'ไม่พูดไม่ยิ้ม' โรคใหม่มากับสังคมอุตสาหกรรม


[ 1 ส.ค. 2549 ] - [ 18257 ] LINE it!

ครอบครัวขนาดใหญ่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าเริ่มหายไปจากสังคมเวียดนามปัจจุบัน ที่ผู้คนปากกัดตีนถีบมุ่งหน้าหาเงินเป็นหลักขณะที่ระบบทุนนิยมเข้ามามีบทบาท ทำให้คู่สามี-ภรรยาเริ่มห่างเหิน สร้างปัญหาต่างสังคมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
              
ชาวเวียดนามเคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ถักทอเส้นใยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว การแข่งขันเรื่องการงานเพื่อสร้างรายได้ภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ชีวิตประจำวันในครอบครัวต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง ทุกคนพูดน้อยลง และไม่มีเวลากระทั่งยิ้มให้กัน
       
       สมาชิกครอบครัวห่างเหินกัน สามี-ภรรยาเริ่มห่างกันไม่มีกระทั่งเวลาจะพูดคุยหรือยิ้มให้กัน บ้านเริ่มกลายสภาพเป็นเพียงที่ซุกหัวนอน เด็กๆ ต้องพึ่งตนเองมากขึ้นเมื่อขาดผู้ปกครอง และผู้แก่แม่เฒ่าเริ่มถูกโดดเดี่ยว
       
       นายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่า นี่เป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังจะก่อปัญหาสังคมติดตามมาอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้
       
       "ตอนเช้าต้องทำทุกอย่างเพื่อรีบไปทำงาน พอเลิกงานอีกทีก็ดึก กลับถึงบ้านก็ทำได้แค่อาบน้ำ ทานข้าวเย็นแบบรีบๆ แล้วก็.. เข้านอน" เจ้าหน้าที่ระดับบริหารในสำนักงานแห่งหนึ่งกล่าว
       
       ผู้พิพากษาหญิง นางเหวียนถิเฮือง (Nguyen Thi Huong) แห่งศาลแขวงกรุงฮานอย กล่าวว่าปัจจุบันมีคดีหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น สามีภรรยาที่ไม่สมหวังไปที่ศาลเพื่อขอจดทะเบียนหย่าทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างกรณีสามีหรือภรรยานอกใจ หรือมีเรื่องชู้สาวเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนเมื่อก่อน
       
       แต่ด้วยสาเหตุง่ายๆ คือ "ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน" หรือ "ไม่มีความสุขในชีวิตคู่"
       
       ผู้พิพากษาคนเดียวกันนี้กล่าวว่า มีเพียงไม่กี่คู่ที่กล้าพูดกันเกี่ยวกับปัญหา แต่ส่วนใหญ่ยอมรับโดยดุษฎีด้วยการเก็บเงียบ ไม่พูดและไม่ยิ้มให้กัน โดยเหตุผลง่ายๆ คือ "อยากจะพักผ่อนหลังเลิกงาน"

พ่อบ้านแม่บ้านชาวเวียดนามยุคใหม่ต้องทำงานแข่งกับเวลาจนทำให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่นดูทีวี แทบจะไม่มี
              และการที่ไม่ได้พูดกัน ไม่ได้ยิ้มให้กัน ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันแม้สักเพียงชั่วขณะ ได้กลายเป็นสาเหตุใหญ่ของการหย่าร้างในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในชนบทหรือในเขตเมือง ผู้พิพากษาเฮืองกล่าว
       
       ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้น ครอบครัวชาวเวียดนามทั่วไปจะมีเวลาพบปะกันพร้อมหน้าพร้อมตากันในมื้ออาหารเย็น คุยกันออกรสขณะรับประทานไปด้วย ไม่ว่าจะนั่งโต๊ะหรือนั่งพื้น แต่เมื่อต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับเงินก็ได้ทำให้ฝ่ายชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเปลี่ยนบุคลิกไป เกิดอาการเครียด ไม่พูดไม่จากับใครๆ ที่บ้าน และจะตวาดทุกคนที่คุยกันระหว่างรับประทานมื้อเย็น ... ต่างกับเมื่อก่อน
       
       เมื่อฝ่ายสามีและพ่อที่ต้องทำงานตัวเป็นเกลียวนั้น ต้องการมุมสงบเป็นของตัวเองในบ้าน ลูกๆ และภรรยาหรือแม่จึงสูญเสียคนดูแลที่พวกตนเคยมี และในที่สุดฝ่ายชายก็สูญเสียครอบครัวไป
       
       การแข่งขันเพื่อหาเงินในชีวิตประจำวันได้บีบบังคับให้ชาวเวียดนามมีครอบครัวที่เล็กลงในปัจจุบัน คู่หนุ่มสาวแต่งงานใหม่แยกตัวเองออกไปจากพ่อแม่เร็วขึ้นเพื่อความคล่องตัว
       
       แต่ครอบครัวใหม่ที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก 3 คน ก็พบปัญหาใหม่ เช่น ปิดบ้านสนิทเพราะไม่มีใครอยู่ในเวลากลางวัน ตอนเย็นหลังเลิกเรียนมีลูกอยู่ในบ้านเพียงคนเดียว ต้องช่วยตัวเองซึ่งรวมทั้งต้องรับประทานอาหารมื้อเย็นมาจากนอกบ้าน ทั้งคุณแม่คุณพ่อจะกลับดึกตอนลูกหลับแล้ว
       
       ปรากฏการณ์เช่นนี้เริ่มไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ในสังคมที่กำลังพัฒนาไปภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งทุกคนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า "มีเงินแล้วจะมีทุกสิ่งทุกอย่าง"
       
       สามีภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายชายเป็นคุณหมอที่โรงพยาบาลแบ๊กมาย (Bach Mai) ซึ่งจะต้องเข้าเวรกลางคืน เวลากลางวันก็จะยุ่งกับคนป่วย ส่วนภรรยาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยการต่างประเทศในกรุงฮานอย ตกเย็นต้องสอนพิเศษ แทบจะไม่มีโอกาสได้พบกันในชีวิตประจำวัน ลูกๆ ต้องทานอาหารนอกบ้าน และดูแลกันเอง
       
       อีกรายหนึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทนำเข้าส่งออก ซึ่งกล่าวว่า "ทุกๆ นาทีล้วนมีค่าในยุคอุตสาหกรรมปัจจุบันนี้ ผมกับภรรยาไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องทำกับข้าวทานกันอีก เราต้องทำให้ทุกอย่างมันง่ายลง พยายามเมคมันนี่และคุณก็จะมีทุกสิ่งที่ต้องการ"
       
       แต่ชายผู้นี้ก็ไม่ได้พูดถึงชีวิตที่ต้องทานข้าวคนเดียวในร้านอาหารเดิมๆ ใกล้ออฟฟิศ และ ต้องนอนคนเดียวในบ้าน 3 ชั้น

โอกาสที่ทุกคนจะได้รับประทานมื้อเย็นและสรวลเสเฮฮาด้วยกันอย่างที่เคยปฏิบัติมาตลอดนั้น หายากขึ้นทุกวันๆ
              นายแพทย์จิ่งฮว่าบิ่ง (Trinh Hoa Binh) แห่งสถาบันสังคมวิทยาเวียดนาม กล่าวว่า "ไม่พูด-ไม่ยิ้ม" ได้กลายเป็นโรคชนิดใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในเวียดนาม โรคนี้ทำให้ระบบครอบครัวล่มสลายได้ โรคชนิดนี้เป็นผลจากความยากลำบากในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรม และผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือจากสังคมอย่างเร่งด่วน
       
       ดร.บิ่งกล่าวอีกว่าเวียดนามจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์และแผนการส่งเสริมสายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ซึ่งอาจจะเรียกว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาครอบครัว หรืออะไรทำนองนี้ หลังจากหลายแผนการที่ปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผล
       
       นายแพทย์เซิน (Son) ซึ่งเป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวเวียดนามในปัจจุบันก็คือ หาทางจัดกิจกรรมที่ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม กิจกรรมเช่นว่านี้อาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน
       
       กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวและประชาคมต่างๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันเช่นว่านี้เริ่มเลือนหายไปในสังคมเวียดนาม ยกเว้นในเขตชนบทที่ยังคงอยู่ในรูปบุญประเพณีต่างๆ แต่ไม่เหมาะอีกต่อไปสำหรับสังคมเมือง
       
       นพ.เซินกล่าวว่า ในสังคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว กระทั่งในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยังพยายามจัดให้มี "มุมสำหรับครอบครัว" ขึ้นมา
       
       แต่ไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตประจำวันจะเป็นเช่นไร สมาชิกครอบครัวต่างๆ ก็ไม่ควรละเลยโอกาสที่จะปรับตัวเอง เพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ ความรักและความสนิทสนมกลมเกลียวต่อสมาชิกคนอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันกล่าว.
       
ที่มา- 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
องค์กรศาสนาประท้วงหนัง องค์กรศาสนาประท้วงหนัง "โกยเถอะโยม" หมิ่นพระ

อย.เตือนตลาดห้วยขวาง พบยาดองศพในปลาหมึกกรอบใส่เย็นตาโฟอย.เตือนตลาดห้วยขวาง พบยาดองศพในปลาหมึกกรอบใส่เย็นตาโฟ

เว็บแนวใหม่!บริการแจ้งข่าวตาย-วางแผนใช้หลุมศพในอนาคตเว็บแนวใหม่!บริการแจ้งข่าวตาย-วางแผนใช้หลุมศพในอนาคต



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS