พายุโซนร้อน 5 พายุมัจจุราชธรรมชาติเอาคืน น้ำท่วมไทย


[ 17 ต.ค. 2554 ] - [ 18313 ] LINE it!

 
 
 
5 พายุมัจจุราช!..'ธรรมชาติเอาคืน'
 
 
        เดือดร้อนกันไปทั่วสำหรับปัญหาน้ำท่วมที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หลายจังหวัดใน ประเทศไทยตอนนี้ยังคงต้องรับศึกหนักกับน้ำก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้พายุและฝนกระหน่ำประเทศไทยแบบเต็มๆ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาประเทศไทยเจอกับพายุไปแล้วถึง 4 ลูก ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างมาก คงไม่มีใครคิดมาก่อนว่าสายลมเพชฌฆาตเหล่านี้ จะมีผลทำให้หลายๆ จังหวัดทางภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยจมหายกลายเป็นเมืองบาดาล 'ไทยรัฐออนไลน์' วันนี้ ขอพามารู้จักพายุที่ทำให้ประเทศไทยเจอกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในปีนี้
 

        ตั้งแต่ต้นปี 2554 ในช่วงเดือนมีนาคม ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเริ่มชัดเจนขึ้นทีละนิด แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้สึกถึงภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา จากเดิมในช่วงมีนาคม ซึ่งปกติอากาศจต้องร้อนอบอ้าว กลับเป็นหนาวเย็น และมีฝนตก เนื่องจากมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่ประเทศจีน แผ่ปกคลุมมาถึงประเทศไทยตอนบน และในขณะเดียวกัน หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก็ส่งผลมาถึงภาคใต้ตอนกลาง ตลอดเดือนมีนาคมนั้นจึงทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดเดือน ทำให้เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างและรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ อีกทั้งยังมีเหตุดินโคลนถล่มใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และกระบี่ ซึ่งตั้งแต่นั้นมาภาพรวมของประเทศไทยก็ยังคงมีฝนตกอยู่มากน้อยเป็นบางพื้นที่ แต่เป็นครั้งแรกที่ไม่มีฝนทิ้งช่วง จึงทำให้ปริมาณของน้ำมากเกินความต้องการ และที่น่าเป้นห่วงที่สุดก็คือ ประเทศไทยก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากพายุโหมกระหน่ำเข้ามาอีกหลายลูก ทั้งพายุโซนร้อนไหหม่า, พายุโซนร้อนนกเตน, พายุโซนร้อนไห่ถาง พายุไต้ฝุ่นเนสาด และพายุโซนร้อนนาลแก

 
 
พายุโซนร้อนไหหม่า

        'ไหหม่า' (Haima) เป็นชื่อพายุมาจากประเทศจีน มีความหมายว่า 'ม้าน้ำ' พายุลูกนี้เกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน โดยเคลื่อนเข้าฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเคลื่อนผ่านประเทศลาว จนอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 จากนั้นได้เคลื่อนเข้าปกคลุมที่จังหวัดน่าน และสลายตัวในวันเดียว ซึ่งมีผลทำให้ภาคเหนือตอนบนของไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดใน 24 ชั่วโมง มีระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน วัดได้ 335.2 มิลลิเมตร

ผลกระทบจากพายุโซนร้อนไหหม่า

        หลังจากที่พายุสลายตัวลงที่ จ.น่าน เพียงวันเดียว ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2554 มีรายงานน้ำท่วมฉับพลัน น้ำปาไหลหลาก ดินถล่มที่ จ.แพร่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก และสุโขทัย มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย ประชาชนเดือดร้อน 105,703 ครัวเรือน 411,573 8 คน พื้นที่เกษตรเสียหาย 159,598 ไร่

 

พายุโซนร้อนนกเตน

        พายุนกเตน (Nok-Ten) หรือพายุนกกระเต็น ซึ่งเป็นชื่อที่ประเทศลาวได้ตั้งไว้นั้น เป็นพายุที่เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก จนทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งในวันที่ 25 กรกฎาคม ได้ทวีความแรงขึ้นจนเป็นพายุโซนร้อนและเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ที่ฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง จากนั้นเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือที่เกาะไหหลำ และอ่าวตังเกี๋ยขึ้นฝั่งที่เวียดนามตอนบนในวันที่ 30 กรกฎาคม กระทั่งมาผ่านประเทศลาวพร้อมกับอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งในวันเดียวกันก็เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.น่าน อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือที่ จ.แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ผลกระทบจากพายุโซนร้อนนกเตน

        อิทธิพลจากพายุลูกนี้ ในส่วนของประเทศไทย ทำให้มีฝนตกกระจายหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำฝนมากท่ีสุดใน 24 ชั่วโมง วัดได้ 405.9 มิลลิเมตร ที่ อ.เมือง จ.หนองคาย เกิดเหตุน้ำท่วมรวม 20 จังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย สูญหาย 1 คน บาดเจ็บ 11 คน ประชาชนเดือดร้อน 314,732 ครัวเรือน 1,029,716 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 619,723 ไร่


        หลังจากที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ยั้งแล้ว ในช่วงเดือนกันยายน ประเทศไทยยังต้องรับมือจากอิทธิพลพายุหมุนเขตร้อนอีก 2 ลูกใหญ่ ส่งผลให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคกลางตอนบนและตอนล่าง รวมไปถึงภาคอีสานตอนบนเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ ขยายเป็นวงกว้าง

 
พายุโซนร้อนไห่ถาง

        พายุโซนร้อนไห่ถาง (Haitang) แปลว่า ดอกแคร็ปแอปเปิ้ลบานจากประเทศจีนลูกนี้ เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 27 กันยายน 2554 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ก่อนเคลื่อนตัวมาที่ลาว จากนั้นอ่อนกำลังลงอีกครั้งเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนเข้าปกคลุมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทยในวันที่ 28 กันยายน 2554

พายุโซนร้อนเนสาด

        พายุโซนร้อนเนสาด (Nesat) เป็นชื่อที่ตั้งโดยประเทศกัมพูชา แปลว่า การจับปลา หรือคนจับปลา ซึ่งเดิมทีเป็นพายุไต้ฝุ่นที่เคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยขึ้นฝั่งที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ในช่วงที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 30 กันยายน 2554


 
 
ผลกระทบจากพายุโซนร้อนไห่ถางและเนสาด

        จากการถาโถมอย่างแรงของพายุทั้ง 2 ลูกนี้ ในส่วนของประเทศไทยตอนบนนั้น ทำให้ฝนตกชุกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเกิดน้ำท่วมขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ซึ่งในบางแห่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้มาก่อน และด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินปกติ ยังได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก โดยเบื้องต้นนั้นได้มีการประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แล้วว่ามีมูลค่าถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท ล่าสุดได้วัดค่าปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายนแล้วว่า มีค่าสูงกว่าปกติประมาณ 32% ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ตรวจวัดมา

พายุโซนร้อนนาลแก

        พายุโซนร้อนนาลแก (Nalgae) จากเกาหลีเหนือ แปลว่า ปีก เป็นพายุลูกล่าสุดที่พัดเข้ามาสู่ในประเทศไทย เดิมทีเป็นพายุไต้ฝุ่น แต่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำ เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และอ่อนกำลังลงอีกครั้งเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ที่เมืองดองฮอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554

ผลกระทบจากพายุโซนร้อนนาลแก

        เหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำ หลังจากที่เจอพายุ 2 ลูกใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกันในเดือนกันยายน เพราะในเดือนตุลาคม ที่ประเทศไทยต้องเจอกับพายุนาลแก ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่น จนหลายพื้นที่เกิดอุทกภัยอย่างหนัก ทั้งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ซึ่งในระยะนี้ยังมีแนวโน้มว่า อุกทกภัยครั้งนี้จะยาวนาน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต ตลอดจนพื้นที่การเกษตร และพื้นที่เศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมก็ถูกน้ำท่วมไปด้วย และเส้นทางคมนาคมทั้งสายเอเชีย และพหลโยธินที่มุ่งสู่ภาคเหนือ ก็ถูกปิดเส้นทางเดินรถชั่วคราว ซ้ำหนักในแถบ จ.ปทุมธานี นครนายก สมุทรปราการ รวมไปถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังต้องรับช่วงต่อกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของไทย ได้รับความเสียหายมากขึ้น


        อย่างไรก็ดี การอยู่กับภัยธรรมชาติ ซึ่งถือว่าปีนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถทำได้ก็คอการเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่ายังคงมีปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าค่าปกติอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลาก ปี 2554 ปีแห่งการต่อสู้เพื่ออยู่รอด คงเป็นที่จดจำของทุกคน ทั้งผู้ที่ประสบภัย และผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ หากมองในแง่บวกอยู่บ้าง ก็นับว่าเป็นอีก 1 เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนไทย ที่ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็ยังมีน้ำใจช่วยเหลือไม่ทิ้งกัน

 

ข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติ

รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์

ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง