดนอย่างนั้น ก็คงจะมีสาเหตุใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประการ
 
            ๑. เป็นเรื่องของขัดประโยชน์กัน ก็เลยเกิดความแค้น ความเคืองกันขึ้นมา
 
            ๒. อาจจะผูกโกรธด้วยเรื่องอะไรก็ตาม หรือไม่ถูกใจเขา ก็เลยใส่ความคิดทำลายกัน
 
            มีอีกกรณีหนึ่ง หลวงพ่อเคยโดน ก็ไปถามเขาตรงๆ เหมือนกัน มันเรื่องอะไรกัน เมื่อหลังจากที่ทำความเข้าใจกันแล้ว ก็ตอบชัดเลย ไม่มีอะไร แค่หมั่นไส้อย่างนี้ก็มี
 
            เมื่อเราเจาะเข้าไปเจอถึงสาเหตุอย่างนี้แล้ว ดูต่อไปอีก อย่าเพิ่งไปรีบลงมือแก้ไขอะไร แล้วผลเสียหายนี้ มันกว้างไกลแค่ไหนเรื่องนี้ หรือเป็นเรื่องวงแคบๆ เช่น ถ้าในเรื่องครอบครัว หรือกว้างขึ้นมาอีกหน่อยระดับที่ทำงาน หรือหนักขึ้นมันเป็นการทำลายกันถึงในระดับสาธารณชน อย่างที่ข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่านก็เคยโดนกันมาแล้ว ด้วยเรื่องของการเมือง ระดับนายก ระดับรัฐมนตรี
 
            ในเมื่อมันเกิดการใส่ความกันขึ้นมาแล้ว เขาก็รู้ด้วยว่าเราไม่ได้ผิด ไม่ได้เลว ในการที่จะแก้ไขกัน ก็ต้องแก้กันให้ถูกจุด ถ้ามันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องมาเจรจากัน จะปรับเข้าหากันได้อย่างไร ในระดับใดก็ว่ากัน ซึ่งมันก็อาจจะเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี หรือจากหนักมาเป็นเบา ยอมเสียเปรียบได้เปรียบกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ให้พอตกลงกันได้ ก็ให้มันจบลงแค่นั้น อย่าให้มันบานปลายเป็นปัญหาอะไรให้กลัดกลุ้มไป บางอย่างตัดไฟต้นลม เสียหายบ้างนิดหน่อย ยอมไปเลย
 
            ถ้าในกรณีผูกโกรธ ตรงนี้ค่อนข้างจะยาก ก็ได้แต่เข้าไปงอนง้อขอโทษอะไรก็ว่ากันไป แต่ปรากฏว่าเราก็ไม่ได้ทำผิด จะให้ไปงอนง้อขอโทษ ก็ไม่รู้จะไปงอนง้ออะไร ถ้าในกรณีอย่างนี้การเจรจาคงไม่ได้
 
            กรณีที่ ๓ ในเรื่องของความหมั่นไส้ ในกรณีนี้ก็ไม่ถึงกับอิจฉา แต่ว่ามันก็ใกล้เคียงกับอิจฉา หมั่นไส้ว่าเธอสวยกว่าฉันมากไป ไม่ถึงกับอิจฉา แต่ว่ารำคาญไม่อยากดู มีอะไรก็โยนใส่ความไปให้เสียเลย
 
            กิจการของเธอใหญ่โตเกินหน้าเกินตาฉัน หรือเกินหน้าเกินตาพรรคพวกเพื่อนฝูงฉัน ฉันไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรเลย แต่มันเกินหน้าเกินตาคนในประวัติศาสตร์เขา ก็เลยหมั่นไส้ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร
 
            ในกรณีที่ ๓ อย่างนี้ ก็คงจะเป็นที่มาของปู่ย่าตาทวดเรา ที่สอนให้เรารู้จักให้เกียรติคนอื่น รู้จักมีมารยาทที่งามๆ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน สิ่งเหล่านี้พอช่วยกันได้ พอแก้ไขกันได้ แต่ว่าถ้าทิ้งไว้นานจนกลายเป็นอิจฉา ตรงนั้นคงยากอีกเหมือนกัน ไม่ว่าในกรณีไหน โดยสรุปแล้วสิ่งที่เราจะต้องทำ เมื่อถูกใส่ความ คือรีบตั้งหลักให้ดี สำรวจตัวเองว่าเรามีความบกพร่องอะไรบ้าง มีข้อเสียหายอะไรบ้าง แม้เล็กน้อยก็รีบอุด รีบแก้ไขเสีย เดี๋ยวจะเป็นเหตุให้เขาเอาสิ่งเหล่านั้นไปขยายความให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
            ประการที่ ๒. ท่องไว้ด้วย “อดแล้วก็ทน” คาถานี้วิเศษนัก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน มันก็ต้องอดทน นี้เป็นประการที่ ๒. ให้ทนไป มันเหมือนเกิดมาใต้ฟ้า ถึงคราวเราอยากจะได้แดดกล้าๆ สักหน่อยไว้ตากเสื้อตากผ้า แต่ฝนมันตกก็ทน ถึงคราวเหตุเกิด ก็ต้องอดทนกันไป ก็อาจจะต้องปลอบใจกันบ้าง เคยไปทำเขาไว้ข้ามภพข้ามชาติหรือเปล่าก็ไม่รู้ วันนี้มันเลยมาคิดบัญชีกับเรา ถ้าคิดอย่างนี้ อาจพอปลอบใจตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
 
            ค้นหาให้ได้ว่า ทั้งหมดนี่มันเกิดจากอะไร เพราะขัดผลประโยชน์หรือ เพราะผูกโกรธหรือ เพราะเคยทำให้เขาหมั่นไส้มาก่อน เมื่อเจอแล้วก็พยายามที่ทำความเข้าใจถูกกันให้ได้ ปรับผลประโยชน์กันได้แค่ไหนก็ปรับกันไป แล้วแก้ไขตามสถานการณ์เป็นขั้นๆ ไป ระดับครอบครัวก็แก้ที่ครอบครัว เกิดในระดับออฟฟิศ ไปแก้ที่ออฟฟิศ เกิดในระดับสาธารณชน ไปแก้ที่สาธารณชน ซึ่งในระดับสาธารณชนนี้แก้ยากหน่อย
 
สิ่งที่ต้องใส่ใจเอาไว้เสมอๆ เลยคือ
    ๑. อย่าสู้ด้วยวิธีรุนแรง มันจะทำให้บานปลาย
    ๒. อย่าหนี ถ้าหนี หมดกำลังใจเสียแล้ว นั่นคือแพ้แล้ว เป็นการยอมรับว่าเราเลวจริง ตามที่เขาว่ามา
 
            ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีมันเรื่อยไป ทนทำไปเถอะ ที่ว่าทำความดีเรื่อยไป ทำความดีตามหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบ ด้วยการอยู่ในกฎอยู่ในระเบียบให้เคร่งครัด เพื่อไม่เปิดช่องให้เขาโจมตี เหมือนนักมวยที่ตั้งการ์ดไว้ดี ทำอะไรเรายาก การใส่ความมันก็แค่หมัดแย็บเท่านั้นแหละ ไม่น๊อคหรอก
 
            เมื่อเราทำงานของเราเรื่อยไปด้วยความรัดกุมอย่างนั้นแล้ว จากนั้นก็สร้างบุญสร้างกุศลของเราเยอะๆ เพื่อมหาชนหรือสาธารณชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รู้ว่าเรานั้นเป็นคนดีจริง งวดนี้ต้องทำความดี ประกาศความดีให้โลกรู้ นี้เป็นเรื่องจำเป็น แล้วก็แผ่เมตตาไป อย่าไปผูกโกรธกับเขา
 
            ในการที่เขาใส่ความเรา เหมือนอย่างกับคนที่ผูกปมเชือกเอาไว้ เขาจับไว้ปลายหนึ่ง เราจับไว้อีกปลายหนึ่ง เขายิ่งโกรธ ยิ่งผูกโกรธเท่าไหร่ ใส่ความเท่าไหร่ เหมือนอย่างกับดึงเชือกให้เกลียวมันเขม็งขึ้น ถ้าเราแผ่เมตตา เราไม่รุนแรง มันเหมือนชักกะเย่อกันอยู่ แล้วเราปล่อยมือเป็นคนแรก อะไรจะเกิดขึ้น คนที่ยังชักกะเย่อ ยังดึงอยู่ก็หงายท้องตึงไปเราก็นั่งยิ้มของเราไป อย่างนี้โอกาสชนะด้วยเย็นๆ ก็เกิดขึ้น
 
            ถ้าตั้งใจแก้ไขดีอย่างนี้แล้ว แผ่เมตตาให้แล้ว อดทนก็แล้ว ทำความดีสารพัดแล้ว ก็ยังไม่ชนะ นึกว่ากรรมข้ามชาติ เราไปทำเขาไว้ข้ามชาติเสียแล้ว คราวนี้ได้แต่รับกรรมสถานเดียว มันจะเป็นเช่นไรก็ต้องปล่อยให้เป็นไป เราก็ไม่ควรติตัวเองด้วย เพราะเราไม่ได้ทำความชั่วในชาตินี้จริงๆ ถึงตายไป ใจก็ยังใสอยู่ เราคงทำได้แค่นี้
 
คำถาม : หลวงพ่อครับ คนที่มีนิสัยชอบอิจฉาผู้อื่น จะมีผลเสียกับตัวเขาเองอย่างไรบ้าง และจะสามารถแก้ไขนิสัยนี้ได้อย่างไรครับ ?
 
คำตอบ : เจริญพร คนที่ชอบอิจฉาตาร้อนเขา ไม่อยากให้ใครได้ดีเกินกว่าตัวเอง มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
 
            นิสัยอิจฉาริษยาจะเกิดขึ้นกับคนที่มีความดีในตัวน้อยกว่าคนอื่น ถ้าเขามีคุณงามความดีในตัวมากกว่าคนอื่น เขาคงไม่จำเป็นจะต้องไปอิจฉาตาร้อนใคร แต่เพราะเขามีความรู้ความสามารถหรือ มีคุณงามความดีน้อยกว่าคนอื่น แล้วอยากได้ดีเท่าเขาหรืออยากจะให้ดียิ่งกว่าเขา แต่มันทำไม่ได้ แทนที่จะคิดแก้ไขตัวเอง เพื่อจะให้ได้ดีเท่าเขาหรือมากกว่าเขา กลับไปคิดในทางผิด ในทางร้ายเสีย ด้วยการแทนที่จะยกตัวเองด้วยคุณความดี ที่ทำขึ้นมาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป กลายเป็นว่าความดีไม่ทำ กลับจะขย้ำ จะเหยียบคนอื่นลงไป ด้วยฤทธิ์แห่งความเข้าใจผิด ก็กลายเป็นอิจฉาริษยา คือไม่อยากให้ใครได้ดี เกิดขึ้นมาแทน
 
            เมื่อเรารู้ว่าต้นเหตุมันมาจาก ความที่ตัวเองมีคุณงามความดีน้อยอย่างนี้แล้ว มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ในใจของคนที่อิจฉาริษยานี้มันก็จะมีแต่ความเศร้าหมอง คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น คิดออกแต่ในเรื่องที่จะทำลายหรือทำร้ายคนอื่นร่ำไป จะทำลายทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง จะทำร้ายให้เจ็บกายเจ็บใจก็คิดได้เท่านี้
 
            เพราะฉะนั้นคนที่ขี้อิจฉาริษยา ใจเศร้าหมองทั้งวัน เมื่อใจมันเศร้าหมอง แม้คำพูด ก็เป็นคำพูดที่ชวนให้เศร้าหมอง คือมีแต่เรื่องร้ายๆ ออกจากปาก คำพูดของเขาไม่มีดอกไม้ออกจากปากหรอก มีแต่พ่นพิษออกมา เมื่อเป็นอย่างนั้น มันก็จะเลยไปจนกระทั่งถึงการกระทำทางร่างกาย มันก็จะมีเรื่องร้ายๆ อาการร้ายๆ ออกมา ตั้งแต่กระทบกระแทกแดกดันอะไรกันโครมคราม หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่กัน นี่ก็เป็นอาการของคนที่มีบุญน้อยแล้วไม่คิดจะทำบุญเพิ่ม แต่ไปคิดทำร้ายคนอื่นจึงมีอาการอย่างนี้
 
            เมื่อเขามีอาการอย่างนี้ อะไรมันเกิดขึ้นกับเขา ความดีเก่าก็มีอยู่น้อยจึงสู้เขาไม่ได้ แล้วความดีใหม่ก็ไม่คิดจะทำเพิ่ม ตรงกันข้ามมีแต่เพิ่มความร้าย ความบาปเข้าไปทุกวัน มันก็เท่ากับการเผาทำลายล้างตัวเองไปทุกวันนั่นเอง นี้คือผลเสียของความเป็นคนขี้อิจฉาริษยา
 
            ฉะนั้น พวกเราอย่าได้ไปเป็นอย่างนี้นะ ครั้งใดใจมันคิดจะอิจฉาชาวบ้านที่เขาดังกว่าเรา เด่นกว่าเรา ดีกว่าเราขึ้นมา ก็รีบหยุดเสีย คิดให้ได้ว่า ที่เรายังต้องตกต่ำอยู่อย่างนี้ เพราะว่าชาติที่แล้ว รวมทั้งชาตินี้ด้วย สั่งสมคุณงามความดีมาน้อยไป เตือนอย่างนี้เลย เมื่อเตือนอย่างนี้แล้ว หนทางจะแก้ไขมีเยอะ เพราะเราจับทิศทางถูกแล้ว
 
            เมื่อบุญมันน้อยก็เติมบุญ โดยในเรื่องของการทำงานหาเลี้ยงชีวิตก็ตาม การทำงานในหน้าที่ที่มอบหมาย หมู่คณะมอบหมายมาให้ ไม่ว่าเราจะเป็นพระเป็นคน ทุกคนมีหน้าที่ประจำตัวอยู่แล้ว งานที่เราได้รับมอบหมายมาจากหมู่คณะก็ตาม จากครอบครัวก็ตาม หรืองานการเลี้ยงชีวิตเราก็ตาม ทำให้สุดฝีมือ
 
            แล้วยังไม่พอ ปรับปรุงให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าปรับปรุงอย่างไรแล้วมันก็ยังสู้เขาไม่ได้ ก็ไปกราบเท้าเขาซะ ขอความรู้จากเขา แล้วมันจะย่นระยะเวลาไม่ต้องไปตกนรกตั้งเยอะ ย่นระยะเวลาในการปรับปรุงฝีมือขึ้นมาก็ได้ตั้งเยอะ
 
            จากนั้น หันหน้าเข้าวัด ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำบุญทำทาน ก็ทำซะ นับแต่นี้ไป หรือก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้รักษาศีล ก็รักษาซะ ไม่เคยนั่งสมาธิ ก็นั่ง ศึกษาจากหลวงพ่อ หลวงพี่ท่านว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันดียังไง? ทานทำให้รวย ศีลทำให้สวย สมาธิทำให้ฉลาดเฉลียว มีสติปัญญา จับหลักตรงนี้ให้ได้
 
            จากนั้นถ้าจะเพิ่มอะไรเป็นรายละเอียดให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ค่อยๆ ศึกษาจากหลวงพ่อ หลวงปู่ท่าน ตัวอย่างเช่น เราก็มีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ที่ไปอิจฉาเขาเพราะว่าบริวารไม่มี รวยก็แสนรวย สวยก็แสนสวย แต่เขาไม่รักเรา แทนที่จะกลับมาดูว่าทำไมเขาไม่รักเรา กลับไปโกรธเคืองคนที่ไม่รักเรา ไปอิจฉาคนที่มีคนรักเต็มบ้านเต็มเมือง อย่าทำอย่างนั้นให้ตั้งคำถามใหม่ให้เป็น คือแทนที่จะไปตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่รักเรา ให้ตั้งคำถามใหม่ว่า เรานั้นมันไม่น่ารักตรงไหน? แล้วก็เริ่มสำรวจตรวจสอบ ถ้าหาไม่เจอ ไปถามหลวงพ่อ
 
วิชาเจ้าเสน่ห์มีอยู่ ๔ ข้อ พุทธองค์ให้ไว้ มีดังนี้
 
        ๑. หมั่นให้ทาน ทานที่นี้ไม่ได้หมายถึงตักบาตร ทานในที่นี้หมายถึงมีอะไรก็ปันกันกิน ปันกันใช้ รวมทั้งปันกันดังด้วย ไม่ใช่ดังคนเดียว
        ๒. ฝึกเป็นคนพูดเพราะๆ สิ่งให้กำลังใจคนไม่มีอะไรเกินคำพูดเพราะๆ เอาคำเหล่านั้นมาให้กันบ้าง โดยไม่ต้องลงทุนอะไร
        ๓. ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ช่วยใครได้ก็ช่วย อย่าหวง นี่คือที่มาของ
เสน่ห์
        ๔. ควรมีความจริงใจกับทุกคน ไม่แทงใครข้างหลัง ไม่ว่าใครลับหลัง มีแต่ความจริงใจ ความปลอดภัยให้ พูดง่ายๆ โปรยเสน่ห์ด้วยการให้ ให้ทั้งของ ให้ทั้งคำพูด ให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งความปลอดภัยแก่เขา ไม่รักก็ให้มันรู้กันไปเลย
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
คนที่ชอบอนุโมทนาบุญกับคนที่ชอบอนุโมทนาบาปจะมีผลอย่างไร - หลวงพ่อตอบปัญหาคนที่ชอบอนุโมทนาบุญกับคนที่ชอบอนุโมทนาบาปจะมีผลอย่างไร - หลวงพ่อตอบปัญหา

เยี่ยมคนป่วย-ทำไมบุญที่ทำไว้ไม่ช่วย-หลวงพ่อตอบปัญหาเยี่ยมคนป่วย-ทำไมบุญที่ทำไว้ไม่ช่วย-หลวงพ่อตอบปัญหา

ไม่คบคนพาล-ให้คบบัณฑิต-หลวงพ่อตอบปัญหาไม่คบคนพาล-ให้คบบัณฑิต-หลวงพ่อตอบปัญหา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา