“The life of Buddha” แอนิเมชั่นไทยตะลุยอินเตอร์ ปักธง “ธรรม” 360 องศา


[ 21 เม.ย. 2550 ] - [ 18277 ] LINE it!

การ์ตูนไทยหัวใจพุทธ เตรียมฝ่าวงล้อมนักสร้างแอนิเมชั่นระดับโลก สร้างผลงานเทียบชั้นวอล์ท ดีสนีย์
       พร้อมชักธงธรรมในใจเยาวชนไทย ก่อนลัดฟ้าไกลไปต่างแดน
        โมโนฟิล์มเผยแผนดัน “ประวัติพระพุทธเจ้า” ขึ้นเวทีเมืองคานส์ หวังโชว์ศักยภาพภาพยนตร์จากแดนสยาม
        สถานการณ์ผู้สร้างล่าสุด เร่งหาสปอนเซอร์เป็นการด่วน หวังกระแสซีเอสอาร์จะช่วยหาผู้สนับสนุนให้พ้นปัญหา

       
        อีกไม่นานเกินรอภาพยนตร์การ์ตูน 2 มิติเรื่อง “ประวัติพระพุทธเจ้า” (The Life of Buddha) ที่ผลิตโดยคนไทยก็จะออกสู่สายตาผู้ชมชาวไทย และชาวต่างชาติ หลังใช้เวลาดำเนินงานสร้างตั้งแต่ปลายปี 2546 ใช้ทุนสร้างกว่า 108 ล้านบาท แม้วงเงินลงทุนจะน้อยมากเมื่อเทียบกับการ์ตูนแอนิเมชั่นจากต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรา หรือแม้แต่ก้านกล้วยที่ผลิตโดยคนไทยด้วยกัน แต่หากเทียบในแง่คุณค่าแล้วภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้สูงส่งยิ่งนัก
       
        ตามแผนที่วางไว้การ์ตูนเรื่องนี้แล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม และจะนำออกฉายหลังวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้ เนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา โดยคณะผู้จัดทำตั้งใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา จนถึงขณะนี้ภาพยนตร์การ์ตูนเกี่ยวกับพระประวัติของพระพุทธเจ้าที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับพระไตรปิฎก และอรรถกถา เสร็จไปแล้วกว่า 80%
       
       แอนิเมชั่นไทย
       มาตรฐานอินเตอร์

       
        จริงแล้วภาพยนตร์การ์ตูนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า คำสอนในพระพุทธศาสนา และพระอัครสาวกนั้นเคยมีการผลิตมาบ้างแล้วทั้งในรูปแบบภาพยนตร์ และการ์ตูนแอนิเมชั่น อย่างเช่น ในประเทศอินเดีย และสิงคโปร์ก็เคยผลิตการ์ตูนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามาแล้ว หรือคนไทยโดยบริษัท เอพพริฌิเอท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ก็เคยผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นแบบ 3 มิติ แนวธรรมะเรื่อง มิลินทปัญหา เพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อปีที่ผ่านมา เพียงแต่มาตรฐานของงานการ์ตูน และมูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท คงเทียบไม่ได้กับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าที่ลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีตัวละครมากถึง 100 ตัวละคร และมีความละเอียดวินาทีละ 24 ภาพ ซึ่งเป็นมาตรฐานเทียบเท่ากับวอลท์ ดีสนีย์ เลยทีเดียว
       
        “ที่ต้องทำ 24 รูปภาพก็เพราะต้องให้ลูกหลานของเราประทับใจด้วยรูปลักษณ์ เพื่อให้น้อมนำมาสู่เรื่องราว ถ้าไม่สวยเด็กคงไม่อยากดู และต้องการให้ติดตาว่าพระพุทธเจ้าของเราเป็นแบบนี้ ถ้าเราวาดไม่สวย ลักษณะการเดินไม่นุ่มนวลอย่าทำเลยดีกว่า” วัลลภา พิมพ์ทอง ประธานบริษัท มีเดียสแตนดาร์ด จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
       
        วัลลภา ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็มีคนทำการ์ตูนเรื่องพระพุทธเจ้ากันมาก แต่ที่ประเทศอื่นทำอาจไม่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกในฉบับของเรา และเรื่องที่คนอื่นทำ ไม่ได้บอกว่าศาสนาพุทธสอนอะไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ทำไมต้องมีอหิงสักกะ ทำไมพระโมคคัลลานะต้องถูกทุบในวาระสุดท้าย คือเราพยายามบอกให้รู้ว่าไม่สามารถจะหลีกหนีกรรมที่เราทำไว้ จะได้ให้เด็กทำแต่ความดี สังคมจะได้ดีขึ้น การ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นก้าวแรกให้เด็กหันมาในใจในพระพุทธศาสนา ส่วนในเรื่องการเข้าไปถึงระดับวิปัสสนาก็เป็นเรื่องของพระผู้รู้ที่ท่านจะสอนได้ง่ายขึ้น และหนังเรื่องนี้เราไม่ได้เชิญชวนคนที่นับถือศาสนาอื่นให้หันมานับถือศาสนาพุทธ แต่ให้รู้ศาสนาของเราสอนอะไร การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรบ้าง
       
       ปูพรม “ธรรม” ครบวงจร
       
        ช่วงเวลาที่ผ่านมาการเผยแพร่คำสั่งสอนของพระพุทธองค์มีหลากหลายรูปแบบเรียกได้ว่าครบวงจรของสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ วิดีโอ ซีดี ดีวีดี เพลง การบรรยาย ภาพยนตร์ และภาพยนตร์แอนิเมชั่น และอื่นๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้สนใจทุกกลุ่มทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่หนังสือธรรมะเบิกบานอย่างยิ่งมีหนังสือเผยแพร่ความเข้าใจใน
หลักธรรมปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาจากหลายสำนักพิมพ์ หลายหัวหนังสือ สามารถสร้างยอดขาย และสร้างสถิติการพิมพ์ซ้ำมากมายเป็นประวัติการณ์        
        แม้จะมีการผลิตสื่อธรรมออกมามากมาย แต่ยังไม่มีใครผลิตสื่อธรรมแบบองค์รวม ซึ่งในที่นี้หมายถึง ผู้ผลิตรายเดียว ผลิตเนื้อหาครั้งเดียว แต่ครอบคลุมไปทุกสื่อ ซึ่งที่ผ่านมามีการ์ตูนธรรมะชื่อ มิลินทปัญหา หรือ ปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ เป็นการนำบทสนทนาธรรมโต้ตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กษัตริย์เชื้อสายกรีก กับพระนาคเสน พระอรหันต์ผู้มีปัญญาฉลาดปราดเปรื่อง ที่แปลเป็นภาษาต่างๆรวมทั้งภาษาไทย นำมาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบการ์ตูนโดย “เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย” เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักธรรมง่ายขึ้น มีทั้งหมด 3 เล่ม คือ มิลินทปัญหาเล่ม 1 พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่จริงหรือ เล่ม 2 ธรรมะเรียนลัดไม่ได้ เล่ม 3 อะไรเอ่ยไม่มีในโลก จากสำนักพิมพ์วงกลม โดยเรื่องเดียวกันนี้ก็เคยผลิตในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่นเพื่อฉายทางช่อง 7 เป็นตอนๆตอนละ 15 นาทีออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.00 น. มาแล้วเช่นกัน แต่เป็นการผลิตจากคนละบริษัท ทว่า มีความคิดตรงกันว่า เรื่องราวของพุทธศาสนานั้น ถ้าทำด้วยหัวใจจริงๆก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยไม่น่าเบื่อ
       
        สำหรับการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้านั้น นอกจากจะผลิตเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว ยังมีแผนทำเป็นวีซีดี และหนังสือ เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายไปยังโรงเรียนและผู้สนใจอีกด้วย วัลลภา กล่าวว่า อีกสิ่งที่เราทำคือ การทำหนังสือการ์ตูนโดยจะทำเป็นเล่มใหญ่ๆเหมือนของต่างประเทศเพื่อจำหน่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อซื้อไปแจกตามโรงเรียน
       
        “หนังสือจะออกได้ต้องให้หนังออกฉายก่อน อาจจะนำหลายส่วนจากในหนังมาใช้ บางคนที่ไม่ได้ดูหนังก็สามารถมาดูในหนังสือได้ ใช้ชื่อเดียวกัน แต่ในหนังสือจะมีเรื่องราวมากกว่าหนัง ส่วนจะทำกี่เล่มนั้นขึ้นอยู่กับหนังที่ได้ฉายว่าได้เงินมาเท่าไร เราแบ่งเป็น 3 ส่วน 40% หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะถวายในหลวง ส่วนที่สองทำหนังสือให้กับหน่วยงานที่มาช่วย ส่วนที่สาม ทำซีรีส์การ์ตูนที่มีความละเอียดยิ่งกว่า และลึกมากกว่าเพื่อฉายในทีวี”
       
        ที่สำคัญภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นความยาวประมาณ 100 นาทีเรื่องนี้ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อฉายในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังจะนำออกไปฉายยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยจะแปลเป็นภาษานานาชาติ 5 ภาษา เป็นอย่างน้อย คือ อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเยอรมัน
       
       โมโนฟิล์ม ทุ่มสุดตัว
       ดัน The Life of Buddha สู่ตลาดโลก

       
        อีกส่วนสำคัญที่ในการทำหน้าที่เป็นกลไกผลักดันให้ภาพยนตร์การ์ตูนประวัติพระพุทธเจ้า( The Life of Buddha) ประสบความสำเร็จในตลาดโลก โมโนฟิล์ม บริษัทผู้รับผิดชอบในการนำภาพยนตร์จัดจำหน่ายออกสู่สายตาชาวโลก จิรัญ รัตนวิริยะชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโนฟิล์ม จำกัด เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับมีเดียสแตนดาร์ด แต่คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โมโนฟิล์ม จะรับผิดชอบในการนำภาพยนตร์การ์ตูนชุดประวัติพระพุทธเจ้า ออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ จะนำเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นลำดับแรก ก่อนจะนำเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำอีก 4 รายการทั่วโลกภายในปีนี้ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี, เมืองปูซาน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งจิรัญ ยอมรับว่า ยังไม่แน่ใจในกระแสตอบรับของตลาดต่างประเทศว่าจะให้ความสนใจมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเนื้อหาของการ์ตูนเป็นเรื่องราวของฝั่งเอเชีย แต่จากการพูดคุยกับคู่ค้าที่ทำธุรกิจกันมาก่อนหน้า ก็มีความสนใจพอสมควร
       
        โมโนฟิล์ม เป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ที่งานซึ่งออกมาส่วนใหญ่ แทบไม่ได้รับการพูดถึงในเมืองไทย แต่กลับไปสร้างตลาดดึงรายได้จากทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป อาทิ เสือคาบดาบ ไพรีพินาศ หรือสุดสาคร จิรัญมีแนวคิดในการนำบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศ โดยการรับเป็นตัวกลางในการเปิดบูทหนังไทยในเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ทั่วโลก เพราะเห็นความอ่อนแอของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ไม่อาจเทียบกับคู่แข่งในเอเชีย เช่น เกาหลี ฮ่องกง ในตลาดโลกตรงที่ภาครัฐไม่เคยเข้ามาดูแลเป็นคนกลางในการยกทัพหนังไทยออกสู้ศึก ปล่อยให้ผู้ผลิตแต่ละรายต่างคนต่างไป
       
        จิรัญเสนอแนวคิดว่า บูทที่โมโนฟิล์มสร้างขึ้นในเทศกาลภาพยนตร์แต่ละครั้ง ใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาท เปิดบูทขนาดใหญ่ ที่มีกิจกรรมดึงดูดให้ผู้ร่วมงานเห็นถึงศักยภาพของภาพยนตร์จากประเทศไทย บริษัทที่สนใจจะร่วมออกบูท ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ภาพยนตร์ของบริษัทใดขายได้ จึงมาตกลงเรื่องส่วนแบ่ง หากขายไม่ได้ ไม่ต้องเสียเงิน The Life of Buddha ก็เช่นเดียวกัน
       
        จิรัญ กล่าวว่า The Life of Buddha หรือประวัติพระพุทธเจ้า มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้เช่นกัน ด้วยคุณภาพการผลิต ที่ใช้ทีมงานคนไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนให้กับวอลท์ ดีสนีย์ เรื่อง มู่หลาน ในปี 1998 ทำให้ลายเส้น ความละเอียด ของ The Life of Buddha เทียบเท่างานระดับฮอลลีวู้ด ซึ่งเป้าหมายของการออกขายในตลาดโลก คือการขายเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นลำดับแรก ส่วนบริษัทที่ต้องการซื้อไปเพื่อฉายในเคเบิลทีวี หรือลงแผ่น จะให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป
       
        “คาดว่าตลาดในยุโรป จะเป็นตลาดสำคัญที่ให้ความสนใจซื้อ หากได้เห็นคุณภาพของหนัง โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทผู้จำหน่ายจากเยอรมนี มาขอซื้อลิขสิทธิ์จากมีเดียสแตนดาร์ด ในราคา 200 ล้านบาท แต่ผู้บริหารของมีเดียสแตนดาร์ดไม่มีความชำนาญในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ โมโนฟิล์มก็จะเป็นตัวแทนในการเจรจาอีกครั้ง ทำให้มั่นใจว่าเมื่อ The Life of Buddha เข้าสู่เทศกาลหนังที่เมืองคานส์ ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้รับความสนใจจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายจากทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปหลายประเทศแน่นอน”
       
        สำหรับการจัดจำหน่ายในประเทศไทย จิรัญกล่าวยอมรับว่า โมโนฟิล์มคงไม่ใช่บริษัทที่มีศักยภาพในการจัดจำหน่ายในประเทศที่ดีที่สุด จึงอยากให้มีเดียสแตนดาร์ดได้มีโอกาสเลือกผู้จัดจำหน่ายที่มีฝีมือในการทำตลาดเมืองไทย แต่ปรากฏว่าบริษัทเหล่านั้นกลับต้องการผลตอบแทนที่สูง ทำให้มีเดียสแตนดาร์ดหันมาเจรจาให้โมโนฟิล์มรับเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยยังไม่ได้ข้อสรุป
       
        “ความร่วมมือระหว่างโมโนฟิล์มกับมีเดียสแตนดาร์ดในครั้งนี้ ถือเป็นการทำด้วยใจ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการปลูกฝังให้เยาวชนไทย คนไทย มีความศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้า เมื่อมีเดียสแตนดาร์ดมั่นใจในคุณภาพการทำงานของโมโนฟิล์ม เราก็มีความศรัทธาที่จะร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคมไทย และขยายไปสู่สังคมโลก โดยไม่สนใจเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ คาดว่า ภาพยนตร์การ์ตูนประวัติพระพุทธเจ้า The Life of Buddha จะออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทยในเดือนธันวาคมนี้ โดยรายได้จากการฉายจะมีการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษาในปีนี้ด้วย” กรรมการผู้จัดการ โมโนฟิล์ม กล่าว
       
       ใครอยากทำ CSR มาทางนี้
       
        ท่ามกลางกระแสของซีเอสอาร์ (CSR : Corporate Social Responsibility) ที่กำลังเป็นที่สนใจขององค์กรต่างๆทั้งในต่างประเทศ และบ้านเรา หลายองค์กรทุ่มเงินนับสิบล้านบาทไปกับการกับทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมโดยไม่ได้สนใจว่าจะได้ยอดขายกลับคืนมาหรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากหลายองค์กรหันมาให้ความสนใจกับการปูพื้นฐานสังคมให้ดีด้วยการสนับสนุนภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ เนื่องจากแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าจะมุ่งกลุ่มผู้ชมไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนครอบครัวเป็นหลัก ด้วยเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้านับตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ เสด็จจาริกออกแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกไปจนถึงปรินิพพาน ขณะที่การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องมิลินทปัญหาจะมุ่งไปที่กลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นข้อปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับปัญหาความเป็นไปของชีวิต มีสาระทางปัญหาธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
       
        ความจำเป็นที่องค์กรต่างๆควรสนับสนุนก็เพราะจนถึงเวลานี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังต้องใช้เงินทุนอีกกว่า 20 ล้านบาท ด้วยนับตั้งแต่วันแรกที่ลงมือสร้างจนถึงปัจจุบันภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร หรือหน่วยงานราชการเลย เพราะธนาคารเห็นว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้ามีข้อจำกัดในแง่ธุรกิจ และยากในการทำกำไร ดังนั้น ในช่วงแรกของการดำเนินการสร้างจึงต้องระดมเงินด้วยการจำหน่ายหนังสือ และเสื้อ แต่ก็ได้เม็ดเงินเพื่อมาสร้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องควักทุนส่วนตัว และของเพื่อนพ้องน้องพี่มาสร้างต่อ
       
        “ในตอนที่ลงทุนไม่คิดว่าจะยากขนาดนี้ ไม่คิดว่าหน่วยงานจะไม่สนับสนุนขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าธนาคารจะให้กู้ หรืออาจมีคนมาร่วมทุนได้ หลายคนบอกอย่าคิดมากเรากำลังทำเรื่องพระพุทธเจ้าอยู่ กว่าท่านจะตรัสรู้ยากยิ่งกว่าเราอีก” วัลลภา กล่าว และว่า ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มหาสปอนเซอร์ อย่างน้อยเราอยากหาหน่วยงาน หรือองค์กรมาร่วม เราพยายามที่จะให้บริษัทเขาคิดว่าเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบซีเอสอาร์ ซึ่งในตอนนี้มีบางองค์กรเริ่มสนใจเข้ามาเป็นสปอนเซอร์แล้ว
       
       ************
       
       ย้อนรอยแอนิเมชั่นพันธุ์ไทย
       70 ปีบนเส้นทาง...วันนี้ไปถึงไหน
       
        แม้ว่างานแอนิเมชั่นในบ้านเราเพิ่งจะมาบูมเอาเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่งานด้านศิลป์ของคนไทยหาได้ด้อยกว่าคนต่างชาติไม่ สิ่งสำคัญที่ทำให้งานของคนไทยไม่สามารถก้าวไกลไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเพราะเนื้อเรื่อง การตลาด และการมองเข้าไปถึงแก่นแท้ของเด็กจริงๆ ยังสู้ทางฮอลลีวู้ดไม่ได้
       
        ที่ผ่านมางานแอนิเมชั่นโดยฝีมือคนไทยมีไปปรากฏโฉมยังต่างประเทศไม่มากนัก และในจำนวนน้อยเท่านับนิ้วมือได้นั้นมีคาแรกเตอร์การ์ตูนไม่ว่า คน หรือสัตว์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยแท้น้อยเข้าไปอีก ส่วนใหญ่จะอิงคาแรกเตอร์ของต่างชาติ ไม่ว่า ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคาแรกเตอร์การ์ตูนของไทยนั้นเพิ่งเข้าสู่สายตาของชาวโลกได้ไม่นาน จึงจำเป็นต้องให้ต่างชาติเข้าใจตัวคาร์แรกเตอร์ของไทยก่อน ต่างจากญี่ปุ่นที่ส่งออกการ์ตูนแอนิเมชั่นมานาน
       
        “ประวัติพระพุทธเจ้า” แม้จะเป็นคาแรกเตอร์ฝีมือคนไทยล้วนๆ แต่ยังมีกลิ่นอาย และลายเส้น เป็นแบบฝรั่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทีมงานเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนให้กับวอล์ท ดีสนีย์ มาก่อน และอีกส่วนหนึ่งต้องการนำภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ไปฉายยังต่างประเทศ ดังนั้น รูปแบบ และเส้นสายอาจดูเป็นอินเตอร์ไปบ้าง แต่ทุกตัวละครนั้นทางคณะผู้สร้างได้ศึกษาจินตนาการให้ตรงกับรูปแบบของคนในยุคนั้นอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ให้มีอิสระในแนวความคิดอันหลากหลายเพื่อขยายแนวการตลาดก้าวสู่ตลาดสากล โดยมีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการ
       
        ดังนั้น เมื่อทีมงานผู้ผลิตเคยทำงานในระดับสากลมาแล้ว กับทั้งเนื้อเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าเป็นที่สนใจในของต่างชาติอยู่แล้ว จึงคงไม่ใช่เรื่องยากนักที่การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้จะสามารถไปบุกตลาดต่างประเทศ และสร้างการยอมรับวงการแอนิเมชั่นเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการ “ปักธง” ธรรมให้ผู้คนได้รู้จัก น้อมนำ และนำไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
       
        แต่กว่าจะถึงวันนี้ เส้นทางแอนิเมชั่นไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร
       
        หากจะย้อนกลับไปมองถึงจุดกำเนิดของแอนิเมชั่น ภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวบนจอภาพของประเทศไทย ผู้บุกเบิกสร้างปรากฏการณ์ให้คนไทยเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ได้ตื่นตาตื่นใจ คือปูนชนียบุคคลของวงการโทรทัศน์ไทย อาจารย์สรรพสิริ วิริยศิริ ที่คนในยุคสมัยนั้นคงจำโฆษณายาหม่อง ที่มีพรีเซนเตอร์เป็นแอนิเมชั่นชื่อ หนูหล่อ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงหมีน้อยเยี่ยมผู้ป่วย ในโฆษณานมตราหมี และ แม่มดกับกระจกวิเศษ และสโนว์ไวท์จากโฆษณาแป้งน้ำควินนา
       
        นับจากนั้น แม้มีความพยายามในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาแอนิเมชั่นพันธุ์ไทยมาเป็นระยะ หากแต่ข้อติดขัดด้านกฎหมายควบคุมสื่อ รวมถึงการที่การ์ตูนแอนิเมชั่นถูกนำเข้าใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง การปกครอง จนกระทบกับผู้นำประเทศในเวลานั้น ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า จวบจนกระทั่งช่วงปี พ.ศ.2519 - 2521 อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง จากโรงเรียนเพาะช่าง พร้อมลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นความยาว 82 นาที ชุด สุดสาคร ออกฉายในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการภาพยนตร์ และวงการแอนิเมชั่นไทย
       
        การ์ตูนแอนิเมชั่น สุดสาครและม้านิลมังกร มีผลงานในระดับนานาชาติ เพียงการได้มีโอกาสร่วมในมหกรรมภาพยนตร์หลายรายการทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกว่า เป็นดินแดนหนึ่งที่มีความสามารถด้านแอนิเมชั่น แต่เรื่องราวก็ปิดฉากลงเพียงแค่นั้น แอนิเมชั่นไทยช่วงต่อมาลดระดับลงเป็นงานโทรทัศน์ที่ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเท่าไหร่นัก หากเทียบกับการ์ตูนจากญี่ปุ่น
       
        จวบจนกระทั่งปี 2545 เมื่อกระแสแอนิเมชั่นจากทั่วโลก ทั้งการ์ตูนลายเส้น และคอมพิวเตอร์กราฟฟิค หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย เกิดเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาตั้งไข่แอนิเมชั่นพันธุ์ไทยขึ้นอีกครั้ง ทั้งวิธิตา แอนิเมชั่น ที่นำคาแรคเตอร์การ์ตูนไทยยอดฮิตจากหนังสือพอคเกตบุ๊ค ปังปอนด์ มาโลดแล่นบนจอโทรทัศน์ เช่นเดียวกับแฟนตาซีทาวน์ ในเครือช่อง 7 ที่ผลิตสุดสาครออกมาในรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิค แอนิเมชั่น สร้างความสำเร็จทั้งการฉายบนจอทีวี และลงแผ่นซีดี แต่ที่น่าจะเป็นผลงานที่ชี้วัดอนาคตของแอนิเมชั่นไทยได้ชัดเจนที่สุด คงต้องยกให้ ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ กันตนา ที่ดึงเอา คมภิญญ์ เข็มกำเนิด คนไทยที่สร้างผลงานแอนิเมชั่นระดับโลกอยู่ในฮอลลีวู้ด เช่น ทาร์ซาน ไอซ์เอจ หรือแอตแลนติส กลับมาสร้างแอนิเมชั่นไทยเรื่อง ก้านกล้วย ด้วยงบประมาณ 150 ล้านบาท ในปีนั้น
       
      โดยรัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้การสนับสนุนกับผู้อยู่ในธุรกิจนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ
       
             
        ก้านกล้วย โปรเจ็คที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายก้าวสู่แอนิเมชั่น ฮับ กระทรวงไอซีที ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ สนับสนุนงบประมาณในการสร้างเป็นเงิน 30 ล้านบาท แก่บริษัทกันตนา แต่เมื่อแอนิเมชั่นเรื่องนี้ใกล้สำเร็จ ซิป้ากลับยกเลิกการสนับสนุน ด้วยเหตุผลติดขัดตามข้อกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ปล่อยให้กันตนาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยการหาสปอนเซอร์จากภาคเอกชนมาช่วยแบ่งเบางบประมาณ 150 ล้านบาทได้บางส่วน
       
        อย่างไรก็ตาม ผลงาน 3 ปีของแอนิเมชั่นไทยชิ้นมาสเตอร์พีช ก้านกล้วย ทำรายได้ในการฉายเฉพาะประเทศไทยผ่านหลัก 100 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินจากสปอนเซอร์ภาคเอกชน และการผลิตลงแผ่น ขายให้กับเคเบิลทีวี ฟรีทีวี ก็อยู่ในระดับคุ้มทุน ส่วนที่จะเป็นกำไรคือการต่อยอดนับจากนั้น ที่ก้านกล้วย ได้กลายเป็นคาแรคเตอร์ที่คนไทยรู้จักอย่างกว้างขวาง นำมาสร้างทีวีซีรีส์ รวมถึงขายไลเซนซิ่งให้กับสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง และงานอื่น ๆ ที่จะสร้างรายได้ตามมา
       
        แต่บนเวทีระดับโลก ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทย เรื่องที่ 2 ทำได้ดีกว่างานเรื่องแรก สุดสาคร ที่ออกสู่สายตาชาวโลกตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตรงที่ ก้านกล้วย ไม่เพียงแต่ได้ออกเดินสายร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เหมือนสุดสาคร แต่ก้านกล้วย ที่ร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ร่วมงานฮิโรชิมาฟิล์มเฟสติวัล ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี จนกระทั่ง แอนิเมชั่นไทยเรื่องนี้ ขึ้นเวทีในงานเทศกาลประกวดภาพยนตร์แอนิเมชัน AniMadrid 2006 ที่ประเทศสเปน คณะกรรมการในงาน ลงมติมอบรางวัล Best Feature Film ให้กับทีมงานจากประเทศไทยทีมนี้
       
        เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งไข่แอมิเมชั่นไทย มีที่ยืนที่ตลาดโลกให้การยอมรับในด้านคุณภาพ แต่ในแง่ผู้ชม การตระเวนออกฉายในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ฮือฮาหากจะเทียบกับผลงานของคนเป็น ๆ อย่าง โทนี่ จา ซึ่งกันตนาฯ ก็ยังมีความพยายามจะสร้างความสำเร็จในธุรกิจแอนิเมชั่นต่อไป โดยเตรียมงบประมาณอีก 150 ล้านบาท สร้างงานแอนิเมชั่น เรื่องที่ 2 ออกฉายในเวลา 2 ปี และตลาดต่างประเทศจะเป็นตลาดสำคัญ
       
        เช่นเดียวกับสันติ เลาบูรณะกิจ ผู้จัดการทั่วไป วิธิตา แอนิเมชั่น กล่าวว่า ปังปอนด์จะเป็นคาแรคเตอร์ที่จะใช้ในการบุกตลาดต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา แอนิเมชั่นชุด ปังปอนด์ ตะลุยโลกหิมพานต์ ถูกซื้อไปฉายผ่านเคเบิลทีวีในฮ่องกง และปีนี้จะขยับเข้าสู่โปรแกรมรายการโทรทัศน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยวิธิตาฯ มีแผนที่จะผลักดันให้แอนิเมชั่นไทยประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากตลาดทั่วโลก ด้วยการส่งปังปอนด์ ไปเปิดตลาดทั้งทั่วภูมิภาคเอเชีย ยุโรป รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา
       
        น่าเสียดายที่จนถึงวันนี้แผนงานการผลักดันภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทย ออกสู่ตลาดโลก ยังเป็นเพียงการดำเนินงานของภาคเอกชนตามลำพัง เมื่อรัฐยังไม่ได้เหลียวมองมา ฝันที่แอนิเมชั่นไทยจะก้าวไปทัดเทียมโลก คงยังอีกห่างไกล
       
       อย่างไรก็ตาม หากเราพยายามทำความเข้าใจ ก็คงไม่ยากเย็นนัก แม้ว่าองค์ประกอบของประเทศที่ยังไม่พร้อม ในอดีตหากเราต้องการทำแอนิเมชั่นสักเรื่อง หรือสร้างหนังสักเรื่อง ส่วนผสมก็คือเอาไปขายแล้วก็ได้ค่าโฆษณา ได้ค่าจัดทำมา สมัยก่อนวิดีโอก็ไม่มี ยังไม่มีความซับซ้อน จากนั้นก็มีธุรกิจต่อเนื่องตามมา พอมีสื่อเพิ่มและมีธุรกิจอื่นให้ความสนใจกับความเป็นแอนิเมชั่นก็เลยมีความซับซ้อนมากขึ้น ความซับซ้อนที่มากขึ้นประกอบด้วยธุรกิจอื่นๆ ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วเป็นต้นกำเนิด เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรป เมื่อทำแอนิเมชั่นแต่ละครั้งจะมีสื่อมารองรับหมด คือโครงการของเขาสามารถเดินเข้าไปคุยกับสถานีโทรทัศน์ หรือธนาคารได้เลย เพราะทุกคนเข้าใจหมดว่าเมื่องานออกมาจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของงานอยู่ตรงไหน
       
        ขณะที่บ้านเราสมมติว่าจะเดินเอาโครงการสร้างหนังการ์ตูน เรานึกภาพไม่ออกว่าธนาคารไหนจะให้ความสนใจ หรือสตูดิโอไหนบอกว่าสร้างหนังการ์ตูนเรื่องนี้แล้วจะกำไร หรือสถานีโทรทัศน์ที่จะมาลงทุนด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลย องค์ประกอบเหล่านี้ที่มันไม่พร้อม ไม่ต้องพูดถึงในกรณีที่เราดิ้นรนสร้างมาจนเสร็จ มันก็ยังมีองค์ประกอบทางธุรกิจอื่นๆอีกในแง่ของเมอร์ชันไดซิ่ง จะต้องมีคนกระโดดเข้ามาทำแคมเปญ ต้องมีฟาสท์ฟู้ดโดดเข้ามาทำของพรีเมี่ยมแจก จะต้องมีบริษัทของเล่นมาทำของเล่น บริษัทเหล่านี้จะต้องเข้ามาจ่ายเงินขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ตัวนี้ออกไป ไม่เช่นนั้นลิขสิทธิ์ตัวนี้จะหยุดอยู่แค่การฉาย แลัวจะมีธุรกิจมากน้อยแค่ไหนในเมืองไทยที่สนใจตรงนี้
       
        ส่วนในต่างประเทศ ด้วยขนาดประเทศ ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เขามีองค์กรทางธุรกิจประเภทนี้พร้อมอยู่แล้ว ที่สำคัญทุกภาคส่วนเข้าใจความเป็นแอนิเมชั่นทั้งหมด รู้ว่ามาอย่างไร ไปอย่างไร ทำเงินได้อย่างไร เขาจึงโดดเข้ามา ดังนั้นคนที่ทำแอนิเมชั่นก็มีการต่อเนื่อง มีคนขยาย หรือกระจาย
       
        ดังนั้น หากต้องการจะให้แอนิเมชั่นไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก 3 ส่วน ส่วนแรก ในภาคก่อนการผลิต (pre production) คือ การได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุน คนที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้ อาจจะมาจากภาคการเงิน หรือภาคธุรกิจ ซึ่งภาคนี้ก็สามารถเข้ามาลงทุนได้ถ้าเข้าใจ แม้จะไม่ใช่เงินทุนแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ เช่น สถานีโทรทัศน์
       
        ส่วนที่สอง คือ การผลิต ปัจจุบันเรามีแอนิเมชั่น สตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือ กันตนา แต่เรามีประชากรถึง 60 ล้านคน คือ หากเราจะลงทุนสร้างการ์ตูนขนาดใหญ่ขึ้นมาลักเรื่อง ใช้เงิน 50-60 ล้านบาท ไม่มีสตูดิโอไหนมีศักยภาพพอที่จะลงทุนได้เอง กลายเป็นว่าเครื่องมือในภาคโปรดักชั่นมีไม่เพียงพอ ขณะที่แรงงานฝีมือก็ไม่เพียงพอ ตลอดจนความชำนาญกับประสบการณ์เรายังไม่มีที่จะเดินโครงการแอนิเมชั่นขนาดใหญ่ให้ไปตลาดโลกได้ แต่ขณะนี้ประเทศเรากำลังจะมีการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าที่ลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาทเข้าสู่ตลาด
       
        ส่วนที่สาม คือ post production คือภาคการตลาด ขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาคโปรดักชั่นว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ และขึ้นอยู่กับธุรกิจเมอร์ชันไดซิ่งที่จะเข้ามาให้ความสนใจ เช่น หากทำโครงการรายการทีวีขึ้นมา สร้างหนังแอนิเมชั่นมาได้ 26 ตอน ไปขายทีวีรายได้จากค่าโฆษณาเท่าไร ขณะที่ละครค่าโฆษณานาทีละเป็นแสนทั้งที่ต้นทุนพอกัน
       
       
       ************
       
       ความง่าย-ยาก
       ประวัติพระพุทธเจ้า
       เทียบกับงานสากล
       
        วิษณุกร คงสมศักดิ์ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอะนิเมชั่นระดับโลกมาหลายปีโดยก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับไทยหวัง ฟิล์มโปรดัคชั่น บริษัทในเครือหวังฟิล์มของไต้หวัน ซึ่งรับงานผลิตจากค่ายภาพยนตร์ชั้นนำจากฮอลลีวู้ด เช่น วอล์ทดีสนีย์, วอร์เนอร์บราเธอร์ส และ เอ็มจีเอ็ม โดยภาพยนตร์ที่วิษณุกรเคยมีส่วนร่วมได้แก่ มู่หลาน ทาร์ซาน ไลอ้อนคิงส์ เฮอร์คิวลิส การ์ฟิลด์ และอื่นๆกว่า 30 เรื่อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค มีเดียสแตนดาร์ด ผู้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงความยากง่ายในการทำงานด้านเทคนิคเมื่อเทียบกับ
การทำงานในระดับสากลก่อนหน้านี้ว่าการมาทำงานในจุดนี้มีความยากกว่า
เนื่องจากเป็นงานที่จะต้องอาศัยไอเดียสร้างสรรค์ซึ่งต่างจากการทำงานให้กับบริษัทใหญ่ที่เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว เพียงแต่ทำงานตามกระบวนการหรือตามคำสั่งให้บรรลุผลเท่านั้น
       
        ทั้งนี้ในกระบวนการทำแอนิเมชั่นในยุคที่ใช้แผ่นฟิล์มนั้นต้องใช้ทีมงานเกือบ 500 คน แต่ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาททำให้สามารถลดจำนวนบุคลากรเหลือเพียง 40 คน ในขณะที่บริษัทมีบุคลากรเพียง 20 คน จึงต้องอาศัยการว่าจ้างฟรีแลนซ์ร่วมด้วย แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการผลิตซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ปี ต่อภาพยนตร์แอนิเมชั่นหนึ่งเรื่อง ในขณะที่ภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงถ้าเตรียมทุกอย่างพร้อมก็จะใช้เวลาไม่กี่เดือนในการถ่ายทำ นอกจากนี้การทำแอนิเมชั่นยังมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการใช้คนแสดงเป็นเท่าตัว อย่างน้อยต้องมีงบ 100 ล้านขึ้นไป
       
        “ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เป็น 2 มิติ ของไทยจริงๆก็มีแค่สุดสาครเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และยังไม่มีใครทำอีกเลย จะมีก็แต่ที่เป็น 3 มิติ ของค่ายกันตนา หรืออย่างซีรี่ส์ 2 มิติ ในรายการทีวีก็จะมีความละเอียดที่น้อยกว่าอะนิเมชั่นที่ทำเป็นภาพยนตร์ เนื่องจากซีรี่ส์ต้องทำแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันเวลาออกอากาศทำให้มีลายละเอียดความสวยงามที่น้อยกว่า” วิษณุกร กล่าว
       
        อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าภาพยนตร์เรื่องใดควรใช้นักแสดง เรื่องใดควรใช้แอนิเมชั่น แต่ถ้ามองในเชิงของผู้ชมก็จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าควรใช้รูปแบบใด อย่างกรณีแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้านี้เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งภายหลังภาพยนตร์ดังกล่าวออกจากโรงหนังแล้วก็จะมีการทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้วย ดังนั้นรูปแบบแอนิเมชั่นจึงเหมาะสมมากกว่าเนื่องจากสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้ดีกว่า
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
 
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
7 องค์กรชาวพุทธเดินหน้าลุย - ส.ส.ร.รับลูกแปรญัตติ 26 เม.ย.7 องค์กรชาวพุทธเดินหน้าลุย - ส.ส.ร.รับลูกแปรญัตติ 26 เม.ย.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยัน

ติวเข้มเคลื่อนกองทัพธรรมสู่ ร.ร.ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลให้เด็กได้สอบนักธรรมติวเข้มเคลื่อนกองทัพธรรมสู่ ร.ร.ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลให้เด็กได้สอบนักธรรม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS