การอ่านสร้างลูกให้อัจฉริยะได้จริงหรือ


[ 13 ก.ค. 2555 ] - [ 18274 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
การอ่านสร้างลูกให้อัจฉริยะ
 
        การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเด็กๆ มีการอ่านหนังสือลดน้อยลง และมีกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาให้ทำมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามการอ่านก็ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากจะได้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถสร้างเสริมความรู้ คิด และจินตนาการได้อีกด้วย
 

การอ่านมีความสำคัญอย่างไร?

 
        ต้องบอกว่ามีความสำคัญมากๆ ที่เดียวเลย ต่อการขยายขอบเขตความรู้ของเราและขยายขอบเขตจินตนาการด้วย จะสังเกตเห็นว่าการอ่านนั้นจะมีเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ แต่โดยย่อๆ ก็คือ
 
        1. เป็นลักษณะการให้ข้อมูล เช่น หนังสือทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น จะทำให้เรารู้ว่าในอดีตเคยเกิดอะไรมาบ้าง เพราะอะไร มีอะไร ยังไง ถ้าเราเองไม่ได้อ่านหนังสือ ประสบการณ์ที่เราจะได้คือ ประสบการณ์ในปัจจุบันเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราได้อ่านเราก็จะเป็นเหมือนผู้เคยผ่านประสบการณ์มาเป็นพันปี คนที่มีโลกทัศน์มองเห็นเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบัน 3 พันปี กับคนที่มีโลกทัศน์แค่ 20-30 ปี มันต่างกันร้อยเท่า
 
        2. เป็นเนื้อหาในเชิงความคิดจินตนาการ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาจากความคิด จินตนาการของตัวเอง เช่น เรื่องราวนิยาย นิทาน อะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น ก็ทำให้คนอ่านเกิดจินตนาการตามไปด้วย เห็นเป็นมโนภาพ เป็นภาพในใจเกิดขึ้นมา ฉะนั้น เด็กที่ได้ฟังพ่อแม่เล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ จะมีจินตนาการที่กว้างไกล มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ฟัง ตรงนี้จะเสริมความคิดอ่านให้เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ให้มีจิตนาการเกิดขึ้น การอ่านลักษณะนี้ก็มีความสำคัญอีกรูปแบบหนึ่ง
 

ทำอย่างไรให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้แทนการติดทีวีหรือเล่นเกมส์?

 
        ถ้าเป็นการหาความรู้จากหนังสือในรูปแบบต่างๆ นั้นก็ดีไปอย่าง แต่ถ้าไปหาความเพลิดเพลินโดยการดูทีวีหรือเล่นเกมส์อย่างเดียววันหนึ่งหลายชั่วโมง ถ้ามากไปอย่างนี้ก็ไม่ดี การดูทีวีก็ใช่ว่าจะไม่ดีเพราะถ้าเราเลือกดูแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็จะเกิดผลดีกับเรา แต่ถ้าเราเอาแต่ดูทีวีอย่างเดียววันหนึ่งหลายชั่วโมงจนนานเกินก็ไม่ดี หรือเล่นเกมส์นิดๆ หน่อยๆ ก็โอเค แต่ถ้าติดจนดึกดื่นอดหลับอดนอนจนเสียการเรียน เสียสุขภาพ อย่างนี้ก็ไม่เหมาะ
 
        ให้เราสังเกตความแตกต่างระหว่างการอ่านหนังสือกับการดูทีวี ถ้าอ่านหนังสือเราจะเห็นว่าเราเป็นคนคุมเกมส์ จะอ่านเร็วหรือช้าเรากำหนดเองได้ พอพบเจอประเด็นที่น่าสนใจเราก็สามารถหยุดนั่งคิดตรึกตรองตามสักครู่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการดูทีวีจะทำแบบนี้ได้ยากเพราะเราต้องเป็นฝ่ายตาม จะเร็วหรือช้าอยู่ที่เรื่องราวการดำเนินเรื่องของทีวีที่ถ่ายทอดออกมา เราเป็นผู้รับสารโดยตรง ไม่มีสิทธิ์ควบคุมกำหนดอะไรต่างๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือเราสามารถกำหนดความเร็วช้าได้อยู่ที่เรา ฉะนั้นในแง่การเสริมสร้างจินตนาการ การนึกคิดตรึกตรองให้ลึกซึ้ง การอ่านจะทำได้มากกว่า เพราะฉะนั้นการอ่านนี้สำคัญมาก
 
        คนเขียนเวลาเขียนอะไรออกไปเราสังเกตไหมว่า เขาต้องใช้เวลามากกว่าการพูด และเวลาเราพูดจะพูดอะไรก็พูดออกไปได้ทันที แต่ถ้าเราจะต้องเขียนจดหมายแล้วก็ต้องคิดว่าจะเรียบเรียงความอย่างไร จะใช้คำพูดอย่างไรให้คำมันกระชับ ถ่ายทอดความคิดได้ครบ ฉะนั้นการเขียนคือการที่เอาความคิดของเราเรียบเรียงนำเสนออย่างเป็นระบบ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือในแนวเชิงวิชาการหน่อยๆ มันจะแสดงถึงภูมิรู้ของผู้เขียนด้วย ผู้เขียนจึงต้องไตร่ตรองคิดอย่างดี สกัดเอาแก่นความคิดถ่ายทอดออกมา การอ่านจึงทำให้เราสามารถซึมซับเอาแก่นความคิดความรู้ของผู้มีปัญญามาเป็นของเราได้ นักเขียนเก่งๆ บางคนใช้เวลาคิดตั้งหลายปีกว่าจะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือได้ แต่เราใช้เวลาอ่านนิดเดียวก็ไปคว้าเอาแก่นความคิดของเขามาได้แล้ว ถ้าเราไปอ่านหนังสือของผู้รู้ นักปราชญ์ สัก 10 คน เราก็เท่ากับเราไปคว้าแก่นความรู้คิดของนักปราชญ์มาได้ 10 คนมาเป็นของเรา ย่อยตกผลึกให้ดีก็ทำให้ภูมิรู้ภูมิธรรมเราเพิ่มได้แล้ว ยิ่งไปหาอ่านมาได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้กำไรมาก เพราะฉะนั้นการอ่านจึงเป็นประโยชน์มากๆ เลย
 
        เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรให้ลูกมีนิสัยรักการอ่าน พ่อแม่ก็มีส่วนอย่างมาก โดยเฉพาะตอนเด็กยังเล็กๆ อยู่นั้นอยู่ที่พ่อแม่ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร เขามีสถิติงานวิจัยออกมาว่า ตั้งแต่เด็กเริ่มรู้ความจนถึงอายุ 6 ขวบนั้นมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เพราะสมองเด็กนั้นเมื่อเลยอายุ 6 ขวบ เซลส์สมองจะเริ่มอยู่นิ่งกับที่แล้ว แต่ในช่วง 6 ปีแรกนั้นกำลังพัฒนาเลย ถ้าพ่อแม่รู้จักเอาเรื่องเล่าอย่างที่เราเคยฟังในสมัยก่อน เช่น นิทานก่อนนอนมาเล่าให้ลูกฟัง เลือกเอาเรื่องที่น่าสนใจ จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการ และสมองจะมีการพัฒนา
 
ปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเริ่มต้นโดยการเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน
ปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเริ่มต้นโดยการเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน
 
        มีคนเคยไปถามไอสไตน์ว่า ทำอย่างไรจะเลี้ยงลูกให้ฉลาดเหมือนท่าน ไอสไตน์ก็ตอบว่าให้เล่านิทานให้ลูกท่านฟังก่อนนอนสิ แล้วฝึกลูกให้รักการอ่าน เพราะตัวเขาเองเขาก็ได้มาอย่างนี้ ทำให้มีจินตนาการ รู้จักคิด รู้จักจับประเด็น มันจะพัฒนาการต่อยอดไปได้เรื่อยๆ นี้คือบทสรุปของอัจฉริยะของโลก
 
        และเราเองพอเล่านิทานให้ลูกฟัง อาจเป็นนิทานเชิงจินตนาการเต็มที่ หรืออาจสอดแทรกแง่คิดบ้างก็ได้ นิทานเชิงคุณธรรมก็ได้ มีหลากหลายรูปแบบ ค่อยๆ เล่า เด็กก็จะฟังและเริ่มคิดตาม ให้ปลูกฝังแต่ยังเยาว์วัยให้ติดจนเป็นนิสัย จนเขามีความรู้สึกว่าอยากอ่านหนังสือได้ จะได้ไปหาอ่านเองไม่ต้องรอคอยให้พ่อแม่มานั่งอ่านให้ฟัง ฉะนั้นการเล่านิทานให้ลูกฟังนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้จริง พอเขารักการอ่านแล้วก็จะมีการปรับตัวเองไม่ต้องห่วงว่าอย่างอื่นจะดึงเวลาไปหมด เพราะเขาอ่านจนเคยพอถึงเวลาก็อยากจะมานั่งอ่านหนังสือเพราะชอบ
 
        ประเทศญี่ปุ่นสร้างชาติได้ด้วยการอ่านหนังสือนี่แหละ เพราะพออ่านมากๆ เข้าก็มีข้อมูลมาก ก็จะทำให้คนฉลาดขึ้น ขอบเขตความรู้ของคนญี่ปุ่นจึงค่อนข้างกว้างขวาง ถ้าอยากจะสร้างคนให้ฉลาดให้คิดเป็นก็ต้องฝึกให้อ่านหนังสือ เริ่มจากหนังสือที่มีความเพลิดเพลินก่อนก็ได้ แล้วมันจะค่อยๆ ขยับไปเองไปสู่หนังสือที่มีเนื้อหาสาระมากขึ้นเอง
 
การที่ผู้ปกครองให้เด็กเลือกอ่านการ์ตูนเองอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่?
 
        การ์ตูน จะอ่านก็ได้จะดูก็ได้ ต้องเลือกเหมือนกัน คืออย่าเอาเรื่องที่เต็มไปด้วยการฆ่ากัน ความรุนแรง หรือเรื่องทางเพศ อย่างนี้ไม่เอา อย่างมากก็ควรจะเป็นในแนวนิยายไทยตามวัยของเด็ก หรือการ์ตูนที่สนุกๆ ก็พอได้ แต่ก็ต้องมีการกลั่นกรอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ว่าจะชี้นำให้ไปทางไหน ถ้าเราเล่าเรื่องราวที่มีความรุนแรงไปก่อนก็จะมีข้อเสียตามมา เพราะคนเราเรื่องความรุนแรงและเรื่องทางเพศมักจะดึงคนได้ง่าย แต่ถ้าเราเล่าเรื่องราวให้เด็กฟัง ไม่ว่าจะเป็นนิทานก่อนนอนอย่างที่ว่า หรือพอโตขึ้นมาหน่อยก็เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ฟัง ให้เขาอยากรู้และให้เขาไปหาอ่านต่อเองโดยพ่อแม่เป็นฝ่ายกระตุ้น อย่างนี้เด็กก็จะไปเลือกเรื่องราวที่มีสาระ ถ้าเราอ่านหนังสือเยอะๆ เก็บข้อมูลในใจเรามากเข้า พอเจอเรื่องใหม่มาเราก็เชื่อมโยงเรื่องเก่าได้ บางทีตรวจสอบได้ด้วยว่าเรื่องใหม่ที่เขียนมานี้ถูกต้องผิดเพี้ยนหรือไม่ อย่างนี้ต่อไปจะเป็นคนที่คนอื่นมาหลอกได้ยาก
 
มีหลักในการเลือกหนังสืออ่านอย่างไรให้กับเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม?
 
        อย่าไปกังวลอะไรมาก ขอให้เริ่มต้นที่การชอบการอ่านให้ได้ก่อน แล้วอย่าไปเริ่มการอ่านด้วยเรื่องที่รุนแรง ให้เริ่มต้นแค่พอเพลินๆ สนุกๆ อย่างนี้ก่อน เดี๋ยวมันจะค่อยๆ พัฒนาของมันไปเองโดยธรรมชาติ อย่าไปกังวล ถ้าเริ่มต้นด้วยความเพลิดเพลินแฝงสาระไว้ด้วย เมื่อเริ่มต้นได้อย่างนี้ ความรุนแรงหรือเรื่องไร้สาระมันก็จะไม่ชอบไปเอง แล้วพัฒนาการก็จะค่อยๆ เป็นไปตามวัย
 
พ่อแม่กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้ลูกที่กำลังเล่นอยู่ข้างๆ ช่วยทำได้
พ่อแม่กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้ลูกที่กำลังเล่นอยู่ข้างๆ ช่วยทำได้
 
        ต้องบอกว่าการฝึกวินัยให้ลูกนั้นสำคัญมาก ต้องรักลูกแต่อย่าโอ๋ลูกเหมือนเป็นเทวดามาเกิด อย่างนี้จะเป็นการทำลายลูกเพราะถ้าเราไม่อยู่แล้วใครจะดูแลลูก จะทำให้เขาพึ่งตัวเองไม่เป็น จึงต้องสอนลูกให้รู้จักทำงานตั้งแต่เล็ก 4-5 ขวบ เช่นว่า พ่อแม่กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้ลูกที่กำลังเล่นอยู่ข้างๆ ช่วยทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน รดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน เล่นของเล่นแล้วต้องสอนให้รู้จักเก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย ให้ฝึกจากของใกล้ๆ ตัวอย่างนี้แล้วแบ่งหน้าที่ให้ลูกทำโดยมีพ่อแม่ร่วมด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกด้วย ทำแบบนี้ตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการทำงาน ความรับผิดชอบ โดยมีพ่อแม่เป็นแบบ แล้วค่อยๆ พัฒนา และจะเกิดความอบอุ่นขึ้นด้วย ทำงานอยู่ด้วยกันใกล้ชิดพ่อแม่ ความรักความผูกพันมันได้กันหมดเลย แล้วค่อยปลูกฝังใหม่ โตขึ้นก็รับผิดชอบมากขึ้นๆ แล้วจะได้ดี
 
มีเทคนิควิธีการอ่านให้ถูกต้องเหมาะสมกับการอ่านในแบบต่างๆ อย่างไรบ้าง?
 
        เริ่มแรกเอาเกี่ยวกับเรื่องการอ่านหรือการหาข้อมูลที่เข้ากับอายุก่อน ยุคนี้ในอินเตอร์เน็ตนั้นมีข้อมูลเยอะมาก เราจึงต้องรู้ว่าเราจะหาข้อมูลเรื่องอะไร แล้วเอาเรื่องนั้นให้ได้เข้าเป้า ต้องมีวัตถุประสงค์ในการอ่านหรือค้นข้อมูลให้ชัดเจนแล้วมุ่งตรงต่อตรงนั้นให้จบก่อน แล้วค่อยไปดูอย่างอื่นที่สนใจอยากจะดูต่อ แต่ว่าวัตถุประสงค์หลักต้องได้ก่อน คือกำหนดเป้าหมายในการอ่านในการหาข้อมูลที่ชัดเจน นี่ประการที่ 1
 
        ประการที่ 2 อยู่ที่ว่าเราอ่านเรื่องนั้นแล้วเราจะอ่านแบบเก็บละเอียด วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง หรือจะอ่านแบบจับประเด็น ถ้าอ่านอย่างละเอียด วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เช่น การอ่านเพื่อที่จะไปเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ ที่ต้องวิเคราะห์ วิจัยเรื่องอะไร อย่างนี้ต้องดูทุกตัวอักษรเลย และอ่านไปแล้วก็ต้องคิดไปด้วยไม่ใช่อ่านแค่ผ่านตา แต่ต้องไตร่ตรองขบคิดให้ดี บางทีอาจต้องไปค้นจากเล่มอื่นอีกที่มันเกี่ยวโยงกันว่ามันจริงอย่าที่ว่าหรือไม่ ตรวจสอบข้อมูลเช็คทุกอย่าง นี่คือการอ่านอย่างละเอียดอันนี้ก็แบบหนึ่ง
 
        แต่อีกแบบหนึ่งคือการอ่านแบบแสกน คืออ่านเพื่อจะจับประเด็นว่าเรื่องนี้มาอย่างไร เพราะบางครั้งเอกสารก็มีหลายร้อยหน้า ทำอย่าไรเราจะจับประเด็นได้ภายในเวลา 10-20 นาที ก็ใช้วิธีสแกนหาประเด็นที่สำคัญตรงเป้าหมายที่สุด หัวข้อไหนไม่เกี่ยวข้องก็ผ่าน หัวข้อไหนตรงประเด็นก็ให้หยุดอ่านพิจารณาจับประเด็นตรงนั้น ค่อยๆ ทำไป อ่านให้ชำนาญแล้วเดี๋ยวจะทำได้
 
        จะสังเกตเห็นว่า คนที่เขาเขียนหนังสือได้เก่งและดีนั้นประเด็นเขาจะชัดเจน ใน 1 ย่อหน้านั้นมักจะมี main ideaอยู่อันหนึ่ง คือมีประเด็นหลักอยู่ในแต่ละย่อหน้า ส่วนใหญ่มักจะอยู่ตรงประโยคแรกของย่อหน้าหรือประโยคสุดท้าย ถ้าเราดูตรงนี้ก็พอจะจับได้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เราเองก็เช่นกันพออ่านข้อมูลมากๆ เข้าแล้วเราจับประเด็นได้แม่น เราก็เริ่มจะเป็นผู้ถ่ายทอดได้ จะเขียนอะไรก็ให้มีประเด็นชัดเจน ถ้าภาพในใจหรือประเด็นในใจเราชัดเจนเราจะสามารถสื่อไปได้ ฉะนั้นเริ่มต้นคือให้เริ่มอ่านก่อน อย่าเพิ่งไปกังวลอะไรทั้งสิ้น อ่านเมื่อไรก็ได้ความรู้เมื่อนั้น เพราะการอ่านสร้างปัญญาได้จริงๆ


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สมาธิมีผลต่อความสุขความสำเร็จของมนุษย์ทุกคนได้จริงหรือสมาธิมีผลต่อความสุขความสำเร็จของมนุษย์ทุกคนได้จริงหรือ

จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่การบวชนั้นได้อานิสงส์มากจุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่การบวชนั้นได้อานิสงส์มาก

อนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใดอนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใด



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว